ศาสนาขัดกัน

เรื่องเลวร้ายเรื่องหนึ่งที่เห็นในช่วงนี้คือการเอาการฆาตกรรมมาเป็นเหตุผลว่าเราต้องเคารพศาสนาไม่หมิ่นต่อกัน ผมมองแล้วกระอักกระอ่วนว่านี่คือการบอกว่าถ้าอนาคตอยากให้คนหยุดพูดเรื่องอะไรก็ต้องฆ่าคน ยิ่งฆ่าเยอะ ยิ่งรุนแรงสะเทือนขวัญ ยิ่งได้ผลว่าสิ่งที่เราเรียกร้องจะสำเร็จ

คนระยำอยากฆ่าคนอยู่ศาสนาไหน ความเชื่อไหนก็อยากฆ่าคน คำสอนจะบอกแบบไหน จะสอนให้อภ้ยอะไรคนพวกนี้ไม่ฟัง พร้อมต่อยตี

การเรียกร้องให้เคารพศาสนาอย่าไปหมิ่นศาสนาเป็นเรื่องบ้าบอ ถ้าต้องเคารพไม่หมิ่นศาสนาไปเสียหมดอนาคตเราจะเผยแพร่ความเชื่อความคิดอะไรกันไม่ได้

จุดเริ่มต้นของศาสนาคริสต์เองก็มาจากการ “หมิ่น” ศาสนายิวด้วยการบอกว่าพระเยซูเป็นพระเจ้า ไบเบิลบันทึกเรื่องราวของชาวคริสต์ที่ถูกบอกว่าหมิ่นศาสนา ถูกตามกวาดล้าง ถูกตามฆ่า

ช่วงนี้เองในสหรัฐฯ แม้แต่การสอนทฤษฎีวิวัฒนาการ ก็เป็นการหมิ่นศาสนาคริสต์สำหรับคนบางกลุ่ม

คนมันหันหน้าไปทางอื่นไม่เป็น เห็นอะไรไม่เข้ากับความเชื่อในแบบที่ตัวเองตีความแล้ว “ทนไม่ไหว” มันไม่ใช่ปัญหาของสังคมภายนอก มันเป็นปัญหาของคนพวกนี้เองที่ไม่ได้รับการฝึกฝนให้อดทนและจัดการความเห็นที่เข้าหูตัวเองได้อย่างเหมาะสม

คนพวกนี้มีเสรีภาพในการพูด คนไม่พอใจทฤษฎีวิวัฒนาการมีสิทธิด่าได้เท่าที่ต้องการ แต่ก็เท่านั้น ถ้าฆ่าคนก็ต้องเข้าคุก ไม่ใช่มานั่งต้องพิจารณาสิ่งที่คนระยำเรียกร้อง

 

ระบบลงทะเบียนจุฬาฯ

วันนี้เพิ่งเห็นข่าวในมติชน เห็นแล้วได้แต่ถอนหายใจแล้วคิดว่า “ห่วย”

ปัญหาไม่ใช่ว่ามัวแต่ไปซื้อเซิร์ฟเวอร์ ทำไมไม่ใช้คลาวด์ ฯลฯ ปัญหาคือโหลดการลงทะเบียนแบบนี้เป็น “โหลดที่คาดเดาได้” มันไม่ใช่การขายตั๋วคอนเสิร์ตที่เราไม่มีทางรู้ว่าสุดท้ายคนจะแย่งบัตรกันแค่ไหน เรารู้อยู่แก่ใจว่านิสิตมีกี่คน และประเมิณได้ว่าทุกคนน่าจะลงทะเบียนหมด

การทำให้โหลดที่คาดเดาได้แบบนี้แต่ทุกคนอยากลงทะเบียนในวินาทีแรกอาจจะเป็นไปได้ยากหากไม่ใช้คลาวด์ใหญ่ๆ ที่ขยายระบบได้มหาศาล แต่การจัดการอื่นๆ เช่นทำหน้ารอคิวที่กินโหลดต่ำๆ ก็ทำได้ไม่ยาก และนิสิตไม่ถึงแสนคนน่าจะจัดการได้หมดบนเซิร์ฟเวอร์ตัวเดียว

ข้อจำกัดของระบบการจัดซื้อที่ไม่ยืดหยุ่นทำให้พอเข้าใจได้ว่าทำไมไม่ใช้คลาวด์

แต่โหลดที่ชัดเจนว่าเป็นเท่าใดควรมีกระบวนการที่ดีกว่านี้ ระบบอาจจะจัดการไม่ได้ทั้งหมดทันทีอย่างที่หวัง แต่การจัดการได้คือในเครื่องที่ซื้อมาแล้ว ควรมีระบบรอคิว กระจายคน ปรับจูนระบบ ฯลฯ ให้ระบบ “ไม่ล่ม” ตลอดระยะเวลาให้บริการ

 

Amazon Prime

1459344_10153039924707952_3537906946775579286_n

ไม่เกี่ยวกับภาพ แค่เป็น Forbes Asia เล่มเดียวกับที่มีบทความน่าสนใจเรื่องของอเมซอน

ประเด็นว่าอเมซอนยอมขาดทุนเพื่อสร้างฐานไว้ทำกำไรตอนหลังเป็นเรื่องที่รู้กันดี (แนวคิดของ Bezos ในหนังสือ The Everything Store คือบอกว่าถ้าตั้งราคากำไรตั้งแต่แรก คนอื่นก็ทำได้เหมือนกัน) แนวคิดหนึ่งที่ไม่ค่อยเข้าใจคือ Amazon Prime ที่จ่ายเงินก่อนรายปี แล้วจะได้บริการส่งแบบด่วนฟรี ว่าทำแล้วจะกำไรได้ยังไง แม้จะชิงฐานลูกค้าที่ซื้อเยอะเอาไว้ แต่แปลว่าทุกครั้งที่ลูกค้ากลุ่มนี้ยิ่งซื้อ ยิ่งสร้างรายจ่ายไปเรื่อยๆ

ปรากฎว่า Amazon Prime มีส่วนกลับของมันอยู่คือ Fulfillment by Amazon ที่อเมซอนรับเก็บสินค้า และส่งสินค้าให้ โดยคิดค่าบริการจากผู้ค้า อเมซอนเอาลูกค้า Prime เองไปจูงใจให้ร้านต้องมาจ่ายค่าเก็บสินค้าและจัดส่งให้เองเพราะไม่อย่างนั้นลูกค้าที่เข้าผ่านอเมซอนจะไม่ยอมกด (เพราะไม่ได้ส่งฟรี)

แนวทางแบบนี้บริษัทเล็กๆ ทั้งรักและเกลียด ในแง่หนึ่งบริษัทเล็กๆ ที่ทำสินค้าโดนใจขึ้นมาสามารถเข้าถึงลูกค้ากำลังซื้อสูงได้อย่างรวดเร็ว แต่อีกทางหนึ่งบริษัทกลุ่มนี้ก็ต้องเสียค่าบริการให้กับอเมซอนไปเรื่อยๆ

แนวทางแบบนี้ตัวอเมซอนเองจะ “บาง” ลงจากเดิมที่เป็นร้านค้าออนไลน์ กลายเป็นหน้าร้านรับจ่ายเงินและบริษัทขนส่งแทน ตัวอเมซอนไม่ต้องรับผิดชอบสินค้าค้างสต็อก สินค้าค้างสต็อกคือรายได้ของ Amazon บริษัทที่นำของมาขายต้องจ่าย บริษัทผู้ผลิตเองต้องรับผิดชอบประมาณสินค้าเองว่าจะสต็อกสินค้ามากน้อยแค่ไหน และหากอเมซอนใหญ่พอที่จะกดค่าใช้จ่ายให้กำไรจากเงินที่เก็บจากผู้ขายได้งานนี้ธุรกิจของอเมซอนก็จะกลายเป็นบริษัทลอจิสติกแบบครบวงจร

โครงสร้างแบบนี้คู่แข่งจากจีนอย่าง Alibaba ยังไม่มี

 

Audiobooks

ปีนี้เป็นปีแรกที่ฟัง Audiobook จริงจัง พบความมหัศจรรย์ว่ามันเปลี่ยนเวลาที่เคยเสียไปเฉยๆ กลับมาเป็นเวลาอ่านหนังสือได้อย่างดีเยี่ยม เลยมารวมว่าปีนี้ฟังอะไรไปแล้วบ้าง

ทั้งหมดซื้อมาจาก Hunble Bundle หรือ Audible ตอนลดราคา

  • True Grit: เล่มแรกๆ ประทับใจจากตอนดูหนัง ฟังหนังสือก็ดีไม่ต่างกัน
  • Red Rising: นิยายเครียดอีกเรื่อง เห็นว่ากำลังทำหนัง
  • Stolen: นิยายเด็ก ฟังไม่ยากนัก แต่
  • Naked Statistics: อยากเขียนบทความเรื่องความน่าจะเป็น เลยอ่านเล่มนี้
  • Age of Ambition: จีนในยุคปัจจุบันเปลี่ยนจากจีนที่เรารู้จัก 20-30 ปีก่อนแบบไหน
  • The Hunt for Red October: นิยายคลาสสิคของ Tom Clancy เหมือนเคยอ่านบางส่วนแล้วแต่จำไม่ได้ กล้บมาอ่านอีกทีก็ยังสนุก
  • Unbroken: ฟังจบก่อนหนังเข้า (มันลดราคาช่วงโปรโมทหนัง) พบว่าสนุกดี หนังคงต้องไปดู
  • American Icon: เป็นหนึ่งในเล่มแรกๆ ที่อ่านจาก Audible และนำมาเขียน Meconomics
  • Life of Pi: มีหนังสือแล้วอ่านไม่จบ มาจบตอนฟัง Audiobook
  • The Origins of Political Order: กระบวนการสร้างชาติและรัฐ หลักการที่เรามีอยู่ อย่าง Rules of Law บางทีก็ไม่ใช่สิ่งที่ดูดีสำหรับคนทั่วไป เช่น ระบบวรรณะของอินเดียก็เป็น Rules of Law ของอินเดีย ที่กฎอยู่ได้ด้วยตนเองโดยผู้ครองอำนาจเปลี่ยนตามใจไม่ได้
  • Unfinished Empire: ประวัติศาสตร์อังกฤษยุคอาณานิคมไปจนถึงการล่มสลาย
  • The Elephant Whisperer: บันทึกของคนดูแลอุทยานอนุรักษ์สัตว์ในแอฟริกา กับช้างป่า
  • The Reason I Jump: อธิบายออทิสติกจากคนเป็นออทิสติก
  • Why Nations Fail: ประวัติศาสตร์ของความล่มสลายทางการเมือง อธิบายด้วยความมีส่วนร่วมทางการเมือง (ไม่ใช่แค่ประชาธิปไตย เพราะย้อนไปก่อนหน้านั้น)
  • The Double Helix: บันทึกการค้นพบโครงสร้าง DNA เขียนโดย James Watson ที่เพิ่งประกาศขายเหรียญรางวัลโนเบล
  • How to Fail at Almost Everything and Still Win Big: หนังสือโดยคนเขียนการ์ตูน Dilbert อ่านจบแล้วพบว่ามันรวยมาก (ใช้ชื่อเสียงจากการเขียนการ์ตูนไปพูดตามงานอบรม)
  • The 100-Year-Old Man Who Climbed Out the Window and Disappeared: นิยายเสียดสีสังคม อ่านเป็นเล่มแรกๆ พบว่ายังฟังไม่เก่งพอ รู้เรื่องแต่พลาดมุขไปหลายมุข
  • Paper Towns: นิยายวัยรุ่นของนักเขียนดังอย่าง John Green ก็สนุกดี
  • Act of Valor: นิยายจากหนัง อ่านเอามัน
  • The Perks of Being a Wallflower: นิยายวัยรุ่นอีกเล่ม สนุกพอๆ กับหนัง รายละเอียดดีกว่า
  • Worst Ideas Ever: ซื้อเพราะลดราคา อ่านเล่นไม่สนุกนักแต่พอไหว อ่านเกร็ดความรู้แบบนี้ไปอ่านพวก Mental Floss ดีกว่าเยอะ
  • Brain on Fire: ประวัติของคนเป็นโรคแพ้ภูมิตัวเองแบบมีผลกับสมองทำให้ผิดปกติไปช่วงใหญ่