The Net

The Net หนังที่ได้ดูตั้งแต่สมัยเด็กๆ และจำได้ว่ามันเท่มาก พอกลับมาบน Netflix เลยนั่งดูดีๆ อีกรอบ ทำให้เห็นว่าเนื้อเรื่องหลักของมันคือซอฟต์แวร์รักษาความปลอดภัยที่ชื่อว่า Gatekeeper ตอนเด็กๆ ดูแล้วไม่เข้าใจอะไร แค่รู้สึกว่ามันพิมพ์ๆ เจาะๆ แล้วเท่

ตัว Gatekeeper เองถ้ามองสมัยนี้มันคงเป็น WAF (Web Application Firewall) ที่ช่วยดูแลไม่ให้เว็บโตนเจาะ แต่ตัวมันดันวาง backdoor ให้คนรู้รหัสพิเศษเข้าไปได้

ในโลกยุคกูเกิล (และ shodan) การวางลิงก์พิเศษไว้มุมจอดูไร้สาระ แต่ข้อจำกัดของหนัง จะให้บอกว่าต้องเข้าผ่าน curl -X POST https://host/gatekeeper_backdoor/ แบบนั้นคงยากเกินไป (ยกเว้นหนังที่ใช้ฉากแฮกประกอบสั้นๆ เช่น The Matrix)

จุดที่ไม่สมจริงมากๆ คืออยู่ๆ คนทั่วไปก็เชื่อในบริษัทซอฟต์แวร์รักษาความปลอดภัยบริษัทหนึ่งขึ้นมาพร้อมกันไปทั้งหมด ทนายตอนคุยกับนางเอกยังเชื่อว่าระบบโดนแฮกไม่ได้เพราะลงซอฟต์แวร์ตัวนี้ โลกความเป็นจริงคนทั่วไปแทบไม่สนใจหรอกว่าใช้ซอฟต์แวร์ตัวไหนยังไง มีแต่ CIO/CISO ที่นั่งคิดนั่งดูกันเอง

โลกความเป็นจริงการวางซอฟต์แวร์ Security ก็ไม่ได้สมบูรณ์ หลายครั้งไฟร์วอลล์เองก้มีช่องโหว่จนแฮกเกอร์ใช้เป็นจุดรันโค้ดโจมตีในองค์กรเรื่อยๆ

ชีวิตนี้ไป MOSCONE CENTER มาแล้ว กลับไปดูในหนังอีกทีแล้วรู้สึกเจ๋งมาก ที่เราสมัยเด็กๆ ได้แต่มองงานคอนเฟอร์เรนซ์ระดับโลกแค่ไหนหนัง แล้วถึงเวลามีโอกาสได้ไป

 

iPhone SE

อ่านเรื่อง Tim Cook ว่าเป็นคนจัดการ Supply Chain ของแอปเปิลจนสร้างกำไรกดหัวคู่แข่งแทบหายใจไม่ออก เพราะสามารถกดต้นทุนไปพร้อมกับการสร้างแบรนด์ที่ขายได้แพงกว่าชาวบ้าน ถึงเวลาอยากลดราคาแบบ iPhone SE ก็ลดได้ตามกลยุทธ์ตัวเอง

พอสั่งมาเล่นด้วยตัวเอง เห็นวันที่ผลิต 21 พค. แล้วก็เชื่อว่าของจริง ระบบ supply chain ของแอปเปิลมันล้ำหน้าบริษัทอื่นไปไกล ของออกจากโรงงานสิบวันถึงมือ consumer ได้

iPhone SE ยังเป็นเวทีแสดงความสามารถในการกดต้นทุนของ Tim Cook ได้จนคิดว่าน่าจะสูงสุดแล้ว ชิ้นส่วนใช้ซ้ำรุ่นเดิมๆ ที่ผลิตมาหลายล้านเครื่อง หรือไม่ก็ปรับแต่งเพียงเล็กน้อยซึ่งน่าจะกดค่าผลิตโรงงานได้จนแทบไม่เหลืออะไร (โรงงานแทบไม่ต้องปรับแต่งสายการผลิต แต่มีออเดอร์ก้อนใหญ่รอตรงหน้า) ชิ้นส่วนที่ต้องทำใหม่อย่าง logic board ก็ใช้ชิ้นส่วนอื่นๆ ร่วมกับรุ่นใหญ่

แน่นอนผมไม่ใช่ผู้ถือหุ้นของแอปเปิลที่ต้องดีใจว่าแอปเปิลขายได้กำไรดีไหม แต่มีเครื่องขายสเปคดี ราคาดี ซัพพอร์ตยาวก็ถือเป็นชัยชนะผู้บริโภค

อันนี้เป็นข้อเสียของแบรนด์อื่นๆ ที่ไม่แน่ใจว่ามีข้อจำกัดอะไร ถึงได้ไม่สามารถทำซ้ำสูตรสำเร็จของแอปเปิลได้ การใช้ชิ้นส่วนร่วมกันไปมาระหว่างรุ่น ทั้งใน gen เดียวกันแต่ข้ามรุ่นเล็กใหญ่ และโมเดลข้ามปีแต่ปรับให้ชิ้นส่วนรุ่นสูงกลายเป็นชิ้นส่วนสำหรับรุ่นล่าง ภายใต้จำนวนรุ่นที่น้อยกว่ายี่ห้อคู่แข่ง แต่จำนวนชิ้นส่วนที่แอปเปิลสต็อกจริงๆ น่าจะน้อยลงไปอีกหลายเท่าตัว

 

ไทยชนะ

คิดว่าควรเขียนถึงแอป Contact Tracing สักที หลังจากตอนนี้ค่อนข้างชัดแล้วว่า “ไทยชนะ” กำลังกลายเป็นบริการมาตรฐานสำหรับทุกที่ หลังจากที่ก่อนนี้มีโครงการแข่งกันทั้ง หมอชนะ, Thai.Care, และไทยชนะเอง (ที่จริงมีกลุ่มยิบย่อยอีกมาก แต่คงไม่พูดถึง)

หมอชนะเป็นตัวแรกที่เปิดตัวใหญ่โต แม้จะบอกว่าเป็น Contact Tracing บอกว่าให้คะแนนไม่เกินสีส้มหรืออะไรก็ตาม แต่ต้องพูดให้ชัดว่าแอปหมอชนะเป็น Social Scoring พยายามบอกว่าใครเสี่ยงหรือไม่เสี่ยงโดยเอาแนวคิดจากจีนเป็นหลัก โดยส่วนตัวแล้วยินดีที่หมอชนะไม่ถูกเลือกมาใช้งานจากการกวาดข้อมูลผู้ใช้ที่มากเกินไป ในแง่ของฟีเจอร์ Contact Tracing แล้วหมอชนะกวาดข้อมูลจำนวนมาก ทั้ง location, การเข้าใกล้กัน, รวมไปถึงรูปภาพ (ทีมงานบอกว่าไม่แน่ใจว่าแค่ไหนถึงพอ) ในแง่เทคนิคแล้วการทำ Contact Tracing ของหมอชนะเปิดให้มีการติดตามตัวผู้ใช้จาก third party ได้

ไทยชนะดูแล้วมีแนวทางออกแบบให้ “พอๆ” กับ logbook ตามหน้าร้าน แนวคิดคล้ายกัน และกระบวนการตรวจสอบก็ไม่ต่างกันมาก คือไม่ตรวจสอบอะไรเลยนอกจาก “ลงชื่อ” แล้ว ข้อดีคือลงเบอร์คนอื่นได้ ลดความยุ่งยากในหลายกรณี เช่น เบอร์กลางของบ้าน แม้จะไม่ได้ตั้งใจปิดบังตัวตน แต่การใช้หมายเลขโทรศัพท์อื่นได้ก็ลดความเสี่ยงไปมาก ผมเองก็ใช้เบอร์ที่ “ตามตัว” ได้ แต่ไม่ใช่เบอร์โทรหลัก

แอปพวกนี้มีความกังวลสองด้านใหญ่ ด้านนึงคือความไว้ใจตัวผู้ดำเนินการ อีกด้านคือความเลินเล่อจน data breach ออกมาทั้งหมด ความเสี่ยงสูงสุดคือข้อมูลทั้งหมดรั่วออกมา ซึ่งคนที่ยิ่งเก็บข้อมูลมาก ความเสี่ยงก็จะมากตามตัว การเก็บ location ทำให้ track ได้ทั้งหมดว่าใครเคยไปที่ไหนมาบ้าง แม้ว่าเราอาจจะบอกว่า logbook หน้าร้านเสี่ยงกว่าเพราะไม่มีมาตรการป้องกันอะไร แต่ฐานข้อมูลก็มีขนาดเล็กกว่ามาก

ไทยชนะนั้นเก็บข้อมูลการเช็คอินซึ่งก็คือพิกัดอย่างหยาบ ข้อดีมากคือไม่มีข้อมูลสถานที่ส่วนตัว (บ้าน, เส้นทางเดินทาง ฯลฯ) มีแต่จุด check-in เท่านั้น แต่ก็ต้องนับว่าเป็นข้อมูลพิกัดอยู่ดี หากรั่วไหลออกมาผู้ใช้ก็อาจจะถูกตามตัวได้ว่าไปร้านหรือห้างใดมาบ้าง ข้อมูลเช่นนี้ในชาติตะวันตกหลายชาติก็มองว่ามากเกินไปแล้ว

ในแง่ของข้อมูลที่เปิดออกมา ไทยชนะเปิดเผยข้อมูลปริมาณผู้ใช้ในแต่ละพื้นที่ ซึ่งหลายคนอาจจะกังวลในแง่ของ business intelligence โดยเฉพาะห้างและร้านอาหารหลายที่ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ การติดตามได้ว่าร้านใดยังได้รับความนิยมมีมูลค่าสูงพอที่จะมีคนพยายามเก็บข้อมูลแน่นอน แต่ทั้งนี้ข้อมูลในช่วงนี้ก็น่าจะต่างจากข้อมูลก่อนหน้าและหลังจากนี้ที่สถานการณ์ COVID คลี่คลายไปมาก

เทียบกับ Exposure Notification API แล้ว ข้อมูลที่อยู่บนเซิร์ฟเวอร์จริงๆ จะมีเพียง contact ของผู้ที่ยืนยันว่าติดเชื้อเท่านั้น การ breach จะแทบไม่มีผลอะไรมากนัก เพราะไม่มีข้อมูลพิกัด แม้แต่พิกัดอย่างหยาบ ข้อมูลที่อัพโหลดมีเพียง ID ที่ต้องการแจ้งเตือนเท่านั้น

จุดสำคัญอีกจุดคือการใช้งานได้จริง ศบค. ระบุว่าหากผู้ใช้ไทยชนะได้รับแจ้งเตือนจะได้ตรวจ COVID ฟรี แต่คำถามคือเกณฑ์การแจ้งเตือนจะเป็นอย่างไร เพราะพื้นที่ที่ลงทะเบียนไทยชนะนั้นมีตั้งแต่ร้านชาไข่มุกที่ไม่มีที่นั่ง ไปยันห้างสรรพสินค้าขนาดยักษ์ เช่น Central World นั้นมีความจุเต็มพื้นที่เกือบแสนคน หากมีคน checkin แล้วป่วยจริง เราจะกวาดคนทั้งห้างไปตรวจทั้งหมด? หรือหากไม่ไหวก็อาจจะควรพิจารณาลดการลงทะเบียนให้เหลือแค่พื้นที่เล็กพอ (ร้านไม่เกิน 1,000 คน?) ส่วนพื้นที่ใหญ่กว่านั้นใช้มาตรการจำกัดคนเข้าออก นับคนเร็วๆ ไม่ให้แน่นเกินไปก็น่าจะพอแล้ว

 

Empathy to All

วันจันทร์แรกหลังปิดห้าง ผมเองยังไปทำงานที่สำนักงานอยู่ แต่คนหายไปจำนวนมากแล้ว ผมเดินไปยังร้านก๋วยเตี๋ยวประจำที่กินมาแล้วสิบกว่าปี (จะว่าประจำคงไม่เต็มปาก เพราะบางเดือนก็ไม่ได้กินทั้งเดือน)

โซนฟู้ดคอร์ดนั้นโต๊ะหายไปทั้งหมด ร้านอาหารปิดไปกว่าครึ่ง แต่ร้านที่ผมจะกินยังคงเปิดอยู่ ผมเดินไปสั่งแบบกลับบ้านเพื่อนำไปกินในออฟฟิศ พร้อมทักทายกับแม่ค้าเล็กน้อยว่าเป็นอย่างไรบ้าง แม่ค้าอายุราวแม่ผมตอบกลับมาว่าก็ไม่ค่อยดีแต่จะดูตอนเที่ยงอีกที

เรื่องน่าแปลกใจคือผมเพิ่งนึกได้ว่าวันนั้นแทบจะเป็นวันแรกที่ผมได้คุยกับเธอ เพราะตลอดสิบกว่าปีนี้ แม้ช่วงคนน้อยๆ ก็ยังมีคนซื้อเรื่อยๆ ทำให้ผมรีบซื้อรีบกินรีบไปตลอดมา

ผมมองไปรอบๆ ประเมินว่าด้วยปริมาณคน ร้านค้าไม่สามารถเปิดได้ครึ่งเดียวเท่านี้หรอก ผมขึ้นลิฟต์สำนักงาน คนมาทำงานที่สำนักงานไม่ถึง 1 ใน 5 แล้ว

ผมตั้งใจว่าพยายามกินก๋วยเตี๋ยวร้านนั้นไปเรื่อยๆ ตลอดเวลาที่ผมยังไปทำงานอยู่ ความฝันเล็กๆ คือ อย่างน้อยร้านที่ผมกินมานานรอดสักร้านก็ยังดี

วันที่สี่ผมกลับไป ร้านนั้นก็ไม่เปิดอีกแล้ว

วิกฤติครั้งนี้บุคลากรสาธารณสุขคือด่านหน้าสุดแน่นอน เราควรให้กำลังใจกัน แต่อย่าลืมว่าทุกมาตรการ มันมีคนแบกรับอยู่ข้างหลัง พวกเขาแบกรับด้วยหลายสิ่งหลายอย่าง หลายคนหมดรายได้ หลายคนอาจจะถึงกับขาดทุน หลายคนกำลังแบกเงินเดือนลูกน้องที่อยู่กันมานาน

มาตรการที่ต้องบังคับก็ต้องมี แต่การบังคับและขอร้องควรเต็มไปด้วยความเห็นใจ เข้าใจกันว่าแต่ละคนก็มีความจำเป็นของตัวเอง วางมาตรการอะไรก็หาทางออกให้พวกเขาด้วย

อย่างน้อยก็ระบุความจำเป็นด้วยน้ำเสียงแห่งความเข้าใจถึงความลำบากของคนอื่น อย่าใช้น้ำเสียงโทษคนข้างหลังเลย