Call the Midwife

ช่วงนี้ฟัง Call the Midwife หนังสือบันทึกโดยพยาบาลสูติสมัยช่วงหลังสงครามโลก ช่วงที่อังกฤษยังค่อนข้างยากลำบากเพราะเพิ่งผ่านสงคราม

ตัวหนังสือดังเพราะ BBC เอาไปทำซีรีส์มานานแล้ว ค่อนข้างดังมาก ยังไม่ได้ดู (ตัวหนังสือเปลี่ยนปกตาม)

แต่ละบทเล่าถึงเรื่องราวที่พบเจอ ชีวิตช่วงที่ผ่านเข้ามาพบกับพยาบาล แยกเป็นบทๆ ไม่ได้ต่อกันมากนัก คล้ายๆ หนังสือย้อนอดีตของไทยหลายเล่ม

อ่านไป 70% ไม่แนะนำให้อ่านเอาบันเทิง มันเศร้าเกินไป ผมเองฟังไปขับรถไปยังรู้สึกแย่ ทำไมชีวิตมันแย่ขนาดนี้ แต่เอาจริงๆ ในไทยเองช่วงสัก 20-30 ปีก่อนเราก็คงไม่ได้ดีกว่านี้มากนัก ทั้งคนที่ต้องตายจากกันไปก่อนวัย หรือสภาพสังคมที่โหดร้ายกับคนไม่มีที่พึ่ง

เนื้อเรื่องเขียนดี ถ้าเป็นคนไม่จิตตกนับว่าอ่านได้ไม่เสียดายเวลา

 

eSports ไม่ใช่กีฬา

หรือจะใช่ ก็ช่างมันเถอะ

เรื่องจริงคือเราต้องกลับมามองว่า “กีฬา” ทุกวันนี้มันคืออะไร เราสนับสนุนมันเป็นบ้าเป็นหลัง เพราะมันทำให้คนออกกำลังกายแล้วสุขภาพดีจริงๆ น่ะเหรอ? หรือมันเป็นธุรกิจที่เราอยากแข่งขัน เราเห็นฟุตบอลอังกฤษ, เยอรมัน, สเปน ทำแล้วดัง แล้วอยากได้อย่างเขาบ้าง

ย้อนกลับมาใหม่ เราควรยอมรับว่า กีฬาจำนวนมาก มันเป็นรายการบันเทิง คนดูมหาศาลสักกี่คนจะกลับบ้านมาแล้วจับกลุ่มเล่นกีฬาที่พวกเขาดู บาส, บอล, มวยปล้ำ

คนไทยนิยมวิ่งขึ้นมากในช่วงหลัง แต่กีฬาวิ่งก็ไม่เห็นคนนิยมดูมากขึ้น ช่วงหลังๆ มหกรรมกีฬาดูจะน่าสนใจน้อยลงด้วยซ้ำ

eSports เป็นกีฬาไหม คงเถียงกันได้ไม่จบ แต่โลกความเป็นจริงคือเวลามองจอ (screen time) ของเด็กรุ่นต่อไป จะถูกรายการพวกนี้กลืนกินไปเรื่อยๆ เด็กรุ่นต่อไปดู live การแข่งพวกนี้มากขึ้นเรื่อยๆ เบียดเบียนรายการบันเทิงแบบอื่นไปทีละน้อย การจัดแข่งสดจะมีคนไปดูในสนามมากขึ้นเรื่อยๆ มากกว่ากีฬานานาชาติรายการเล็กๆ หลายรายการ

ในโลกที่มีความเปลี่ยนแปลงเร็วสูง สุดท้ายมันคือเวลารับชม

คนเราอาจจะไปดูการแสดงคอนเสิร์ตหรือกีฬาที่สนามได้สัก 2 รอบต่อเดือนเท่านั้น คนทั่วไปมองจออาจจะ ดูละครสักเรื่องสองเรื่อง 5 วันต่อสัปดาห์ ดูบอลสักสองคู่

แต่ถ้าคนรุ่นต่อไปไป ดูละครเหลือเรื่องเดียว (แถมอาจจะไม่ดูละครไทย) ดูบอลคู่เดียว ดู eSport รอบสำคัญสัปดาห์ละแมตช์ ดูแคสเกมอีกสัปดาห์ละสองชั่วโมง

จะกีฬาหรือไม่ แต่สุดท้ายก็อยู่บนสนามแย่งชิงความสนใจของคนเหมือนกัน เช่นเดียวกับแพลตฟอร์ม ที่ทีวีกำลังพ่ายแพ้ เมื่อคนรุ่นต่อไปดูทีวีน้อยลงเรื่อยๆ

 

Bad Wolf 2018

บทเรียนจากปีที่แล้ว ถ้าไปวันแรกๆ ไม่ได้ก็ไม่ต้องไปหรอก หนังสือดีๆ หายไปแทบหมดแล้ว

รอบนี้หนังสือน่าสนใจเยอะทีเดียว หนังสือดังๆ บางเล่มเริ่มแพง มี 3-500 ทั้งที่เป็นนิยายปกติ

แต่โดยรวมถึงยับยั้งไม่อยู่ก็จะได้หนังสือที่อ่านได้เกินปี

 

ฉลาดเกมโกง (spoiled)

เพิ่งได้ดูฉลาดเกมโกงกับเขา

  • ไม่อิน ท่าโกงแบบ braindump นี่พวกสอบ cert สาย IT ทั้งหลายทำกันมานานแล้ว เลยรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่เกิดเป็นปกติ พอไม่แปลกแล้วหาย
  • ฉาก present แบบ Steve Jobs นี่มันการ์ตูนมาก ไม่ชอบ
  • encode แบบดนตรีนี่ไม่มีประสิทธิภาพ ฝนไม่ทันหลุด sync ข้ามข้อไปนี่ฉิบหายเลย ทำได้ขนาดนี้จดใส่โน้ตโยนให้กันง่ายกว่าเยอะ
  • โดยรวมๆ จังหวะหนังก็ดูสนุกดี ไม่เสียดายเวลาที่ดูใน Netflix แต่ไม่เสียดายที่ไม่ไปดูในโรง

แต่หนังเรื่องนี้ทำให้คิดถึงสมัยผมสอบเข้ามหาวิทยาลัย ว่าข้อสอบของไทยเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์ในสมัยนั้นจะมีคุณสมบัติพิเศษกว่าวิชาอื่น คือมันเฉลี่ยคำตอบข้อ 1-4 เท่ากันหมดเสมอต่อเนื่องหลายปี เข้าใจว่ากรรมการออกข้อสอบพยายามทำลายแนวคิดที่ว่า “ถ้าไม่แน่ใจให้ตอบ ง.งู” เพราะกรรมการมีแนวโน้มเฉลยข้อสุดท้ายเป็นพิเศษ

แม้จะตั้งใจดี แต่กรรมการสอบกลับทำพลาดหากนักเรียนเข้าใจสถิติดีพอสมควร (ซึ่งระดับกรรมการออกข้อสอบคณิตศาสตร์ไม่ควรพลาด) คือมันเป็นการส่ง สัญญาณให้กับนักเรียนที่ทำข้อสอบอยู่อย่างชัดเจน

ข้อสอบหลายสิบข้อนั้น ความน่าจะเป็นที่ “ข้อที่ทำได้” จะเฉลยสี่ตัวเลือกเท่ากันพอดีนั้นต่ำมาก คนสอบสามารถคิดหลังง่ายๆ ว่า “ดูข้อที่ทำได้ว่าตอบข้อไหนน้อยที่สุด” แล้วสามารถเลือกข้อนั้นๆ จนได้คะแนนกลับมาเกิน 25% กรณีที่สุดขอบมากเช่นเด็กทำไม่ได้ข้อเดียวก็จะได้เต็มทันที ใช้นับข้อที่ตอบไปแล้วเอาเลย

สมัยผมสอบเองครั้งหนึ่งก็เจอว่า “ข้อที่ทำได้” ตอบตัวเลือกหนึ่งเกิน 25% ทำให้กลับไปตรวจได้ว่ามีบางข้อทำผิดแน่ๆ

ถามว่าทำยังไงให้เฉลยไม่ไปกอง ง.งู อีก ก็คือการสุ่มเลือกข้อเฉลยทีละข้อแบบ IID (independent and identically distributed) ก็จะคาดเดาไม่ได้ว่าจริงๆ จะมีเฉลยตัวเลือกไหนกี่ข้อ และในระยะยาว (หลายปี) เฉลยก็จะไม่กองข้อใดข้อหนึ่ง