Bard ไม่แพ้

ลอง Bard มาหนึ่งวันเต็ม

  • ภาษาอังกฤษเท่านั้น อันนี้จำกัดผู้ใช้มาก ถือเป็นความด้อยกว่า ChatGPT ชัดเจน
  • ข้อมูลใหม่มาก ไม่ต้องรอปีสองปีแบบ ChatGPT ชนะใส ถามวันเลือกตั้งไทยนี่ตอบถูกแล้ว
  • UI ยังแพ้ชัดเจน แยก chat ไม่ได้ ซึ่งสำคัญมาก เพราะมันคุย context ย้อนไปมา พวกเล็กๆ น้อยๆ อย่างโค้ดแล้วไม่มีปุ่ม copy นี่น่ารำคาญเล็กๆ
  • OpenAI แล้ว login หลุดบ่อยๆ นี่น่าเบื่อมาก Bard ดีกว่า เปิดเป็นติด
  • เวลาล่อให้มันตอบอะไรยาวๆ ChatGPT จะตอบไปเรื่อยๆ แล้วตัดจบไปเฉยๆ เมื่อ token quota หมด แต่ Bard จะ “ตัดกลาง” ได้ ล่อให้มันตอบ info ของจังหวัดในไทยเป็น JSON มันตัดย่อตรงกลางเลย อ่านบนล่างแล้วเหมือนตอบเต็ม มาดูไฟล์ อ้าว แอบตัดกลาง
  • คิดว่า Bard เร็วกว่า และดูจากอัตราการแจก waitlist (รวมถึงการ soft launch นอกสหรัฐฯ) แสดงให้เห็นว่ากูเกิลกำลังใช้พลัง “Google Scale” ขยาย infra เก่งในตัว ไม่ต้องรอคุยกันระหว่าง Microsoft <-> OpenAI พลังงานที่เหลือเฟือโชว์ด้วยการ generate คำตอบทีละสามคำตอบมาให้ดูเล่นเลย
  • ยังมีจุดเบลอๆ งงๆ บ้าง แต่ส่วนตัวน้อยกว่า ChatGPT จังหวะไม่ตอบมันไม่ตอบเลย

ใครชนะยังไม่แน่ใจ แต่นาทีนี้กูเกิลบอกได้ชัดเจนแล้วว่า “ช้าก่อนวัยรุ่น”

อีกจุดที่ควรมองคือ PaLM API ซึ่งคิดค่าใช้แบบ metering ถ้าพลังยังใกล้เคียงกันในระดับนี้ ต่อให้ใช้ภาษาไทยไม่ได้ แต่ถ้าราคาถูกกว่ามากๆ ก็จะพลิกตลาด

 

Affiliate

วันก่อนมองหนังสือเล่มหนึ่งที่ไม่ได้อยากได้มาก แต่เป็นหนังสือดังแถมลดราคาค่อนข้างเยอะ เลยกดลง cart เอาไว้ แล้วแอบคิดว่าลองหาคูปองสักหน่อย search เข้าเว็บบรวมคูปองดูแล้วได้มาโค้ดนึง

ยังไม่ทันใส่โค้ด ทันทีที่กลับเข้าหน้าเว็บเดิมแล้วเปิด cart ก็เจอว่าหนังสือเล่มนึงราคาเด้งขึ้นไปสองเท่าตัว ชนิดว่าต่อให้ใส่โค้ดได้ลดก็ไม่ถูกเท่าตอนที่เห็นราคาตอนแรก ที่น่าเจ็บใจคือใส่โค้ดเข้าจริงๆ โค้ดก็ใช้กับหนังสือเล่มนี้ไม่ได้อีก

ยังดีที่เคลียร์ cookie แล้ว login ใหม่ เลือกหนังสือเล่มเดิมแล้วได้ราคาเดิม

โลก Affiliate แม้จะเป็นเครื่องมือการตลาดที่สำคัญ เว็บดีลนี่เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ ทำเงินกันเป็นล่ำเป็นสัน

แต่เว็บที่ implement โดยดักไว้ว่าลูกค้าคนไหนต้องจ่ายค่า affiliate แล้วขึ้นราคาตรงๆ น่าจะไม่เวิร์คในระยะยาว หรือจริงๆ มันเวิร์คแล้วคนใช้กันเยอะแล้ว แม้ว่าจริงๆ จะจ่ายแพงกว่าเดิม เพิ่มเติมตัวเว็บดีลได้ส่วนแบ่ง?

 

minio

มีเคสที่ต้องการเปิด local file ออกไปให้ระบบภายนอก (ใน LAN เดียวกัน) เข้าถึงได้ง่ายๆ ก่อนหน้านี้ก็ไม่เคยคิดว่ามันจะยากอะไร เพราะใช้ minio มาได้ตลอด รันทีเดียวขึ้นเลย ทำไม่เกินครึ่งชั่วโมงเสร็จ

แต่รอบนี้อยู่ๆ ไฟล์ก็ไม่มา งงว่าเกิดอะไร ปรากฎว่า minio ประกาศถอดฟีเจอร์นี้ออกไปแล้ว เพราะต้องการไป implement ฟีเจอร์ enterprise พวกทนทานต่อความเสียหายข้อมูลแทน ฟีเจอร์เปิด API ง่ายๆ กับ local filesystem แบบนี้ลูกค้าระดับองค์กรใช้น้อย (ทาง minio บอกว่า 2%) ซึ่งก็ไม่แปลก คนที่ต้องการระบบเล็กๆ เร็วๆ แบบนี้มักเป็นระบบขนาดเล็กที่ไม่ซื้อซัพพอร์ต minio เท่าไหร่

แต่การถอดไปเลยแบบนี้ก็โหดใช้ได้ คิดว่าเป็นช่องว่างสำหรับการสร้างโครงการโอเพนซอร์สมาแทนโดยตรงเลย แต่อย่าหวังรวยเพราะมันไม่ใช่ฟีเจอร์ที่คนพร้อมจ่ายเงินให้มัน

ทางที่เนียนที่สุดคือถอยไปใช้เวอร์ชั่นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และอัพเดตไม่ได้แล้ว คงต้องรอคนมา fork ทำโค้ดใหม่กันเลย

 

หนี้กยศ.

ยังคิดไม่สุดนัก บางประเด็นคิดแต่ในภาวะอุดมคติที่เรายังไปไม่ถึง แต่โน้ตไว้ก่อน

  • คิดว่ารัฐมีหน้าที่จัดหาการศึกษาที่ “เพียงพอให้สร้างรายได้ดูแลตนเอง” (และครอบครัว? ถ้านับด้วยอาจจะต้องถามว่าลูกกี่คน)
  • มุมมองต่อการศึกษา ทุกวันนี้ความรู้ระดับปริญญาไม่ได้จำเป็นต่อการทำงานที่รายได้ดีพอสมควร อย่างน้อยก็ดูแลตัวเองให้อยู่ในฐานะคนชั้นกลางได้ เคยจ้าง freelance นี่น่าจะแซงคนจบปริญญาไปเยอะ แม้เขายังไม่จบปริญญา
  • แต่ในตลาดแรงงานต้องยอมรับว่าถ้าไม่มีปริญญาตรีแล้ว ตลาดงานของไทยมันจะแคบลงมหาศาลมาก แม้จะเป็นงานที่ไม่น่าจะจำเป็นต้องเรียนปริญญาตรี และหนึ่งในต้นเหตุน่าจะเป็นราชการไทยเอง ที่แข็งเกร็งกับปริญญามากๆ
  • ตลาดแรงงานด้านคอมพิวเตอร์ในสหรัฐฯ งานซัพพอร์ต ต้องการปริญญาตรี 24% QA ซอฟต์แวร์ต้องการปริญญาตรี 54% แนวโน้มนี้กำลังลดลงอีก ของไทยนี่ลองกดหาดูเล่นๆ IT Support เกือบสิบประกาศ เจอรายการเดียวที่ไม่ต้องการปริญญาตรี เชื่อว่าถ้าไปทำวิจัยจริงๆ ก็น่าจะเจอว่าของเราต้องการปริญญาตรีสูงกว่าสหรัฐฯ มากแทบทุกอาชีพ (ลองไปกดๆ พนักงานต้อนรับโรงแรมของไทยก็ยังต้องการประมาณ 4 ใน 10)
  • ภาวะตลาดคัดคนแบบมีกำแพงปริญญาแบบตอนนี้มันพูดยาก ว่าการเรียนปริญญาตรีเป็นทางเลือก ความเชื่อว่ายังไงก็ได้ให้มีปริญญาไว้ก่อน มันมีเหตุผลอยู่ คนที่พูดได้ว่าไม่มีปริญญาก็หางานได้ส่วนใหญ่เป็นกรณียกเว้น จะบอกว่ามีรูให้ลอดไปได้ แต่แทบไม่มีใครผ่านไปได้มันไม่แฟร์
  • ส่วนตัวมองว่าภาวะแบบนี้ของไทย ไม่เป็นผลดีต่อทุกคน พ่อแม่ต้องซัพพอร์ตลูกนานขึ้น แรงงานมีเวลาน้อยลงในการทำงาน ดูแลตัวเองได้ช้าลง (สมมติจบมาได้เงินเดือนสองหมื่น แม้งานจะต้องใช้ความรู้ระดับอนุปริญญา จบช้าสองปีคือเงินหายไปจากชีวิต 480,000) ครอบครัวที่ตึงๆ อยู่แล้วจะลำบากกว่าที่ควรจะเป็น โลกทุกวันนี้กำลังจะออกจากภาวะนี้ สหรัฐฯ ก็มีแนวโน้มว่าลดความสำคัญปริญญาลง สนใจ skill เป็นส่วนๆ เราก็ควรออกเหมือนกัน
  • เราจะไปยังไง ระหว่างแก้ตลาดแรงงานต้องซัพพอร์ตคนไม่ได้เรียนตรีให้มากกว่านี้? หรือควรรีบแก้เรื่องค่าเรียนมหาวิทยาลัยแพง? ต่อให้ทำพร้อมกันหมดจะใช้เวลากี่ปีกว่าจะดีขึ้นจนยอมรับได้? ส่วนตัวมองว่าที่เร็วที่สุดคือรัฐส่งสัญญาณด้วยการปลดเงื่อนไขปริญญาตรีในตำแหน่งจำนวนมาก ทั้งจากจ้างตรงและการรับงานจากภาครัฐ สัญญาณแบบนี้น่าจะส่งผลต่อเนื่องไปถึงเอกชนโดยเฉพาะบริษัทอื่นๆ ที่รับงานจากรัฐ
  • การสนับสนุนในรูปแบบ soft loan เป็นการมองว่าระดับที่ให้ไม่ใช่ขั้นต่ำ ซึ่งเข้าใจได้ หลังจากการให้ขั้นต่ำทุกคนแล้ว รัฐก็ควรสนับสนุนให้คนสร้างฐานะในรูปแบบ soft loan ต่อ จะเรียนต่อ จะทำธุรกิจ หรือจะฝึกอาชีพ พวกนี้ให้ในรูปแบบที่ไม่ได้ให้เปล่าได้ เป็นแนวทางที่เข้าใจได้
  • ต่อให้มองว่า ป.ตรีไม่ใช่ขั้นต่ำที่รัฐต้องจัดหาให้ กยศ. ก็ยังมีปัญหาในหลายประเด็น ประเด็นที่เคยแก้ไปแล้ว เช่น การค้ำประกัน ที่สร้างเงื่อนไขจนกลายเป็นกำแพงให้คนขาดโอกาสกู้ไม่ได้ไปอีก ประเด็นอื่นเช่น ไปบังคับทำกิจกรรมจนมีเด็กต้องไปซื้อใบรับรองชั่วโมงกิจกรรม นี่ก็ต้องเลิก