หนี้กยศ.

ยังคิดไม่สุดนัก บางประเด็นคิดแต่ในภาวะอุดมคติที่เรายังไปไม่ถึง แต่โน้ตไว้ก่อน

  • คิดว่ารัฐมีหน้าที่จัดหาการศึกษาที่ “เพียงพอให้สร้างรายได้ดูแลตนเอง” (และครอบครัว? ถ้านับด้วยอาจจะต้องถามว่าลูกกี่คน)
  • มุมมองต่อการศึกษา ทุกวันนี้ความรู้ระดับปริญญาไม่ได้จำเป็นต่อการทำงานที่รายได้ดีพอสมควร อย่างน้อยก็ดูแลตัวเองให้อยู่ในฐานะคนชั้นกลางได้ เคยจ้าง freelance นี่น่าจะแซงคนจบปริญญาไปเยอะ แม้เขายังไม่จบปริญญา
  • แต่ในตลาดแรงงานต้องยอมรับว่าถ้าไม่มีปริญญาตรีแล้ว ตลาดงานของไทยมันจะแคบลงมหาศาลมาก แม้จะเป็นงานที่ไม่น่าจะจำเป็นต้องเรียนปริญญาตรี และหนึ่งในต้นเหตุน่าจะเป็นราชการไทยเอง ที่แข็งเกร็งกับปริญญามากๆ
  • ตลาดแรงงานด้านคอมพิวเตอร์ในสหรัฐฯ งานซัพพอร์ต ต้องการปริญญาตรี 24% QA ซอฟต์แวร์ต้องการปริญญาตรี 54% แนวโน้มนี้กำลังลดลงอีก ของไทยนี่ลองกดหาดูเล่นๆ IT Support เกือบสิบประกาศ เจอรายการเดียวที่ไม่ต้องการปริญญาตรี เชื่อว่าถ้าไปทำวิจัยจริงๆ ก็น่าจะเจอว่าของเราต้องการปริญญาตรีสูงกว่าสหรัฐฯ มากแทบทุกอาชีพ (ลองไปกดๆ พนักงานต้อนรับโรงแรมของไทยก็ยังต้องการประมาณ 4 ใน 10)
  • ภาวะตลาดคัดคนแบบมีกำแพงปริญญาแบบตอนนี้มันพูดยาก ว่าการเรียนปริญญาตรีเป็นทางเลือก ความเชื่อว่ายังไงก็ได้ให้มีปริญญาไว้ก่อน มันมีเหตุผลอยู่ คนที่พูดได้ว่าไม่มีปริญญาก็หางานได้ส่วนใหญ่เป็นกรณียกเว้น จะบอกว่ามีรูให้ลอดไปได้ แต่แทบไม่มีใครผ่านไปได้มันไม่แฟร์
  • ส่วนตัวมองว่าภาวะแบบนี้ของไทย ไม่เป็นผลดีต่อทุกคน พ่อแม่ต้องซัพพอร์ตลูกนานขึ้น แรงงานมีเวลาน้อยลงในการทำงาน ดูแลตัวเองได้ช้าลง (สมมติจบมาได้เงินเดือนสองหมื่น แม้งานจะต้องใช้ความรู้ระดับอนุปริญญา จบช้าสองปีคือเงินหายไปจากชีวิต 480,000) ครอบครัวที่ตึงๆ อยู่แล้วจะลำบากกว่าที่ควรจะเป็น โลกทุกวันนี้กำลังจะออกจากภาวะนี้ สหรัฐฯ ก็มีแนวโน้มว่าลดความสำคัญปริญญาลง สนใจ skill เป็นส่วนๆ เราก็ควรออกเหมือนกัน
  • เราจะไปยังไง ระหว่างแก้ตลาดแรงงานต้องซัพพอร์ตคนไม่ได้เรียนตรีให้มากกว่านี้? หรือควรรีบแก้เรื่องค่าเรียนมหาวิทยาลัยแพง? ต่อให้ทำพร้อมกันหมดจะใช้เวลากี่ปีกว่าจะดีขึ้นจนยอมรับได้? ส่วนตัวมองว่าที่เร็วที่สุดคือรัฐส่งสัญญาณด้วยการปลดเงื่อนไขปริญญาตรีในตำแหน่งจำนวนมาก ทั้งจากจ้างตรงและการรับงานจากภาครัฐ สัญญาณแบบนี้น่าจะส่งผลต่อเนื่องไปถึงเอกชนโดยเฉพาะบริษัทอื่นๆ ที่รับงานจากรัฐ
  • การสนับสนุนในรูปแบบ soft loan เป็นการมองว่าระดับที่ให้ไม่ใช่ขั้นต่ำ ซึ่งเข้าใจได้ หลังจากการให้ขั้นต่ำทุกคนแล้ว รัฐก็ควรสนับสนุนให้คนสร้างฐานะในรูปแบบ soft loan ต่อ จะเรียนต่อ จะทำธุรกิจ หรือจะฝึกอาชีพ พวกนี้ให้ในรูปแบบที่ไม่ได้ให้เปล่าได้ เป็นแนวทางที่เข้าใจได้
  • ต่อให้มองว่า ป.ตรีไม่ใช่ขั้นต่ำที่รัฐต้องจัดหาให้ กยศ. ก็ยังมีปัญหาในหลายประเด็น ประเด็นที่เคยแก้ไปแล้ว เช่น การค้ำประกัน ที่สร้างเงื่อนไขจนกลายเป็นกำแพงให้คนขาดโอกาสกู้ไม่ได้ไปอีก ประเด็นอื่นเช่น ไปบังคับทำกิจกรรมจนมีเด็กต้องไปซื้อใบรับรองชั่วโมงกิจกรรม นี่ก็ต้องเลิก

 

lewcpe

CTO at MFEC PLC. Chief Editor at Blognone.com