NFT

หลายคนถามว่า NFT จะเกิดไหม ฟองสบู่ไหม หรือตอนนี้แค่ฟอกเงิน โดยส่วนตัวแล้วผมเชื่อใน NFT พอพอสมควร (50-60% ว่ามันจะกลายเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ เกี่ยวพันประชากรส่วนใหญ่ภายในสิบปี)

แต่เช่นเดียวกับคำใหญ่ๆ ด้านไอทีทั้งหลาย (Metaverse, Zero Trust, Blockchain, … ) ความหมายมันไหลไปเรื่อยตามคนที่พูด (It mean anything to anyone) ทำให้เวลาพูด พูดไม่ตรงกันไปหมด

แต่มุมมองหนึ่งของ NFT ที่พูดๆ กันคือ portable DRM เวลาส่งต่อแล้ว คนเดิมหมดสิทธิ์ไป อีกคนมีสิทธิ์ใช้งานแทนที ซึ่งแพลตฟอร์มทุกวันนี้ไม่ได้ทำหน้าที่นี้แต่อย่างใด แต่หลายคน “รู้สึก” ไปเองว่ามันทำหน้าที่นี้ รู้สึกไปเองว่าถ้าเจ้าของเดิมขาย NFT ภาพให้เราแล้วก็ควรไม่จัดแสดงใน “Metaverse” อีก (ทั้งที่การขายไม่มีสัญญาอะไรว่าจะมีใครทำตาม)

token อย่างหนึ่งที่โลกของเราใช้ในการแสดงความเป็นเจ้าของอยู่คือแผ่นเกมคอนโซลทั้งหลาย ที่ทุกวันนี้ตัวแผ่นแทบไม่มีค่าอะไรแล้วในเชิงเทคนิค ไม่ใช่เรื่องแปลกที่แผ่นเกมใส่เครื่องวันแรกแล้วคนใช้จะต้องดาวน์โหลดไฟล์ใหญ่กว่าในแผ่นเสียอีกมาลงเครื่อง แต่ก็ต้องมีแผ่นเพื่อ “แสดงความเป็นเจ้าของ” เฉยๆ ไม่มีอะไรมากกว่านั้น

เกมดิจิทัลหลายครั้งถูกกว่า สะดวกกว่า ประหยัดกว่า แต่มันทดแทนไม่ได้เพราะแผ่นทำให้เราสามารขายเกมต่อไปมาได้ เรายอมจ่ายต้นทุนมหาศาล สร้างช่องทางค้าปลีกอันซับซ้อน ขนแผ่นและกล่องข้ามโลกไปมา เพื่อหาทางระบุตัวตนว่าใครเป็นคนถือสิทธิ์ ณ ตอนนี้ ในยุคที่เราพูดเรื่องขยะอิเล็กทรอนิกส์ การกระทำเช่นนี้น่าจะเป็นเรื่องไร้สาระที่สุดอย่างหนึ่งของมนุษยชาติ

ถ้าค่ายเกมต่างๆ ยอมปล่อยให้เกมกลายเป็น NFT ยอมเคารพความเป็นเจ้าของสิทธิ์ในการใช้งานซอฟต์แวร์ได้ ก็น่าจะเป็นการเปิดฉากการซื้อขายซอฟต์แวร์ด้วยแผ่นหรือตลับในโลกความเป็นจริง

แต่ทั้งหมดนี้ไม่ต้องใช้ blockchain…. (อย่างน้อยก็ในรูปแบบเดียวกับ Ethereum)

ในความเป็นจริงการสร้าง ledger เพื่อเก็บความเป็นเจ้าของนั้นสามารถทำได้อย่างเรียบง่ายกว่า NFT ทุกวันนี้มากๆ ตัวค่ายคอนโซลหรือ publisher ต่างๆ สามารถตั้งเซิร์ฟเวอร์เก็บ ledger ขึ้นมาโดยมีต้นทุนเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับมูลค่าเกม การโหลดไฟล์เกม 100GB น่าจะแพงกว่ามาก แต่ทุกวันนี้ก็ให้บริการกันได้โดยไม่เก็บเงินเพิ่ม พวกเขาสามารถเปิดให้แม้แต่คนภายนอกที่ไม่ไม่คอนโซลหรือบัญชี Steam สามารถซื้องานชิ้นต่างๆ สะสมไว้ publisher สามารถอนุญาตให้ลูกค้าย้าย “เครื่อง” ไปมาได้ข้ามแพลตฟอร์ม หากเกมนั้นลงหลายแพลตฟอร์มอยู่แล้ว

บริการสตรีมเพลงบางรายในเกาหลีเปิดให้สมาชิก “ซื้อ” เพลงด้วยเครดิตที่ได้มาทุกเดือน (โมเดลการจ่ายเงินน่าจะเป็นแบบ Super Like ที่ศิลปินคนนั้นจะได้เงินเยอะเป็นพิเศษเทียบกับการฟังตามปกติ) แต่เดิมนั้นการซื้อจะต้องเป็นแบบ no DRM อย่างเดียว หากมีศูนย์กลาง portable DRM ที่ย้ายไปใช้แพลตฟอร์มอื่นได้กว้างขวางก็จะเป็นอีกตัวเลือก แน่นอน DRM มีปัญหาในตัวมันเองหลายอย่าง แต่การที่แพลตฟอร์มเปิดให้ถ่ายโอน DRM ไปมาก็จะลดปัญหาของมันไปอีกหนึ่งอย่างคือความเป็นเจ้าของของผู้ซื้อ

ประเด็นอย่างหนึ่งที่ผู้ผลิตกลัวอาจจะเป็นการเปลี่ยนมือที่รวดเร็วเกินไป เลยชอบขายเป็นแผ่น เพราะส่งช้าดี ทำให้มีการเช่าใช้ระยะสั้นจนกระทบต่อการเป็นเจ้าของ อาจจะมีรายการเช่าใช้รายชั่วโมง กลายเป็นบริการสตรีมมิ่งไป กรณีแบบนี้อาจจะทำแบบแอปเปิลที่ห้ามเปลี่ยนมือสั้นกว่า 24 ชั่วโมง ซึ่งก็ควบคุมได้จากแพลตฟอร์มรวมศูนย์กลางเช่นเดียวกัน รวมถึงคุณสมบัติของ NFT ทุกวันนี้ เช่น เก็บค่า royalty บางส่วนจากการขายต่อ ก็เป็นตัวเลือกเพิ่มเติมไปได้

 

lewcpe

CTO at MFEC PLC. Chief Editor at Blognone.com