สภาพอุดมคติ

เวลาพูดคุยกันโดยเฉพาะเรื่องการเมืองกับใครสักคนในช่วงปีที่ผ่านมา เรื่องน่าเบื่ออย่างหนึ่งคือการยกสภาพความจริง ว่าสภาพอุดมคตินั้นไม่มีจริง

สักพักข้อโต้แย้งว่าสภาพอุดมคติไม่มีจริงก็กลายเป็นข้อสนับสนุนจากสภาพห่างไกล จากความเป็นอุดมคติไปได้อย่างน่ามหัศจรรย์

ข้อเท็จจริง (ซึ่งเป็นได้เพียงเท็จหรือจริง) ว่าสภาพอุดมคติไม่มีจริง มักเป็นการโต้เถียงที่ไม่ก่อให้เกิดปัญญาและความคิดใดๆ และสวนทางกับข้อเท็จจริง (อีกเช่นกัน) ว่าความรู้จำนวนมากที่เราใช้ในชีวิตจริงทุกวันนี้ มาจากการเรียนสภาพอุดมคติของสิ่งรอบตัวเราจำนวนมาก

เราคงไม่บอกว่ากฎของนิวตันไม่เป็นจริง แม้จะเล็กน้อยแค่ไหน แล้วก็เลิกเรียนมันไปเสียเฉยๆ

การไม่อยู่ ไม่เคยอยู่ หรือไม่มีใครเคยอยู่ ในสภาพอุดมคติ ไม่ได้บอกว่าเราไม่สามารถเข้าใกล้ หรือไม่สามารถเข้าใกล้ สภาพอุดมคติไปได้อีกขั้น ปัญหาหลายอย่างที่เกิดจากสภาพนอกเหนือสภาวะอุดมคติสามารถจัดการได้หากเราเข้าใกล้สภาวะมากพอ แบบเดียวกับที่สูตรฟิสิกส์หลายตัวสามารถทำให้ง่ายลงด้วยคำว่า “น้อยมากตัดทิ้ง”

การหาเส้นทาง การรู้ทิศทางที่จะเดิน ยังไงคงดีซะกว่าเดินเปะปะไปมา

 

Platform as a Product

เรื่องแพลตฟอร์มเป็นเรื่องที่คนไอทีได้ยินกันมากในช่วงหลัง ตั้งแต่แอปเปิลมีแอปสโตร์ และกูเกิลมี Docs, Drive, Play, และ Plus  เราเห็นชัดเจนว่ามันมีประโยชน์อย่างไรกันบ้าง

แต่ในความเป็นจริงแล้วเรื่องของแพลตฟอร์มไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในโลกไอทีเท่านั้น อีกบริษัทหนึ่งที่ทำให้แพลตฟอร์มกลายเป็นสินค้าได้อย่างรุนแรง คือ ร้านเฟอร์นิเจอร์ที่เราได้ยินชื่อบ่อยๆ อย่าง IKEA แถมแพลตฟอร์มอย่าง IKEA ยังเป็นแพลตฟอร์มปิดแทบจะสมบูรณ์แบบ คนภายนอกเข้าไปร่วมอยู่ในแพลตฟอร์มได้ยากมาก และภายใน IKEA เองยังมีแพลตฟอร์มของตัวเองอีกหลายระบบในแต่ละชุดสินค้า

ตัวอย่างเช่นเก้าอี้นั่งเล่นพัวแอง (POÄNG) IKEA มีเก้าอี้ตระกูลนี้ตระกูลเดียวในเว็บถึง 159 รายการ

phaw-x-ng-keaxi-yok__0152988_PE311285_S4

แต่ IKEA ไม่ได้ทำ 159 รายการนี้ออกมาจริงๆ ที่จริงแล้วพัวแองเป็นเพียงแพลตฟอร์มของเก้าอี้นั่งเล่นเท่านั้น มันคือสเปคกลางที่เข้ากันได้ระหว่างของสี่ชิ้น ได้แก่ โครงเก้าอี้, เบาะเก้าอี้, โครงวางเท้า, และเบาะวางเท้า ทั้งสี่ชิ้นมีขนาดที่เข้ากันได้อย่างสมบูรณ์

เมื่อเราซื้อเก้าอี้ ขณะที่เรากำลังเลือกว่าอยากได้รุ่นไหน ที่จริงแล้วเรากำลังเลือกว่าเราจะต้องการโครงเก้าอี้แบบไหน

Screenshot 2014-10-21 at 00.34.19Screenshot 2014-10-21 at 00.33.13

นอกจากรูปร่างโครงไม้แล้ว เรายังเลือกสีไม้อีกสามสี ทำให้เฉพาะโครงเองก็มีหกแบบ ทั้งหมดประกอบเข้ากับเบาซึ่งพอดีกัน เพัยง IKEA เพิ่มแบบเบาะขึ้นมาหนึ่งแบบก็จะได้เก้าอี้มาขายเพิ่มอีกหกรุ่นทันที

poang-footstool__0140161_PE300188_S4

พอขายเก้าอี้แล้วก็มาถึงเก้าอี้วางขา IKEA สามารถวางขายขาที่สีเข้ากันกับเก้าอี้เดิม เพราะจริงๆ ใช้วัสดุเดียวกัน ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง ขณะที่วัตถุดิบตั้งต้นใกล้เคียงกัน เมื่อสต็อกผ้าแบบหนึ่งก็สามารถนำมาผลิตได้ทั้งเก้าอี้นั่ง และเกาอี้รองขา

xiwar-chan-khang__21487_PE106438_S4

แพลตฟอร์มแบบนี้มีจำนวนมากใน IKEA แพลตฟอร์มที่ใหญ่ๆ หน่อย เช่น ตู้หนังสือบิลลี่ (ขายชั้นวางเสริม, ประตูที่เข้ากันได้พอดี, ชั้นเสริมความสูง ฯลฯ), ตู้เสื้อผ้าพักซ์ (ขายโครง, ประตู, ชั้นวางภายใน), โต๊ะทำงานลินมูน (ขายพื้นโต๊ะแยกจากขาโต๊ะ โต๊ะ 5 ขาใช้ขาร่วมกับโต๊ะ 4 ขาธรรมดาได้ โต๊ะบางรุ่นใช้ตู้มาแทนขาได้ด้วยความสูงพอดีกัน น็อตเชื่อมตรงกัน), เตียงหลายตระกูลที่ขายแยกกันระหว่างพื้นเตียงและโครงเตียง, ไปจนถึงชั้นวางของ IVAR ที่ขายเป็นชิ้นๆ ชนิดที่ไม่น่าจะเป็นเฟอร์นิเจอร์ในตัวเองได้ (ซื้อชิ้นเดียวแบบในภาพก็ขายนะ 400 บาท)

Screenshot 2014-10-21 at 00.54.15

มีคนเห็นคุณค่าของแพลตฟอร์มของ IKEA อยู่ไม่น้อย ในต่างประเทศมีร้านขนาดเล็กขายของที่ “เข้ากันได้” กับแพลตฟอร์มของ IKEA จำนวนมาก เช่น สติกเกอร์แปะตู้บิลลี่ได้พอดี ขาโต๊ะสำหรับคนที่เบื่อขาโต๊ะทำงานของ IKEA ฯลฯ ของพวกนี้จำนวนมากโฆษณาอยู่ใน IKEA Hackers 

ก็คงไม่ต้องแปลกใจที่ IKEA เกิดอยากจะสั่งห้ามโฆษณาหรือบังคับให้ปิดเว็บ

 

พิพิธภัณฑ์

เรื่องที่ไม่เคยคิดมาสมัยเด็กๆ คือจะได้มีโอกาสเดินทางไปต่างประเทศเยอะเท่านี้ ช่วงแรกๆ ก็งงๆ ไปแล้วไม่รู้จะทำอะไร ช่วงหลังเริ่มจับจุดได้ว่าเดินพิพิธภัณฑ์ กับกินของกินท้องถิ่นนี่ล่ะเวิร์คสุด (จนกว่าจะมีโอกาสไปเที่ยวแบบยาวๆ เป็นเดือนๆ ตามที่ฝันไว้)

เลยมานึกๆ ที่ที่เคยไปมาแล้ว

  • อังกฤษ
    • เทพที่สุดเท่าที่เคยไปมา มีเยอะ ใหญ่ และฟรี
    • ทุกที่จะมีเงินสนับสนุน “ที่แนะนำ” บอกไว้พร้อมตู้หยอดเงิน แต่ไม่มีการเก็บเงิน เดินเข้าไปได้เลย
    • ที่คนไปหลังๆ คือ National History Museum, กับ National Gallery
    • แต่ที่ผมไปเองแล้วประทับใจสุดคือ National Portrait Gallery เนื่องจากภาพบุคคลส่วนมากเป็นการเมือง เลยกลายเป็นการเรียนประวัติศาสตร์อังกฤษ
    • ไปเดินแล้วงงๆ รู้แต่ภาพสวยดีไม่ปะติดปะต่อ แต่มีหนังสือขาย ถ้าได้ไปอีกครั้งคงอินมากกว่าเดิมเยอะ เพราะอ่านประวัติศาสตร์อังกฤษเยอะขึ้นมากในช่วงหลัง
  • สิงคโปร์
    • ไม่ฟรี แพงพอสมควร แถมเล็ก
    • วันที่ไปเป็นวันชาติ National Museum เข้าฟรีหนึ่งที่
    • มีภาษาอังกฤษให้แทบทุกที่ อ่านออก
    • อันแรกที่เข้าไปคือ Peranakan Museum แสดงวัฒธรรมจีนโพ้นทะเลในสิงคโปร์ เทพมาก อันนี้แนะนำ
    • ที่อินเพราะจริงๆ แล้วมันใกล้กับคนจีนบ้านเรามาก แต่วัฒนธรรมจีนในสิงคโปร์หายไปเยอะมากแล้ว เหตุผลหนึ่งคือการจัดสรรที่ดินใหม่ทำให้คนจีนกระจายตัวไป
    • แต่ที่ชอบเพราะมันสะท้อนหลายมุม ความยุ่งเหยิงของการเปลี่ยนผ่านจากวัฒนธรรมจีนดั้งเดิมมาเป็นคนเมืองสมัยใหม่ ฯลฯ
    • National Museum เป็นห้องจัดแสดงชั่วคราวเยอะ ทั้งด้านหน้า ด้านล่าง และด้านบน
    • มีห้องประวัติศาตร์ แต่วันที่ไปคิวยาว เลยหนี
    • ฝั่งตรงข้ามเป็น Art Gallery ตอนที่ไปเป็นนิทรรศการของไทย แต่ส่วนถาวรก็น่าสนใจดี มีห้องสอนการดูงานศิลปะด้วย
    • โซนพวกนี้เดินถึงกันได้หมดแม้จะเหนื่อยหน่อย
  • ญี่ปุ่น
    • เก็บเงิน และใหญ่โคตร
    • แทบไม่มีภาษาอังกฤษเลย บรรลัยมาก
    • ค่อนข้างกระจัดกระจาย เป็นหย่อมๆ ถ้าไม่ได้อยู่ยาวๆ ไม่มีทางทั่ว
  • ไต้หวัน
    • ได้ไปอันเดียวคือ National Palace Museum
    • แต่ก็ซัดไปทั้งวันแล้ว
    • เก็บเงิน เดินทางลำบาก ออกนอกเมืองไปไกล
    • หาหนังสืออธิบายภาษาอังกฤษไม่เจอ

ที่ควรหาโอกาสไปอีกประเทศคือฮ่องกง

 

Privacy != Security

วันนี้เขียนข่าวเรื่อง Anonabox แล้วพบว่ายังมีความเข้าใจแปลกๆ อย่างหนึ่งคือ “ใช้ Tor แล้วจะปลอดภัยไหม?”

สำหรับคนทั่วไปคงเข้าใจว่าใช้ Tor แล้วจะ “ปลอดภัย” ขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้วความปลอดภัยกับความเป็นส่วนตัวเป็นคนละเรื่องกัน แม้ว่าจะพอไปด้วยกันได้บ้าง

เราไปธนาคาร ธนาคารถามข้อมูลเรามากมาย เจ้าหน้าที่ธนาคารอ่านแบบฟอร์มแล้วอาจจะรู้จักเราดีกว่าเพื่อนของเราเสียอีก แบบนี้คงไม่มีความเป็นส่วนตัว (ต่อธนาคาร) นัก แต่ธนาคารมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยแน่นหนา เราถือเงินเข้าไปแล้วไม่น่าจะถูกดักตีหัวได้โดยง่าย กรณีนี้เราก็มีความปลอดภัยพอสมควร

กลับกัน เราฝากเงินไว้กับเจ้าพ่อแถวบ้านให้ไปปล่อยกู้ต่อ เจ้าพ่ออาจจะไม่ถามอะไรเราแม้แต่น้อย แต่รังเจ้าพ่ออาจจะเป็นซ่องโจร มีคนเสพยาเสพติดมากมาย แค่เดินเข้าไปก็อาจจะถูกปล้น ถูกทำร้าย เงินฝากของเราอาจจะโดนเชิด เมื่อฝากเงินกับเจ้าพ่อ การตามรอยที่มาที่ไปของเงินทำได้ยากมาก เพราะเจ้าพ่อไม่สนใจอยากรู้ข้อมูลของเราและเงินของเรา

Tor มีไว้เพื่อรักษาความเป็นส่วนตัว อันนี้ต้องท่องไว้

การเข้าเว็บผ่าน Tor อาจจะนำไปสู่ “ความไม่ปลอดภัย” ได้อีกจำนวนมาก เครื่องทางออกปลายทางอาจจะเป็นของหน่วยงานรัฐ เป็นของแฮกเกอร์ที่จ้องจะแฮกเครื่องของเรา หรืออันตรายสารพัดรูปแบบ

เมื่อเข้าเว็บผ่าน Tor เราอาจจะถูกแฮก แต่คนแฮกจะไม่รู้ว่าเราอยู่ที่ไหน (หากเบราว์เซอร์ของเราไม่มีช่องโหว่) เมื่อเราเล่นเว็บบอร์ด อาจจะมีคนขโมยบัญชีเราไปใช้ เขารู้บัญชีที่เราเข้าผ่าน Tor แต่ไม่รู้ว่าเราเข้าจากไหน

ถ้าเราระวังตัวดีพอ สร้างบัญชีใหม่สำหรับใช้งานผ่าน Tor โดยเฉพาะ ความเป็นส่วนตัวก็จะค่อนข้างสมบูรณ์ แม้จะรู้ได้ว่าเราใช้บัญชีอะไร เราโพสอะไร แต่ก็ไม่มีใครรู้ว่าที่จริงแล้วเราเป็นใคร

แต่บัญชีนั้นก็อาจจะถูกแฮก ถูกนำไปใช้อย่างอื่นได้

กระบวนการเพื่อความปลอดภัยเป็นคนละเรื่องกับกระบวนการเพื่อความเป็นส่วนตัว และถ้าอยากได้ทั้งสองอย่างก็ต้องทำทั้งสองอย่าง