ในบรรดาบริการ Streaming ทั้งหลาย อันที่ไม่ค่อยอยู่ในเรดาร์ของคนไทยเท่าไหร่คือ Kindle Unlimited ที่เปลี่ยนโมเดลการตั้งราคามาเป็นการเหมาจ่ายค่าหนังสือ จุดที่น่าสนใจของบริการนี้คือ Amazon เปิดเผยโมเดลราคาต่อสาธารณะ
โมเดลธุรกิจสตรีมมิ่งตอนนี้เหมือนจะแยกเป็นสองโมเดลหลักๆ โมเดลแรกคือกลุ่มภาพยนต์ ที่อาศัยการขายขาด (แยกย่อยตาม ช่วงเวลาและภูมิภาค) ซื้อไปแล้วค่ายไหนจะมีคนดูเท่าไหร่ก็แล้วแต่กันเอง กับอีกโมเดลคือจ่ายตามการใช้งานจริง เช่น เพลงต่างๆ ที่แฟนคลับมักระดมกันไปช่วยฟังสร้างรายได้ให้ศิลปินที่ตัวเองชอบ
แม้จะพอเห็นโมเดลคร่าวๆ แต่เอาเข้าจริงแล้ว ก็มักมีสัญญาปลีกย่อยอีกเยอะมาก เราแทบไม่รู้เลยว่าใครได้ดีลแบบไหนบ้าง ยกเว้น Kindle Unlimited ที่พยายามทำตลาดกับนักเขียนรายย่อยจำนวนมาก ทำให้เราเห็นทั้งหมดว่าดีลปกตินั้น ทำราคาค่าอ่านต่อหน้าเท่าไหร่
แม้จะทำตลาดกับนักเขียนรายย่อย แต่เอาเข้าจริงแล้วคนที่ครองตลาด Kindle Unlimited จริงๆ คือ JK Rowling กับชุดหนังสือ Harry Potter ที่มีอยู่ใน Kindle Unlimited แทบทุกเล่ม และตอนนี้กลายเป็นว่าการสมัคร Kindle Unlimited กลายเป็นช่องทางอ่าน Harry ที่ราคาถูกที่สุด อย่างผมเองสมัคร 6 เดือน 30 ดอลลาร์ อ่านมาสามเดือนก็ครบทั้ง 7 เล่ม ถ้าซื้อเองหมดนี่รวมๆ 70 ดอลลาร์ (ซึ่งถูกกว่าหนังสือกระดาษแล้ว)
เหตุผลนี้ทำให้ Harry อยู่ใน Amazon Chart แบบ Most Read ชนิดโค่นไม่ลง แต่ละเล่มอยู่ในชาร์ตเกือบ 5 ปี หนังสือที่แทรกได้เป็นแค่หนังสือดังๆ เป็นช่วงสั้นๆ เท่านั้น
Selection หนังสือใน Kindle Unlimited หนักไปทาง fiction เป็นส่วนมาก แทบไม่มี non-fiction มาลงเลย แต่พอชดเชยด้วยนิตยสารที่ให้กดเลือกสมัครสมาชิกได้ 3 ฉบับ กับมีบางหัวที่เปิดให้ยืมบางเล่มได้
รวมๆ แล้วคิดว่าถ้าเป็นคนอ่านนิยายภาษาอังกฤษแบบต่อเนื่อง ไม่คิดมากว่าต้องเลือกเรื่องอะไรเป็นพิเศษ ตัวบริการมีหนังสือดีๆ ให้พออ่านไปได้เรื่อยๆ แต่สำหรับผมเองคงอยากเลือกหัวหนังสือที่อยากอ่านเป็นหลัก การมานั่งลุ้นว่าเล่มไหนจะลงบ้างไม่ใช่เรื่องสนุกเท่าไหร่ หลังหมดรอบนี้แล้วคงไม่ได้ต่ออายุ จนกว่าจะมีซีรีส์ไหนยาวๆ (และแพงหน่อย) ให้อ่านอีก ซึ่งนักเขียนหลายคนเลือกวางแค่เล่มแรกๆ ของซีรีส์ โดยหวังว่าจะล่อคนอ่านไปซื้อเล่มต่อๆ ไปทีหลัง