และเราก็แค่เห็นแก่ตัว

หนึ่งในหนังสือท่ผมซื้อมาจากคิโนะฯ ในช่วงหลังๆ นี้คือ Jurassic Park โดยจริงๆ แล้วตั้งใจว่าอ่านหนังสือของ Micheal Crichton ให้หมด

ในหนังเรื่องเดียวกันนั้น เราจะเห็นความยิ่งใหญ่ แต่นแต๊น โอ้โน่นไดโนเสาร์ อะไรอย่างนั้น แต่ในนิยายนั้นเป็นอีกมุมมองหนึ่งที่ว่าด้วยการที่มนุษย์พยายามจะเป็นพระเจ้า

ในหนังนั้นเอียน มัลคอม เป็นเพียงนักคณิตศาสตร์ที่ทำตัวแปลกๆ หน่อย (ออกจะหน้าม่อด้วย..) แต่ในนิยายนั้นเขาคือตัวเดิน “แนวคิด” ทั้งหมดของเรื่อง

คำถามของนิยายไม่ใช่ว่า “จะยิ่งใหญ่แค่ไหนถ้าเรานำไดโนเสาร์กลับมาได้?” แต่เป็นว่า “เรานั้นมันเล็กน้อยแค่ไหน และเราอวดตัวมากเพียงใดที่จะไปควบคุมธรรมชาติ”

น่าสนใจมากว่านิยายส่วนมาก รวมถึงนิยาย “รักโลก” ทั้งหลายนั้นมองว่า มนุษย์คือศูนย์กลางของทุกอย่าง มนุษย์นี่ล่ะที่มีอำนาจที่จะทำลายหรือรักษาโลกนี้ไว้ได้ เช่นเรื่อง The Day the Earth Stood Still เป็นต้น

Jurassic Park กำลังบอกเราอีกอย่าง ที่สำคัญคือมันบอกว่าเราเป็น “ไอ้ขี้โม้” เพียงใดเมื่อเราพยายามบอกว่าเราจะรักษาโลกใบนี้

โลกใบนี้ผ่านอะไรมามากมายกว่าสิ่งที่เราเห็นตรงหน้านี้มากมายนัก โลกใบนี้เองเคยผ่านช่วงเวลาที่ไม่มีออกซิเจนในอากาศ และช่วงเวลาที่ออกซิเจนสูงกว่าปัจจุบันเกือบเท่าตัว หรือประมาณ 35% ในยุคไดโนเสาร์ และเป็นเหตุผลว่าทำไมสัตว์ในยุคนั้นถึงตัวใหญ่กันนัก โลกผ่านช่วงเวลาที่ร้อนระอุ ผ่านยุคน้ำแข็งที่ทำลายสายพันธุ์นับล้านๆ ชนิด

แล้วโลกก็ยังเดินหน้าต่อไป…

ในขณะที่เราเริ่มโวยวายกับปริมาณคาร์บอนที่เพิ่มขึ้นสักสองเท่าตัวในช่วงไม่กี่ร้อยปีที่ผ่านมา ความเปลี่ยนแปลงนี้เป็นเพียงเศษเสี้ยวส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ของโลก กับประวัติศาสตร์ของ Homo Sapien ที่มีมาไม่เกินสองล้านปี กับประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติที่มีแค่สองหมื่นปี

แล้วเราก็คิดว่าเรารู้ไปซะทั้งหมด เราคิดว่าเราเป็นผู้พิทักษ์

เปล่าหรอก เราไม่ได้เป็นผู้พิทักษ์อะไรเลย เราแค่อยากให้โลกอยู่ในสภาวะที่เหมาะกับ “เรา” ก็เท่านั้น

เรารักษาระดับออกซิเจน คาร์บอนไดออกไซด์ ก็เพราะมันเป็นระดับที่เหมาะกับ “เรา” เรารักษาความหลากหลายทางชีวิภาพเพราะเรารู้ว่าเราอยู่สปีชีส์เดียวในโลก “ไม่รอด”

เราไม่ได้รักษาโลกหรอก เราแค่รักษาตัวเราเองก็เท่านั้น

 

My Opinions on Economics

ว่าจะเขียนบทความตระกูล “My Opinion on …” ออกมาซักชุดจะได้ลำดับจุดยืนตัวเองไปในตัวว่ามองเรื่องอะไรยังบ้าง ผลัดตัวเองมานานก็เริ่มด้วยเศรษฐศาสตร์ก่อนเลยแล้วกัน

ผมเชื่อในระบบทุนนิยม แม้ว่ามันจะไม่ใช่ระบบที่ดีที่สุดในโลก มันเต็มไปด้วยความโลภ และการเอารัดเอาเปรียบ แต่นี่คือธรรมชาติของคนบาปเช่นมนุษย์โลก ขณะทุนนิยมไม่ใช่ระบบที่ดีที่สุดในโลก มันจัดการกับความโลภของมนุษย์แล้วเอามาทำเป็นความเจริญให้กับมนุษยชาติได้เป็นอย่างดี

ระบบอื่นๆ ที่พยายามแสวงหาความเป็นอุดมคติเช่นคอมมิวนิสต์นั้นคงไม่สามารถใช้งานได้จริงในโลกของเราที่ทุกคนยังคงต้องอาศัยแรงกระตุ้นจากความเหนือชั้นกว่าคนอื่นๆ มาผลักดันให้เราทำอะไรบางอย่างให้กับโลก แน่นอนว่าวันหนึ่งมันคงไม่เป็นอย่างนั้นอีกต่อไป นึกถึงเรื่อง Star Trek ที่ลูกเรือเคยถูกถามว่าได้เงินเดือนกันหรือไม่ แล้วลูกเรือตอบกลับไปว่า “ไม่ เราทำงานเพราะเราต้องการพัฒนาตัวเอง” แต่น่าเสียดาย ทุกวันนี้มนุษย์เรายังต้องการ__วัตถุ__ เพื่อกระตุ้นให้เราทำงานให้กับโลกของเราอยู่

แม้ว่าระบบทุนนิยมจะมีข้อเสียหลายๆ อย่าง แต่ในปัจจุบันนี้เรามีเครื่องมีหลายต่อหลายอย่างเพื่อลดข้อด้อยของมันลงไปได้ เช่น

1. การแข่งขันสมบูรณ์ ทำให้ทุกฝ่ายเสนอทางเลือกที่ดีกว่า (โดยยังได้ผลกำไร) ให้กับประชาชนทั่วไป การแข่งขันสร้างสิ่งดีๆ ขึ้นมากมาย
2. การกำกับดูแลที่ดี ขณะที่ผู้ขายในระบบทุนนิยมนั้นคำนึงถึงผลกำไรเป็นสำคัญ ผู้กำกับดูแลนั้นต้องสร้างเงื่อนไขที่ดี เช่น ห้ามฮั้วราคากันขายแพง, ห้ามตัดราคามั่วซั่ว เพราะคู่แข่งรายใหม่ๆ จะตายไปและสุดท้ายแล้วผู้บริโภคนั่นเองที่เสียผลประโยชน์, กำหนดกรอบรับผิดชอบต่อสังคม เช่นเราอาจจะกำหนดให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์ต้องสร้างเครือข่ายครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ เพื่อกระจายความเจริญ ไม่ใช่สร้างเครือข่ายแต่เฉพาะบริเวณที่ทำกำไรได้

ผมไม่เชื่อในแนวคิด__สมบัติชาติ__ แทบทุกๆ กรณี แนวคิดง่ายๆ คือ “อะไรที่เอกชนทำได้ รัฐบาลไม่ควรไปทำ” ถ้าโทรศัพท์เอกชนทำกำไรได้ รัฐก็ควรถอนตัวออกมา แล้วเล่นบทกำกับดูแล (และเก็บภาษี) เท่านั้นพอ แต่มีเงื่อนไขบางอย่างอยู่ในความหมายของคำว่า “เอกชนทำได้”

1. ภาคเอกชนมีการแข่งขันที่ดีอยู่แล้ว ไม่มีประโยชน์อะไรที่วันนี้รัฐบาลจะเปิดร้านกาแฟสด…
2. ระบบกำกับดูแลพร้อมแล้ว ทันทีที่เอกชนเริ่มทำกำไรได้ หน่วยงานรัฐที่เคยทำกิจการอยู่เดิม ควรแยกงานระหว่างการกำกับดูแล และการดำเนินกิจการออกจากกันทันที เพื่อเตรียมปล่อยให้ส่วนดำเนินการกลายเป็นเอกชน เพื่อการเตรียมการพร้อม ก็ขายทิ้งไปแล้วรัฐไปหาอย่างอื่นที่เอกชนไม่ทำเอามาทำแทน

อย่างไรก็ดี มีบางอย่างที่เอกชนไม่มีทางทำ และรัฐควรทำเสมอคือการรับประกันคุณภาพชีวิตขั้นต่ำให้กับประชาชน

ไอ้ที่เราเรียกว่าประชานิยมนั่นล่ะ….

ผมเชื่อว่ารัฐควรรับประกันคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐานของประชาชนให้__มากที่สุดเท่าที่รัฐจ่ายไหว__ ถ้ารัฐจ่ายเงินเดือนสักเดือนละหมื่นให้กับประชาชนทุกคนได้ รัฐก็ควรจะทำ และเหตุผลประการเดียวที่รัฐจะไม่ทำนั่นคือรัฐไม่มีเงินพอ และมีเรื่องอื่นที่สำคัญกว่าให้รัฐเอาเงินไปจ่าย (ซึ่งไม่แปลกอะไรเลย ใครจะมีเงินมากขนาดนั้นกัน)

ระบบประกันคุณภาพชีวิตพื้นฐานสำคัญที่สุดคือปัจจัยสี่บวกกับอีกสามอย่างในปัจจุบันคือ การศึกษา, การคมนาคม, และการสื่อสาร

ดังนั้นผมจึงเห็นด้วยกับโครงการสามสิบบาทมาโดยตลอด และยิ่งเห็นด้วยเมื่อรัฐบาลที่ผ่านมาเปิดให้ประชาชนเข้าใช้บริการฟรี คำถามเดียวที่ผมมีคือ รัฐบาลของเรามีเงินมาพอขนาดนั้นแล้วหรือ? เพราะการเก็บสามสิบบาทไม่ใช่การเก็บเพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายสักเท่าใหร่ เทียบกับปริมาณเงินที่รัฐจ่ายไปแล้วมันเป็นเพียงส่วนเล็กน้อย แต่ประเด็นของสามสิบบาทนั้นคือการกรองเอาคนไข้ที่ไม่หนักหนาอะไรออกไปจากระบบซะมากกว่า ในวันนี้ภาคสาธารณะสุขของเราเองมีปัญหาจำนวนมากอยู่แล้วจากการที่แพทย์ไม่เพียงพอ การเพิ่มปริมาณคนไข้ในระบบ โดยที่รัฐไม่พร้อมจะจ่ายค่าตอบแทนที่สูงขึ้นเพื่อดึงแพทย์กลับเข้าสู่ภาครัฐ หรือกระทั่งไม่มีความคุ้มครองที่ดีพอจนแพทย์ถูกฟ้องคดีอาญา (แม้จะหลุดคดีในขั้นต่อมา แต่เป็นผมผมก็ไม่อยู่แล้วล่ะ) ยิ่งซ้ำเติมปัญหาเหล่านี้เข้าไปเรื่อยๆ

การเร่งเปิดโอกาสให้กับประชาชน (ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี) แต่รัฐไม่มีความพร้อมที่จะจ่ายค่าใช้จ่ายที่ตามมานั้น จึงอาจจะกลายเป็นเรื่องเลวร้ายที่สุดเท่าที่ผมจะนึกออกในระบบรัฐสวัสดิการ

เช่นเดียวกับประเด็นทางการแพทย์ ผมเห็นด้วยทั้งหมดที่รัฐควรจะจัดหาสิ่งพื้นฐานทุกอย่างให้ประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นการคมนาคม เช่นรถเมลฟรี ผมเชื่อว่ามันน่าจะดีถ้าเราจะมีรถเมลฟรีตลอดไป แม้จำนวนจะน้อย (ตามอัตภาพรัฐบาล) แต่เป็นการประกันว่าไม่ว่าจะมีรายได้เท่าใหร่คุณก็จะมีการคมนาคมใช้งานกัน

แต่ประเด็นเรื่องของการศึกษานั้นผมสงสัยในระบบการให้เรียนฟรีแบบเหมารวมนั้นน่าสงสัยมาก เพราะรัฐบาลจ่ายเงินแบบเหมารายหัวราคาเดียวทั่วประเทศ การทำอย่างนี้สร้างข้อสงสัยว่ารัฐบาลต้องการให้โรงเรียนทั้งประเทศมีคุณภาพในระดับเดียวกันหมดจริงๆ หรือ?

 

Science vs. Art

ตามประสา [geek ตัวพ่อ](http://lewcpe.com/blog/archives/746/geek-%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B8%A7%E0%B8%9E%E0%B9%88%E0%B8%AD/) ยามว่างเราก็อ่านนิตยสาร [Communication of the ACM](http://cacm.acm.org/) แทนนิตยสารดารา

บทความที่คนพูดถึงกันมากในช่วงนี้คือ Is Computer Science Science? เนื้อหาข้างในสนใจไปหาอ่านกันเอาเอง แต่ประเด็นที่ผมสนคือความต่างระหว่างศิลปะ และวิทยาศาสตร เทียบกันเป็นข้อๆ

– หลักการ vs. ความชำนาญ
– การทำซ้ำได้ vs. ประสิทธิภาพการทำงาน
– คำอธิบาย vs. การกระทำ
– การค้นพบ vs. การประดิษฐ์
– วิเคราะห์ vs. สังเคราะห์
– การแยกศึกษา vs. การก่อสร้าง

น่าสนใจมากว่าสังคมไทยที่ว่าเป็นวิทยาศาสตร์อย่างโน้นอย่างนี้ พอเอาเข้าจริงแล้ว เราก็มักจะอ้างว่า “มันดีอยู่แล้ว”????

 

Cost of Participation

เรื่องหนึ่งที่บ้านเรามีปัญหาทั้งในเชิงวิชาการและอุตสาหกรรมคือเรื่องของการแลกเปลี่ยนระหว่างกัน

ประเด็นเช่นนี้ผมเป็นประเด็นที่ผมบ่นๆ มาได้หลายปีแล้ว และเริ่มมีความเปลี่ยนแปลงอยู่บ้าง เช่นงาน ECTI-CON ที่ผมช่วยโปรโมทใน Blognone ตอนนี้เอง

ปัญหาอย่างหนึ่งของงานที่สร้างความแลกเปลี่ยนอย่างนี้คือการที่เราต้องการพื้นที่เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนที่มากขึ้น พร้อมๆ กับค่าใช้จ่ายในการเข้าแลกเปลี่ยนที่ต่ำลง

เพราะเราไม่ได้พูดถึงบริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติที่มีเงินถุงเงินถังส่งพนักงานไปร่วมงานประชุมวิชาการ หรือเข้าร่วมงานแสดงสินค้าใหญ่ๆ แต่เรากำลังพูดถึงนักศึกษามือดีที่มีไอเดียแต่ไม่สามารถทำตลาดสินค้าของตัวเองได้ หรือบริษัทขนาดเล็กๆ ที่ทำสินค้าเฉพาะทางและไม่มีกำลังในการโปรโมทมากมายนัก

อย่าว่าแต่ค่าเข้าร่วมไม่กี่พันบาท คนกลุ่มนี้นั้นหลายๆ ครั้งแล้วแม้แต่งานสัมมนาฟรีก็ไม่สามารถไปเข้าร่วมได้เนื่องจากไม่พร้อมที่จะให้พนักงานหยุดงานไป…

เราต้องการระบบใหม่ที่ราคาถูกลง การพบกันต่อหน้าที่มีค่าใช้จ่ายต่ำมากๆ จนใกล้ศูนย์ วิธีการที่คนเหล่านี้จะแสดงความ “เจ๋ง” ของตัวเองออกมาโดยหยุดงานไม่เกินครึ่งวัน ทำอะไรง่ายๆ สั้นๆ แต่สร้างกระแสความสนใจได้หากสินค้านั้นมีคุณค่าในตัวของมันเอง

ไอเดียคร่าวๆ ที่ผมกำลังหาทางดันๆ อยู่ตอนนี้อย่าง

– BarCamp วิชาการ ขณะที่ BarCamp ของไทยตอนนี้ดูเหมือนจะเป็นงานที่เน้นการมีส่วนร่วมของคนจำนวนมากไปแล้ว ผมกำลังคิดว่ามันเป็นเรื่องที่ดีที่เราจะเอากระบวนการแบบ BarCamp มาใช้แทนงานประชุมวิชาการต่างๆ การพูดเป็นการพูดง่ายๆ สั้นๆ แต่น่าสนใจ ค่าใช้จ่ายงานที่ต่ำๆ
– Blognone Project ตอนหลังๆ นี้เริ่มเงียบๆ ไป เราคงต้องพยายามดันมันขึ้นมากันอีกครั้ง

ปล. ช่วงนี้กำลังเขียน Paper อย่างบ้าเลือด ผมหายตัวไปสักพักนะครับ