Micro PC

ปกติผมเรียกคอมพิวเตอร์ที่ลงลินุกซ์ (หรือวินโดวส์) ตัวเต็ม แต่มีบอร์ดขนาดเล็กมาก กินไฟต่ำกว่า 20 วัตต์ และราคาต่ำกว่า 200 ดอลลาร์ว่า “micro PC” ซึ่งแอบตลกนิดหน่อยเพราะ PC เคยมีชื่อว่า micro computer

ตัวที่นิยมที่สุดคงเป็น Raspberry Pi อันโด่งดัง ราคาเพียงพันกว่าบาทสามารถทำอะไรได้มากมาย กินไฟสูงสุดไม่ถึงสิบวัตต์ พอๆ กับหลอดตะเกียบสักหลอดเท่านั้น แต่จริงๆ แล้วยังมีอีกหลายตัวในตลาด ตัวที่มาก่อนคือ Beagleboard และ Beaglebone จากค่าย Texas Instrument

ที่จริงแนวคิดบอร์ดพัฒนาเป็นสิ่งที่บริษัทผลิตชิปต้องทำอยู่แล้ว แต่ด้วยความคิดบางอย่าง ทำให้การสั่งบอร์ดพัฒนาจากผู้ผลิตนั่นมักจะแพงบ้าเลือด เช่น ARM ชิปตัวละสองร้อย บอร์ดพัฒนาอาจจะมีราคาถึงสามหมื่นบาทได้สบายๆ แต่ TI ก็เลือกเส้นทางใหม่ด้วยการสร้าง Beagleboard แล้วขายราคาเพียง 250 ดอลลาร์ ราคาในไทยคงแค่แปดพันกว่าบาท แล้วออกลูกออกหลานมาอีกหลายรุ่น รุ่นที่ดังที่สุดคือ Beaglebone Black (BBB) ราคา 45 ดอลลาร์ ที่ออกมาตามหลัง Raspberry Pi ที่ชูธง 35 ดอลลาร์มาตั้งแต่แรก ทำยอดขายถล่มทลายนับล้าน

อีกค่ายสำคัญก็เป็นสาย Cubieboard จากจีนที่ใช้ชิป Allwinner A10 และ A20 ความแรงเหลือเฟือ

งานหนึ่งที่ใช้ได้เสมอๆ คือการเปิดคอมพิวเตอร์พวกนี้เป็น VPN server ไว้ที่บ้าน เอาไว้เวลาเปิด wi-fi ขำๆ ตามร้านกาแฟ แล้วไม่มีการเข้ารหัสก็ยัง VPN กลับบ้านได้ ซึ่งความเสี่ยงน่าจะน้อยกว่าเยอะ แต่พอเจองานเข้ารหัสเข้าจริงๆ RPi ก็เริ่มตันเพราไม่ได้ออกแบบให้รับงานหนักหนาอะไร ซีพียูจะเริ่มเต็มถ้าใช้ VPN ที่ระดับเมกะบิต ไม่ต้องพูดถึงการเข้ารหัสดิสก์ที่ต้องการความเร็วสูงๆ

BBB ดันเจ๋งกว่ามากเพราะมีชุดคำสั่งเข้ารหัสเฉพาะ และประสิทธิภาพดีมาก ทำได้ระดับเมกกะไบต์ต่อวินาทีสบายๆ

ผมเองคิดว่าจะทำ backup storage ที่บ้านอยู่นาน ก็คิดว่าจะซื้อ BBB มาเล่นเสริมกับ RPi ปรากฎว่าในไทยไม่มีขาย ค้นๆ ไปถึงเมืองนอก ปรากฎว่าขาดตลาดกันมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ผู้ใช้โวยวายว่าจะเลิกผลิตแล้วหรือไร ทาง BBB ก็ออกมาชี้แจงว่าผลิตไม่ได้หยุด แต่ส่งของไปแล้วร้านค้าไม่มีที่ไหนขึ้นว่ามีของในสต็อกเลยก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน ตอนนี้รวมๆ ส่งไปแล้ว 150,000 ชุดแล้ว และกำลังผลิตอยู่ที่เดือนละ 13,000 ชุด อาจจะเพิ่มได้ในอีก “หลายสัปดาห์” ตอนนี้ก็เป็นโอกาสของคนมีของในมือ ฝั่ง Aliexpress ขาย BBB กันอยู่ที่ 80 ดอลลาร์ ส่วนฝั่ง eBay นี่เกิน 100 ดอลลาร์กันแล้ว

ตัว Cubieboard ที่ใช้ Allwinner เองก็มีชุดคำสั่ง AES แต่ซัพพอร์ตแย่กว่ามาก

อีกตัวที่มีความหวังคือ minnowboard MAX ที่ใช้ Atom รุ่นใหม่ รองรับ AES-NI น่าจะทำได้ดีพอสมควร แถมซัพพอร์ตไม่ต้องห่วงเพราะ OpenSSL รองรับนานแล้วจากแพตซ์ฝั่งเซิร์ฟเวอร์ แต่น่ากลัวว่าเปิดขายมาจะหายไปจากตลาดอีกเหมือนกัน

 

ฝากซื้อของ

ไปต่างประเทศบ้าง สิ่งที่เจอเรื่อยๆ คือการฝากซื้อของ กำหนดกฎส่วนตัวชี้แจงให้คนฝากซื้อเสมอ

  • ไม่มีการตามหาของให้ เจอคือเจอ เดินเล่นว่างๆ แล้วผ่านร้านจะเข้าไปดู ดังนั้นอย่าฝากอะไรที่ต้องเดินทางเมืองนั้น ร้านนี้ ถนนโน้น
  • บอกราคาที่รับได้เสมอ จะบาทหรือจะประเทศปลายทาง “เกิน XXXX ไม่เอา” กำกับด้วยเสมอ ไม่บอกไม่ซื้อให้
  • ห้ามคาดหวังว่า “ได้ของแน่”
  • ไม่รับคำฝากประเภท “ไปถึงร้านแล้วส่งรูปให้ที”

ความจริงเรื่องหนึ่งคือเดินจ่ายเงินคนอื่นมันก็สนุกดีครับ แต่ถ้าต้องมาเสียงผิดใจกันก็บอกไปเลยว่าไม่รับจบเรื่อง

 

CRM

CRM เป็นซอฟต์แวร์ระดับองค์กรที่มูลค่าสูง หลายองค์กรที่เราด่าๆ ว่ากระบวนการแก้ปัญหาลูกค้ากากๆ ทุกวันนี้ส่วนใหญ่ลงซอฟต์แวร์ CRM มูลค่าหลายสิบหลายร้อยล้านมาแล้วทั้งนั้น

ราคาแพงที่ลงไปไม่ใช่ราคาที่ไม่สมเหตุสมผลซะทีเดียว (ไปดูสเป็คแล้วจะหนาว) แต่เอาเข้าจริงแล้วของพวกนี้ที่ลูกค้าต้องการจริงๆ ก็มีไม่กี่อย่าง

  • ติดตามเคส ลูกค้าโทรหรือติดตามเข้ามา ต้องไม่ถามซ้ำ เรื่องยังไม่คืบไม่เป็นไร แต่ call center ทักได้ “อ้าว คุณ XXXX ที่ทำเรื่องขอคืนเงินใช่มั๊ยคะ” แค่นี้ก็น้ำตาไหลแล้ว ถ้าจะเทพมากๆ ก็ให้ case id ลูกค้าไปเลย
  • ค้นหาลูกค้า ลูกค้าอาจจะติดต่อมาหลายทาง ส่งเอกสารทางอีเมล โทรมา complain ฯลฯ CRM จัดรวมให้อยู่ในคนๆ เดียวกันซะ อีกคนมารับงานจะได้เห็นว่าลูกค้าเดินเรื่องถึงตรงไหนแล้ว
  • ติดตามสัญญากับลูกค้า จะโทรกลับในกี่วัน จะแก้ปัญหาในกี่วัน ฯลฯ ทำได้ไม่ได้ ติดตามลูกค้าซะ โทรไปขอโทษขอโพยว่ากำลังทำอยู่อะไรว่าไป

ของพวกนี้เอาเข้าจริงใช้ bug tracker ดีๆ สักตัวก็พอ ที่เหลือจะมีหน้าจอวิเคราะห์สารพัดไว้ทีหลัง ถ้า call center ยังต้องถามเรื่องลูกค้าทุกรอบก็เรียกว่า fail แล้ว

 

 

วิกฤติโปรแกรมเมอร์

เห็นพูดกันบ่อยตามเว็บ

  • โปรแกรมเมอร์ไม่ได้หายไปจากสังคม ไม่ได้ลดลงหรือเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
  • ตรงกันข้าม ในยุคหนึ่งแล้วงานโปรแกรมเมอร์กลายเป็นงานระดับล่างสุด (เงินน้อย งานหนัก สายก้าวหน้าคิดไม่ออก) ด้วยซ้ำ จะมีดีบ้างคือรับงานนอกได้ง่าย
  • งานมากขึ้นเรื่อยๆ ปริมาณโปรแกรมเมอร์ที่ “ทำงานได้เลย” ก็ยังคงมีจำกัดอยู่ เพิ่มไม่ทัน ค่าแรงก็เพิ่มไปเรื่อยๆ คนที่มีอยู่เริ่มได้ offer ที่ดี หรืองานมีเยอะบางทีเบื่อๆ อยากจะเปลี่ยนงานซะก็ทำได้
  • ทั้งหมดนี้ “ไม่ใช่” วิกฤติ โปรแกรมเมอร์ไม่ได้หายไปนับหมื่นคนในวันเดียวแบบนั้น
  • ปัญหามีสองอย่าง คือ ค่าแรงที่นายจ้างคาดหวัง กับคุณภาพที่นายจ้างคาด
  • โอกาสที่จะเจอเด็กคุณภาพดีๆ ในค่าแรงที่นายจ้างจำนวนมากคาด น้อยลงเรื่อยๆ มีบ้างหากมีเหตุผลพิเศษบางอย่าง เป็นกรณีไป ไม่ว่าจะเป็นบ้านใกล้ คุยกันถูกคอ สวัสดิการดี ให้หุ้นบริษัท ฯลฯ แต่โอกาสรวมๆ ก็ดูจะน้อยลงเรื่อยๆ
  • ทางแก้ตรงไปตรงมา คือ ค่าแรงตลาดมันเพิ่ม ก็เพิ่มค่าตอบแทนให้เท่าตลาดเพื่อให้แข่งขันได้
  • แนวทางแบบอยู่ยาว ต้องทำงานกันตลอดชีวิต มีน้อยลงเรื่อยๆ คงคาดหวังกันได้น้อยลงแล้วในยุคนี้ ในแง่หนึ่งไทยเราก็ไม่เคยมีวัฒนธรรมรับประกันงานตลอดชีวิตเหมือนกัน ก็แฟร์ๆ กันทั้งสองฝ่าย
  • จับเด็กมาเทรน ถ้าเด็กเทรนแล้วขึ้น ก็ให้ตามสัดส่วนที่แข่งขันได้ ไม่งั้นเด็กก็ไม่อยู่กับเราอยู่ดี
  • ถ้าเป็นบริษัทไอทีก็คงตรงไปตรงมา ต้องรับงานในราคาต้นทุนตามตลาด
  • สำหรับบริษัท non-IT แล้วเจอปัญหา ทางแก้คือลดความต้องการใช้โปรแกรมเมอร์ซะ
  • อันนี้เป็นปัญหาของบ้านเราคือแต่ละบริษัทมักมี process เฉพาะตัวมาก จะซอฟต์แวร์เทพแค่ไหนก็ต้อง customize กันแทบทุกฟีเจอร์ ทุก process ที่สะสมมานับสิบปี ไม่สามารถปรับ ยกเลิก หรือยุบรวมได้
  • ก็ต้องเรียนรู้ที่จะตระหนักกันเสียทีว่าการเข้าไปแก้อะไร ต้นทุนที่เกิด ไม่ใช่ตอนใช้โปรแกรมเมอร์ให้แก้อย่างที่เราต้องการ แต่ต้นทุนคือโปรแกรมเมอร์ที่จะมานั่งดูแลส่วนที่เราแก้ไปตลอดอายุการใช้งาน
  • ถ้าบริษัททำเงินสูง จ้าง “ทีม” โปรแกรมเมอร์มาดูแลได้ก็คงไม่มีปัญหา (ไม่ควรให้คนเดียวดูระบบเดี่ยวอยู่แล้ว เพราะเหตุผลลาออกอาจจะมีได้ล้านแปด ตั้งแต่เงินไม่พอ ไปจนถึงอกหักอยากหนีรัก)
  • แต่ถ้าไม่มีงบขนาดนั้นก็ต้องอยู่กับซอฟต์แวร์สำเร็จรูปให้มาก แก้ไขซอฟต์แวร์ให้น้อย อยู่กับเส้นทางที่มีการซัพพอร์ตชัดเจน ต้นทุนต่ำ ยอมเปลี่ยนกระบวนการทำงานหากจำเป็น