พื้นที่เปิดโล่ง

หนึงในนโยบายทางการศึกษาที่ผมเห็นการเริ่มต้นของมันด้วยตา และมองว่ามันเส็งเคร็งที่สุดคือนโยบายทรานสคริปต์กิจกรรม

กิจกรรมเป็นสิ่งที่ดีแน่นอน ผมเองสนับสนุนให้น้องๆ ทำกิจกรรมเรื่อยมา แต่มันไม่ใช่มันดีเพราะมันเป็นกิจกรรม กิจกรรมไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์แห่งการศึกษา

กิจกรรมคือการสร้างพื้นที่ “เปิดโล่ง” ให้กับสถานศึกษา มันคือสิ่งที่ใช้เรียกการกระทำ “อะไรก็ได้” ตามแต่ที่ตัวคนเรียนจะเห็นสมควร ภายใต้กรอบที่กว้างที่สุดเท่าที่สถานศึกษาจะเปิดพืนที่ให้ได้

การศึกษาที่เคารพผู้เรียนว่าไม่โง่งี่เง่าจนคิดอะไรไม่ออก ควรเปิดพื้นที่ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ วิชาเลือกต่างๆ ควรมีความหลากหลายและเพียงพอที่คนเรียนจะเลือกเส้นทางของตัวเองได้อย่างกว้างขวาง แต่กระนั้นแม้การสร้างทางเลือกให้มากมายแล้วก็ยังมีบางอย่างที่เกินกว่าจะสร้างทางเลือกในฐานะ “วิชา” ในสถานศึกษาไปได้

นั่นคือต้องมีกิจกรรม

ในภาวะที่หน่วยงานการศึกษาไทยจำนวนมากมีทรัพยากรจำกัดจำเขี่ย ผู้บริหารไร้ศักยภาพแม้แต่จะจัดสรรวิชา “บังคับ” ให้มีเพียงพอต่อการเรียน กลับเกิดภาวะแย่งกันเรียนจนแทบจราจลทุุกปี เราจะเชื่ออะไรกับคนกลุ่มนี้ที่มาพูดเรื่องความหลากหลาย

สิ่งที่พวกเขาทำไม่ใช่ความหลากหลาย สิ่งที่พวกเขาทำคือการสร้างสิ่งศักดิ์สิทธิขึ้นมาให้คนกราบไหว้

พวกเขาเลือกกิจกรรมขึ้นมาเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พวกเขาสร้างภาพสิ่งที่เรียกว่าเป็นกิจกรรมให้สำเร็จรูป ตามภาพความเชื่อของพวกเขา กิจกรรมถูกบีบให้กลายเป็นสิ่งที่พวกเขามองว่าเป็นกิจกรรม สิ่งอื่นๆ นอกจากนั้นกลายเป็นสิ่งที่ไม่มีที่ยืน

ทุกอย่างมันย้อนกลับไปที่คำถามเริ่มต้น คุณเชื่อในคนเรียนแค่ไหน หรือคุณเห็นเขาเป็นแค่กระดาษที่รอการพิมพ์เนื้อความลงไป

 

Tag เรียน วิศวะ (คอมพิวเตอร์) อย่างคนมีกึ๋น

จริงๆ แล้วผมไม่ชอบชื่อ Tag นี้เลย แต่คิดไปคิดมาอีกที การสร้างแบรนด์แบบนี้มันเข้าท่าดีเหมือนกัน ในอนาคตน้องๆ อยากเรียนอะไรก็หาชื่อคณะ + “อย่างคนมีกึ๋น” นี่เข้าไปก็ง่ายดี

## เรียนคณะอะไรอยู่
วิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ม. เกษตร

## สาขาที่เรียน เรียนยังไง เรียนอะไร

### เรียนอะไร
เรียนคอมพิวเตอร์ครับ แต่มันไม่ใช่แค่นั้น ตรงนี้น้องๆ หลายคนเข้าใจผิดมากว่าเป็นการเรียนใช้คอมพิวเตอร์ซึ่งผิดถนัด หลักสูตรวิศวคอมฯ ออกแบบมาเพื่อให้เราเข้าใจถึงการออกแบบภายในของคอมพิวเตอร์ ว่าการทำงานภายในเป็นอย่างไร ทำไมจึงมีการออกแบบมาเป็นคอมพิวเตอร์เช่นทุกวันนี้

นี่เป็นปัญหาระบบแนะแนวของเมืองไทยระดับชาติ ลืมคิดเรื่องเทคนิคการใช้ Photoshop หรือ Excel ให้เชี่ยวชาญไปได้เลย นั่นคือสิ่งที่น้องต้องไปหาเอาเองครับ

### เรียนอะไรบ้าง
ประโยชน์หลักๆ ของคอมพิวเตอร์ทุกวันนี้คือความเร็ว งานส่วนมากที่คอมพิวเตอร์ทำนั้นสามารถใช้คนทำได้ แต่คอมพิวเตอร์ทำได้เร็วกว่า (หลายล้านเท่าตัว) ดังนั้นการเรียนจึงเน้นด้านความเร็วเป็นหลัก เทอมแรกๆ เราจะเรียนเรื่องทำอย่างไรจึงเขียนโปรแกรมให้ทำงานได้เร็วๆ (Algorithm) ถัดมาทำยังไงชิปในเครื่องเราจะเร็ว (Computer Architecture) ส่วนเรื่องอื่นๆ นั้นก็มีทั่วไป เช่นคอมพิวเตอร์ทำอะไรได้และไม่ได้บ้าง โครงสร้างภายในมีอะไรบ้าง

## เรียนแล้วเอาไปทำอะไร
ง่ายสุดคือเรียนแล้วจะอ่านสเปคคอมพิวเตอร์เข้าใจอย่างแจ่มแจ้งมากขึ้น เมื่อก่อนเวลาเราเดินไปดูโบร์ชัวร์ของคอมพิวเตอร์ เราอาจจะเห็น USB, SATA, SuperScalar, Pipline, PCI, Bus, 802.11 ฯลฯ หลังจากเรียนถ้าเราได้ความรู้มาครบถ้วน เราน่าจะมองเห็นภาพว่าคำพวกนี้มันแปลว่าอะไรได้บ้างทั้งหมด

ส่วนเรื่องการทำงาน เท่าที่เห็นในตอนนี้คนจบคอมแล้วทำงานตรงสายที่เรียนมาแบ่งออกเป็นสองสายใหญ่ๆ
– โปรแกรมเมอร์ ไปนั่งเขียนโปรแกรมเป็นหลัง ส่วนนี้อาจจะมีสายย่อยๆ ออกไปบ้างเช่น เป็นคนวิเคราะห์ระบบ, ดูแลระบบฐานข้อมูล ฯลฯ พวกนี้พอเรียนๆ ไปจะเห็นภาพมากขึ้น
– เน็ตเวิร์ค ทำงานในบริษัทอินเทอร์เน็ตและบริษัทมือถือทั้งหลาย ดูแลให้เครือข่ายทำงานได้สมบูรณ์ไม่ล่มไม่ดับ

## เคล็ดลับในการเรียน
บอกก่อนเลยว่าวิศวคอมเป็นภาควิชาที่การบ้านเยอะมาก น่าจะภาคอื่นๆ อยู่อย่างชัดเจนจนบางทีไม่มีเวลาเที่ยวหรือทำกิจกรรมอย่างที่หลายๆ คนหวังไว้ สาวๆ อาจจะไม่มีเวลาแต่งสวยเหมือนที่เคยหวังว่าเข้า มหาวิทยาลัยแล้วจะมีโอกาส ดังนั้นเคล็ดลับแรกคงเป็นเรื่องของการมองตัวเองก่อนเข้ามาว่าชอบจริงๆ รึเปล่าถ้าต้องอยู่กับคอมพิวเตอร์วันละ 10 ชั่วโมงโดยเป็นงานไม่ใช่การเล่นเกม

ข้อต่อมาคือพยายามเรียนเป็นกลุ่ม ถ้าเรียนเก่งอยู่แล้วการแชร์กับเพื่อนๆ จะช่วยให้เราลำดับความคิดได้ดีขึ้น ซึ่งจะช่วยเอาตอนสอบที่ต้องทำเป็นข้อเขียน ส่วนถ้าคนเรียนไม่เก่ง การเรียนเป็นกลุ่มเราจะได้รับความคิดจากคนอื่นๆ มาทำความเข้าใจ พยายามแสดงความเห็นแม้มันอาจจะผิด อย่างน้อยเราก็จะได้รู้ว่ามันผิดก่อนสอบ

ข้อสุดท้ายที่สำคัญมากคือพยายามจำภาพวันที่เราได้รับเข้าเรียนมหาวิทยาลัยไว้ให้ดีๆ ว่าเรามีความฝันมีความหวังอะไรกับการที่เราเข้ามาเรียนเอาไว้ ระหว่างทางมันจะเหนื่อยมาก พยายามอย่าลืมภาพนั้น ถ้าเราดีใจที่ทำให้พ่อแม่เราสมหวังกับการได้เข้าคณะที่มีชื่อเสียง จำไว้ว่าเราต้องทำให้มากกว่าเดิมเพื่อพ่อแม่เราจะเห็นเราจบไปจากคณะนี้ด้วย

## อยากจะบอกน้องๆ ว่า
มองให้มันสนุก ทำให้เต็มที่

## กติกาของ Tag นี้
1. copy กติกาของแท็กคนมีกึ๋นไปใส่ไว้ในเอ็นทรี่
2. ตั้งชื่อเอ็นทรี่เป็น “Tag เรียน….อย่างคนมีกึ๋น” <-- ใส่ชื่อคณะหรือเอกที่คุณเรียนลงไป 3. ตอบคำถาม 5 ข้อต่อไปนี้ - ตอนนี้กำลังเรียนคณะอะไร สาขาอะไรอยู่? - สาขาที่เรียน เรียนยังไง เรียนอะไรบ้าง? - สาขาที่เรียนเอาไปใช้ทำอะไรได้บ้าง? - บอกเคล็ดลับการเรียนในสาขานี้อย่างคนมีกึ๋นมา 1 ข้อ - อยากบอกน้องๆ ที่จะเลือกคณะนี้ว่า?? 4. พิมพ์ชื่อ Tags ให้ไปอยู่ในหมวดหมู่ของคณะตัวเอง เช่น มนุษยศาสตร์ นิติศาสตร์ ฯลฯ รวมถึงหมวดหมู่ Admission เพื่อให้น้องๆ ที่กำลังจะสอบเข้ามหาวิทยาลัย ได้เข้าไปเลือกอ่านได้ตามความสนใจ จากนั้นอย่าลืม.. ส่ง tag ต่อ

 

บล็อกนี้ตอบคุณ tanakorn ในบล็อกก่อนหน้านี้ว่าเด็กน่าจะมีสิทธิ์จะเอาตัวรอดด้วยการมุ่งไปที่เงิน

คำตอบผมง่ายๆ ครับ

ผมเชื่อว่าเด็กคิดถูกแล้วครับ ที่ทำอย่างนั้น ผมมีลูกแล้วลูกเลือกเรียนคณะที่จบมาแล้วจนผมคงคิดมากจนหัวหงอกเอาเหมือนกัน
สิ่งที่ทำให้การเรียนวิศวกรรมคือการที่มีแต่เด็กที่คิดแต่เรื่องเงินมาเรียนเต็มคณะ

ง่ายๆ คือผมไม่ได้โทษเด็ก…..

สิ่งที่แย่ไม่ใช่การที่เด็กคนหนึ่งจะคิดแต่เรื่องเงินแล้วเข้ามาเรียนวิศวฯ แต่สิ่งที่แย่คือคณะที่เต็มไปด้วยแต่เด็กที่คิดแต่เรื่องเงิน

ทุกคนคิดเรื่องเงินแน่ๆ ครับ ผมก็คิด และทุกคนก็ควรคิด  บางคนอาจจะเป็นเหตุผลเดียวของการเรียน บางคนอาจจะเป็นเหตุผลที่สาม สี่ ห้า  มันไม่ใช่เรื่องผิด และไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ถ้าค่อนคณะเต็มไปด้วยความคิดแบบนี้ ก็น่าสนใจว่าเกิดอะไรขึ้น

ผมลองไล่ๆ ดู

  • ระบบการแนะแนวที่อ่อนด้อยของบ้านเรา ไม่สามารถชี้นำเด็กและผู้ปกครองให้ส่งเด็กไปยังสายการเรียนที่เหมาะสมได้
  • แนวทางการศึกษาประหลาดๆ ที่จำกัดสิทธิ์เด็กสายศิลป์ไม่ให้เข้าคณะสายวิทย์ จำกัดปริญญาตรีไม่ให้ต่อปริญญาโท บ้านเราเลือกผิดตอน ม. สามนี่ชีวิตจะไม่มีโอกาสแก้ไขกันเลยครับ
  • การศึกษาสายอาชีพที่ภาพรวมยังอ่อนแอ วิศวกรคอมพิวเตอร์กว่าครึ่งจบมาก็ไปเป็นโปรแกรมเมอร์ ไม่ได้ออกแบบหรือใช้ความรู้ทางวิศวกรรมใดๆ ถ้าระบบการเรียนสายอาชีพ ถ้าจบปวศ. พร้อม SCJP ได้ ได้เงินเดือนสัก 25k แล้วจะเสียเวลาเรียนนานๆ ทำปริญญาไปทำไมกัน?
  • สังคมที่บีบบังคับเด็ก โดยเฉพาะพ่อแม่

ข้อเสียที่เกิดขึ้นเพราะการที่เด็กคิดแต่เรื่องเงินมีเยอะมาก หลักๆ คือเสียบรรยากาศในการเรียน เด็กหลายคน ที่อยากเป็นโปรแกรมเมอร์แต่ต้องมาเรียนวิศวะ พอเจอวิชายากๆ และอาจจะไม่ได้ใช้เพราะจะเป็นโปรแกรมเมอร์ไม่ได้อยากเป็นวิศวกร ก็พาลไม่อยากเรียน แย่ลงไปอีกก็ซิกแซกหาทางให้ได้เกรดมาให้ได้ ความรู้ไม่ต้องสนใจเพราะไม่ได้ใช้อยู่แล้ว

 

โรงเรียนในฝัน

ผมเป็นคนที่ผิดหวังกับระบบการศึกษาบ้านเรามานานมาก โดยเฉพาะในแง่ของวัฒนธรรมการเรียนรู้

ถ้าใครจำกันได้ เมื่อประมาณ 20 ปีก่อนเราคงได้เห็นป้ายโฆษณาโรงเรียนต่างๆ ว่ามีห้องซาวน์แล็ปอย่างนั้นอย่างนี้ สิบปีให้หลังมานี่ก็คงมีห้องคอมพิวเตอร์เพิ่มเข้ามา และกำลังเริ่มเห็นโฆษณาสระว่ายน้ำ สนามฟุตบอล ฯลฯ

แต่ให้ตายเถอะครับ โรงเรียนนะครับ โรงเรียน ไม่ใช่ค่ายฝึกนักกีฬา หรือศูนย์อบรมวิชาชีพ

ผมไม่รู้สึกแย่เท่าใหร่กับการที่ส่วนเสริมเหล่านี้จะถูกนำมาใช้ในการเสริมภาพลักษณ์บ้าง แต่การนำส่วนเหล่านี้มาโปรโมทโรงเรียน เราควรบอกให้ได้ก่อนว่าส่วนที่สำคัญที่สุดของโรงเรียนนั้นไปถึงไหนกันแล้ว

ส่วนที่สำคัญที่สุดคือครู….

ครูครับ โรงเรียน ต้องมีครู

โรงเรียนมันจะมีทางดีได้ไหม ถ้าครูแย่ไปก่อนซะแล้ว

อยากเห็นโรงเรียนสักโรงเรียนที่กล้าบอกได้ว่า

  • คัดเลือกครูมาเป็นอย่างดี ทุกคนรักเด็ก มีแรงปรารถนาที่จะสอนให้เด็กได้ดี
  • โรงเรียนเลี้ยงครูเป็นอย่างดี ครูทุกคนมีเงินเดือนมากพอสำหรับการดำรงค์ชีวิต ไม่ต้องอาศัยเงินสอนพิเศษ ไม่ต้องขับรถรับส่ง ไม่ต้องขายแอมเวย์
  • ทำ KPI ชัดเจน ว่าสอนในเวลาที่น้อยๆ ให้เวลาเด็กเล่นเยอะๆ แล้วความรู้เด็กยังได้ในเกณฑ์มาตรฐาน ไม่ใช่เอะอะก็มีสอนพิเศษ มันมีทั้งวันเสาร์ ทั้งตอนเย็น ไม่รู้อะไรกันนักกันหนา

หวังว่าก่อนตายจะได้เห็นโรงเรียนอย่างนี้สักที่ในประเทศไทย…