ว่าด้วย Cryptocurrency

เขียนเรื่องเงินจากวิทยาการเข้ารหัสลับ (เรื่องจะแปล cryptocurrency ว่าอะไรนี่เป็นประเด็นอีกอันอยู่) หลายครั้ง คำถามมักเป็นว่าควรซื้อไหม มันจะขึ้นไหม และอนาคตเราจะได้ใช้มันไหม อะไรแนวๆ นี้

สองคำถามแรก ตอบไปเหมือนเดิมเสมอ คือ “กูไม่รู้” (สุภาพกว่านี้ตามโอกาส แต่พูดกับตัวเองว่า “ถ้ากูรู้ กูซื้อนานแล้ว”)

แต่คำถามที่สามนี่น่าสนใจ เพราะทุกวันนี้หลายคนมักบอกว่าช่องทางการใช้เงินประเภทนี้แบบบนดินคือการโอนเงินข้ามประเทศ ขณะที่ญี่ปุ่นเองก็รองรับเงินประเภทนี้เป็นช่องทางการจ่ายเงิน

การโอนเงินข้ามประเทศเป็นสิ่งที่ธนาคารในระบบปัจจุบันทำได้ค่อนข้างแย่ ค่าธรรมเนียมแพง อัตราแลกเปลี่ยนแพง และกระบวนการโอนช้า

ค่าธรรมเนียมการโอนทุกวันนี้อย่างระบบบัตรเครดิต ร้านค้าออนไลน์อาจจะต้องรับผิดชอบค่าธรรมเนียมอยู่ถึง 3.5% เมื่อรับบัตรผ่าน payment gateway ต่างๆ และฝั่งผู้จ่ายเองก็ต้องรับค่าธรรมเนียมอัตราแลกเปลี่ยนอีก 2% รวมแล้วสูงถึง 5.5% ค่าธรรมเนียมของ Western Union ก็ใกล้เคียงกัน

เมื่อเป็นเช่นนี้ก็เป็นไปได้ว่าจะมีส่วนต่างให้เงินจากวิทยาการเข้ารหัสลับพวกนี้เข้ามาแทนที่ ระบบเงินเหล่านี้เพียงสร้างระบบที่ค่าธรรมเนียมรวมถูกกว่า ให้เหลือ 1-2% ก็คงจะมีการใช้งานจริงแล้ว เช่น บริษัทรับแลกประเทศต้นทางคิด 0.3% ตัวบล็อคเชนคิดค่าธรรมเนียม 0.1% และบริษัทรับแลกปลายทางคิด 0.6% (เพราะทำหน้าที่เป็น payment gateway ในตัว และอาจจะต้องเป็นฝั่งรับความเสี่ยงค่าเงิน)

เงินบนบล็อคเชนเหล่านี้มีความได้เปรียบสำคัญคือกระบวนการ settlement รวดเร็ว (ถ้า block ไม่เต็มเสียก่อน) ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนโดยทั่วไปในระยะเวลาสั้นๆ ไม่ควรจะผันผวนมากมาย แต่ปัญหาตอนนี้คือปริมาณ transaction ที่รองรับได้ช่างจำกัดจำเขี่ย และหากใช้ท่าขยายขนาดบล็อคไปเรื่อยๆ ปริมาณข้อมูลบนบล็อคเชนก็จะมีขนาดมหาศาล ดังนั้นเราจึงต้องหาทางสร้างเทคโนโลยีที่ Vitalik พูดเรื่องนี้ไว้เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา

การจ่ายเงินในอนาคตจึงเป็นไปได้ว่าร้านค้าบอกราคาสกุลเงินของตัวเอง และเมื่อเราเลือกจ่ายด้วย cryptocurrency หน้าเว็บก็แปลงเป็นเงินสกุลนั้นให้พร้อมกับบอกว่าจะคงราคาให้ 30 นาที เราเข้าเว็บบริษัทรับแลกจากเงินบาท และสั่งซื้อเงินจำนวนเท่าที่ระบุพร้อมกับสั่งโอนออก อีกสามนาทีเมื่อบล็อคเริ่มบันทึก transaction เว็บร้านค้าก็ยืนยันการรับเงิน และรอส่งสินค้า

การจะได้ใช้เงินประเภทนี้ในชีวิตประจำวันไหม จึงกลับไปที่เทคโนโลยีว่าเราจะสามารถสร้างเทคโนโลยีที่แทบไม่มีข้อจำกัดปริมาณรายการโอนไหม นับเป็นข้อแรกก่อน ถ้ารายการโอนวิ่งไม่ไป บล็อคเต็ม รอโอนเป็นวันก็จอดทันที

แต่ถ้าเทคโนโลยีเกิดแล้ว มันก็จะคาดโทษธนาคารและบริษัทรับจ่ายเงินทั้งหลายแล้วว่าจะวิ่งตามทันหรือไม่ สามารถหาทางมาต่อสู้กับเทคโนโลยีเหล่านี้ได้หรือไม่ ถึงจุดนั้นไม่ว่าธนาคารและเครือข่ายการจ่ายเงินทั้งหลายจะใช้อะไร (หรือใช้บล็อคเชนด้านหลังหรือไม่) ถ้าเราสามารถโอนด้วยระบบเดิมๆ แต่ค่าธรรมเนียมถูกลงจนใกล้เคียงกัน ธนาคารเลิกเก็บค่าธรรมเนียมความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน

ถ้าเป็นแบบนั้นต่อให้ cryptocurrency พร้อมแต่คนก็คงอยู่กับระบบเดิมต่อไป

 

ภาษี 2100

ในปี 2100

ชายคนหนึ่งออกวิ่งระดมทุน เป้าหมายของเขาคือการเพิ่มงบประมาณสาธารณสุขเป็น 8% ของ GDP เพิ่มจากปีก่อนหน้า ที่อยู่ที่ 7.5% ของ GDP ภายใน 3 ปีข้างหน้า

เขาชี้ว่าเงิน 0.5% ของ GDP ที่เพิ่มขึ้นมา จะทำให้มีโรงพยาบาลระดับศูนย์กระจายในพื้นที่ห่างไกลได้อีกอย่างน้อย 3-5 โรงพยาบาล ระยะเวลาส่งต่อผู้ป่วยร้ายแรงของประเทศลดลงโดยเฉลี่ย 2-3 ชั่วโมง ระยะเวลานานที่สุดจาก 5 ชั่วโมงลดลงเหลือ 3 ชั่วโมงเท่านั้น

บริษัทจำนวนมากเห็นด้วยกับเขา ออกตัวเป็นสปอนเซอร์งานด้วยการสนับสนุนงานวิจัย พบว่านอกจากโรงพยาบาลที่เพิ่มขึ้น สิ่งที่ได้คือแพทย์ไหลกลับจากภาคเอกชน อาจจะรวมถึงแพทย์เชี่ยวชาญสูงที่ออกไปทำงานต่างประเทศไหลกลับประเทศ ทำให้ศักยภาพการวิจัยระดับสูงโดยรวมเพิ่มขึ้น คาดว่าเมื่อคงอัตรางบประมาณไว้ได้อีก 10 ปี จะมีงานวิจัยตีพิมพ์เพิ่มขึ้นอีก 10-15%

ผมพบแคมเปญของชายคนนั้นบนเฟซบุ๊ก (เฟซบุ๊ก 2100 หลานมาร์ค ซักเกอร์เบิร์คไม่ยอมให้เว็บมี scroll bar แล้ว มันจะเด้ง content ให้ผมดูทีละอันสลับกับโฆษณา) เมื่อกดลิงก์ มันเด้งไปยังหน้าเว็บกรมสรรพภากร

เว็บสรรพภากรไม่ใช่ยาขมสำหรับคนทั่วไปเหมือนสมัยปี 2000 อีกแล้ว ไม่มีใครเสียเวลาทำมาหากินเป็นวันๆ มากรอกแบบฟอร์มภาษีอันซับซ้อนและภาวนาให้กรอกถูกโดยไม่ต้องโดนเรียกไปชี้แจงเหมือนร้อยปีก่อน ทุกอย่างเป็นระบบอัตโนมัติ มีเพียงคำยืนยันรายเดือนว่าเดือนนี้เก็บภาษีไปมากน้อยเพียงใด ปีที่แล้วพบว่ามีอัตราการร้องเรียนว่าคิดเงินผิดเพียงไม่กี่ร้อยกรณี น้อยกว่าบิลค่าโทรศัพท์มือถือเมื่อร้อยปีก่อนเสียอีก

แต่เว็บสรรพภากรเป็นสิ่งที่คนทั่วไปเข้าใช้งานได้ทุกวัน เพราะทุกคนสามารถเลือก “โยน” ภาษีของตัวเองลงโครงการหรือหน่วยงานของรัฐใดๆ ก็ได้ตามใจชอบ

หน้าเว็บที่เหมือนกับเว็บ KickStarter เด้งขึ้นมาทันที มีโครงการโรงพยาบาลศูนย์ที่กำลังเปิดใหม่ต้องการอัพเกรดห้องตรวจ ผอ. โรงพยาบาลเขียนจดหมายเปิดผนึกว่าโรงพยาบาลใช้ห้องตรวจนี้ดูแลคนไข้เฉลี่ยวันละ 80 คน และการปรับปรุงนี้คุ้มค่างบประมาณที่ขอมาไม่กี่แสนบาท ผมกดแบ่งเงินภาษีเดือนปัจจุบันลงโครงการนี้ไปหนึ่งพันบาท

ระบบปรับเงินภาษีเริ่มใช้ตั้งแต่ปี 2080 มันออกแบบให้ประชาชนเลือกวางเงินภาษีของตัวเองได้ตามใจชอบ โดยรัฐบาลมีกำหนดขั้นต่ำเอาไว้บางหมวด เช่น ความมั่นคงขั้นต่ำ 0.05% ของ GDP, งบภัยพิบัติ 0.1% ของ GDP และงานบริหารอื่นๆ 0.2% ของ GDP ส่วนที่เหลือทั้งหมดสามารถปรับหลอดสัดส่วนการกระจายภาษีไปให้กับกระทรวงต่างๆ ตามหลอดสัดส่วน เช่น สาธารณะสุข, ท้องถิ่น, ความมั่นคง

ปีที่แล้วสภาใช้เวลาถกเถียงกันครึ่งหนึ่ง เพราะรัฐบาลต้องการเพิ่ม “ค่าเริ่มต้น” งบประมาณบริหารทั่วไปสำหรับคนที่ไม่ตั้งค่าด้วยตัวเอง จาก 5% ของภาษีเป็น 7%

แต่สิ่งที่ต้องคิดคือเรื่องในอนาคต การเพิ่มงบสาธารณะสุขในปีสามปี โครงการ “ก้าวละ 1% ของ GDP” เด้งขึ้นมา เงินจำนวนมากขนาดนั้นหากผมปรับเงินภาษีของผมไปอยู่กับสาธารณสุขทั้งหมด หมายถึงผมต้องลดสัดส่วนภาษีให้กับการจ่ายท้องถิ่นลง ผมมองเห็นโครงการปรับปรุงถนนหน้าบ้านที่เพิ่งหยอดเงินภาษีลงไปให้เมื่อเดือนที่แล้ว คงไม่ดีเท่าไหร่ถ้าจะปล่อยให้โครงการหมดงบประมาณหลังเฟสแรก

เมื่อกดเข้าหน้าโครงการ ปุ่มสีเขียวขนาดใหญ่ระบุว่า “โอนภาษีที่เพิ่มขึ้นจากปีนี้ ไปให้สาธารณะสุขทั้งหมดในอีก 3 ปีข้างหน้า” ผมยิ้มอย่างสบายใจ แสดงว่าตัวเงินภาษีที่ผมตั้งไว้ให้ท้องถิ่นจะไม่ลดลงเลยในสามปีข้างหน้า หวังว่าถนนทั้งสายจะเสร็จก่อน หากรายได้ผมเพิ่มขึ้นจนภาษีเพิ่มขึ้น ส่วนที่เพิ่มขึ้นจะกลายเป็นงบประมาณสาธารณะสุขโดยอัตโนมัติ มันคงไม่มากอะไรนักสำหรับผมคนเดียว แต่ถ้าทุกคนกดปุ่มนี้ อีก 2.5% ของ GDP ในสามปีคงไม่ยากมาก

เราคงต้องรอดูผลกันในปี 2103

ปล. ห้าปีก่อนมี อาหาร 2100

 

ปัญญาประดิษฐ์ (และหุ่นยนต์) ปฎิวัติ

คนจำนวนมากอาจจะเคยเห็นวิดีโอสายการผลิตอะไรในโรงงานแบบนี้ตามเฟซบุ๊กบ่อยๆ แล้วรู้สึกทึ่งกับความสามารถในการผลิตที่รวดเร็วของสายการผลิตเหล่านี้ ที่ของที่เราเคยคิดว่าต้องใช้เวลาทำนานๆ แล้วสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ แถมไม่มีคนเข้ามาเกี่ยวข้องแม้แต่น้อย

แม้จะน่าทึ่ง แต่ในความเป็นจริงเครื่องจักรเหล่านี้กลับไร้ความยืนหยุ่น เครื่องผลิตขนมถูกตั้งมาให้ผลิตขนมได้เพียงอย่างเดียวโดยปรับแต่งได้เพียงเล็กน้อย เช่น วาดหน้าเค้ดในรูปแบบต่างๆ หรือการปรับแต่งต้องอาศัยปัจจัยภายนอกเช่นไส้ที่เปลี่ยนสูตรไป การคิดอะไรแปลกๆ เช่น ทาร์ตทรงสามเหลื่ยมอาจจะหมายถึงการปรับแต่งเครื่องใหม่ทั้งหมด

มันไม่มีปัญหาอะไร ถ้าปริมาณการผลิตมันเยอะเพียงพอ กับอาหารก็ทำได้ไม่ยากนักที่เราจะผลิตสินค้าแบบเดียวกันนับล้านชิ้น

แต่สินค้าที่ความซับซ้อนสูง เช่น รถยนต์ เราไม่สามารถสร้างเครื่องจักรที่ผลิตเป็นสายพานเช่นนี้ โดยนั่งออกแบบเครื่องให้มันทำงานสอดประสานกันพอดีอย่างสมบูรณ์ได้ ทางออกในการทำให้กระบวนการเป็นอัตโนมัติคือการใช้หุ่นยนต์

แขนกลในโรงงานเป็นหุ่นยนต์ที่เราเห็นกันจนชินตา ในโรงงานรถยนต์หุ่นยนต์เหล่านี้ทำหน้าที่ เชื่อม ตัด หรือเจาะ ในส่วนที่ซับซ้อนจนปกติต้องใช้มนุษย์ แต่มันกลับทำได้โดยไม่หยุดพัก และความผิดพลาดแทบเป็นศูนย์โดยไม่มีปัจจัยความเหนื่อยล้า

หุ่นยนต์เคยเป็นเครื่องจักรราคาแพงที่มีเฉพาะการผลิตมูลค่าสูงเท่านั้นจะใช้งานได้ แต่ราคาหุ่นยนต์กลับเพิ่มขึ้นไม่มากนักในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา ทำให้อุตสาหกรรมใหม่ๆ เริ่มนำหุ่นยนต์เหล่านี้มาใช้งานได้ง่ายขึ้น

Zume Pizza คือตัวอย่างของการใช้หุ่นยนต์กับสินค้ามูลค่าไม่สูงนัก ซีอีโอของ Zume ระบุว่าหุ่นยนต์ที่นำมาใช้คืนทุนได้ภายใน 6 เดือนเท่านั้น

แต่กรณีของ Zume Pizza ก็ยังเป็นเพียงกรณีเฉพาะ เพราะหุ่นยนต์ที่ใช้ทำงานเพียงงานง่ายๆ คือป้อนพิซซ่าเข้าเตาอบ เท่านั้น สายการผลิตของ Zume ยังคงต้องการเครื่องจักรเฉพาะ เช่นเครื่องราดซอร์สลงบนพิซซ่า

การใช้งานหุ่นยนต์ติดกำแพงในการเข้าถึงเพราะหุ่นยนต์ทุกวันนี้ยังต้องอาศัยวิศวกรเชี่ยวชาญสูงในการ “สอนงาน” ให้หุ่นยนต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง แม้ว่าตัวหุ่นยนต์อาจจะซื้อสำเร็จรูปได้แล้วก็ตาม แต่การสอนให้หุ่นยนต์ทำงานกับสภาพแวดล้อมอย่างสอดประสาน เช่น รอให้พิซซ่าดิบมาถึงระยะที่เหมาะสม นำถาดไปรองรับ วางพิซซ่าลงในเตาที่ยังว่างอยู่ สิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยวิศวกรที่มาโปรแกรมมันทั้งสิ้น

https://www.youtube.com/watch?v=Rt0GkhVPjac

สารคดี Tesla ในการพัฒนาสายการผลิต Model S พูดถึงเรื่องการเซ็ตอัพให้หุ่นยนต์เดินเครื่องตามที่โปรแกรมไว้เป็นเซคชั่นใหญ่ของตัวสารคดีทั้งเรื่อง วิศวกรต้องโปรแกรม, ปรับแต่ง, และแก้ไขให้หุ่นยนต์ค่อยๆ ทำตามที่มนุษย์ตั้งใจ ซอฟต์แวร์เหล่านี้มีความซับซ้อนสูง วิศวกรต้องคิดถึงความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นและแนวทางที่หุ่นยนต์ควรรับมือกับความไม่แน่นอนของโลกความเป็นจริง

https://www.youtube.com/watch?v=jE-XiWrAg3M

ปัญญาประดิษฐ์คือด่านสุดท้ายของสั่งคอมพิวเตอร์และหุ่นยนต์โดยไม่ต้องการความเชี่ยวชาญสูงนัก ทุกวันนี้ปัญญาประดิษฐ์ทำหน้าที่แปลงคำสั่งจากภาษามนุษย์เป็นคำสั่งที่คอมพิวเตอร์เข้าใจได้ด้วยความซับซ้อนที่สูงขึ้นอย่างช้าๆ คนไม่ทันเทคโนโลยี ไม่เข้าใจการใช้แอปปฎิทินสามารถแจ้งเตือนนัดหมายล่วงหน้าผ่าน Siri ได้เหมือนสั่งงานเลขาที่เป็นคนจริงๆ

ปัญญาประดิษฐ์กับหุ่นยนต์จะทำให้แทบไม่มีอุปสรรคใดๆ ต่อการสร้างระบบผลิตอัตโนมัติ พ่อครัวสักคนสามารถซื้อหุ่นยนต์แล้วสอนว่าการทอดที่พอดีสำหรับเขาเป็นอย่างไร จานชามจะไม่ต้องวางในตำแหน่งที่แน่นอน เจ้าของหุ่นยนต์เพียงสั่งด้วยคำสั่งระดับสูง

เมื่อโปรแกรมให้หุ่นยนต์ทำก๋วยเตี๋ยวสักเมนู ในอนาคตอันใกล้อาจจะเป็นเช่นนี้

  • เจ้าของร้าน: บันทึกเมนู เส้นเล็กต้มยำ เริ่มจากหยิบชาม
  • ปัญญาประดิษฐ์: ชามสีแดงหรือสีขาว
  • เจ้าของร้าน: สีขาว สีแดงใช้เฉพาะลูกค้าสั่งเมนูพิเศษ
  • ปัญญาประดิษฐ์: ได้ แล้วทำอย่างไรต่อ
  • เจ้าของร้าน: หยิบเส้นเล็กหนึ่งกำ ประมาณ 70-90 เส้น ใส่ตระกร้อ ลวกในน้ำเดือด 30 วินาที หรือให้แน่ใจว่าเส้นอ่อนนุ่มทั้งหมดแล้ว
  • หุ่นยนต์ + ปัญญาประดิษฐ์: [ลวกเส้นทันที] ประมาณนี้ใช่ไหม
  • เจ้าของร้าน: นานกว่านี้อีกหน่อย ให้เส้นใสกว่านี้ ยกตระกร้อขึ้นมาดูเรื่อยๆ
  • หุ่นยนต์ + ปัญญาประดิษฐ์: [ลวกเส้นต่ออีก 5 วินาที] ประมาณนี้ใช่ไหม
  • เจ้าของร้าน: ได้ ประมาณนี้เลย แล้วเอาเส้นใส่ชาม ใส่เครื่องปรุง น้ำปลาหนึ่งช้อนชา น้ำมะนาวหนึ่งช้อนชา น้ำตาลหนึ่งช้อนชา พริกครึ่งช้อนชา
  • หุ่นยนต์ + ปัญญาประดิษฐ์: [มองรอบๆ ครัวแล้วหยิบเครื่องปรุงเองตามคำสั่ง]
  • เจ้าของร้าน: คลุกเข้ากับเส้น ใส่ซุปครึ่งชาม แล้วใส่ลูกชิ้นสี่ลูก

ร้านร้านหนึ่งอาจจะต้องทนฝึกหุ่นยนต์ไปเรื่อยๆ จนรับคำสั่งลูกค้าได้ถูกต้องทั่งหมด (เส้นนุ่มพิเศษ, เพิ่มเส้น ฯลฯ) แต่หลังจากจุดหนึ่ง มันจะไม่เหนื่อย ไม่ลา ไม่ขาด ไม่สาย รอซ่อมตามรอบอย่างเดียว

แถมเมื่อฝึกแล้วสำเนานิวรอนไปกี่ตัวก็ได้ ไม่จำกัด

 

10 กว่าปีกับ dtac

มีประเด็นที่คุยกับเพื่อในทวิตเตอร์พบว่าผมเป็นคนใช้โปรโทรศัพมือถือถูกมาก คือเดือนละ 199 บาท มาหลายปีแล้ว โปรที่ใช้ตอนนี้คือ 199 บาท ได้เน็ต 500MB  FUP 64kbps โทร 100 นาที ไม่มี Wi-Fi

ใช้แบบนี้อยู่ระยะหนึ่ง ทำให้เถียงกับหลายคนได้ว่า 64kbps มันใช้งานอะไรไม่ได้นี่ไม่จริง เพราะผมก็ใช้งานอยู่นี่ล่ะ

แต่โอเคมันมีช่วงที่ใช้งานอย่างอื่นบ้าง บางทีเน็ตออฟฟิศไม่นิ่งก็ต้อง tethering แล้วเวลา FUP มันจะเพิ่ม latency จนใช้งานบางอย่างไม่ได้

เมื่อสักสองสามปีก่อน ตอนไปจ่ายเงินมีพนักงานมาชวนสมัครโปร Speed Topping 399 บาท ต่อ 6 เดือน ได้เดือนละ 3GB เพิ่มขึ้นมา กลายเป็นเดือนละ 265.5 บาท ได้เน็ต 3.5GB ต่อเดือน โปร Topping นี้พนักงานเลิกโปรโมทไปแล้ว แต่ยังสมัครบนเว็บ My dtac ได้อยู่ (หาไม่เจออีกต่างหาก ต้องค้นจากโปรที่เคยใช้) ก็สมัครมาเรื่อยๆ

กลายเป็นว่าถูกกว่า Super Non-stop 299 ตอนนี้ที่ได้เน็ต 1.5GB เอง

เดือนสองเดือนที่ผ่านมาเผลอฟังเพลงแล้วกดเป็น Radio จนเน็ตหมด เลยคิดว่าหาทางออกอีกสักชั้นน่าจะดี ลองไปลองมาพบว่าเราสามารถซื้อ Speed Topping 4GB ต่อ 15 วัน ซ้อนเข้าไปได้ด้วย ถ้ารออินเทอร์เน็ตหมด (ซึ่งส่วนใหญ่ก็เกินครึ่งเดือน) แล้วค่อยกดสมัคร ก็จะได้เน็ตรวม 7.5GB ในราคา 364.5 บาท ดีกว่า Super Non-stop 399 เสียอีก (ยังไม่เคยลองว่า 4GB/99 นี่มันซื้อซ้อนไปได้เรื่อยๆ ไหม) แต่ข้อเสียคือมันจะนับ Topping ราย 6 เดือนก่อน แล้วค่อย Topping 15 วัน แล้วนับ package หลักอันสุดท้าย ต้องรอให้ทุกอย่างหมดก่อนแล้วค่อยซื้อ 15 วัน

อีกปัญหาคือจะซื้อซิมใส่ tablet ให้ที่บ้านใช้งาน พบว่าโปรถูกสุดคือ Tablet Net Non-stop 299 แพงแถมเน็ตแค่ 1.5GB

ทางที่ง่ายกว่าคือเลี้ยงซิมเติมเงินสักค่าย (กรณีผมคือเอา SIM2Fly ไม่ใช้แล้ว) ให้ครบ 90 วัน แล้วก็สั่งย้ายค่าย

ได้ Super Non-Stop 499 10GB มาใช้ในราคา 249 บาท (เดือนที่สองฟรี เฉลี่ยเดือนละ 228 บาท) ก็ยกซิมให้ที่บ้านไป พอได้ Wi-Fi มาก็เอารหัสมาใส่มือถือตัวเอง ที่บ้านไม่ได้ใช้อยู่แล้ว ครบปีก็ค่อยปิดเบอร์แล้วย้ายค่ายใหม่ (หรือไม่ก็เอาเบอร์เดิมไปย้ายค่ายอื่น?)

จริงๆ ท่าเลี้ยงซิมนี่ถ้าคนใช้หนักๆ หน่อยอย่างพวก ใช้ 3G เป็นเน็ตสำรองนี่ ใช้โปร 60GB ได้ราคา GB และ 12.48 บาทต่อ GB เอง ใช้สำรองได้แทบทั้งออฟฟิศ

ยังไม่คิดจะย้ายออกเพราะใช้สิทธิ์ซะคุ้ม กาแฟลดราคาก็ใช้, เพิ่งใช้สิทธิ์โดนัทฟรี, ตั๋วหนังลดราคา ปัญหารวมๆ ก็คิดว่ายังน้อยพอ เจอปัญหาแรงๆ ทีเดียวในช่วงหลายปี พวกเรื่องน่ารำคาญอย่างโทรมาเสนอโปรก็หายไปแล้วในปีนี้