ภาษี 2100

ในปี 2100

ชายคนหนึ่งออกวิ่งระดมทุน เป้าหมายของเขาคือการเพิ่มงบประมาณสาธารณสุขเป็น 8% ของ GDP เพิ่มจากปีก่อนหน้า ที่อยู่ที่ 7.5% ของ GDP ภายใน 3 ปีข้างหน้า

เขาชี้ว่าเงิน 0.5% ของ GDP ที่เพิ่มขึ้นมา จะทำให้มีโรงพยาบาลระดับศูนย์กระจายในพื้นที่ห่างไกลได้อีกอย่างน้อย 3-5 โรงพยาบาล ระยะเวลาส่งต่อผู้ป่วยร้ายแรงของประเทศลดลงโดยเฉลี่ย 2-3 ชั่วโมง ระยะเวลานานที่สุดจาก 5 ชั่วโมงลดลงเหลือ 3 ชั่วโมงเท่านั้น

บริษัทจำนวนมากเห็นด้วยกับเขา ออกตัวเป็นสปอนเซอร์งานด้วยการสนับสนุนงานวิจัย พบว่านอกจากโรงพยาบาลที่เพิ่มขึ้น สิ่งที่ได้คือแพทย์ไหลกลับจากภาคเอกชน อาจจะรวมถึงแพทย์เชี่ยวชาญสูงที่ออกไปทำงานต่างประเทศไหลกลับประเทศ ทำให้ศักยภาพการวิจัยระดับสูงโดยรวมเพิ่มขึ้น คาดว่าเมื่อคงอัตรางบประมาณไว้ได้อีก 10 ปี จะมีงานวิจัยตีพิมพ์เพิ่มขึ้นอีก 10-15%

ผมพบแคมเปญของชายคนนั้นบนเฟซบุ๊ก (เฟซบุ๊ก 2100 หลานมาร์ค ซักเกอร์เบิร์คไม่ยอมให้เว็บมี scroll bar แล้ว มันจะเด้ง content ให้ผมดูทีละอันสลับกับโฆษณา) เมื่อกดลิงก์ มันเด้งไปยังหน้าเว็บกรมสรรพภากร

เว็บสรรพภากรไม่ใช่ยาขมสำหรับคนทั่วไปเหมือนสมัยปี 2000 อีกแล้ว ไม่มีใครเสียเวลาทำมาหากินเป็นวันๆ มากรอกแบบฟอร์มภาษีอันซับซ้อนและภาวนาให้กรอกถูกโดยไม่ต้องโดนเรียกไปชี้แจงเหมือนร้อยปีก่อน ทุกอย่างเป็นระบบอัตโนมัติ มีเพียงคำยืนยันรายเดือนว่าเดือนนี้เก็บภาษีไปมากน้อยเพียงใด ปีที่แล้วพบว่ามีอัตราการร้องเรียนว่าคิดเงินผิดเพียงไม่กี่ร้อยกรณี น้อยกว่าบิลค่าโทรศัพท์มือถือเมื่อร้อยปีก่อนเสียอีก

แต่เว็บสรรพภากรเป็นสิ่งที่คนทั่วไปเข้าใช้งานได้ทุกวัน เพราะทุกคนสามารถเลือก “โยน” ภาษีของตัวเองลงโครงการหรือหน่วยงานของรัฐใดๆ ก็ได้ตามใจชอบ

หน้าเว็บที่เหมือนกับเว็บ KickStarter เด้งขึ้นมาทันที มีโครงการโรงพยาบาลศูนย์ที่กำลังเปิดใหม่ต้องการอัพเกรดห้องตรวจ ผอ. โรงพยาบาลเขียนจดหมายเปิดผนึกว่าโรงพยาบาลใช้ห้องตรวจนี้ดูแลคนไข้เฉลี่ยวันละ 80 คน และการปรับปรุงนี้คุ้มค่างบประมาณที่ขอมาไม่กี่แสนบาท ผมกดแบ่งเงินภาษีเดือนปัจจุบันลงโครงการนี้ไปหนึ่งพันบาท

ระบบปรับเงินภาษีเริ่มใช้ตั้งแต่ปี 2080 มันออกแบบให้ประชาชนเลือกวางเงินภาษีของตัวเองได้ตามใจชอบ โดยรัฐบาลมีกำหนดขั้นต่ำเอาไว้บางหมวด เช่น ความมั่นคงขั้นต่ำ 0.05% ของ GDP, งบภัยพิบัติ 0.1% ของ GDP และงานบริหารอื่นๆ 0.2% ของ GDP ส่วนที่เหลือทั้งหมดสามารถปรับหลอดสัดส่วนการกระจายภาษีไปให้กับกระทรวงต่างๆ ตามหลอดสัดส่วน เช่น สาธารณะสุข, ท้องถิ่น, ความมั่นคง

ปีที่แล้วสภาใช้เวลาถกเถียงกันครึ่งหนึ่ง เพราะรัฐบาลต้องการเพิ่ม “ค่าเริ่มต้น” งบประมาณบริหารทั่วไปสำหรับคนที่ไม่ตั้งค่าด้วยตัวเอง จาก 5% ของภาษีเป็น 7%

แต่สิ่งที่ต้องคิดคือเรื่องในอนาคต การเพิ่มงบสาธารณะสุขในปีสามปี โครงการ “ก้าวละ 1% ของ GDP” เด้งขึ้นมา เงินจำนวนมากขนาดนั้นหากผมปรับเงินภาษีของผมไปอยู่กับสาธารณสุขทั้งหมด หมายถึงผมต้องลดสัดส่วนภาษีให้กับการจ่ายท้องถิ่นลง ผมมองเห็นโครงการปรับปรุงถนนหน้าบ้านที่เพิ่งหยอดเงินภาษีลงไปให้เมื่อเดือนที่แล้ว คงไม่ดีเท่าไหร่ถ้าจะปล่อยให้โครงการหมดงบประมาณหลังเฟสแรก

เมื่อกดเข้าหน้าโครงการ ปุ่มสีเขียวขนาดใหญ่ระบุว่า “โอนภาษีที่เพิ่มขึ้นจากปีนี้ ไปให้สาธารณะสุขทั้งหมดในอีก 3 ปีข้างหน้า” ผมยิ้มอย่างสบายใจ แสดงว่าตัวเงินภาษีที่ผมตั้งไว้ให้ท้องถิ่นจะไม่ลดลงเลยในสามปีข้างหน้า หวังว่าถนนทั้งสายจะเสร็จก่อน หากรายได้ผมเพิ่มขึ้นจนภาษีเพิ่มขึ้น ส่วนที่เพิ่มขึ้นจะกลายเป็นงบประมาณสาธารณะสุขโดยอัตโนมัติ มันคงไม่มากอะไรนักสำหรับผมคนเดียว แต่ถ้าทุกคนกดปุ่มนี้ อีก 2.5% ของ GDP ในสามปีคงไม่ยากมาก

เราคงต้องรอดูผลกันในปี 2103

ปล. ห้าปีก่อนมี อาหาร 2100

 

The Birth of The Pill

เคยอ่านเรื่องของความเท่าเทียมทางเพศด้วยเทคโนโลยีมาบ้าง คือเรื่องผ้าอนามัย (ใน In order to live) สัปดาห์ที่ผ่านมาอ่านเล่มนี้อีกรอบ ทำให้เห็นอีกมุมในประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นแดนเสรีอย่างสหรัฐฯ

  • เอาเข้าจริงก็ไม่ได้แปลกใจมากนักเรื่องความอนุรักษ์นิยมในสหรัฐฯ (เคยอ่านเรื่องยุค prohibition) แต่ก็พบว่าเอาจริงๆ มันเปลี่ยนเร็วมากในแค่ 60 ปีที่ผ่านมา ปี 1960 กฎหมายห้ามสนับสนุนการ “คุมกำเนิด” (ไม่ใช่ทำแท้ง) ยังเต็มประเทศ
  • ยุคนั้นการอนุมัติยาใช้ข้อมูลน้อยกว่าทุกวันนี้? ตัวยาคุมกำเนิดเปิดตัวมาใช้ n ไม่ถึง 50 เริ่ม 100 คนแต่กลุ่มตัวอย่างถอนตัวไปกลางทางเกินครึ่ง
  • รายงานวิจัยอาศัยการขยายผลด้วยการบอกว่าไม่มีการท้องใน “รอบเดือน” ที่มีการกินยา เพื่อให้ตัวเลข n มันเยอะๆ เข้า
  • ตัวยาผ่าน FDA ครั้งแรกด้วยการระบุข้อบ่งใช้เป็น “ยาควบคุมรอบเดือน” ให้มาตรง โดยมีผลข้างเคียงในคำเตือนคือทำให้ไม่ตกไข่
  • การบิดคำพูดในการใช้งาน สร้างข้อถกเถียงใหม่หมู่คาธอลิกว่าการใช้ยายอมรับได้หรือไม่ ตัวศาสนจักรไม่ยอมรับการคุมกำเนิดมาตลอด แต่ก่อนหน้านี้ศาสนจักรเคยวินิจฉัยว่าการเป็นหมันหรือไม่มีลูกโดยธรรมชาติ (เช่นการนับวัน) ยอมรับได้ อีกทางคือการรักษาอย่างอื่นโดยไม่ตั้งใจแล้วทำให้เป็นหมันก็ถือว่าไม่ผิด ทีนี้พอผู้หญิงบอกว่าประจำเดือนมาไม่ปกติแล้วกินยามันทั้งปีทั้งชาตินี่จะยอมรับไหม?
  • คนร่วมวิจัยและคนให้ทุนได้ผลประโยชน์ไม่มากนัก Katharine McCormick ที่เป็นนายทุนหลักแทบจะไม่ได้อะไรกลับมานอกจากการทำตามความเชื่อเรื่องสิทธิสตรีของตัวเอง
 

รถอัตโนมัติปฎิวัติ

วันก่อนได้กินข้าวกับคนไทยในซานฟราน มีประเด็นนึงบนโต๊ะอาหารที่คุยกันคือรถอัตโนมัติจะส่งผลกระทบแค่ไหน

  • เบื้องต้นแน่ๆ คือคนจะซื้อรถน้อยลง เพราะรถสามารถออกไปให้บริการได้มากขึ้น แบบเดียวกับทุกวันนี้ที่ Uber ใช้เวลาว่างของคนขับ+เวลาว่างของรถ
  • แนวคิดของ Elon Musk ที่บอกว่าเจ้าของรถจะปล่อยรถออกไปทำงานได้เป็นแค่ระดับแรก
  • ต่อไปบริษัทรถ หรือบริษัทแท็กซี่ขนาดใหญ่ เช่น Uber จะซื้อรถเอง มีรถในมือทีละนับหมื่นคัน
  • อัตราการใช้งานรถเหล่านี้จะสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ ทุกวันนี้เรามีรถส่วนตัว อาจจะขับคนเดียว วันละ 2 ชั่วโมง รวมๆ ซ่อมบำรุงบ้าง วันหยุดบ้าง เวลาใช้งานรวมๆ ปีหนึ่งอาจจะไม่ถึง 300 ชั่วโมง
  • บริษัทแท็กซี่เหล่านี้จะใช้รถตลอด 24 ชั่วโมง ซ่อมบำรุงเมื่อจำเป็น (ล้าง, ทำความสะอาด, เช็คระยะ, ซ่อม) แต่รวมๆ เวลาที่รถทำงานน่าจะสูงขึ้น อาจจะบอกได้ว่าแต่ละวันมันทำงาน 20 ชั่วโมง แต่ละปีทำงาน 7,300 ชั่วโมง ตัดเวลารถวิ่งเปล่า เหลือเวลาสร้างประโยชน์จริงอาจจะ 3,000-4,000 ชั่วโมง
  • บริการอย่าง UberPOOL จะยิ่งทำให้รถเหล่านี้มี utilization สูงขึ้น ช่วงเวลาที่มันทำงาน ปริมาณคนที่รถเหล่านี้ขนโดยเฉลี่ยจะสูงกว่ารถส่วนตัวอีกเป็นเท่าตัว ที่นั่ง “ผู้โดยสาร” มีสี่ที่นั่งแทนที่จะเป็นสาม เฉลี่ยๆ ตลอดเวลาทำงานมันคนขนได้เฉลี่ยสองคน จะเป็น 6,000-8,000 คน-ชั่วโมง ต่อปี
  • ด้วยประสิทธิภาพการใช้รถสูงขนาดนี้ ต้นทุนรถจะถูกลงอย่างมาก ค่าแท็กซี่โดยรวมจะถูกลงจนอาจจะชนะแม้แต่ขนส่งมวลชน คนจะชินกับการเรียกรถเมื่อไหร่ก็มา
  • ถึงตอนนั้น Uber จะมีตัวคูณไหม? เพราะตัวคูณคือแรงจูงใจเรียกรถให้เข้าไปในพื้นที่ขาดแคลน แต่เมื่อเป็นรถอัตโนมัติ ระบบจัดการจะจัดการจากศูนย์กลางทั้งหมด เหตุการณ์รถขาดแคลนกลายเป็นเหตุการณ์ทั้งโซน (กรุงเทพ, เชียงใหม่) ไม่ใช่เหตุการณ์เฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งของโซน ถ้าไม่มีตัวคูณ ทุกอย่างก็ยิ่งสะดวก
  • พอคนไม่มีรถ สิ่งที่จะหายต่อไปคือ “ที่จอดรถ” บ้านไม่จำเป็นต้องมีที่จอดรถ คอนโด อาคารสำนักงานมีแค่จุดรับส่งก็เพียงพอ ไม่มีต้องมีที่จอดใหญ่ๆ อีกต่อไป
  • ประสิทธิภาพพื้นที่ใช้งานอาคารรวมจะสูงขึ้น บ้านอาจจะถูกลง ห้องเยอะขึ้น คอนโดโดยทั่วไปถูกลง
  • เจ้าของรถอย่างบริษัทแท็กซี่จะสามารถสร้างที่จอดรถขนาดยักษณ์ ประสิทธิภาพสูง อาคารจอดรถที่ไม่มีถนนคั่นกลาง พื้นที่ทุกตารางเมตรถูกใช้จอดทั้งหมด ทางขึ้นทางลงเป็นทางเดียวกัน ไม่ต้องมีทางสวน เวลาจะจอดเข้าออกก็ LIFO อย่างเดียว พื้นที่ใช้สอยจะอาคารจอดรถถูกใช้จอดรถแทบทั้งหมด ไม่มีทางเดิน ไม่มีทางเข้าออกสำหรับคน ไม่มีทางระบายอากาศ แต่ละชั้นสูงกว่าตัวรถเพียงเล็กน้อยก็พอ ปริมาตรรวมๆ อาคารเกือบเท่าปริมาตรรถรวมที่จอดในอาคาร
  • ปริมาณรถรวมในแต่ละเมืองจะลดลง อุตสาหกรรมผลิตรถจะอยู่ที่ไหน?? จะอยู่อย่างไรถ้าทั้งเมืองมีลูกค้าเป็นบริษัทแท็กซี่สามสี่บริษัท แต่ละบริษัทซื้อรถระดับหมื่นคันแล้ววิ่งทั้งวันทั้งคืน สร้าง economics of scale สร้างอำนาจต่อรอง สร้างบุคคลากรของตัวเอง
  • ทั้งหมดนี้เป็นแค่ระดับแรก ที่รถวิ่งได้ด้วยตัวเอง ความฝันสูงสุดของรถอัตโนมัติคือการที่รถคุยกันเองในแบบที่มนุษย์ไม่มีทางทำได้
  • เมื่อรถคุยกันเอง สิ่งที่มันทำได้คือการร่วมมือกันอย่างละเอียด รถแต่ละคันจะขอให้คันหน้าช่วยแจ้งว่ามีอันตรายหรือไม่ แล้ว “เกาะ” ไปกับคันหน้าอย่างที่มนุษย์ขับไม่ได้
  • กระบวนการพวกนี้ไม่ต้องทำพร้อมกันทั้งหมด รถอัตโนมัติที่รองรับการสื่อสารระหว่างรถจะค้นพบกันเอง เมื่อมันพบกันเองแล้วจะเกาะกันไปเป็นขบวน นึกสภาพมีรถเก๋งสี่ห้าคันขับแนบๆ กันเป็นชุดๆ บนมอเตอร์เวย์
  • รถอัตโนมัติเหล่านี้จะใช้พื้นที่ถนนอย่างมีประสิทธิภาพในแบบที่เราไม่เคยเจอ เมื่อเราขึ้นมอเตอร์เวย์แล้วขับสัก 110 เราอาจจะต้องเว้นระยะคันหน้านับร้อยเมตร รถอัตโนมัติจะขับชิดกันอย่างน่ากลัว อาจจะเว้นระยะระหว่างคันไม่ถึงกี่เมตรหรือไม่ถึงเมตร ขณะที่วิ่งด้วยความเร็วสูง
  • ยิ่งรถอัตโนมัติมากขึ้นเรื่อยๆ แพ็กรถไฟของรถอัตโนมัติจะเยอะขึ้นเรื่อยๆ โดยรวมๆ ถนนจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น อัตราการระบายรถต่อเวลาจะสูงขึ้นเรื่อยๆ
  • เมื่อรถอัตโนมัติได้รับความนิยมมากขึ้น เราใช้มันเดินทางข้ามเมืองบ่อยขึ้น ทางหลวงจะถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • เราอาจจะพบว่าการขยายถนนไม่จำเป็นอีกต่อไป มอเตอร์เวย์ 8-10 เลนกลายเป็นสิ่งสิ้นเปลือง
  • ถนนรวมๆ ไม่กว้างขึ้น โครงการขยายถนนหยุดชะงัก ขณะที่ถนนเดิมมีการบำรุงรักษาน้อยลง
  • แค่รถอัตโนมัติเรื่องเดียวเราก็อาจจะไม่รู้แล้วว่ามันจะพาเราไปทางไหน คนขับรถที่ตกงานก่อนจะไปอยู่ที่ไหน, คนงานโรงงานรถยนตร์จะเป็นอย่างไร, แรงงานก่อสร้างที่ซ่อมบำรุงถนนจะทำอย่างไร

เป็นคำถามที่ยังไม่มีคำตอบ

 

Cloud Atlas

cloud

เมื่อสามเดือนที่แล้วมีวันหนึ่งที่ต้องทดสอบโปรแกรม ตามรอบการทดสอบ แล้วพลาด ระบบไม่ผ่านการทดสอบชุดนึงจนต้องทดสอบใหม่ตามตารางอีก “สัปดาห์” เซ็งจัดๆ เลยไปเดิมสยาม ในหัวคิดว่าจะซื้อหนังสือสักเล่มแก้เซ็ง

ได้ Cloud Atlas มาเพราะจำได้ว่าหนังดูแล้วน่าสนใจมาก เปิดผ่านๆ เจอบท Sonmi แล้วก็ยังน่าสนใจเพราะบรรยายฉากโลกอนาคตแบบ dystopia ไว้อีกแบบ

แต่พออ่านจริงจังนับแต่บทแรกก็พบความฉิบหายในทันที หนังสือแบ่งออกเป็น 6 ยุคเช่นเดียวกับในหนัง และทั้ง 6 ยุคคนเขียนเลือกใช้ภาษาที่ต่างกันออกไปจนอ่านยาก จากบทแรกที่ใช้ศัพท์เก่าจนไม่เคยเจอ ไปจนถึง บทที่ 6 นี่อยู่ในระดับอ่านแทบไม่ออกเพราะไม่เป็นภาษาคน บทที่เหลือก็มีความประหลาดของตัวเองต่างๆ กันไป

การสลับเรื่องไปมาทำให้ช่วงท้ายจำได้ยากด้วยว่าเรื่องราวต่อกันยังไง ความยากของหนังสือทำให้ค่อยๆ อ่านมาเรื่อยๆ จนกว่าจะจบก็ซัดไปสามเดือน

พออ่านจบแล้วก็ถือว่าเป็นบทลงโทษของความผิดพลาดเมื่อสามเดือนที่แล้ว