On Demand Generation

อ่านเจอเรื่องของคนรุ่นหนึ่งมองคนอีกรุ่นหนึ่งมาเยอะ คิดว่าคงเป็นเพราะอินเทอร์เน็ตที่ทำให้คนหลายๆ รุ่นมาเจอคำบ่นของคนอีกรุ่นกันได้ ไม่อย่างนั้นเรื่องพวกนี้ก็น่าจะอยู่แค่บนโต๊ะกินข้าวของคนร่วมรุ่นกันเท่านั้น

เรื่องคำบ่นว่าขี้เกียจหรือไม่คงแล้วแต่ประสบการณ์จะพบเจอกัน แต่โดยรวมๆ ผมเรียกคนรุ่นต่อไป ที่กำลังเริ่มทำงานหรือใกล้จะเรียนจบแล้ว ว่า on demand generation

คนรุ่นนี้เติบโตมากับการออนไลน์มากกว่าทีวี พวกเขาเจอกับเว็บดีล, ตั๋วเครื่องบินราคาถูก, โปรโมชั่นโรงแรมช่วง low season, เว็บเซิร์ฟเวอร์แบบคลาวด์ ฯลฯ

พวกเขาเรียนรู้เต็มที่ว่าหากคุณมีเวลาต่างจากคนอื่น คุณสามารถมีทำอะไรภายใต้รายได้ที่ไม่ต้องสูงมากได้มากมาย พวกเขาตั้งคำถามกับการแห่แหนกันไปเที่ยวช่วงสงกรานต์และปีใหม่ เพราะพวกเขารู้ว่าหากเลื่อนการเดินทางไปอีกสองสามวันก็สามารถเดินทางได้ใกล้เคียงกัน คนน้อยกว่า เที่ยวได้มากกว่า และราคาอาจจะเหลือเพียงครึ่งเดียว

พวกเขาดูรายการทีวียอดฮิต “หลัง” จากรายการฉายไปแล้วหลายชั่วโมงถ้ารายการนั้นดังมากๆ หลายวันถ้าเพื่อนๆ เริ่มพูดถึง และอาจจะหลายเดือนหรือปีถ้ามารู้ที่หลังว่ารายการนั้นน่าสนใจ พวกเขาไม่มีตารางเวลาที่จะกลับบ้านไปดูละครเหมือนรุ่นก่อนหน้านี้อีกแล้ว

อิสระทางเวลากลายเป็นสิ่งที่พวกเขามองเป็นเงินได้อย่างชัดเจน ต่างจากคนรุ่นก่อนที่การไปเที่ยวช่วงเวลาซ้ำซ้อนกับคนอื่นก็ทำให้รถติดบนทางไปหัวหินไม่กี่ชั่วโมง ลักษณะงานที่เป็นงานประจำและทำงานต่อเนื่องยาวนานแทบไม่มีการเปลี่ยน เวลาเข้างานตรงเวลาออกจากงานตรงเวลา

น่าสนใจว่าความต่างเช่นนี้ถ้าใครเข้าใจและปรับกระบวนการทำงานได้ก็คงมีโอกาสเลือกคนได้เยอะขึ้นไม่น้อย ลองคิดสภาพออฟฟิศที่เปิดโอกาสให้เลื่อนวันหยุดได้ตามใจชอบ ทำไมคุณจะไม่มาทำงานช่วงสงกรานต์ ถ้ารถในกรุงเทพมันจะโล่งสบาย และรอไปเที่ยวอีกสักสัปดาห์หลังจากนั้น ชั่วโมงทำงานที่เลือกได้ว่าอาจจะเข้างานสิบโมงออกจากงานสองทุ่มหลบรถติด

บางทีพวกเขาก็ไม่ได้อยากเป็น “ฟรีแลนซ์” ที่ไม่ได้สวยหรูขนาดนั้น แต่ออฟฟิศดั้งเดิมไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับชีวิตพวกเขาได้

 

เสือก

บล็อคผมเมื่อปี 2014 กลายเป็นประเด็นสังคมขึ้นมาอีกรอบเมื่อสังคมไทยมีประเด็นอีกครั้ง ผมไม่ได้แชร์เองในรอบนี้แต่ตามคนรอบข้างก็มีเอาบล็อคไปแชร์อยู่เรื่อยๆ เรียกความคิดเห็นกันเป็นระยะ

สังคมไทยจำนวนมากเริ่มเข้าในสิทธิพื้นฐานในบางระดับ เราเริ่มเห็นการถกเถียงเปลี่ยนผ่านจากการที่เด็กท้องแล้วเป็นตัวอย่างศีลธรรมอันเลวทรามที่ต้องขจัดออกไปจากสังคม และเริ่มมีเสียงตรงกันมากขึ้นว่าเด็กแม้จะพลาดไปก็ต้องมีโอกาสได้เรียน

ข้อถกเถียงใหม่ๆ ของผู้ที่เปี่ยมไปด้วยจริยธรรมอันโหดเหี้ยมจึงเปลี่ยนไป และแสดงความปรารถนาดี™ ขึ้นมาได้อย่างน่าขนลุก

น้องๆ สุขภาพมีปัญหาแล้วจะเรียนได้ยังไง ควรไปที่ที่จัดไว้เฉพาะ

เสียงในหัวผมลอยก้องขึ้นมาทันที ว่า “เสือก”

คนพวกนี้ใส่หน้ากากความสงสารเพื่อตัดสิทธิ์พื้นฐานของคนสนองจริยธรรมอันโหดร้ายได้อย่างน่ากลัว ภายใต้ความสงสารพวกเขาผลักไสคนออกไปให้พ้นหน้าพ้นตาภายใต้ความรู้สึกว่าได้กระทำดี

เราอยู่ในสังคมที่หญิงทำงานโรงงาน (ที่บางคนก็ไม่ได้อายุเยอะกว่าเด็กในวัยเรียนที่ว่าสักเท่าไหร่) มีโอกาสลางานไปคลอดได้สามเดือน เราอยู่ในสังคมที่เด็กโดนรถชนขาหักสามารถเรียนจากโรงพยาบาลแล้วตามมาสอบได้ ประเด็นคนป่วยแล้วมาเรียนมาสอบอยู่ในหนังสือมานีมานะที่คนยุคนี้ดูจะ “อิน” กันเสียด้วยซ้ำ

ถ้าเราให้โอกาสคนเหล่านั้นให้เป็น “ปกติ” ที่สุดที่เราจะทำได้ แล้วจะเป็นอะไรกันนักหนากับคนท้อง เพียงเพราะเขาท้องตอนเรียน?

เขาทำอะไรได้ไม่ได้ก็เรื่องของเขา เขาจะพยายามลำบากกว่าคนปกติหรือไม่ก็เป็นทางเลือกของเขา การ “เสือก” เอาความสงสารไปทำลายชีวิตเขาคงไม่ใช่สิ่งที่คนที่มองตัวเองว่าเป็นคนดีจะทำกัน

 

Blognone Upgrade

PENELOPE CRUZ GREYISH BLUE OFF-THE-SHOULDER CELEBRITY BALL GOWN

ผมพยายามอัพเกรด Blognone มาหลายครั้งก่อนหน้านี้ ด้วยข้อจำกัดหลายอย่างก็มาอัพเกรดเอาในนาทีสุดท้าย

  • แพตช์สุดท้ายออกเมื่อสิ้นเดือนกพ. ที่ผ่านมา สถานะ D6 ตอนนี้คือไม่ซัพพอร์ตอย่างสมบูรณ์
  • การอัพเกรดก่อนหน้านี้ล้มเหลวไปแล้วหลายรอบ ติดบั๊กเยอะมาก
  • การอัพเกรดนาทีสุดท้าย “ลื่น” กว่าที่เคยทำมาก่อนหน้านี้มาก เข้าใจว่าบั๊กตัวอัพเกรดหลายตัวถูกแก้ไปหมดแล้ว
  • อันนี้เผื่อใครสนใจเลือก CMS ใช้งานต้องเข้าใจว่า Drupal กับ WordPress มีแนวทางต่างกันสิ้นเชิง Drupal จะมาแนวคิด Enterprise กว่ามาก เช่น ต้องซัพพอร์ต PHP รุ่นที่ระบุไว้ตั้งแต่แรกแม้ผ่านมานานหลายปี ตามกำหนดการถ้าไม่เลื่อน Drupal 7 จะใช้งานได้อีกประมาณสี่ปี
  • ข้อเสียสำคัญของ Drupal คือ API แต่ละรอบ break หนักมาก โมดูลมักขาดไปหลายปี Drupal 7 ออกมาตั้งแต่ปี 2011 กว่าจะใช้งานได้จริงๆ โมดูลครบถ้วนก็ประมาณ 2013
  • ถ้ามีเงินหน่อย ทางออกสำคัญคือไปจ้างคนทำโมดูลไปรอไว้ซะ โครงการใน Drupal จะเห็นบริษัทสปอนเซอร์กันมากมาย ขาดอันไหนก็ไปสปอนเซอร์คนทำเดิมให้มาอัพเวอร์ชั่น
  • คนรอใช้ฟรีชีวิตก็จะลำบากหน่อย กว่าจะรอโมดูลครบ หลายครั้งโมดูลเดิมคนทำหายตัวต้องเปลี่ยนแนวทางเพื่อทำฟังก์ชั่นเดิม ข้อเสียคือกว่าจะไปเวอร์ชั่นใหม่ได้ก็ รุ่นปัจจุบันก็จะหมดอายุในไม่กี่ปีแล้ว
  • แต่ถ้าไม่ลำบากมาก ภายใน 1-2 ปีควรไป Drupal 8x (ช่วงก่อนเข้า LTS) โมดูลจะเริ่มครบ และได้ใช้ระบบนิ่งๆ ยาวพอสมควร
  • การอัพเกรดมีเหตุผลหลักคือ security patch เพราะรอบของ Drupal จะเป็น ฟีเจอร์สลับกับ security ตอนนี้ถ้าใครยังใช้อยู่ รอบแพตช์ security รอบต่อไปจะมาปลายเมษา (ถ้าไม่มีออกนอกรอบซึ่งเดาไม่ได้)
  • ถ้าใครกังวลเรื่องแพตช์ก็จะมีเวลาอีกเดือนกว่าๆ ถ้าใครไม่เคยอัพเลยก็ไม่ต้องกังวล รูโหว่น่าจะเพิ่มอีกไม่มากแล้ว (ถ้าไม่นับว่ารูเดิมน่าจะเยอะแล้ว)
  • เตรียมการมานาน แต่จริงจังเมื่อเดือนที่แล้ว
  • วางแผนสุดท้ายคือ ฟังก์ชั่นทุกอย่างเท่าเดิม ย้าย Engine อย่างเดียวก่อน
  • ต้องตัด taxonomy_image ออกหลังพยายามพอร์ตมาแล้วไม่สำเร็จ เดี๋ยวจะทำใหม่
  • สัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นสัปดาห์นรก กลับบ้านมาต้องมาซ้อมย้ายทุกวันว่าจะติดอะไรไหม (และก็ติดได้ทุกวัน) นับเฉพาะติดใหญ่ๆ เช่นเว็บไม่ขึ้น กระบวนการ upgrade db ไม่ผ่านเลย
  • ซ้อมอัพรอบสุดท้ายเมื่อวันเสาร์กลางวัน ตกลงใจว่าจะเริ่มตอนตีหนึ่ง พอตีหนึ่งก็ปรับเว็บเข้า read only mode
  • แผนการคือมี migrate environment ไว้ในโน้ตบุ๊ก ย้ายข้อมูลลงมาแล้ว migrate ซ่อม แล้วอัพกลับขึ้นเซิร์ฟเวอร์ (ระหว่างสัปดาห์พยายาม migrate บนเซิร์ฟเวอร์สองวันแล้วติดปัญหา)
  • migrate เสร็จประมาณตีสี่กว่า อัพกลับขึ้นไปเทส
  • เบลอและเมา อัพไฟล์ SQL ผิดไฟล์ เป็นไฟล์ snapshot ระหว่างกระบวนการ ต้องอัพใหม่
  • ตีห้ากว่า
  • ซ่อมโน่นนี่ ติดคอนฟิกเซิร์ฟเวอร์บางอย่าถึง 7 โมง
  • 7 โมงถึง 9 โมง สลับ reverse proxy ให้ไปเครื่องใหม่ แล้วทิ้งให้ D6 เข้าถึงไม่ได้ไว้อย่างนั้น
  • นอน
  • นอนไม่หลับ เที่ยงนิดๆ ตื่น
 

Digital TV

โน้ตความคิดไว้เสียหน่อย

  • การประมูลทีวีดิจิตอลเป็นหมายสำคัญอีกอย่าง ว่าอนาคตไม่ว่าธุรกิจอะไรก็มีคลื่นให้ประมูล ทั้ง telecom/broadcast (ที่หวังอีกอย่างคงเป็น “วิทยุ”)
  • ราคาแพงเกินไปตามมุมมองของผมเอง แต่ตามผู้ประมูลคงแล้วแต่
  • ไม่ว่าแพงไปหรือไม่ ผมมองว่ามันประสบความสำเร็จดี วงการทีวีมีการแข่งขัน บ้านผมดูช่อง Workpoint, Mono, ไปดู NOW บ้าง ทางเลือกเพิ่มขึ้น นี่คือความดีของการแข่งขัน
  • มันมีประเด็นการเมือง อันนี้เป็นอีกประเด็น ช่องข่าวซวยหน่อย แต่ก็เป็นความเสี่ยง คนทำธุรกิจวงการไหนก็มีความเสี่ยงภายนอกกันได้
  • มีเจ๊งบ้างก็เป็นเพราะการแข่งขัน การที่มีคนเจ๊งไม่ใช่ความผิดของกสทช. โดยตัวเอง
  • ที่แย่คือไม่ออกแบบเผื่อมีคนเจ๊งแต่แรก ผู้เข้าร่วมประมูลควรรู้ก่อนว่า “ถ้า” มีคนถอนตัวจะเกิดอะไรขึ้น จะมีประมูลรอบใหม่หรือไม่ หรือจะต้องเว้นช่วงนานแค่ไหน หรือหากไม่เว้นจะตั้งราคาอย่างไร บอกก่อนกันตรงๆ เผื่อใครอยากรอคนอื่นเจ๊งก็รอกันไปได้ ตามแต่ใจ
  • วันนี้คนจำนวนมากคงมองว่าช่องน่าจะเหลือ ผม “เดา” อาการแล้วสุดท้ายเมืองไทยอาจจะไม่ได้เปิด MUX ที่ 6 คลืนน่าจะ refarm ใหม่จนเอามาทำมือถือได้ อันนี้เป็นเรื่องแย่ที่ไม่คิดถึงกรณีมีคนเจ๊งเผื่อไว้ แต่การที่ประมูลช่องเยอะๆ แต่แรกไม่ใช่ความผิดของคนประมูล (รู้อะไรไม่สู้รู้งี้ มามองตอนนี้แล้วกลับไปด่าว่าทำไมตอนนั้นประมูลเยอะน่ะมันทำได้ทุกคน)
  • ความกังวลหลังจากนี้คงเป็นเรื่องคลื่นที่ (น่าจะ) ว่างๆ อยู่ในย่านนี้ในอนาคต