Digital Refugees

สองสามปีที่ผ่านมาเรามีกระแส (ที่สำเร็จไปแล้ว) คือการประมูล 3G ไม่ว่าจะดีจะชั่วอย่างไร มันก็เป็นก้าวแรกของการเข้าสู่ระบบใบอนุญาต

ผมพูดเสมอในประเด็น 3G ว่าสิ่งสำคัญของมันไม่ใช่การมีอินเทอร์เน็ตไร้สาย “ความเร็วสูง” ไว้ใช้งานกัน แต่ประเด็นสำคัญคือการย้ายมาใช้งาน non-voice ของคนทั่วๆ ไป เพราะผมมองว่าสังคมไปข้างหน้า เราต้องดึงคนอีกกลุ่มหนึ่งเข้ามายังโลกอินเทอร์เน็ตในราคาที่เหมาะสมกับการใช้งานของพวกเขา

ด้วยความเป็นคนเมือง บ้านผมมีโทรศัพท์มาตั้งแต่จำความได้ ผมต่ออินเทอร์เน็ตครั้งแรกสมัยประถม และมี ASDL ตั้งแต่เข้ามหาวิทยาลัย ผมมีการ์ด Wi-Fi ใช้คนแรกๆ ในรุ่น ผมไม่ได้พิเศษอะไร มีคนจำนวนมากในรุ่นใกล้ๆ กับผมจนกระทั่งรุ่นหลังผมลงไป เติบโตขึ้นมาพร้อมกับการสื่อสารที่ดีพอสมควร คนกลุ่มนี้เป็นคนกลุ่มแรกๆ ที่ใช้ Facebook พวกเขามีอินเทอร์เน็ตไม่จำกัดใช้งานได้ทั้งที่บ้านและที่ทำงาน

ผมเรียกคนกลุ่มนี้ว่า Digital Natives พวกเขาอยู่กับโลกดิจิตอล โตมากับมัน และการใช้งานเป็นเรื่องที่คุ้นเคย พวกเขาอาจจะไม่ใช่คนจบคอมพิวเตอร์เสียทีเดียว แต่ก็เป็นคนกลุ่มแรกๆ ที่ใช้โปรแกรมแชตใหม่ ลงเกมใหม่เมื่อมันดังและมีเพื่อชวนเล่นด้วย พวกเขามีปัญหาเครื่องช้า มีปัญหาพื้นที่ไม่พอลงโปรแกรมใหม่บ้าง จนกระทั่งต้องเปลี่ยนโทรศัพท์สักครั้งหรือสองครั้งมาแล้ว

แต่ชีวิตผมเองต้องต้องเจอกับคนอีกกลุ่มหนึ่ง ในยุคที่บ้านผมมีโทรศัพท์ คนกลุ่มนี้ต้องนัดแนะกันทางอื่นเพื่อคุยกัน พวกเขาต้องนัดเวลากับที่บ้านเพื่อจะได้ไปรอรับสายจากเพื่อนบ้าน ส่วนคนโทรต้องโทรจากตู้สาธารณะ

ในยุคอินเทอร์เน็ต คนกลุ่มนี้ คือคนที่ไม่มีแพ็กเกจอินเทอร์เน็ตไม่จำกัดใช้งาน พวกเขาอาจจะเป็นแม่บ้านอยู่ตามออฟฟิศ พนักงานรักษาความปลอดภัย หรือลูกจ้างร้านอาหาร พวกเขาใช้โทรศัพท์รุ่นสุดคุ้มต่างๆ และใช้งานจากแอพที่เพื่อนหรือร้านลงให้ พวกเขาใช้อินเทอร์เน็ตฟรีตามที่ต่างๆ อาจจะเป็นอินเทอร์เน็ตของอาคารที่อาศัยความสนิทสนมไปขอใช้งานมา อาจจะเป็นอินเทอร์เน็ตของร้านกาแฟข้างๆ

ผมเรียกคนกลุ่มนี้ว่า Digital Refugees เพราะขณะที่การใช้งานของพวกเขาไม่ได้มากมายอะไร แต่สิ่งที่พวกเขาใช้งานกลับเปลี่ยนแปลงชีวิตของพวกเขาอย่างมีนัยสำคัญ พวกเขาเคยลำบากกับการสื่อสารที่ราคาแพง ไม่ทั่วถึง และใช้งานลำบาก คนกลุ่มนี้จำนวนมากต้องอยู่ห่างจากครอบครัวเพราะพื้นที่ทำงานไกลบ้านออกไปหลายร้อยกิโลเมตร

ขณะที่การใช้งานของพวกเขาน้อยกว่าการใช้งานของคนเมืองที่โตมากับไอที มีทุกสิ่งพร้อม แต่ความเปลี่ยนแปลงที่ไอทีทำให้พวกเขากลับมากมายกว่ามาก พวกเขาเคยต้องแบกรับค่าใช้จ่ายมหาศาลในการสื่อสาร การพูดคุยเป็นเวลานานอาจจะหมายถึงต้องเดินทางกลับภูมิลำเนา ค่าใช้จ่ายที่สูงทำให้พวกเขาไม่สามารถสื่อสารกันได้สะดวก

โทรศัพท์มือถือ อินเทอร์เน็ต เปลี่ยนชีวิตพวกเขาได้มากกว่าที่เปลี่ยนชีวิตคนเมืองอย่างมาก พวกเขาสามารถสื่อสารกันได้ตลอดเวลาเป็นครั้งแรก สามารถส่งข้อความเสียง ข้อความภาพ แม้การใช้งานจะน้อยกว่า แม้พวกเขาจะไม่เคยลองโปรแกรมใหม่ๆ พวกเขาแค่ใช้สิ่งที่เคยใช้งาน แล้วก็ใช้ต่อไปอย่างนั้นเอง

เวลาที่เราเรียกร้องการเข้าถึงไอที เราเรียกร้องอะไร เวลาที่เราเรียกร้องอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงมากๆ (มากระดับที่ดูวิดีโอความละเอียดสูงได้ลื่น) เรากำลังเรียกร้องบริการ “ชั้นดี” มากกว่าที่จะเรียกร้องบริการ “ทั่วถึง”

คนจำนวนมากอาจจะรู้สึกโกรธที่ตัวเองเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงมากตลอดเวลาไม่ได้ แต่ผมมองว่านั่นไม่ใช่ปัญหาที่ต้องได้รับการคุ้มครอง ปัญหาของคนมีกำลังซื้อของพื้นฐานแต่อยากได้ของชั้นดีเป็นเรื่องที่ต้องเรียกร้องกันเองผ่านกลไกตลาด ไม่ใช่กระบวนการคุ้มครอง

เพราะผมเชื่อว่าอินเทอร์เน็ตและการสื่อสารควรนำมาซึ่งความเท่าเทียม ไม่ใช่ความรู้สึกหรูหราอะไร

 

จริยธรรมจอมปลอม

ช่วงสิบปีให้หลัง ผมเห็น “จริยธรรม” ในกระบวนการศึกษาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เราเห็นคำขวัญต่างๆ ของกระบวนการศึกษาต้องมีคำว่าจริยธรรมห้อยท้ายเอาไว้เหมือนโรงเรียนต้องมีห้องเรียน

บางทีผมก็ไม่เข้าใจว่าคำว่าจริยธรรมในความหมายที่ห้อยท้ายทุกคำขวัญเหล่านี้มีความหมายอย่างไรกัน

จริยธรรมที่พร้อมจะ “ให้อภัย” กับความผิด จริยธรรมที่ปกป้องเด็กที่ผิดอย่างชัดเจนโดยฝันลมๆ แล้งๆ ว่าเขาจะกลับตัวได้สักวันนั้นเป็นจริยธรรมไหม

จริยธรรมที่ไม่กล้าเปลี่ยนแปลงกฎที่รู้ทั้งรู้ว่าโทษหลายกรณีมันเกินกว่าเหตุ แต่ก็ใช้อำนาจส่วนตัวยกเว้นโทษเหล่านั้นไปเฉยๆ แล้วเราก็กลับมาพร่ำสอนให้เด็กเกรงกลัวในกฎเหล่านั้น พร้อมๆ กับการอภัยที่ยืนยันกับเด็กคนอืนๆ ว่าทำไปเถอะ แล้วจะไม่ต้องรับผลที่ตามมาแต่อย่างใด

บางทีก็นึกถึงเรื่อง “พ่อแม่รังแกฉัน” ว่าใครกันที่เลว ระหว่างคนที่โตมาเลวกับคนที่ไม่เปิดโอกาสให้เด็กรับผลของการกระทำเลว (แม้จะเล็กน้อย) ของตัวเอง

 

Man of Steel [Spoil]

  • เนื้อเรื่องกาโม่ได้โล่ เพียงคุณตั้งใจทุกอย่างจะสำเร็จ (เอาเครื่องดื่มชูกำลังเป็นสปอนเซอร์จะเข้ามาก)
  • ยานเพาะเลี้ยงเหลืออยู่ลำเดียว? แสดงว่าที่ส่ง Codex มาก็ไม่ได้กะจะแพร่พันธุ์อยู่แล้วแต่แรก
  • เวลาเป็นแสนปี เทคโนโลยีไม่เปลี่ยนเลย? การ์ดของพ่อคาลยังใช้กันได้อยู่
  • ความขัดแย้งมันน้อยมาก คาลมั่นใจแทบจะตลอดว่าจะอยู่กับมนุษย์โลกแน่นอน
  • ดูเอาฉากบู๊แนะนำให้ดูสามมิติ เหมือนจะตั้งใจทำให้มันเป็นหนังบู๊สามมิติมากกว่าหนังที่เนื้อเรื่องดีๆ
 

K-Web Shopping Card

เกิดมาเพิ่งเคยมีปัญหากับธนาคารเป็นเรื่องยาวได้ขนาดนี้ บันทึกไว้หน่อย

  • ต้องซื้อตั๋วเครื่องบินออนไลน์เพราะจะไปเที่ยวกับที่บ้าน เลยใช้ K-Web ซื้อเพื่อความชัวร์
  • เช็คล่วงหน้าว่าจะใช้งานได้รึเปล่า หน้าเว็บกสิกร (ในวันนั้น ตอนนี้น่าจะแก้ไปแล้ว) บอกว่าถ้าใข้ซื้อตั๋วเครื่องบินให้พิมพ์อีเมลการแจ้งตัดเงินไปที่เกตด้วย (ข้อความตรงๆ คือ “** กรณีนำบัตร K-Web Shopping Card ไปซื้อตั๋วเครื่องบิน ขอให้ท่านพิมพ์อีเมล์ที่ส่งจากธนาคารเพื่อแจ้งการหักเงินในบัญชีไปแสดงที่หน้าเคาน์เตอร์สายการบินขณะออกตั๋ว**)
  • ปรากฎว่าอีเมลไม่ส่ง แถมไม่มีรายการในรายการของ K-Web เลยโทรไป หลายรอบ
  • จนกระทั่งเริ่มกันวงเงินก่อนตัด (เป็นกระบวนการปกติของ K-Web) มีียอดเงินกันไปแล้ว ก็ยังไม่มีรายการอีเมลหรือในเว็บ
  • มึนไปมึนมา โทรวนๆ หลายรอบ ได้ความว่า “เป็นการตัดเงินแมนนวล เลยไม่มีรายการ” อ่าว แมนนวลยังไงฟะ สายการบินส่งคนไปเขียนใบเบิกที่ธนาคารหรือไง
  • สุดท้ายคือถึงวันบิน พิมพ์ e-ticket ไป ไม่มี statement
  • สายการบินไม่ออกตั๋วให้ เพราะไม่มีบัตร
  • สายการบินยืนยันว่าต่อให้มีอีเมล ก็ไม่รับ ไม่รับรู้ว่าธนาคารจะให้พิมพ์อีเมลอะไรมา จะเอาบัตรเท่านั้น
  • ธนาคารบอกว่าสายการบินนี้ไม่ได้มีข้อตกลงกันก่อน เลยใช้ไม่ได้แม้จะมีอีเมล (ที่ไม่ได้ส่งมา) และธนาคารไม่แนะนำให้ใช้ K-Web ซื้อตั๋วเครื่องบินและจองโรงแรม (ขอบคุณครับที่บอกกันตอนนั้น)
  • สรุปคือต้องซื้อตั๋วใหม่ (แพงขึ้นจากที่จองในเว็บ) แล้วไปทำเรื่องขอคืนเงิน
  • รอกระบวนการไปเดือนกว่า เรื่องเงียบ โทรไปอีกสองสามรอบ ได้รับคำตอบว่าจธโทรกลับมา บางครั้งโทรกลับมาพร้อมกับสัญญาว่าจะโทรกลับมาอีกครั้ง (และก็ไม่โทรกลับมา)
  • ได้เรื่องในที่สุดว่าจะได้เงินคืนสิ้นเดือนหน้า
  • กระบวนการขอเงินคืนใช้เวลาสูงสุด 120 วัน ครั้งล่าสุดติดต่อได้ความว่าน่าจะได้เงินคืนสิ้นเดือนหน้า รวมๆ ประมาณ 70-80 วัน (ถ้าได้อย่างที่บอกจริง)

เรียนรู้อะไรหลายอย่าง

  • ระบบ CRM แย่ๆ คือ
    • CRM ที่ลูกค้าติดต่อไม่ได้ สายไม่พอ
    • โฆษณาขณะที่สายไม่ว่าง เพิ่มความคุ้มค่าให้แก่ลูกค้าที่กำลังมีปัญหารอแก้ไข
    • ไม่ให้หมายเลข Case ID ใด ตามเรื่องทุกครั้งให้เล่าปัญหาใหม่ไปเรื่อยๆ
    • สัญญาว่าจะโทรกลับ ติดตามปัญหา เป็นประโยคมีไว้เพื่อให้ลูกค้าวางสายไปเสีย
  • Notification ที่เตือนบ้างไม่เตือนบ้างตามแต่ใจสร้างปัญหายิ่งกว่าไม่มีระบบเตือนตั้งแต่แรก