ปัญญาประดิษฐ์ (และหุ่นยนต์) ปฎิวัติ

คนจำนวนมากอาจจะเคยเห็นวิดีโอสายการผลิตอะไรในโรงงานแบบนี้ตามเฟซบุ๊กบ่อยๆ แล้วรู้สึกทึ่งกับความสามารถในการผลิตที่รวดเร็วของสายการผลิตเหล่านี้ ที่ของที่เราเคยคิดว่าต้องใช้เวลาทำนานๆ แล้วสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ แถมไม่มีคนเข้ามาเกี่ยวข้องแม้แต่น้อย

แม้จะน่าทึ่ง แต่ในความเป็นจริงเครื่องจักรเหล่านี้กลับไร้ความยืนหยุ่น เครื่องผลิตขนมถูกตั้งมาให้ผลิตขนมได้เพียงอย่างเดียวโดยปรับแต่งได้เพียงเล็กน้อย เช่น วาดหน้าเค้ดในรูปแบบต่างๆ หรือการปรับแต่งต้องอาศัยปัจจัยภายนอกเช่นไส้ที่เปลี่ยนสูตรไป การคิดอะไรแปลกๆ เช่น ทาร์ตทรงสามเหลื่ยมอาจจะหมายถึงการปรับแต่งเครื่องใหม่ทั้งหมด

มันไม่มีปัญหาอะไร ถ้าปริมาณการผลิตมันเยอะเพียงพอ กับอาหารก็ทำได้ไม่ยากนักที่เราจะผลิตสินค้าแบบเดียวกันนับล้านชิ้น

แต่สินค้าที่ความซับซ้อนสูง เช่น รถยนต์ เราไม่สามารถสร้างเครื่องจักรที่ผลิตเป็นสายพานเช่นนี้ โดยนั่งออกแบบเครื่องให้มันทำงานสอดประสานกันพอดีอย่างสมบูรณ์ได้ ทางออกในการทำให้กระบวนการเป็นอัตโนมัติคือการใช้หุ่นยนต์

แขนกลในโรงงานเป็นหุ่นยนต์ที่เราเห็นกันจนชินตา ในโรงงานรถยนต์หุ่นยนต์เหล่านี้ทำหน้าที่ เชื่อม ตัด หรือเจาะ ในส่วนที่ซับซ้อนจนปกติต้องใช้มนุษย์ แต่มันกลับทำได้โดยไม่หยุดพัก และความผิดพลาดแทบเป็นศูนย์โดยไม่มีปัจจัยความเหนื่อยล้า

หุ่นยนต์เคยเป็นเครื่องจักรราคาแพงที่มีเฉพาะการผลิตมูลค่าสูงเท่านั้นจะใช้งานได้ แต่ราคาหุ่นยนต์กลับเพิ่มขึ้นไม่มากนักในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา ทำให้อุตสาหกรรมใหม่ๆ เริ่มนำหุ่นยนต์เหล่านี้มาใช้งานได้ง่ายขึ้น

Zume Pizza คือตัวอย่างของการใช้หุ่นยนต์กับสินค้ามูลค่าไม่สูงนัก ซีอีโอของ Zume ระบุว่าหุ่นยนต์ที่นำมาใช้คืนทุนได้ภายใน 6 เดือนเท่านั้น

แต่กรณีของ Zume Pizza ก็ยังเป็นเพียงกรณีเฉพาะ เพราะหุ่นยนต์ที่ใช้ทำงานเพียงงานง่ายๆ คือป้อนพิซซ่าเข้าเตาอบ เท่านั้น สายการผลิตของ Zume ยังคงต้องการเครื่องจักรเฉพาะ เช่นเครื่องราดซอร์สลงบนพิซซ่า

การใช้งานหุ่นยนต์ติดกำแพงในการเข้าถึงเพราะหุ่นยนต์ทุกวันนี้ยังต้องอาศัยวิศวกรเชี่ยวชาญสูงในการ “สอนงาน” ให้หุ่นยนต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง แม้ว่าตัวหุ่นยนต์อาจจะซื้อสำเร็จรูปได้แล้วก็ตาม แต่การสอนให้หุ่นยนต์ทำงานกับสภาพแวดล้อมอย่างสอดประสาน เช่น รอให้พิซซ่าดิบมาถึงระยะที่เหมาะสม นำถาดไปรองรับ วางพิซซ่าลงในเตาที่ยังว่างอยู่ สิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยวิศวกรที่มาโปรแกรมมันทั้งสิ้น

สารคดี Tesla ในการพัฒนาสายการผลิต Model S พูดถึงเรื่องการเซ็ตอัพให้หุ่นยนต์เดินเครื่องตามที่โปรแกรมไว้เป็นเซคชั่นใหญ่ของตัวสารคดีทั้งเรื่อง วิศวกรต้องโปรแกรม, ปรับแต่ง, และแก้ไขให้หุ่นยนต์ค่อยๆ ทำตามที่มนุษย์ตั้งใจ ซอฟต์แวร์เหล่านี้มีความซับซ้อนสูง วิศวกรต้องคิดถึงความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นและแนวทางที่หุ่นยนต์ควรรับมือกับความไม่แน่นอนของโลกความเป็นจริง

ปัญญาประดิษฐ์คือด่านสุดท้ายของสั่งคอมพิวเตอร์และหุ่นยนต์โดยไม่ต้องการความเชี่ยวชาญสูงนัก ทุกวันนี้ปัญญาประดิษฐ์ทำหน้าที่แปลงคำสั่งจากภาษามนุษย์เป็นคำสั่งที่คอมพิวเตอร์เข้าใจได้ด้วยความซับซ้อนที่สูงขึ้นอย่างช้าๆ คนไม่ทันเทคโนโลยี ไม่เข้าใจการใช้แอปปฎิทินสามารถแจ้งเตือนนัดหมายล่วงหน้าผ่าน Siri ได้เหมือนสั่งงานเลขาที่เป็นคนจริงๆ

ปัญญาประดิษฐ์กับหุ่นยนต์จะทำให้แทบไม่มีอุปสรรคใดๆ ต่อการสร้างระบบผลิตอัตโนมัติ พ่อครัวสักคนสามารถซื้อหุ่นยนต์แล้วสอนว่าการทอดที่พอดีสำหรับเขาเป็นอย่างไร จานชามจะไม่ต้องวางในตำแหน่งที่แน่นอน เจ้าของหุ่นยนต์เพียงสั่งด้วยคำสั่งระดับสูง

เมื่อโปรแกรมให้หุ่นยนต์ทำก๋วยเตี๋ยวสักเมนู ในอนาคตอันใกล้อาจจะเป็นเช่นนี้

  • เจ้าของร้าน: บันทึกเมนู เส้นเล็กต้มยำ เริ่มจากหยิบชาม
  • ปัญญาประดิษฐ์: ชามสีแดงหรือสีขาว
  • เจ้าของร้าน: สีขาว สีแดงใช้เฉพาะลูกค้าสั่งเมนูพิเศษ
  • ปัญญาประดิษฐ์: ได้ แล้วทำอย่างไรต่อ
  • เจ้าของร้าน: หยิบเส้นเล็กหนึ่งกำ ประมาณ 70-90 เส้น ใส่ตระกร้อ ลวกในน้ำเดือด 30 วินาที หรือให้แน่ใจว่าเส้นอ่อนนุ่มทั้งหมดแล้ว
  • หุ่นยนต์ + ปัญญาประดิษฐ์: [ลวกเส้นทันที] ประมาณนี้ใช่ไหม
  • เจ้าของร้าน: นานกว่านี้อีกหน่อย ให้เส้นใสกว่านี้ ยกตระกร้อขึ้นมาดูเรื่อยๆ
  • หุ่นยนต์ + ปัญญาประดิษฐ์: [ลวกเส้นต่ออีก 5 วินาที] ประมาณนี้ใช่ไหม
  • เจ้าของร้าน: ได้ ประมาณนี้เลย แล้วเอาเส้นใส่ชาม ใส่เครื่องปรุง น้ำปลาหนึ่งช้อนชา น้ำมะนาวหนึ่งช้อนชา น้ำตาลหนึ่งช้อนชา พริกครึ่งช้อนชา
  • หุ่นยนต์ + ปัญญาประดิษฐ์: [มองรอบๆ ครัวแล้วหยิบเครื่องปรุงเองตามคำสั่ง]
  • เจ้าของร้าน: คลุกเข้ากับเส้น ใส่ซุปครึ่งชาม แล้วใส่ลูกชิ้นสี่ลูก

ร้านร้านหนึ่งอาจจะต้องทนฝึกหุ่นยนต์ไปเรื่อยๆ จนรับคำสั่งลูกค้าได้ถูกต้องทั่งหมด (เส้นนุ่มพิเศษ, เพิ่มเส้น ฯลฯ) แต่หลังจากจุดหนึ่ง มันจะไม่เหนื่อย ไม่ลา ไม่ขาด ไม่สาย รอซ่อมตามรอบอย่างเดียว

แถมเมื่อฝึกแล้วสำเนานิวรอนไปกี่ตัวก็ได้ ไม่จำกัด

 

lewcpe

CTO at MFEC PLC. Chief Editor at Blognone.com