On Demand Generation

อ่านเจอเรื่องของคนรุ่นหนึ่งมองคนอีกรุ่นหนึ่งมาเยอะ คิดว่าคงเป็นเพราะอินเทอร์เน็ตที่ทำให้คนหลายๆ รุ่นมาเจอคำบ่นของคนอีกรุ่นกันได้ ไม่อย่างนั้นเรื่องพวกนี้ก็น่าจะอยู่แค่บนโต๊ะกินข้าวของคนร่วมรุ่นกันเท่านั้น

เรื่องคำบ่นว่าขี้เกียจหรือไม่คงแล้วแต่ประสบการณ์จะพบเจอกัน แต่โดยรวมๆ ผมเรียกคนรุ่นต่อไป ที่กำลังเริ่มทำงานหรือใกล้จะเรียนจบแล้ว ว่า on demand generation

คนรุ่นนี้เติบโตมากับการออนไลน์มากกว่าทีวี พวกเขาเจอกับเว็บดีล, ตั๋วเครื่องบินราคาถูก, โปรโมชั่นโรงแรมช่วง low season, เว็บเซิร์ฟเวอร์แบบคลาวด์ ฯลฯ

พวกเขาเรียนรู้เต็มที่ว่าหากคุณมีเวลาต่างจากคนอื่น คุณสามารถมีทำอะไรภายใต้รายได้ที่ไม่ต้องสูงมากได้มากมาย พวกเขาตั้งคำถามกับการแห่แหนกันไปเที่ยวช่วงสงกรานต์และปีใหม่ เพราะพวกเขารู้ว่าหากเลื่อนการเดินทางไปอีกสองสามวันก็สามารถเดินทางได้ใกล้เคียงกัน คนน้อยกว่า เที่ยวได้มากกว่า และราคาอาจจะเหลือเพียงครึ่งเดียว

พวกเขาดูรายการทีวียอดฮิต “หลัง” จากรายการฉายไปแล้วหลายชั่วโมงถ้ารายการนั้นดังมากๆ หลายวันถ้าเพื่อนๆ เริ่มพูดถึง และอาจจะหลายเดือนหรือปีถ้ามารู้ที่หลังว่ารายการนั้นน่าสนใจ พวกเขาไม่มีตารางเวลาที่จะกลับบ้านไปดูละครเหมือนรุ่นก่อนหน้านี้อีกแล้ว

อิสระทางเวลากลายเป็นสิ่งที่พวกเขามองเป็นเงินได้อย่างชัดเจน ต่างจากคนรุ่นก่อนที่การไปเที่ยวช่วงเวลาซ้ำซ้อนกับคนอื่นก็ทำให้รถติดบนทางไปหัวหินไม่กี่ชั่วโมง ลักษณะงานที่เป็นงานประจำและทำงานต่อเนื่องยาวนานแทบไม่มีการเปลี่ยน เวลาเข้างานตรงเวลาออกจากงานตรงเวลา

น่าสนใจว่าความต่างเช่นนี้ถ้าใครเข้าใจและปรับกระบวนการทำงานได้ก็คงมีโอกาสเลือกคนได้เยอะขึ้นไม่น้อย ลองคิดสภาพออฟฟิศที่เปิดโอกาสให้เลื่อนวันหยุดได้ตามใจชอบ ทำไมคุณจะไม่มาทำงานช่วงสงกรานต์ ถ้ารถในกรุงเทพมันจะโล่งสบาย และรอไปเที่ยวอีกสักสัปดาห์หลังจากนั้น ชั่วโมงทำงานที่เลือกได้ว่าอาจจะเข้างานสิบโมงออกจากงานสองทุ่มหลบรถติด

บางทีพวกเขาก็ไม่ได้อยากเป็น “ฟรีแลนซ์” ที่ไม่ได้สวยหรูขนาดนั้น แต่ออฟฟิศดั้งเดิมไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับชีวิตพวกเขาได้

 

lewcpe

CTO at MFEC PLC. Chief Editor at Blognone.com