หน้าที่

เอามาจาก[บทความของคุณ Nost@lgia แห่ง Pantip.com](http://www.pantip.com/cafe/rajdumnern/topic/P6966099/P6966099.html)

ผมเคยลองถามเพื่อนที่อยู่ที่ญี่ปุ่นดูว่าที่นักการเมืองญี่ปุ่นโกงกันมั้ย?

คำตอบจากเพื่อนคือ ใช่ อเมริกาก็โกง อังกฤษก็โกง แค่เราไม่ได้อยู่ในสังคมนั้น เราก็เลยไม่รู้

จากคำตอบของเพื่อน ทำให้ผมเกินคำถามในใจว่า ทั้ง ๆ ที่ประเทศที่พัฒนาแล้วก็โกง แต่ทำไมประเทศที่กล่าวมาถึงเจริญกว่าไทยแบบสุดกู่

คำตอบที่ผมคิดได้คือ “คุณภาพของประชากรต่อหน่วย” มันต่างกันจนเทียบไม่ได้

ณ ตอนนี้ กลุ่มผู้ชุมนุมไม่ว่าฝ่ายไหน ต่างใช้สิทธิกันเต็มที่ เพื่อชาติอันเป็นที่รักของตน ด้วยวิธีที่ตนเองเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง

แต่ พวกท่านกำลังลืมไปว่า ในการปกครองระบอบประชาธิปไตยนั้น ประชาชนไม่ได้มีแค่สิทธิ แต่ยังมี “หน้าที่” อยู่ด้วย

ผมเชื่อ 100% ว่า ทุกท่านที่ไปชุมนุมนั้น รักชาติรักแผ่นดินทุกคน

แต่ วิธีการของท่าน การใช้สิทธิอย่างเต็มที่โดยละเลยหน้าที่ตามบทบาทของท่าน เป็นการทำให้ชาติของพวกเรา พ้นวิกฤติ พ้นปัญหา ทำให้ชาติไม่ล่มจมจริงหรือ?

คน ที่เห็นว่ารัฐบาลเป็นตัวแปรสำคัญที่สุดที่ทำให้ประเทศไม่พัฒนา และใช้สิทธิอย่างเต็มที่เพื่อขับไล่รัฐบาลนั้น ผมอยากทราบว่า ก่อนที่ท่านจะใช้สิทธิอย่างเต็มที่นั้น ท่านทุ่มเทให้กับหน้าที่ ที่ท่านมีอย่างเต็มที่แล้วหรือยัง?

ขอยกตัวอย่างในอุดมคติซักเรื่อง เพื่อให้เห็นภาพง่ายขึ้น

หาก ทุกคนในชาติทำงาน อันเป็นหน้าที่ตามบทบาทของท่าน ให้หนักขึ้น หมอ ทุ่มเทเวลารักษา วิศวะกร ทุ่มเทเวลาและใจให้งานวิศวะกรรม โปรแกรมเมอร์ทุ่มเทให้กับการเขียนโปรแกรม ฯลฯ

เมื่อทุกคนในชาติ ทุ่มเทให้กับการทำงานของตัวเองมากขึ้น รายได้ของทุกคนก็จะเพิ่มขึ้น เมื่อรายได้ทุกคนเพิ่มขึ้น อำนาจการใช้จ่ายของทุกคนก็จะเพิ่มขึ้น เมื่ออำนาจการใช้จ่ายของทุกคนก็จะเพิ่มขึ้น เงินในระบบเศรฐกิจก็จะหมุนเวียนเร็วขึ้น

และการที่ เงินในระบบเศรฐกิจก็จะหมุนเวียนเร็วขึ้น มันแปลว่า เศรฐกิจดีขึ้น ใช่หรือไม่?

ฉะนั้น การพูดว่าประเทศชาติย่อยยับนั้นเป็นความรับผิดชอบของนายกรัฐมนตรีนั้น

ถูกต้อง แต่ไม่ทั้งหมด นายกรัฐมนตรี อาจต้องรับผิดชอบมากหน่อย แต่ไม่ใช่รับผิดชอบทั้งหมด
เพราะความรับผิดชอบส่วนใหญ่มันไปตกอยู่ที่ “ประชาชนในชาติทุกคน”

ทั้งรัฐบาล ทั้ง พธม. ทั้ง นปช. ทั้งตำรวจ ทั้งทหาร ทั้งสมาชิก pantip และทุกคน มีส่วนรับผิดชอบกันทั้งหมด

ผมจำได้ว่าเคยอ่านนิยายเรื่อง ชีวิตรันทด เรื่องจริงผ่านคอม ของคุณ แอร์กี่ ใน pantip แห่งนี้ มีอยู่ตอนหนึ่งที่คุณแอร์กี่เล่าให้ฟังว่า

ใน เครื่องบินสมัยก่อน จะมีที่นังสูบบุหรี่ด้วย ซึ่งคนไทยที่สูบบุหรี่ จะซื้อตั๋วไม่สูบ แล้วถ้าอยากสูบจะไปนั่งสูบในโซนที่สูบได้ ในขณะที่คนญี่ปุ่นที่สูบบุหรี่ จะซื้อตั๋วที่นังสูบบุหรี่เลย

ตรงนี้ แสดงให้เห็นชัดมาก ๆ ถึงเรื่องการเคารพกฎของสังคม ความไม่เอาเปรียบสังคม ที่คนญี่ปุ่นมีแต่คนไทยไม่มี

ขอวกกลับมาที่ การตระหนักถึงหน้าที่ของคนในชาติ

การ ทำให้ประเทศไทยเจริญได้นั้น ผมมองว่า แค่คนไทยทุกคน ตระหนักในหน้าที่ของตัวเอง ตั้งใจทำงานที่เป็นอาชีพของตัวเองให้หนัก ให้อะไรแก่สังคม ถ้าให้ไม่ได้ อย่างน้อยก็อย่าเอาเปรียบสังคม เท่านี้ ประเทศชาติก็ไปรอดแล้วครับ

ที่พูดมาทั้งหมดไม่ได้จะบอกว่า รัฐบาลจะโกงก็ปล่อยให้มันโกงไป เราหลับหูหลับตาทำงานไปเหอะ แต่ต้องการจะบอกว่า ถ้ารัฐบาลโกง แล้วเราละเลยหน้าที่ของตัวเองเพื่อไปแสดงสิทธิในการขับไล่รัฐบาล ประเทศชาติมีแต่จะล่มจมเร็วขึ้น

ถ้าเราเห็นว่ารัฐบาลโกง แต่เราปกป้องชาติด้วยการทำหน้าที่ของเรา โดย เราสามารถทำให้รัฐบาลไม่มีสิทธิเข้ามายุ่งกับการบริหารประเทศได้ ด้วยหน้าที่หนึ่งในระบอบประชาธิปไตยที่ชื่อว่า “การเลือกตั้ง” ครับ

จากเหตุการณ์ในหน้าหนังสือพิมพ์ ผมเห็นอุดมการความรักชาติและความมุ่งมั่นของคนไทยแล้ว ผมเห็นการอดทนเพื่อชาติของผู้ที่ไปชุมนุมแล้ว

ผม เชื่อมั่นครับ ว่าถ้าเพียงแต่ท่านใช้ความมุ่งมั่นความรักชาติของท่านให้ถูกวิธี ประเทศชาติของเรา ได้แซงหน้าญี่ปุ่นภายใน 50 ปีนี้แน่นอน….

นี่เป็นความเห็นส่วนตัวของผมที่เป็นนิสิตชั้นปีสี่คณะวิทยาศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยแห่งนึงนะครับ ผมอยากให้ทราบว่า นิสิตนักศึกษาที่ไปร่วมชุมนุมนั้น เป็นแค่ส่วนนึง ยังมีอีกหลายส่วนนะครับ ที่มีความเห็นแบบอื่นที่ไม่ใช่แบบที่ท่านเห็นในหน้าหนังสือพิมพ์ ความเห็นของผมดังที่แสดงไป ก็เป็นหนึ่งในความเห็นที่หลากหลายของนิสิตสถาบันที่ผมศึกษาอยู่

กรุณาอย่าเหมารวมนะครับ ผมขอร้อง

 

lewcpe

CTO at MFEC PLC. Chief Editor at Blognone.com

 

6 thoughts on “หน้าที่

  1. ผมว่าไม่ได้มีแค่เรื่องนี้ครับ

    อยากรู้ว่ามีกี่ประเทศ ที่มีสื่อมวลชนที่พร้อมใจกันช่วยล้างสมองประชาชนให้เกลียดรัฐบาล ปลุกระดมให้ตัวเองเป็นศาสดาลัทธิการเมืองแบบตอนนี้

    สื่อมวลชนประเทศอื่นเป็นกระบอกเสียงรัฐบาลก็ยังดูมีจรรยาบรรณกว่าใช้ความเป็นสื่อปลุกระดมล้างสมองคนดู
    กล่อมให้คนดูเสียเงินให้ตัวเอง ปกป้องตัวเอง ออกไปรบเป็นเบี้ยหัวแตกให้ตัวเองอีกด้วย

  2. ผมว่าไม่ได้มีแค่เรื่องนี้ครับ

    อยากรู้ว่ามีกี่ประเทศ ที่มีสื่อมวลชนที่พร้อมใจกันช่วยล้างสมองประชาชนให้เกลียดรัฐบาล ปลุกระดมให้ตัวเองเป็นศาสดาลัทธิการเมืองแบบตอนนี้

    สื่อมวลชนประเทศอื่นเป็นกระบอกเสียงรัฐบาลก็ยังดูมีจรรยาบรรณกว่าใช้ความเป็นสื่อปลุกระดมล้างสมองคนดู
    กล่อมให้คนดูเสียเงินให้ตัวเอง ปกป้องตัวเอง ออกไปรบเป็นเบี้ยหัวแตกให้ตัวเองอีกด้วย

  3. โดยส่วนตัวคิดว่าเป็นเพราะความรู้พื้นฐานของคนส่วนใหญ่ของคนไทยเทียบกับประเทศที่
    เจริญแล้วไม่ได้ โดยเฉพาะคนในเมือง ความรู้อาจจะทัดเทียมกันแต่ความรู้ในการพัฒนา
    แตกต่างกัน

    ยกตัวอย่าง คนเยอรมันส่วนใหญ่ซ่อมบ้านเป็น สร้างบ้านเองก็ได้ ส่วนหนึ่งเพราะค่าแรงแพง
    ผิดกับคนไทยนะครับ ที่วิศวกรไฟฟ้าที่จบจากมหาวิทยาลัยมีชื่อยังไม่รู้ว่าปลั๊กไฟมีไฟแค่
    รูเดียว อีกรูเอานิ้วจิ้มเล่นได้

    ประเทศที่เจริญแล้วต้องเติมน้ำมันเอง ไม่มีคนคอยบริการ แล้วต้องเดินไปจ่ายเงินที่
    เคาท์เตอร์ เพราะค่าแรงแพงอีก

    เนื่องจากค่าแรงแพง ความรู้พื้นฐานของคนทั่วไปต้องดี เพราะต้องทำอะไรเองหมด ทฤษฎี
    สองสูงของใครบางคนจึงไม่เพ้อเจ้อ ถ้าต้องการให้ชาติเจริญทางวัตถุ

    มีนักกฎหมายคนหนึ่งพูดถึงรัฐธรรมนูญที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขและสามารถทำงาน
    บริหารได้โดยตรง (ซึ่งใช้กันในอังกฤษ เยอรมัน สมัยแรกเริ่ม แต่ไม่มีในตำราไทย) ซึ่ง
    เห็นว่ากษัตริย์ทรงนำมวลชนได้ ดังนั้นการพัฒนาอะไรโดยกษัตริย์ผ่านกระบวนการบริหาร
    โดยรัฐบาลโดยตรงย่อมทำได้ง่ายกว่ารัฐบาลประชาชน หมายถึงกษัตริย์ต้องผ่านกระบวน
    การรัฐสภาเหมือนกัน ไม่ใช่การแต่งตั้งหรือรัฐบาลพระราชทาน นักกฎหมายคนนั้นกล่าวว่า
    การทำเช่นนี้จะทำให้การเปลี่่ยนแปลงเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยเร็วขึ้น โดยยกตัวอย่าง
    ญี่ปุ่นที่ยกเลิกซามูไรพร้อม ๆ กับไทยเลิกทาส แต่ญี่ปุ่นเจริญเร็วกว่าเรามากเพราะ elite
    ของเขายอมยกอำนาจให้กษัตริย์สมัยนั้น และร่วมมือกับกษัตริย์ในการพัฒนาประเทศ

    จำไม่ได้แล้วว่าคนนั้นเป็นใคร ไว้หาได้จะเอาลิงค์มาแปะให้

  4. ขออนุญาตแสดงความเห็นต่างกับข้อเขียนของน้องเขานะครับ …ถือว่าเป็นความเห็นอีกชุดแลกเปลี่ยนกันเป็นข้อ ๆ ดังนี้ (ขออภัยไว้ก่อน ผมสันดานไม่ดี เขียนที่ไหน ชอบเขียนยาว…เกรงใจ)

    1. เห็นด้วยกับประเด็นไม่ควรละเลย “หน้าที่” ของพลเมือง แต่คำถาม ก็คือ หากบรรดาพลเมืองที่ไปร่วมชุมนุมกับ พธม. ย้อนกลับมาว่า ที่ผม/ฉันมาร่วมชุมนุมอยู่นี่ ผม/ฉัน ก็ยังทำงานประจำอยู่นะ ทำหน้าที่ ทำเงินให้ประเทศ ทำทุกอย่าง แต่ ได้เจียด (บางคนเรียกว่า “สละ”) เวลามานั่งประท้วง เรียกร้องให้รัฐบาลโกง (ในสายตาฉัน) ออกไป

    เราจะตอบคำถาม เรื่อง ละเลย “หน้าที่” ตามที่เขียนในข้อเขียนนี้ ได้ว่าอย่างไร ?

    1. สำหรับคำถามในข้อหนึ่งที่ผมยกนั้น ไม่ใช่บทสรุปของผมนะครับว่า “ผมเห็นด้วยกับการชุมนุมในยุคนี้ของ พธม” เพียงแค่อยากชี้ให้เห็นว่า มีอะไร “คลาดเคลื่อน” เกิดขึ้นหรือเปล่า ? ในความเข้าใจ เกี่ยวกับ “หน้าที่” และ “สิทธิ” ในระบอบประชาธิปไตย ในข้อเขียนนี้

    สิ่งที่ พธม. ทำอยู่ในขณะนี้ ไม่มีใคร ปฎิเสธหรือควรปฎิเสธได้เลย ว่า “สร้างความเสียหาย” ให้กับประเทศมากมายแค่ไหน แต่…ต้นเหตุแห่งความเสียหาย และ ประเด็นที่ควรตำหนิอย่างยิ่ง ไม่ใช่เขาไม่ปฏิบัติ หรือ ละเลยหน้าที่ (เช่น กลับไปทำการทำงาน ฯลฯ) ของตัว แต่เป็นเรื่องว่า พวกเขาเหล่านั้นกำลัง “ใช้สิทธิเกินส่วน” (ภาษากฎหมาย) หรือ ภาษาธรรมดา ๆ ก็คือ พวกเขา “ใช้สิทธิ” โดยไม่สนใจ “หน้าที่ที่ต้องไม่ละเมิดสิทธิ” ของคนอื่น ๆ ด้วย ต่างหาก (ใช้คำว่า “หน้าที่” เหมือนกัน แต่ ความหมายคนละแบบ)

    ยิ่งถ้ายกเรื่องนี้ ไปเชื่อมกับประเด็น สิทธิ และหน้าที่ ของพลเมือง ในระบอบประชาธิปไตย (อย่างที่ในข้อเขียนนี้ยก) ด้วยล่ะก็ อาจกลายเป็นเรื่อง “ตรงข้าม” กับข้อเขียนไปเลยก็ได้นะครับ กล่าวคือ คนที่ไปร่วมกับ พธม. ไม่เพียงใช้ “สิทธิ” ของเขาเท่านั้น แต่เขากำลังทำ “หน้าที่” ในการ “ตรวจสอบ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง” ด้วยการ “ประท้วง ชุมนุม เรียกร้อง” ด้วย ซึ่งนั่น ถือเป็นอีก “วิธีการหนึ่ง” ที่ระบอบประชาธิปไตยยอมรับ นอกเหนือจาก “การเลือกตั้ง” ในคูหา

    อนึ่ง โปรดอย่าคิดว่า ผมสับสน หรือจะเอายังไงแน่ สิ่งที่เขียนนั้น ไม่ได้ “ขัดกันเอง” ขอสรุปให้ชัดเป็นข้อย่อยอีก ดังนี้

    1.) พธม. กำลังใช้ สิทธิ กำลัง ปฏิบัติ หน้าที่ โดยหน้าที่ในที่นี้ หมายรวมทั้ง หน้าที่การงานของตัวเอง (คือ ยังไม่ไดลาออกจากงานมานั่งประท้วงอย่างเดียว) และ หน้าที่ในฐานะพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย (ตรวจสอบ จับตารัฐบาล)

    2.) แต่ การใช้ทั้ งสิทธิ และหน้าที่ของ พธม. ณ เวลานี้ มีลักษณะเป็นการใช้ที่ “เกินกว่า ส่วนของตัวเอง” ที่แย่ยิ่งกว่า คือ เขากำลังละเมิด “สิทธิ และหน้าที่” ของคนกลุ่มอื่น โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และด้วยวิธีการที่ไม่สามารถยอมรับได้ตามครรลองประชาธิปไตยปกติ ยังผลให้ประเทศเสียหายมากน้อย ตามแต่จะมอง

    ….ด้วยการอธิบาย ให้อยู่บนหลักการ และพื้นฐานนี้ เราจะเข้าใจได้ทันทีนะครับว่า หากมีคน (กลุ่มอื่น) ใช้สิทธิ และหน้าที่ แบบเดียวกันกับ พธม. แต่ เคารพสิทธิคนอื่น ใช้วิธีต่างกันกับ พธม. ไม่ใช้ความรุนแรง ไม่เร่งร้อน ไม่บุกยึด และไม่อีกหลาย ๆ อย่างแบบที่ พธม. ทำอยู่ เหล่านั้น ต้องถือว่าเป็นการกระทำที่ครบทั้ง สิทธิ และหน้าที่ ซึ่งนั่น ไม่ถือเป็นเรื่องที่น่า “ตำหนิ” ใด ๆ เลย

    ปล. 1 ผมอ่าน ข้อเขียนนี้แล้ว ใจหนึ่ง นึกชื่นชมน้องเขานะครับที่พยายามคิด วิเคราะห์ สถานการณ์ที่เกิดขึ้น แสดงว่าเขาสนใจเรื่องบ้านเรื่องเมือง แต่ใจหนึ่ง ก็ชวนให้นึกถึงคนรู้จักคนหนึ่ง ที่มักบ่น (บางทีด่า) กับผมด้วยความเซ็ง เสมอ ๆ เมื่อเขาต้องเสียเวลาไปไม่ทันนัดกินข้าวกับเพื่อนเพราะ “รถติด” เนื่องจาก มี “ชาวบ้าน” มานั่งประท้วงรัฐบาล เรียกร้องให้ “แก้ปัญหาปากท้อง” ของพวกเขาเหล่านั้น

    ปล. 2 โดยส่วนตัว ผมกลับมองว่า คนที่ออกมาทำหน้าที่ถ่วงดุลย์ ตรวจสอบรัฐบาล (ด้วยวิธีการถูกต้อง และไม่ละเมิดคนอื่น) ตามระบอบประชาธิปไตยบ้าง อาจจะน่าชื่นชม กว่า คนที่ไม่เคยสนใจปัญหาบ้านเมือง ไม่สนใจปัญหาปากท้องคนอื่น เอาแต่ทำงานหาเงินเพื่อความสุขของตัวเอง ก็เป็นได้นะครับ

    อนึ่ง ที่ผมใช้ประโยคแบบี้ ก็เพราะต้องการบอกว่า คนพวกหลังนี้ เราก็ตำหนิเขาไม่ได้เหมือนกัน เพียงแต่ ไม่มี “คำชื่นชม” ให้ ก็เท่านั้นเอง

    ปล. 3 ประเด็นเล็ก ๆ อีกอันหนึ่งในข้อเขียน ที่อาจทำให้ความเข้าใจความคลาดเคลื่อนอีกอัน ก็คือ เงื่อนไข ร้อยแปดพันเก้า ที่ พธม. ยกมาไล่รัฐบาลสมัคร รวมทั้งปัญหาชาติที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ (รวมทั้ง ช่วงหลายปีที่ผ่านมา) ไม่ได้มีแค่ “ปัญหาเศรษฐกิจประเทศ” ไม่ดีเเหมือนประเทศอื่น ๆ เขา อย่างเดียวนะครับ มันมีเรื่องซับซ้อนกว่านั้นอีกมากทีเดียว …

    พูดแบบนี้ ก็หมายความว่า ใช่ว่าเศรษฐกิจประเทศเราดีแล้ว จะไม่มีการประท้วงแบบนี้…เสียเมื่อไหร่กัน :P

  5. @เชกูวารา ผมยกบทความนี้มาแปะเพราะค่อนข้างชื่นชอบน้องเขาที่มีความพยายามให้เหตุผลในบทความของเขาอย่างเต็มกำลังเช่นเดียวกันครับ การให้เหตุผลอาจจะบกพร่องไปบ้างแต่ผมว่าน่าสนใจ เพราะเขามีความพยายามตรึกตรองถึงเหตุผล

    ผมเห็นด้วยกับกระบวนการเกลียดทักษินในกรอบมาโดยตลอด ตอนนี้ที่เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ออกมาเขียนหนังสือรู้ทันทักษิณนั้นผมไม่ได้อ่านหนังสือเล่มนั้น แต่ในใจคิดว่า “เออ ก็ดีเหมือนกันที่มีความเห็นหลายๆ ด้าน”

    แต่สิ่งที่ผมเห็นในวันนี้คือความเกลียดที่นับวันเริ่มอธิบายไม่ได้เข้าไปทุกขณะว่าเกิดจากอะไร วันนี้เป็นครั้งแรกๆ ที่ผมพูดแย้งกับเพื่อนคนหนึ่งที่เกลียดสมัคร เพราะ “หน้าตา”

    ประเทศชาติเรากำลังเลือกผู้นำกันจากความรู้สึกในแง่ของหน้าตา!!! หล่อมากควรเป็นนายก?

    ในวันนี้เองการใช้เหตุผล ซึ่งโดยปรกติแล้วควรเป็น protocol ตรงกลางเพื่อหาข้อยุติระหว่างความเชื่อและความคิดเห็น ตลอดจนมาตรฐานที่แตกต่างกัน กลับได้รับการดูแคลนว่า “เป็นเหมือนหุ่นยนต์”

    เกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทยกัน?

  6. ปล. 1 ผมอ่าน ข้อเขียนนี้แล้ว ใจหนึ่ง นึกชื่นชมน้องเขานะครับที่พยายามคิด วิเคราะห์ สถานการณ์ที่เกิดขึ้น แสดงว่าเขาสนใจเรื่องบ้านเรื่องเมือง […]

    ขอยกมาอันก่อนมาแปะนะครับ …เพราะผมก็เขียนไว้เหมือนกัน …จริงความเห็นต่าง ๆ คงไม่มีอะไรต่างกัน และผมว่าเราสามารถเข้าใจความรู้สึกต่าง ๆ (เบื่อ, เซ็ง, ชอบ, เกลียด ฯลฯ) ได้ครับ เนื่องจากสถานการณ์มันตึงเครียด ไม่ได้มีเจตนาจะโจมตีน้องเขา

    การพยายามวิเคราะห์สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ดีทั้งนั้นครับ เรื่องการอย่าละทิ้ง “หน้าที่การงาน” ของตนเอง ก็ไม่มีอะไรผิด แต่ที่ผมอยากสื่อ ก็คือ อาจมีความคลาดเคลื่อนอยู่บ้าง…หรือเปล่า ? ในการให้ ความหมาย กับคำว่าสิทธิ และหน้าที่ ในระบอบประชาธิปไตย ในข้อเขียน ซึ่งแน่นอน อาจก่อให้เกิดความเข้าใจกันไปอีกอย่างหนึ่งของ “ผู้อ่าน”

    ผมอยากแชร์ความเข้าใจ (ของผมดู) ถ้าคิดว่าเข้าท่าก็จะดีใจ แต่หากพิจารณาแล้ว คิดว่า ในนั้นก็ไม่ได้มีอะไรคลาดเคลื่อนนี่ ถูกต้องดีทุกอย่าง ผมก็คงไม่มีอะไรจะเสนอต่อ

Comments are closed.