ประชาธิปไตยแห่งข้อมูล

เห็นหมอจิมมี่กับพี่เฮ้าพูดเรื่องเว็บ Skiplagged ถูกฟ้องเพราะไปหาทางบินราคาถูกด้วยการลงกลางทางในเที่ยวบินต่อบางเที่ยว

ในแง่ผลกระทบว่าสุดท้ายแล้วสายการบินจะขึ้นราคาหรือไม่คงเป็นเรื่องหนึ่ง แต่ในแง่หนึ่งผมมองว่านี่เป็นประชาธิปไตยแห่งข้อมูล

เวลาที่เราพูดถึง Big Data เรามักพูดกันแต่ว่าธุรกิจจะสร้างแนวทางให้บริการใหม่ๆ ได้อย่างไร เราจะเอาเงินจากลูกค้าคนหนึ่งๆ ที่เข้าเว็บหรือเข้าร้านอขงเรามาแล้วได้อย่างไร

ราคาตั๋วที่แปลกประหลาดของสายการบินเองก็มีแนวทางมาจากแนวคิดเหล่านี้ สายการบินดูฐานข้อมูลของตัวเองแล้วนั่งคิดว่าจะทำอย่างไรจึงทำให้สายการบินได้เงินมากที่สุดจากเที่ยวบินที่ขายตั๋วไปแล้ว สายการบินคำนวณจากข้อมูลมหาศาล ใส่เงื่อนไขทางธุรกิจของสายการบินลงไป แล้วได้ราคาที่ออกจะแปลกประหลาดออกมา

ผมคงไม่แปลกใจเท่าไหร่ ถ้าสายการบินใส่เงื่อนไขลงไปเองว่าห้ามตั๋วในเส้นทางยอดนิยมต่ำกว่าค่าๆ หนึ่ง แม้ว่าระบบจะแนะนำให้ตั้งราคาต่ำกว่านั้นเพื่อให้ได้รายได้สูงสุดก็ตามที เพราะเงื่อนไขทางธุรกิจที่ฝ่ายการตลาดเชื่อว่าหากตั้งราคาต่ำกว่าค่าหนึ่งแล้วจะ “เสียราคา”

แนวทางแบบนี้ใช้มาได้นานหลายเพราะคนถือข้อมูลคือสายการบินเพียงอย่างเดียว เว็บค้นหาราคาเองก็ค้นหาเฉพาะปลายทางถึงปลายทางเท่านั้น

สิ่งที่เกิดขึ้นกับ Skiplagged คือความจริงว่าสายการบินไม่ได้ถือข้อมูลคนเดียวอีกต่อไป ลูกค้าเองก็อาจจะเข้าถึงข้อมูลของสายการบินได้แบบเดียวกับที่สายการบินถือข้อมูลการซื้อตั๋วของลูกค้า

เรื่องแบบนี้เคยเกิดขึ้นกับร้านค้าทั่วไปที่ถูกเช็คราคาออนไลน์ตลอดเวลา และร้านค้าก็โวยวายว่าไม่แฟร์เช่นกัน ในอนาคตคงไม่แปลกถ้าจะมีข้อมูลมหาศาลถูกใช้กลับข้างสำหรับผู้บริโภคมากขึ้นเรื่อยๆ และมีคนทำกำไรจากการยื่นข้อมูลให้ผู้บริโภคแบบนี้ ร้านค้าออนไลน์เองนอกจากถูกเทียบราคาแล้ว อาจจะถูกเก็บประวัติราคาอย่างชาญฉลาด ข้อมูลสินค้าจำนวนมหาศาลในเว็บอีคอมเมิร์ชขนาดใหญ่อาจจะถูกเก็บข้อมูลเพื่อคำนวณดัชนี เว็บขายเกมอย่าง Steam อาจจะมีบริการพยากรณ์ว่าเกมจะถูกลงเมื่อไหร่ แทนที่จะต้องมานั่งเดาหลังจ่าพิชิตซื้อแบบทุกวันนี้

คดี Skiplagged อาจจะชนะหรืออาจจะแพ้ แต่ข้อมูลจะมีคนรวบรวมและเข้าถึงมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นเรื่องที่คงต้านไว้ได้แค่ช่วงเวลาหนึ่ง หรืออาจจะต้านไม่ได้เลย

 

น้ำเงินแท้

TL;DR น้ำเงินแท้คือ Unbroken ทั้งเล่มใส่เนื้อหากบฎบวรเดช จบ;

ผมอ่านหนังสือของวินทร์เล่มแรก เป็นรวมเรื่องสั้นในยุคสมุดปกดำกับใบไม้สีแดง สมัยที่พิมพ์กับสำนักพิมพ์ดอกหญ้าและก็อ่านเรื่อยมาจนกระทั่งมาเจอประชาธิปไตยบนเส้นขนานหลายปีต่อมา มันเปิดโลกให้กับผมว่าการอ่านหนังสือประวัติศาสตร์ไม่จำเป็นต้องเป็นข้อมูลดิบแห้งๆ ชวนให้คนเบือนหน้าหนีแต่ต้องอ่านเพราะจะสอบแบบในหนังสือเรียน แต่มันร้อยเรียงแสดงความเกี่ยวเนื่องกันไป และพาเราย้อนกลับไปสู่ที่มาของเราได้อย่างเป็นระบบ

หลังจากนั้นผมก็อ่านหนังสือของวินทร์เรื่อยมาทุกเล่ม ทุกฟี จนกระทั่งเมื่อสองสามปีก่อนพบว่าหนังสืองานหนังสือหลังๆ (ที่ยังซื้อทุกเล่มอยู่) ไม่ได้อ่านอีกต่อไปเลยเลิกซื้อไปโดยปริยาย

น้ำเงินแท้เป็นนิยายประวัติศาสตร์เล่มที่สามที่ผมได้ยินข่าวก็ตั้งใจว่าต้องอ่านในทันที ไม่ว่าเสียงวิจารณ์จะเป็นอย่างไร ยังไงซะก็ต้องอ่านให้ครบชุดหลังจากอ่านปีกแดงเล่มที่สองมานานแล้ว

น้ำเงินแท้ยังคงผลิตซ้ำแนวคิดแบบที่เราเห็นได้บ่อยในทุกวันนี้ คือ การเปลี่ยนแปลงการปกครองเกิดขึ้นเร็วเกินไป แต่ในแง่หนึ่งมันก็ยอมรับเต็มที่ว่าการเปลี่ยนแปลง 2475 ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงที่เสร็จในตัว แต่เป็นการต่อสู้อย่างต่อเนื่อง มีความพยายามเปลี่ยนแปลงไปมาอีกหลายครั้ง และความพยายามแต่ละครั้งก็สามารถหาจุดย้อนกลับ การตกลงระหว่างกลุ่มได้ในบางระดับ และบางครั้งบางฝ่ายก็ถูกกวาดล้างกันไป

มุมมองทางการเมืองในน้ำเงินแท้สำหรับผมจึงยังน่าสนใจ และควรไปหาหนังสือที่แนะนำท้ายเล่มมาอ่านต่อ เช่นเดียวกับหนังสือเล่มอื่นๆ ในชุด

แต่เรื่องน่าเศร้าคือผมเพิ่งอ่าน Unbroken จบก่อนหนังเข้าฉาย และพบว่าการเดินเรื่องของหนังสือกลับคล้ายกันเป็นอย่างมาก มันทำให้ความใหม่ของหนังสือหายไป เนื้อหาเองแม้จะสร้างภาพความเลวร้ายของการกุมขังสมัยนั้นแต่ก็เมื่อมองมาถึงสมัยนี้ความเศร้าดูจะไม่ใช่เรื่องของคนในยุคนั้นที่ถูกกุมขังในรูปแบบที่เลวร้าย เท่ากับว่าในยุคนี้เมื่อผ่านไปเจ็ดสิบปีกลับไม่มีอะไรดีขึ้นมา

สิ่งที่เปลี่ยนไปคือเราเรียกคนใช้กำลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแต่ไม่สำเร็จว่านักโทษการเมือง แต่ยุคนี้เรายืนยันว่าเราไม่มีนักโทษการเมืองอีกแล้ว

 

Eistein’s Cosmos

51Zvcr3oOCL

หนังสือเล่มล่าสุดที่เพิ่งอ่าน (ฟัง) จบไปเมื่อตอนเย็น  เล่าเรื่องราวการตามล่าความจริงทางฟิสิกส์และการเมืองของไอน์สไตน์ตลอดชีวิต

ผมเองจริงๆ ก็เคยอ่านหนังสือประวัตินักวิทยาศาสตร์มาหลายเล่ม แต่เล่มนี้อ่านแล้วก็เข้าใจได้ว่าทำไม Michio Kaku ถึงได้เขียนหนังสือขายดีอีกหลายเล่มในช่วงไม่กี่ปี หนังสือลงลึกวิชาการมากกว่าหนังสือทั่วๆ ไปที่เลี่ยงไปมา เสียเวลาพยายามบรรยายกับสัมพันธภาพ ว่าจะเป็นอย่างไรหากเวลาคงที่ แต่ก็ไม่ได้ลึกแบบหนังสือเรียน ทำให้นักเรียนสายวิทยาศาสตร์ยังอินกับเนื้อเรื่องได้ โดยที่ยังคงความบันเทิงเอาไว้ในระดับที่ดี ฟังเล่นๆ ตอนขับรถไปเรื่อยๆ ได้ไม่เต็มไปด้วยสมการ

ที่น่าสนใจอีกอย่างคือเล่มนี้ให้พื้นที่กับชีวิตหลังความตายของไอน์สไตน์ค่อนข้างมาก เขาโต้แย้งว่าช่วงปีหลังๆ นักประวัติศาสตร์มักมองว่าไอน์สไตน์จมปลักกับความเชื่อบางอย่างและเสียเวลาไปกับเรื่องไม่เป็นเรื่องจนไม่มีผลงานอะไรออกมา แต่ที่จริงแล้วงานของไอน์สไตน์แม้แต่ในช่วงหลังก็ยังคงมีอิทธิพลอยู่จนถึงยุคนี้ และแสดงความเชื่อว่าหากไอน์สไตน์มาเห็นความสำเร็จของนักฟิสิกส์ยุคหลังก็น่าจะพอใจกับงานของตัวเอง

ตัวหนังสือดู Audiobook ก็ค่อนข้างดีมาก อ่านชัดสำเนียงฟังง่าย ไว้หาเล่มอื่นอีกน่าจะดี

 

It isn’t just 3D printing, it’s mass customization.

เทคโนโลยีเครื่องพิมพ์สามมิติออกมาในช่วงหลัง เรื่องนึงที่คนทั่วไปสงสัยกันคือ “มันจะเอามาทำอะไรวะ?” เพราะโลกเราจริงๆ ไม่ได้ต้องการถ้วยทรงประหลาด ป้ายชื่อ ฯลฯ บ่อยกันขนาดนั้น

แต่ผมมองว่ามันไม่ใช่แค่เรื่องของ 3D Printing เทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติที่จริงแล้วเป็นเทคโนโลยี “การผลิตอย่างอัตโนมัติ” ที่เข้าถึงได้ง่าย ราคาถูก โอเพนซอร์ส ปรับแต่งได้ง่าย

จากเครื่องพิมพ์สามมิติ ที่ใช้งานกันจริงๆ คงมีเฉพาะวงการออกแบบ กับอุตสาหรรม ที่ต้องการชิ้นงานตัวอย่างหรือชิ้นอะไหล่ที่เฉพาะทาง กระบวนการสั่งชิ้นงานเฉพาะทางมีราคาแพง เครื่องกัด CNC ในสมัยก่อนเป็นเครื่องจักรเฉพาะทาง เครื่องใช้เรียนเองก็มีราคาหลายแสนบาท ระบบควบคุมมีบริษัททำได้ไม่กี่บริษัท

เทคโนโลยีสามมิติทุกวันนี้คือคความพร้อมถึงขีดสุดของเทคโนโลยีพื้นฐาน เราสามารถใช้ชิป AVR ราคาถูกๆ สร้างเครื่องจักรด้วยซอฟต์แวร์ที่โอเพนซอร์สทั้งหมด เชื่อมต่อกับระบบควบคุมได้ โดยทั้งหมดมีบล็อกพื้นฐานมาพร้อม

Mass Customization เป็นหัวข้อเรียนใน IT Management ที่มีมายาวนาน ในยุค dot com ยุคแรกเคสคลาสสิคคือ Levis ทำเว็บรับสั่งตัดกางเกงแบบเข้ารูปกับลูกค้าทุกคนที่เรียกว่า Original Spin แต่สุดท้ายก็ปิดบริการไป

ในยุคก่อนการทำสินค้าให้ตรงตามความต้องการทุกคนเป๊ะๆ แบบนี้โดยที่จะมีต้นทุนที่สูงมาก เราต้องใช้เครื่องจักรราคาแพง ซอฟต์แวร์พัฒนาเฉพาะทาง และความชำนาญเฉพาะ

เทคโนโลยีเครื่องพิมพ์สามมิติเป็นจุดเริ่มต้นว่าเทคโนโลยีการผลิตที่เคยอยู่กับบริษัทใหญ่ๆ เหล่านี้กำลังกลายเป็นของที่หาได้ทั่วไป การดัดแปลงเทคโนโลยีเพื่อให้เข้ากับูการผลิตอย่างอื่นๆ จะค่อยๆ มีการต่อยอดไปเรื่อยๆ ในอนาคต

เทคโนโลยีอันใกล้ ในอนาคตฟิล์มกันรอยอาจจะส่งมาจากโรงงานเป็นขนาดไม่กี่ขนาด ร้านค้าสต็อกฟิล์มเพียง 4 นิ้ว, 7  นิ้ว, และ 10 นิ้ว เมื่อลูกค้านำโทรศัพท์เข้าไปติดฟิล์ม เพียงบอกรุ่น เครื่องตัดก็จะตัดและเจาะรูให้ตรงกับความต้องการได้พอดี ตัวร้านเองแทยที่จะต้องรับความเสี่ยงสต็อกฟิล์มสำหรับรุ่นที่ขายยาก ก็ไปสต็อกเนื้อฟิล์มแปลกๆ เพิ่มเติม

เคสโทรศัพท์อาจจะขึ้นรูปจากเครื่องพิมพ์สามมิติในแบบเดียวกัน

ไปเรื่อยๆ ถึงจุดหนึ่งเราอาจจะสามารถสั่งกาแฟได้อย่างละเอียดอย่างมาก เราอาจจะกำหนดความดัน ความร้อนของน้ำร้อน ส่วนผสมเม็ดกาแฟ ระยะเวลาคั่ว ความละเอียดของการบด เราสั่งกาแฟหนึ่งแก้วผ่านแอพโดยเลือกตัวเลือกทั้งหมด เดินห้างรอกาแฟสิบนาที เครื่องอัตโนมัติจะผสมเม็ดกาแฟ คั่วตามเวลาที่เรากำหนดแล้วบดทันที ต้มน้ำร้อนแล้วชงกาแฟ พร้อมวาดลาเต้อาร์ตจากรูปโปรไฟล์เฟซบุ๊กเราให้เอง

เรื่องแบบนี้ทุกวันนี้เราอาจจะทำได้อยู่แล้วโดยอาศัยคน แต่เมื่อเทคโนโลยีการผลิตแบบอัตโนมัติพร้อม มีราคาถูก และคนทั่วไปเข้าถึงได้ เทคโนโลยีเหล่านี้อาจจะกลายเป็นสิ่งที่เราเห็นตามร้านกาแฟหัวมุมถนนในสักวันหนึ่ง