Digital Refugees

สองสามปีที่ผ่านมาเรามีกระแส (ที่สำเร็จไปแล้ว) คือการประมูล 3G ไม่ว่าจะดีจะชั่วอย่างไร มันก็เป็นก้าวแรกของการเข้าสู่ระบบใบอนุญาต

ผมพูดเสมอในประเด็น 3G ว่าสิ่งสำคัญของมันไม่ใช่การมีอินเทอร์เน็ตไร้สาย “ความเร็วสูง” ไว้ใช้งานกัน แต่ประเด็นสำคัญคือการย้ายมาใช้งาน non-voice ของคนทั่วๆ ไป เพราะผมมองว่าสังคมไปข้างหน้า เราต้องดึงคนอีกกลุ่มหนึ่งเข้ามายังโลกอินเทอร์เน็ตในราคาที่เหมาะสมกับการใช้งานของพวกเขา

ด้วยความเป็นคนเมือง บ้านผมมีโทรศัพท์มาตั้งแต่จำความได้ ผมต่ออินเทอร์เน็ตครั้งแรกสมัยประถม และมี ASDL ตั้งแต่เข้ามหาวิทยาลัย ผมมีการ์ด Wi-Fi ใช้คนแรกๆ ในรุ่น ผมไม่ได้พิเศษอะไร มีคนจำนวนมากในรุ่นใกล้ๆ กับผมจนกระทั่งรุ่นหลังผมลงไป เติบโตขึ้นมาพร้อมกับการสื่อสารที่ดีพอสมควร คนกลุ่มนี้เป็นคนกลุ่มแรกๆ ที่ใช้ Facebook พวกเขามีอินเทอร์เน็ตไม่จำกัดใช้งานได้ทั้งที่บ้านและที่ทำงาน

ผมเรียกคนกลุ่มนี้ว่า Digital Natives พวกเขาอยู่กับโลกดิจิตอล โตมากับมัน และการใช้งานเป็นเรื่องที่คุ้นเคย พวกเขาอาจจะไม่ใช่คนจบคอมพิวเตอร์เสียทีเดียว แต่ก็เป็นคนกลุ่มแรกๆ ที่ใช้โปรแกรมแชตใหม่ ลงเกมใหม่เมื่อมันดังและมีเพื่อชวนเล่นด้วย พวกเขามีปัญหาเครื่องช้า มีปัญหาพื้นที่ไม่พอลงโปรแกรมใหม่บ้าง จนกระทั่งต้องเปลี่ยนโทรศัพท์สักครั้งหรือสองครั้งมาแล้ว

แต่ชีวิตผมเองต้องต้องเจอกับคนอีกกลุ่มหนึ่ง ในยุคที่บ้านผมมีโทรศัพท์ คนกลุ่มนี้ต้องนัดแนะกันทางอื่นเพื่อคุยกัน พวกเขาต้องนัดเวลากับที่บ้านเพื่อจะได้ไปรอรับสายจากเพื่อนบ้าน ส่วนคนโทรต้องโทรจากตู้สาธารณะ

ในยุคอินเทอร์เน็ต คนกลุ่มนี้ คือคนที่ไม่มีแพ็กเกจอินเทอร์เน็ตไม่จำกัดใช้งาน พวกเขาอาจจะเป็นแม่บ้านอยู่ตามออฟฟิศ พนักงานรักษาความปลอดภัย หรือลูกจ้างร้านอาหาร พวกเขาใช้โทรศัพท์รุ่นสุดคุ้มต่างๆ และใช้งานจากแอพที่เพื่อนหรือร้านลงให้ พวกเขาใช้อินเทอร์เน็ตฟรีตามที่ต่างๆ อาจจะเป็นอินเทอร์เน็ตของอาคารที่อาศัยความสนิทสนมไปขอใช้งานมา อาจจะเป็นอินเทอร์เน็ตของร้านกาแฟข้างๆ

ผมเรียกคนกลุ่มนี้ว่า Digital Refugees เพราะขณะที่การใช้งานของพวกเขาไม่ได้มากมายอะไร แต่สิ่งที่พวกเขาใช้งานกลับเปลี่ยนแปลงชีวิตของพวกเขาอย่างมีนัยสำคัญ พวกเขาเคยลำบากกับการสื่อสารที่ราคาแพง ไม่ทั่วถึง และใช้งานลำบาก คนกลุ่มนี้จำนวนมากต้องอยู่ห่างจากครอบครัวเพราะพื้นที่ทำงานไกลบ้านออกไปหลายร้อยกิโลเมตร

ขณะที่การใช้งานของพวกเขาน้อยกว่าการใช้งานของคนเมืองที่โตมากับไอที มีทุกสิ่งพร้อม แต่ความเปลี่ยนแปลงที่ไอทีทำให้พวกเขากลับมากมายกว่ามาก พวกเขาเคยต้องแบกรับค่าใช้จ่ายมหาศาลในการสื่อสาร การพูดคุยเป็นเวลานานอาจจะหมายถึงต้องเดินทางกลับภูมิลำเนา ค่าใช้จ่ายที่สูงทำให้พวกเขาไม่สามารถสื่อสารกันได้สะดวก

โทรศัพท์มือถือ อินเทอร์เน็ต เปลี่ยนชีวิตพวกเขาได้มากกว่าที่เปลี่ยนชีวิตคนเมืองอย่างมาก พวกเขาสามารถสื่อสารกันได้ตลอดเวลาเป็นครั้งแรก สามารถส่งข้อความเสียง ข้อความภาพ แม้การใช้งานจะน้อยกว่า แม้พวกเขาจะไม่เคยลองโปรแกรมใหม่ๆ พวกเขาแค่ใช้สิ่งที่เคยใช้งาน แล้วก็ใช้ต่อไปอย่างนั้นเอง

เวลาที่เราเรียกร้องการเข้าถึงไอที เราเรียกร้องอะไร เวลาที่เราเรียกร้องอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงมากๆ (มากระดับที่ดูวิดีโอความละเอียดสูงได้ลื่น) เรากำลังเรียกร้องบริการ “ชั้นดี” มากกว่าที่จะเรียกร้องบริการ “ทั่วถึง”

คนจำนวนมากอาจจะรู้สึกโกรธที่ตัวเองเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงมากตลอดเวลาไม่ได้ แต่ผมมองว่านั่นไม่ใช่ปัญหาที่ต้องได้รับการคุ้มครอง ปัญหาของคนมีกำลังซื้อของพื้นฐานแต่อยากได้ของชั้นดีเป็นเรื่องที่ต้องเรียกร้องกันเองผ่านกลไกตลาด ไม่ใช่กระบวนการคุ้มครอง

เพราะผมเชื่อว่าอินเทอร์เน็ตและการสื่อสารควรนำมาซึ่งความเท่าเทียม ไม่ใช่ความรู้สึกหรูหราอะไร

 

lewcpe

CTO at MFEC PLC. Chief Editor at Blognone.com

 

3 thoughts on “Digital Refugees

  1. อยากให้มี ADSL ความเร็ว 2048/128 Mbps ราคาไม่เกินสองร้อยบาท หรือ ความเร็ว 1024/64 Mbps ราคาไม่เกินร้อยห้าสิบบาท

  2. เห็นด้วยเลยครับกับประเด็นที่ควรให้ความสนใจกับการเข้าถึงอินเตอร์เน็ต(ที่คุณภาพพอรับได้)ของชาวบ้านทั่วไปทั้งในเรื่องราคา,เรื่องพื้นที่ครอบคลุมและความรู้ความเข้าใจการใช้งานอินเตอร์เน็ตพื้นฐาน ก่อนเรื่องที่คนในเมืองที่ได้ใช้อินเตอร์เน็ตแล้วเรียกร้องกัน

  3. จะว่าไป ผมก็คงเป็นกึ่งๆ ระหว่าง “digital native” กับ “digital refugees ตามคำจำกัดความนี้

    ผมมีคอมพ์เป็นของตัวเองจริงจังเมื่อตอนเข้าเรียนมหาวิทยาลัย ปี 2, ต่อ ADSL ตอนเรียน ป.โท (เคยมีคอมพ์ตั้งไว้ที่บ้านตั้งแต่ ม. ปลาย แต่ใช้แทบไม่เป็น เปิดบราวเซอร์ยังไม่เป็นเลย ต่อ dial-up แล้วไม่รู้ต้องทำอะไรต่อ)

    ปัจจุบันผมก็ยังใช้แค่ 2G รับสายโทรเข้า-ออกเท่านั้น ไม่มีแพคเกจอินเตอร์เน็ต แม้แต่ EDGE ก็ยังไม่เคยเปิดใช้

Comments are closed.