ว่าด้วย Cryptocurrency

เขียนเรื่องเงินจากวิทยาการเข้ารหัสลับ (เรื่องจะแปล cryptocurrency ว่าอะไรนี่เป็นประเด็นอีกอันอยู่) หลายครั้ง คำถามมักเป็นว่าควรซื้อไหม มันจะขึ้นไหม และอนาคตเราจะได้ใช้มันไหม อะไรแนวๆ นี้

สองคำถามแรก ตอบไปเหมือนเดิมเสมอ คือ “กูไม่รู้” (สุภาพกว่านี้ตามโอกาส แต่พูดกับตัวเองว่า “ถ้ากูรู้ กูซื้อนานแล้ว”)

แต่คำถามที่สามนี่น่าสนใจ เพราะทุกวันนี้หลายคนมักบอกว่าช่องทางการใช้เงินประเภทนี้แบบบนดินคือการโอนเงินข้ามประเทศ ขณะที่ญี่ปุ่นเองก็รองรับเงินประเภทนี้เป็นช่องทางการจ่ายเงิน

การโอนเงินข้ามประเทศเป็นสิ่งที่ธนาคารในระบบปัจจุบันทำได้ค่อนข้างแย่ ค่าธรรมเนียมแพง อัตราแลกเปลี่ยนแพง และกระบวนการโอนช้า

ค่าธรรมเนียมการโอนทุกวันนี้อย่างระบบบัตรเครดิต ร้านค้าออนไลน์อาจจะต้องรับผิดชอบค่าธรรมเนียมอยู่ถึง 3.5% เมื่อรับบัตรผ่าน payment gateway ต่างๆ และฝั่งผู้จ่ายเองก็ต้องรับค่าธรรมเนียมอัตราแลกเปลี่ยนอีก 2% รวมแล้วสูงถึง 5.5% ค่าธรรมเนียมของ Western Union ก็ใกล้เคียงกัน

เมื่อเป็นเช่นนี้ก็เป็นไปได้ว่าจะมีส่วนต่างให้เงินจากวิทยาการเข้ารหัสลับพวกนี้เข้ามาแทนที่ ระบบเงินเหล่านี้เพียงสร้างระบบที่ค่าธรรมเนียมรวมถูกกว่า ให้เหลือ 1-2% ก็คงจะมีการใช้งานจริงแล้ว เช่น บริษัทรับแลกประเทศต้นทางคิด 0.3% ตัวบล็อคเชนคิดค่าธรรมเนียม 0.1% และบริษัทรับแลกปลายทางคิด 0.6% (เพราะทำหน้าที่เป็น payment gateway ในตัว และอาจจะต้องเป็นฝั่งรับความเสี่ยงค่าเงิน)

เงินบนบล็อคเชนเหล่านี้มีความได้เปรียบสำคัญคือกระบวนการ settlement รวดเร็ว (ถ้า block ไม่เต็มเสียก่อน) ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนโดยทั่วไปในระยะเวลาสั้นๆ ไม่ควรจะผันผวนมากมาย แต่ปัญหาตอนนี้คือปริมาณ transaction ที่รองรับได้ช่างจำกัดจำเขี่ย และหากใช้ท่าขยายขนาดบล็อคไปเรื่อยๆ ปริมาณข้อมูลบนบล็อคเชนก็จะมีขนาดมหาศาล ดังนั้นเราจึงต้องหาทางสร้างเทคโนโลยีที่ Vitalik พูดเรื่องนี้ไว้เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา

การจ่ายเงินในอนาคตจึงเป็นไปได้ว่าร้านค้าบอกราคาสกุลเงินของตัวเอง และเมื่อเราเลือกจ่ายด้วย cryptocurrency หน้าเว็บก็แปลงเป็นเงินสกุลนั้นให้พร้อมกับบอกว่าจะคงราคาให้ 30 นาที เราเข้าเว็บบริษัทรับแลกจากเงินบาท และสั่งซื้อเงินจำนวนเท่าที่ระบุพร้อมกับสั่งโอนออก อีกสามนาทีเมื่อบล็อคเริ่มบันทึก transaction เว็บร้านค้าก็ยืนยันการรับเงิน และรอส่งสินค้า

การจะได้ใช้เงินประเภทนี้ในชีวิตประจำวันไหม จึงกลับไปที่เทคโนโลยีว่าเราจะสามารถสร้างเทคโนโลยีที่แทบไม่มีข้อจำกัดปริมาณรายการโอนไหม นับเป็นข้อแรกก่อน ถ้ารายการโอนวิ่งไม่ไป บล็อคเต็ม รอโอนเป็นวันก็จอดทันที

แต่ถ้าเทคโนโลยีเกิดแล้ว มันก็จะคาดโทษธนาคารและบริษัทรับจ่ายเงินทั้งหลายแล้วว่าจะวิ่งตามทันหรือไม่ สามารถหาทางมาต่อสู้กับเทคโนโลยีเหล่านี้ได้หรือไม่ ถึงจุดนั้นไม่ว่าธนาคารและเครือข่ายการจ่ายเงินทั้งหลายจะใช้อะไร (หรือใช้บล็อคเชนด้านหลังหรือไม่) ถ้าเราสามารถโอนด้วยระบบเดิมๆ แต่ค่าธรรมเนียมถูกลงจนใกล้เคียงกัน ธนาคารเลิกเก็บค่าธรรมเนียมความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน

ถ้าเป็นแบบนั้นต่อให้ cryptocurrency พร้อมแต่คนก็คงอยู่กับระบบเดิมต่อไป

 

lewcpe

CTO at MFEC PLC. Chief Editor at Blognone.com