Mother to Daughter

เพิ่งเคยเจอเพลงนี้ใน YouTube เมื่อวันก่อนตอนฟังเพลง AKMU ไปเรื่อยๆ หยุดอ่านเนื้อเพลงดู (ในคลิปนี้มี sub แต่ MV ตัวจริงไม่มี) พบว่าน่าสนใจดี

เพลงพูดถึงคำสอนของแม่ถึงลูก เพลงแม่ลูกทั้งหลายเป็นกัน แต่เนื้อเพลงกลับพูดถึงความ “ไม่สมบูรณ์” ของแม่ไว้มาก ระหว่างแม่สอนก็ยอมรับว่าบางอย่างก็ทำเองไม่ได้

พอเป็นฝั่งลูกแทนที่จะซาบซึ้งขอบคุณ เนื้อเพลงกลับพูดถึงความลำบากของการเป็นลูกเหมือนกันว่ามันก็ไม่ได้ง่าย และสิ่งที่สอนมาก็พยายามทำแล้ว แต่ยิ่งพูดซ้ำ กลายเป็นลูกปิดใจ

ลงท้ายแม่ฝากลูกให้เป็นแม่ที่ดีกว่าตัวเอง

มันสมจริงว่าครอบครัวจริงๆ ก็ประมาณนี้ โดนสอนบ่อยๆ มันก็เซ็งๆ และคำสอนก็ไม่ได้สมบูรณ์ขนาดนั้นหรอก เราตั้งคำถามถึงความไม่สมบูรณ์ได้ แต่เราก็ทำให้มันพร้อมขึ้นเรื่อยๆ สำหรับรุ่นต่อๆ ไป แบบนี้แล้วก็ยังซึ้งได้ด้วยว่ารุ่นที่ผ่านมาก็พยายามแล้ว

 

Let Me Eat Your Pancreas (spoil)

น่าจะเป็นเรื่องแรกๆ ที่อ่านนิยายติดๆ กับดูหนัง (ดูหนังก่อนวันนึง แล้วออกมาซื้อนิยายอ่านต่อ)

  • เรื่องตอนโตนี่มีแต่ในหนังเลย ในนิยายไม่มี ซึ่งทำให้เส้นเรื่องในนิยายดู “จริง” กว่า
  • ตอนดูหนังออกมาคิดว่ามันเดินเรื่องเร็วดี ไม่ขยี้เอาน้ำตาเกินไป แต่เอาจริงๆ มันก็หนักกว่าในนิยายมากแล้ว
  • สิ่งหนึ่งรู้สึกตอนอ่านนิยายคือสงสัยว่านางเอกสวยแค่ไหน ในนิยายพูดเรื่องว่าสวยเป็นที่สาม แล้วเน้นว่าเท่าที่พระเอกจำหน้าได้ (เพราะพระเอกไม่มีเพื่อน) มันเลยบ่งบอกว่าคงหน้าตาดีประมาณนึง แต่ไม่เวอร์มาก ในหนังเรื่องพวกนี้ถูกตัดออกไปด้วยหน้าตาของนางเอกหนังแล้ว แถมในหนังไม่มีที่หนึ่งที่สองมาแทรกกลบนางเอกแต่อย่างใด
  • อีกเรื่องคือเส้นเวลา ในนิยายไม่ได้บีบอัดว่าทั้งสองคนสนิทกันขนาดนั้น เส้นเวลาความสัมพันธ์ของทั้งสองคนถูกเว้นเป็นระยะๆ หายไปหลายวันหรือหลายสัปดาห์อยู่เรื่อยๆ ในหนังสร้างภาพว่าเป็นการสนิทกันอย่างรวดเร็วและแทบไม่ได้เว้นช่องว่างระหว่างการสร้างความสัมพันธ์เลย
  • จุดที่ถูกเปลี่ยนอีกเรื่องคือนางเอก “เรียก” ให้ไปเยี่ยมที่โรงพยาบาล ความสัมพันธ์ตลอดเวลาไม่ได้เปลี่ยนเร็วขนาดนั้น มันก็มีพัฒนาการของมันที่เร็วพอสมควรแต่หนังบีบเข้ามามาก
  • พอเรื่องความสวยกับเรื่องความสัมพันธ์ในนิยายไม่หนักเท่าในหนัง เรื่อง “การหลุดออกจากความเป็น introvert” เลยมีพื้นที่มาก ตอนจบของนิยายก็แบบนี้ คือเป็นการเดินทางออกมาพบผู้คนเพราะนางเอก
  • ในนิยายมีบทสนทนาสวยๆ เยอะ ชีวิตคืออะไร, ความสัมพันธ์ ฯลฯ โดนหยิบมาใช้ในหนังเยอะ แต่อ่านนิยายก็ดีกว่า
  • ตอนดูหนังคิดว่าการซ่อนจดหมายนี่ไร้เหตุผลมาก โอกาสที่จะไม่เจอเลยสูงมาก ในนิยายก็เป็นตามนั้น มันแฟนตาซีเกิน ยิ่งบอกว่าระหว่างทางไปหาพระเอกแล้วแวะซ่อนจดหมายนี่ยิ่งประหลาด เลยคิดว่าบทตอนโตที่ใส่มานี่ไม่สวยเท่าไหร่
  • แต่ฉากห้องสมุดสวยดีในแง่ภาพ บทไม่ลงแต่ให้อภัยเรื่องภาพสวย
  • นิยายบรรยายฉากโดนฆ่าโหดเกิน (อีโต้ปักกลางอก) ไม่มีเหตุผลในแง่เนื้อเรื่อง โดนฆ่ายังไงก็สะเทือนใจอยู่แล้ว บรรยายความโหดแล้วทำเรื่องแย่ลง
  • ทรงผมนางเอกในหนังหัวกลมมาก ดูแล้วมันหลุดออกจากเรื่องเรื่อยๆ ดูๆ ไปคิดในใจว่าคิดยังไงถึงเลือกทรงผมหัวกลมขนาดนี้
  • นิยายแปลวิธีการเรียกชื่อได้ลำบาก “นายที่กุมความลับ” “นายเพื่อนสนิทที่ใจร้าย” ถ้าอ่านนิยายวัยรุ่นญี่ปุ่นบ่อยๆ คงชินว่าภาษามันเป็นแบบนี้? แต่พออ่านแล้วมันแปลกๆ ตลอดเวลา แถมมี footnote อธิบายการเล่นเสียงด้วย
 

ว่าด้วย Cryptocurrency

เขียนเรื่องเงินจากวิทยาการเข้ารหัสลับ (เรื่องจะแปล cryptocurrency ว่าอะไรนี่เป็นประเด็นอีกอันอยู่) หลายครั้ง คำถามมักเป็นว่าควรซื้อไหม มันจะขึ้นไหม และอนาคตเราจะได้ใช้มันไหม อะไรแนวๆ นี้

สองคำถามแรก ตอบไปเหมือนเดิมเสมอ คือ “กูไม่รู้” (สุภาพกว่านี้ตามโอกาส แต่พูดกับตัวเองว่า “ถ้ากูรู้ กูซื้อนานแล้ว”)

แต่คำถามที่สามนี่น่าสนใจ เพราะทุกวันนี้หลายคนมักบอกว่าช่องทางการใช้เงินประเภทนี้แบบบนดินคือการโอนเงินข้ามประเทศ ขณะที่ญี่ปุ่นเองก็รองรับเงินประเภทนี้เป็นช่องทางการจ่ายเงิน

การโอนเงินข้ามประเทศเป็นสิ่งที่ธนาคารในระบบปัจจุบันทำได้ค่อนข้างแย่ ค่าธรรมเนียมแพง อัตราแลกเปลี่ยนแพง และกระบวนการโอนช้า

ค่าธรรมเนียมการโอนทุกวันนี้อย่างระบบบัตรเครดิต ร้านค้าออนไลน์อาจจะต้องรับผิดชอบค่าธรรมเนียมอยู่ถึง 3.5% เมื่อรับบัตรผ่าน payment gateway ต่างๆ และฝั่งผู้จ่ายเองก็ต้องรับค่าธรรมเนียมอัตราแลกเปลี่ยนอีก 2% รวมแล้วสูงถึง 5.5% ค่าธรรมเนียมของ Western Union ก็ใกล้เคียงกัน

เมื่อเป็นเช่นนี้ก็เป็นไปได้ว่าจะมีส่วนต่างให้เงินจากวิทยาการเข้ารหัสลับพวกนี้เข้ามาแทนที่ ระบบเงินเหล่านี้เพียงสร้างระบบที่ค่าธรรมเนียมรวมถูกกว่า ให้เหลือ 1-2% ก็คงจะมีการใช้งานจริงแล้ว เช่น บริษัทรับแลกประเทศต้นทางคิด 0.3% ตัวบล็อคเชนคิดค่าธรรมเนียม 0.1% และบริษัทรับแลกปลายทางคิด 0.6% (เพราะทำหน้าที่เป็น payment gateway ในตัว และอาจจะต้องเป็นฝั่งรับความเสี่ยงค่าเงิน)

เงินบนบล็อคเชนเหล่านี้มีความได้เปรียบสำคัญคือกระบวนการ settlement รวดเร็ว (ถ้า block ไม่เต็มเสียก่อน) ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนโดยทั่วไปในระยะเวลาสั้นๆ ไม่ควรจะผันผวนมากมาย แต่ปัญหาตอนนี้คือปริมาณ transaction ที่รองรับได้ช่างจำกัดจำเขี่ย และหากใช้ท่าขยายขนาดบล็อคไปเรื่อยๆ ปริมาณข้อมูลบนบล็อคเชนก็จะมีขนาดมหาศาล ดังนั้นเราจึงต้องหาทางสร้างเทคโนโลยีที่ Vitalik พูดเรื่องนี้ไว้เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา

การจ่ายเงินในอนาคตจึงเป็นไปได้ว่าร้านค้าบอกราคาสกุลเงินของตัวเอง และเมื่อเราเลือกจ่ายด้วย cryptocurrency หน้าเว็บก็แปลงเป็นเงินสกุลนั้นให้พร้อมกับบอกว่าจะคงราคาให้ 30 นาที เราเข้าเว็บบริษัทรับแลกจากเงินบาท และสั่งซื้อเงินจำนวนเท่าที่ระบุพร้อมกับสั่งโอนออก อีกสามนาทีเมื่อบล็อคเริ่มบันทึก transaction เว็บร้านค้าก็ยืนยันการรับเงิน และรอส่งสินค้า

การจะได้ใช้เงินประเภทนี้ในชีวิตประจำวันไหม จึงกลับไปที่เทคโนโลยีว่าเราจะสามารถสร้างเทคโนโลยีที่แทบไม่มีข้อจำกัดปริมาณรายการโอนไหม นับเป็นข้อแรกก่อน ถ้ารายการโอนวิ่งไม่ไป บล็อคเต็ม รอโอนเป็นวันก็จอดทันที

แต่ถ้าเทคโนโลยีเกิดแล้ว มันก็จะคาดโทษธนาคารและบริษัทรับจ่ายเงินทั้งหลายแล้วว่าจะวิ่งตามทันหรือไม่ สามารถหาทางมาต่อสู้กับเทคโนโลยีเหล่านี้ได้หรือไม่ ถึงจุดนั้นไม่ว่าธนาคารและเครือข่ายการจ่ายเงินทั้งหลายจะใช้อะไร (หรือใช้บล็อคเชนด้านหลังหรือไม่) ถ้าเราสามารถโอนด้วยระบบเดิมๆ แต่ค่าธรรมเนียมถูกลงจนใกล้เคียงกัน ธนาคารเลิกเก็บค่าธรรมเนียมความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน

ถ้าเป็นแบบนั้นต่อให้ cryptocurrency พร้อมแต่คนก็คงอยู่กับระบบเดิมต่อไป

 

ภาษี 2100

ในปี 2100

ชายคนหนึ่งออกวิ่งระดมทุน เป้าหมายของเขาคือการเพิ่มงบประมาณสาธารณสุขเป็น 8% ของ GDP เพิ่มจากปีก่อนหน้า ที่อยู่ที่ 7.5% ของ GDP ภายใน 3 ปีข้างหน้า

เขาชี้ว่าเงิน 0.5% ของ GDP ที่เพิ่มขึ้นมา จะทำให้มีโรงพยาบาลระดับศูนย์กระจายในพื้นที่ห่างไกลได้อีกอย่างน้อย 3-5 โรงพยาบาล ระยะเวลาส่งต่อผู้ป่วยร้ายแรงของประเทศลดลงโดยเฉลี่ย 2-3 ชั่วโมง ระยะเวลานานที่สุดจาก 5 ชั่วโมงลดลงเหลือ 3 ชั่วโมงเท่านั้น

บริษัทจำนวนมากเห็นด้วยกับเขา ออกตัวเป็นสปอนเซอร์งานด้วยการสนับสนุนงานวิจัย พบว่านอกจากโรงพยาบาลที่เพิ่มขึ้น สิ่งที่ได้คือแพทย์ไหลกลับจากภาคเอกชน อาจจะรวมถึงแพทย์เชี่ยวชาญสูงที่ออกไปทำงานต่างประเทศไหลกลับประเทศ ทำให้ศักยภาพการวิจัยระดับสูงโดยรวมเพิ่มขึ้น คาดว่าเมื่อคงอัตรางบประมาณไว้ได้อีก 10 ปี จะมีงานวิจัยตีพิมพ์เพิ่มขึ้นอีก 10-15%

ผมพบแคมเปญของชายคนนั้นบนเฟซบุ๊ก (เฟซบุ๊ก 2100 หลานมาร์ค ซักเกอร์เบิร์คไม่ยอมให้เว็บมี scroll bar แล้ว มันจะเด้ง content ให้ผมดูทีละอันสลับกับโฆษณา) เมื่อกดลิงก์ มันเด้งไปยังหน้าเว็บกรมสรรพภากร

เว็บสรรพภากรไม่ใช่ยาขมสำหรับคนทั่วไปเหมือนสมัยปี 2000 อีกแล้ว ไม่มีใครเสียเวลาทำมาหากินเป็นวันๆ มากรอกแบบฟอร์มภาษีอันซับซ้อนและภาวนาให้กรอกถูกโดยไม่ต้องโดนเรียกไปชี้แจงเหมือนร้อยปีก่อน ทุกอย่างเป็นระบบอัตโนมัติ มีเพียงคำยืนยันรายเดือนว่าเดือนนี้เก็บภาษีไปมากน้อยเพียงใด ปีที่แล้วพบว่ามีอัตราการร้องเรียนว่าคิดเงินผิดเพียงไม่กี่ร้อยกรณี น้อยกว่าบิลค่าโทรศัพท์มือถือเมื่อร้อยปีก่อนเสียอีก

แต่เว็บสรรพภากรเป็นสิ่งที่คนทั่วไปเข้าใช้งานได้ทุกวัน เพราะทุกคนสามารถเลือก “โยน” ภาษีของตัวเองลงโครงการหรือหน่วยงานของรัฐใดๆ ก็ได้ตามใจชอบ

หน้าเว็บที่เหมือนกับเว็บ KickStarter เด้งขึ้นมาทันที มีโครงการโรงพยาบาลศูนย์ที่กำลังเปิดใหม่ต้องการอัพเกรดห้องตรวจ ผอ. โรงพยาบาลเขียนจดหมายเปิดผนึกว่าโรงพยาบาลใช้ห้องตรวจนี้ดูแลคนไข้เฉลี่ยวันละ 80 คน และการปรับปรุงนี้คุ้มค่างบประมาณที่ขอมาไม่กี่แสนบาท ผมกดแบ่งเงินภาษีเดือนปัจจุบันลงโครงการนี้ไปหนึ่งพันบาท

ระบบปรับเงินภาษีเริ่มใช้ตั้งแต่ปี 2080 มันออกแบบให้ประชาชนเลือกวางเงินภาษีของตัวเองได้ตามใจชอบ โดยรัฐบาลมีกำหนดขั้นต่ำเอาไว้บางหมวด เช่น ความมั่นคงขั้นต่ำ 0.05% ของ GDP, งบภัยพิบัติ 0.1% ของ GDP และงานบริหารอื่นๆ 0.2% ของ GDP ส่วนที่เหลือทั้งหมดสามารถปรับหลอดสัดส่วนการกระจายภาษีไปให้กับกระทรวงต่างๆ ตามหลอดสัดส่วน เช่น สาธารณะสุข, ท้องถิ่น, ความมั่นคง

ปีที่แล้วสภาใช้เวลาถกเถียงกันครึ่งหนึ่ง เพราะรัฐบาลต้องการเพิ่ม “ค่าเริ่มต้น” งบประมาณบริหารทั่วไปสำหรับคนที่ไม่ตั้งค่าด้วยตัวเอง จาก 5% ของภาษีเป็น 7%

แต่สิ่งที่ต้องคิดคือเรื่องในอนาคต การเพิ่มงบสาธารณะสุขในปีสามปี โครงการ “ก้าวละ 1% ของ GDP” เด้งขึ้นมา เงินจำนวนมากขนาดนั้นหากผมปรับเงินภาษีของผมไปอยู่กับสาธารณสุขทั้งหมด หมายถึงผมต้องลดสัดส่วนภาษีให้กับการจ่ายท้องถิ่นลง ผมมองเห็นโครงการปรับปรุงถนนหน้าบ้านที่เพิ่งหยอดเงินภาษีลงไปให้เมื่อเดือนที่แล้ว คงไม่ดีเท่าไหร่ถ้าจะปล่อยให้โครงการหมดงบประมาณหลังเฟสแรก

เมื่อกดเข้าหน้าโครงการ ปุ่มสีเขียวขนาดใหญ่ระบุว่า “โอนภาษีที่เพิ่มขึ้นจากปีนี้ ไปให้สาธารณะสุขทั้งหมดในอีก 3 ปีข้างหน้า” ผมยิ้มอย่างสบายใจ แสดงว่าตัวเงินภาษีที่ผมตั้งไว้ให้ท้องถิ่นจะไม่ลดลงเลยในสามปีข้างหน้า หวังว่าถนนทั้งสายจะเสร็จก่อน หากรายได้ผมเพิ่มขึ้นจนภาษีเพิ่มขึ้น ส่วนที่เพิ่มขึ้นจะกลายเป็นงบประมาณสาธารณะสุขโดยอัตโนมัติ มันคงไม่มากอะไรนักสำหรับผมคนเดียว แต่ถ้าทุกคนกดปุ่มนี้ อีก 2.5% ของ GDP ในสามปีคงไม่ยากมาก

เราคงต้องรอดูผลกันในปี 2103

ปล. ห้าปีก่อนมี อาหาร 2100