ราคาแห่งความจน

วันนี้ไปเดินหาอะไรกินในซุปเปอร์แถวบ้าน…

เจอแชมพูลดราคาอย่างหนัก ขวดขนาดหนึ่งลิตร ลดราคาอย่างไรเหตุผล เพราะมันถูกกว่าขวด 700cc. ที่วางอยู่ข้างๆ เสียอีก ผมซื้อมาหนึ่งขวด ทั้งที่ที่บ้านยังมีใช้ไปได้อีกอย่างน้อยสองเดือน

ที่บ้านผมเองมีของที่ต้องใช้เป็นประจำเหล่านี้สะสมในระดับที่ใช้งานได้เกินสามเดือนข้างหน้าเสมอๆ ทุกชิ้นล้วนซื้อมาในช่วงที่ค่อนข้างแน่ใจว่าได้ราคาต่ำสุด หลายชิ้นต่ำกว่าราคาเฉลี่ยในตลาดมากกว่าครึ่ง

เมื่อกลับมามองดูต้นทุนการดำรงค์ชีวิตพื้นฐานของผมแล้ว ผมพบว่ารายจ่ายเฉลี่ยสำหรับของพวกนี้ของผมถูกมาก

ผมทำเช่นนี้ได้เพราะมีทุนเพียงพอที่จะบอกว่าการซื้อล่วงหน้าเป็นเวลานาน

ผมนึกถึงสัมภาษณ์นักธุรกิจคนหนึ่ง เขาบอกว่าการทำธุรกิจกับกลุ่มรายได้ต่ำคือการแบ่งขายในขนาดเล็ก แม้จะขายราคาต่อหน่วยแพงขึ้นก็ตาม

แชมพูขวดหนึ่งอาจจะใช้ได้ต่อเนื่องสามเดือนเต็ม ในราคาไม่ถึงร้อย แต่คนรายได้น้อยกลับต้องจ่ายวันละ 5 บาทเพื่อใช้มัน

ความจนอาจจะไม่ได้เกิดจากความพยายามสิ้นเปลืองไปทั้งหมดเสียทีเดียว ความจนอาจจะเกิดจากความไม่มี

เราอาจจะรู้สึกว่าคนจนนั้นโง่ที่ได้เงินมาแล้วไปซื้อมอเตอร์ไซต์ นั้นเป็นเพราะเราอยู่ในเมืองที่มีระบบขนส่งมวลชนซับซ้อนและครอบคลุม

เราอาจจะไม่คิดอย่างนั้น ถ้าทุกครั้งที่เราต้องการเข้าตัวจังหวัด มันหมายถึงการเหมารถกระบะในหมู่บ้านออกไปครั้งละ 300 บาท การสิ้นเปลืองกับสิ่งที่ไม่ใช่ปัจจัยกลายเป็นเรื่องสมเหตุสมผลในทันที

ผมมองขวดแชมพูแล้วแอบคิดในใจ ว่าถ้าคนที่ต้องซื้อซองละห้าบาท เขาสามารถซื้อแชมพูขวดนี้ไปแล้วค่อยๆ จ่ายตามราคาพร้อมดอกเบี้ยได้

ชิวิตเขาคงดีขึ้นไม่น้อย

 

ศีลธรรมทำให้ฆ่า

แม้จะพูดและแสดงออกหลายๆ ครั้งเป็นกลุ่มเสรีนิยม แต่การใช้ชีวิตส่วนตัวผมนั้นเป็นแนวอนุรักษ์นิยมค่อนข้างมาก  (ในโลกความเป็นจริงก็ไม่มีใครยืนข้างไหนสุดตัวอยู่แล้ว) เช่น การไม่เห็นด้วยกับการอวัยวะ, ไม่เห็นด้วยกับการทำแท้ง ฯลฯ

แต่เรื่องหนึ่งที่ผมไม่เห็นด้วยเสมอมา คือการเอา “ศีลธรรม” ส่วนตัวไปทำเป็นกฏหมาย ศีลธรรมควรมีสภาพบังคับจากการสอน โน้มน้าว และได้รับการยอมรับจากจิตใจ ไม่ใช่การเอาศีลธรรมไปสวมให้คนอื่นๆ ด้วยการบังคับ

กฏหมายที่บังคับแบบรวมกลุ่มนั้น ควรเป็นกฏเพื่อให้ทุกคนในที่นั้น “โดยปรกติ” สามารถอยู่ร่วมกันได้ (ถ้ามีฆาตกรโรคจิตคงบอกไม่ได้ว่าปรกติ) ไม่ใช่การวางจากรากฐานแห่งศีลธรรม ที่เอาเข้าจริงแต่ละคนก็ไม่ได้เหมือนกัน แต่มีคนกลุ่มเล็กๆ บางกลุ่มพยายามเอาไปวางฐานให้คนอื่นทำตาม

ไม่ใช่แค่ว่าศีลธรรมมัน “มาก” เกินไปสำหรับการอยู่ร่วมกัน แต่ศีลธรรมไม่ใช่กฏสำหรับการอยู่ร่วมกันแต่แรก ศีลธรรมในหลายศาสนาเน้นการให้อภัย เพียงการยอมรับ โดยตัวศีลธรรมก็ถือว่าหายกันไป และต้องให้อภัย “ทั้งหมด” เพื่อที่จะเริ่มกันใหม่ เราคงไม่สามารถวางกระบวนการยุติธรรมจากระบบนี้ได้ หากทุกครั้งที่มีคนรับสารภาพในศาลแล้วก็ถือว่าหายกันไป เริ่มกันใหม่

แต่น่าแปลก คนอันเปี่ยมไปด้วยศีลธรรมในสังคมตอนนี้ ในภาวะหนึ่งช่างผุดผ่อง เป็นคนดี

แต่เมื่อพบคนที่ทำผิดไปจากเส้นศีลธรรมของตัวเอง คนเหล่านี้ก็พร้อมจะลืมเส้นศีลธรรมไปพร้อมกัน แล้วร้องตะโกนว่า “ฆ่ามัน”

พวกเขาไม่สนใจถึงศีลธรรมแห่งการเมตตาหรือให้อภัย พวกเขาลืมไปแม้แต่หลักของความยุติธรรม พวกเขานึกไม่ออกว่ายังมีคนอีกมากมายที่มีหลักศีลธรรมต่างจากเขา และทุกคนต้องอยู่ร่วมกัน

พวกเขาปกป้องศีลธรรมด้วยการฆ่า

 

ATM #2

จบเรื่องหนังไปแล้ว กลับมาเรื่องความคิดอีกที

  • หนังสะท้อนค่านิยมของไทยโดยรวมๆ สาวไทยต้องแต่งงานก่อน 30
  • ที่จริงแล้วสังคมยุคใหม่คงไม่ได้สนใจเรื่องแต่งงานก่อน 30 กันจริงๆ แล้ว แต่มันสะท้อนมาจากค่านิยม แต่งงานคือมีลูก น่าสนใจมากว่าค่านิยมแบบนี้กำลังกดดันให้สาวๆ ในเมืองกรุงเลือกที่จะ “ไม่แต่งแม่งเลย” (อ่านจาก economist)
  • เส้น 30 คือ barrier ของสังคมที่กำลัง crash กันระหว่างรุ่น รุ่นใหม่: การมีลูกเป็น optional, ทำงานทั้งสองคน, ดูแลกันและกัน ไม่ใช่ให้ใครเอาใจใคร กับ รุ่นก่อนหน้า: ต้องมีลูก (ซิ), คนนึงหาเลี้ยง อีกคนดูแลบ้าน, ชั้นทำให้ลูกชายชั้นมาอย่างดี เธอมาก็ต้องทำได้เท่ากัน
  • การ crash กันแบบนี้สะท้อนออกมาในหนังอีกหลายต่อหลายเรื่อง ไอ้ประเภท 30+ ทั้งหลายนั่นล่ะ
  • ไอ้ที่ว่า crash กันนี่บางทีก็อยู่ในคนๆ เดียว อย่าแปลกใจถ้าแฟนหนุ่มบางคนงงๆ ว่าจะวางตัวยังไงกับแฟนดี จะให้ทำงานด้วยกันดีมั๊ย หรือจะให้อยู่บ้าน หรือที่บ้านจะว่ายังไง ภาวะงงๆ นี่ก็ออกมาในหนังอีกเหมือนกัน (งงสองต่อเพราะผู้หญิงเงินเดือนดีกว่า ทำลายกำแพงด้านเศรษฐกิจของครอบครัวไปอีก)
  • เรื่องงาน จริงๆ หลายคนคงมีปัญหาการคบกันในที่ทำงานอยู่แล้วจริงๆ ค่านิยมคนเมืองจำนวนมากกลัวการคบกับเพื่อนร่วมงาน ตัวหนังก็แค่เอามาขยายให้เว่อๆ
  • เด็กฝึกงาน… อันนี้ถ้ากลับเพศเคยเจอ เคสแบบในหนังนี่ยังไม่เคยเจอ
 

มองที่เดิม

บางทีผมเองก็ชอบมองประวัติตัวเอง

อาจจะเป็นเมลเก่าๆ ภาพเก่าๆ blog เก่าๆ กระทั่ง chat log

มองแล้วก็ถามตัวเองว่าคิดอะไรถึงได้ทำอะไรอย่างนั้นไป

มองแล้วก็ถามตัวเองว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าเราทำอะไรที่ต่างออกไป

มันเป็นคำถามที่ไม่มีวันมีคำตอบ

บางทีเหตุผลของการกระทำบางอย่างก็แทบจะสุ่มมั่วจนหาเหตุผลไม่ได้

ผลของการกระทำนั้นยิ่งแล้วใหญ่ ที่เราไม่มีวันรู้ว่าผลจะเป็นอย่างไรถ้าการกระทำเราต่างออกไป

แต่เราก็ยังมองกลับไปช่วงเวลาเหล่านั้น

แล้วคำถามก็ยังอยู่กับเราต่อไป….