Call the Midwife

ช่วงนี้ฟัง Call the Midwife หนังสือบันทึกโดยพยาบาลสูติสมัยช่วงหลังสงครามโลก ช่วงที่อังกฤษยังค่อนข้างยากลำบากเพราะเพิ่งผ่านสงคราม

ตัวหนังสือดังเพราะ BBC เอาไปทำซีรีส์มานานแล้ว ค่อนข้างดังมาก ยังไม่ได้ดู (ตัวหนังสือเปลี่ยนปกตาม)

แต่ละบทเล่าถึงเรื่องราวที่พบเจอ ชีวิตช่วงที่ผ่านเข้ามาพบกับพยาบาล แยกเป็นบทๆ ไม่ได้ต่อกันมากนัก คล้ายๆ หนังสือย้อนอดีตของไทยหลายเล่ม

อ่านไป 70% ไม่แนะนำให้อ่านเอาบันเทิง มันเศร้าเกินไป ผมเองฟังไปขับรถไปยังรู้สึกแย่ ทำไมชีวิตมันแย่ขนาดนี้ แต่เอาจริงๆ ในไทยเองช่วงสัก 20-30 ปีก่อนเราก็คงไม่ได้ดีกว่านี้มากนัก ทั้งคนที่ต้องตายจากกันไปก่อนวัย หรือสภาพสังคมที่โหดร้ายกับคนไม่มีที่พึ่ง

เนื้อเรื่องเขียนดี ถ้าเป็นคนไม่จิตตกนับว่าอ่านได้ไม่เสียดายเวลา

 

ฉลาดเกมโกง (spoiled)

เพิ่งได้ดูฉลาดเกมโกงกับเขา

  • ไม่อิน ท่าโกงแบบ braindump นี่พวกสอบ cert สาย IT ทั้งหลายทำกันมานานแล้ว เลยรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่เกิดเป็นปกติ พอไม่แปลกแล้วหาย
  • ฉาก present แบบ Steve Jobs นี่มันการ์ตูนมาก ไม่ชอบ
  • encode แบบดนตรีนี่ไม่มีประสิทธิภาพ ฝนไม่ทันหลุด sync ข้ามข้อไปนี่ฉิบหายเลย ทำได้ขนาดนี้จดใส่โน้ตโยนให้กันง่ายกว่าเยอะ
  • โดยรวมๆ จังหวะหนังก็ดูสนุกดี ไม่เสียดายเวลาที่ดูใน Netflix แต่ไม่เสียดายที่ไม่ไปดูในโรง

แต่หนังเรื่องนี้ทำให้คิดถึงสมัยผมสอบเข้ามหาวิทยาลัย ว่าข้อสอบของไทยเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์ในสมัยนั้นจะมีคุณสมบัติพิเศษกว่าวิชาอื่น คือมันเฉลี่ยคำตอบข้อ 1-4 เท่ากันหมดเสมอต่อเนื่องหลายปี เข้าใจว่ากรรมการออกข้อสอบพยายามทำลายแนวคิดที่ว่า “ถ้าไม่แน่ใจให้ตอบ ง.งู” เพราะกรรมการมีแนวโน้มเฉลยข้อสุดท้ายเป็นพิเศษ

แม้จะตั้งใจดี แต่กรรมการสอบกลับทำพลาดหากนักเรียนเข้าใจสถิติดีพอสมควร (ซึ่งระดับกรรมการออกข้อสอบคณิตศาสตร์ไม่ควรพลาด) คือมันเป็นการส่ง สัญญาณให้กับนักเรียนที่ทำข้อสอบอยู่อย่างชัดเจน

ข้อสอบหลายสิบข้อนั้น ความน่าจะเป็นที่ “ข้อที่ทำได้” จะเฉลยสี่ตัวเลือกเท่ากันพอดีนั้นต่ำมาก คนสอบสามารถคิดหลังง่ายๆ ว่า “ดูข้อที่ทำได้ว่าตอบข้อไหนน้อยที่สุด” แล้วสามารถเลือกข้อนั้นๆ จนได้คะแนนกลับมาเกิน 25% กรณีที่สุดขอบมากเช่นเด็กทำไม่ได้ข้อเดียวก็จะได้เต็มทันที ใช้นับข้อที่ตอบไปแล้วเอาเลย

สมัยผมสอบเองครั้งหนึ่งก็เจอว่า “ข้อที่ทำได้” ตอบตัวเลือกหนึ่งเกิน 25% ทำให้กลับไปตรวจได้ว่ามีบางข้อทำผิดแน่ๆ

ถามว่าทำยังไงให้เฉลยไม่ไปกอง ง.งู อีก ก็คือการสุ่มเลือกข้อเฉลยทีละข้อแบบ IID (independent and identically distributed) ก็จะคาดเดาไม่ได้ว่าจริงๆ จะมีเฉลยตัวเลือกไหนกี่ข้อ และในระยะยาว (หลายปี) เฉลยก็จะไม่กองข้อใดข้อหนึ่ง

 

น่ารังเกียจ

ผมเป็นคนชอบการเสพ “วัฒนธรรม” พอสมควร แม้จะไม่รู้เยอะหรือเข้าถึงรากลึกอะไร แต่หากมีการแสดงอะไรที่พอมีโอกาสได้ดูเปิดโลกใหม่ๆ ก็มักจะหาทางไปดูอยู่เรื่อยๆ

การแสดงโดยเฉพาะการแสดงสด เป็นการคาดหวังจากมนุษย์ในยุคที่เรามีสิ่งทดแทนมากขึ้นเรื่อยๆ เรามีมิกเซอร์ที่ทรงประสิทธิภาพ เรามีคอมพิวเตอร์กราฟิกที่ต้นทุนถูกลงอย่างรวดเร็ว แต่เราก็ยังอยากเห็นว่ามนุษย์คนหนึ่งจะดึงศักยภาพออกมาได้แค่ไหน

การแสดง อย่างละครเวทีที่คนแสดงต้องร้องไห้ฟูมฟายในฉากหนึ่ง แล้วอีก 30 วินาทีต่อมาต้องมาร้องเล่นเต้นรำอีกฉากหนึ่งจึงเป็นการตั้งคำถามถึงศักยภาพของมนุษย์ที่แทบจะสุดขีด การแสดงในสมัยนี้หากเราต้องการเพียงภาพ เราไม่จำเป็นต้องบังคับให้คนแสดงปรับอารมณ์อย่างที่สุดเช่นนี้อีกแล้ว เพราะเราสามารถให้เวลาคนแสดงตัดต่อไปได้นานเท่านาน

คอนเสิร์ตก็เช่นกัน การแสดงสอดประสานกันของคนทั้งบนเวทีและล่างเวที ตากล้อง คนคุมไฟ ช่างเทคนิค ตัวศิลปิน ผู้กำกับ เป็นการประสานกันในรูปแบบที่แทบเป็นไปไม่ได้ในสิบกว่าปีก่อน และมันพัฒนาไปเรื่อยๆ จนอีกสิบกว่าปีข้างหน้าเราก็น่าจะมองย้อนกลับมาดูได้ว่าการจัดการ และเทคนิคต่างๆ ได้พาความสามารถของมนุษย์ไปอีกขั้น

แต่มันก็แค่นั้น

เช่นเดียวกับงานอื่นๆ ผมเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะมีชีวิตส่วนตัว งานอาจจะหนักแทบบ้า เวลาทำงานในช่วงหนึ่งอาจจะเกินคนรับไหว แต่มนุษย์ทุกคนก็ควรได้รับสิทธิ์ “นอกเวลางาน”

งานไม่ใช่ชีวิต และชีวิตไม่ใช่แค่งาน

ถ้ามันมีคนบ้า โวยวายว่าทำไมชีวิตส่วนตัวคนๆ หนึ่งไม่สอดคล้องกับงาน ผมเชื่อว่าเราควรอยู่ในยุตที่เจริญพอจะบอกว่า “ก็มันเวลาของเขา”

เราพ้นยุคทาสมาหลายสิบปีแล้ว เราเพิ่งผ่านวันแรงงานมาที่เรียกร้องเวลาส่วนตัวให้เหมาะสม

คนสติแตกไม่เคารพชีวิตส่วนตัวคนอื่นเป็นขี้แพ้น่ารังเกียจ

บางกลุ่มอาจจะเยอะหน่อย แต่ก็น่ารังเกียจทั้งหมด

และผมคงไม่เป็นหนึ่งในคนพวกนี้

 

Mother to Daughter

เพิ่งเคยเจอเพลงนี้ใน YouTube เมื่อวันก่อนตอนฟังเพลง AKMU ไปเรื่อยๆ หยุดอ่านเนื้อเพลงดู (ในคลิปนี้มี sub แต่ MV ตัวจริงไม่มี) พบว่าน่าสนใจดี

เพลงพูดถึงคำสอนของแม่ถึงลูก เพลงแม่ลูกทั้งหลายเป็นกัน แต่เนื้อเพลงกลับพูดถึงความ “ไม่สมบูรณ์” ของแม่ไว้มาก ระหว่างแม่สอนก็ยอมรับว่าบางอย่างก็ทำเองไม่ได้

พอเป็นฝั่งลูกแทนที่จะซาบซึ้งขอบคุณ เนื้อเพลงกลับพูดถึงความลำบากของการเป็นลูกเหมือนกันว่ามันก็ไม่ได้ง่าย และสิ่งที่สอนมาก็พยายามทำแล้ว แต่ยิ่งพูดซ้ำ กลายเป็นลูกปิดใจ

ลงท้ายแม่ฝากลูกให้เป็นแม่ที่ดีกว่าตัวเอง

มันสมจริงว่าครอบครัวจริงๆ ก็ประมาณนี้ โดนสอนบ่อยๆ มันก็เซ็งๆ และคำสอนก็ไม่ได้สมบูรณ์ขนาดนั้นหรอก เราตั้งคำถามถึงความไม่สมบูรณ์ได้ แต่เราก็ทำให้มันพร้อมขึ้นเรื่อยๆ สำหรับรุ่นต่อๆ ไป แบบนี้แล้วก็ยังซึ้งได้ด้วยว่ารุ่นที่ผ่านมาก็พยายามแล้ว