สิทธิในการกระทืบ

ไม่มีอะไรมากครับ แต่อยากจะบอกพวกอ้างสิทธิในการกระทืบว่าจ่ายค่าธรรมเนียมเป็นการติดคุกสักสามสี่ปีนี่ มันแสดงความไร้อารยธรรมอย่างเหลือเชื่อ

ไม่มีกฏหมายข้อไหนระบุให้การไปกระทืบคนอื่นเป็นสิทธิพึงมีของคนไทยคนใดๆ การกระทำผิดคือการกระทำผิด และโทษไม่ใช่ค่าธรรมเนียม คนที่บอกว่าสามารถกระทืบคนอื่นได้เพราะยินดีจะติดคุกไม่ต่างอะไรจากพวกคนรวยเลวๆ ที่ฝ่าไฟแดงแล้วยอมจ่ายค่าปรับ

ความชั่วคือความชั่ว การชดใช้ไม่ได้ทำให้ความชั่วมันหายชั่วแม้แต่น้อย

 

ขนมโป้งๆ ชึ่ง

สงสัยมานานว่าทำไมของกินบางอย่างเราถึงต้องกินเวลาไปเที่ยว

วันนี้ถามน้องสาว น้องสาวบอกว่าของพวกนี้แม้มันจะมีให้กินในกรุงเทพฯ แต่ถ้ากินเฉยๆ แบบสบายๆ แล้วมันจะไม่ได้ฟิลด์

ต้องนั่งรถเหนื่อยๆ เมื่อยๆ ง่วงๆ แล้วลงไปซื้อ (แบบแพงๆ) จึงจะซื้อได้และกินอร่อย จึงได้ชื่อหมวดขนมนี้มาว่าขนมโป้งๆ ชึ่ง

ตัวอย่างของขนมในหมวดนี้ก็เช่น ข้าวเกรียบถุงโตๆ, ข้าวหลาม, กระหรี่ปั๊บ, ขนมหม้อแกง, โมจิ, ฯลฯ

ขนมโป้งๆ ชึ่งนี้มีความหลากหลายมากจนไม่น่าเชื่อว่าจะจัดอยู่ในหมวดเดียวกันได้ แต่นอกจากอารมณ์และช่วงเวลาในการซื้อแล้ว อีกอย่างหนึ่งที่ขนมหมวดนี้มีเหมือนๆ กัน

นั่นคือ พลังงาน ครับ

แม้จะไม่มี Nutrition Fact อยู่หลังถุง แต่ก็บอกได้เลยว่าพลังงานจากขนมแนวๆ นี้ทะลุเพดานพลังงานที่ควรบริโภคต่อวันไปแบบติดขอบฟ้า และด้วยเหตุผลว่าขนมพวกนี้เรามักกินเอาช่วง “ปล่อยผี” เลยลืมกันบ่อยๆ ว่าลดน้ำหนักอยู่

ไม่มีอะไรมากครับ ไปเที่ยวมาแล้วฟาดเข้าไปเยอะ

กลมเลย…. – -“

 

ยัด

นานมาแล้วรัฐบาลเขมรเคยใช้ข้อหาจารชนยัดให้กับประชาชนของตัวเอง

กระบวนการประหลาดของตำรวจเขมรในสมัยนั้นคือการจับคนต้องสงสัย แล้วทรมานจนกว่าจะสารภาพและต้องเอ่ยชื่อผู้ร่วมขบวนการออกมาอีกจำนวนหนึ่ง

เนื่องจากความทรมานที่เกินทน คนจำนวนมากจึงเอ่ยชื่อคนที่เขารู้จักไปส่งเดช จะได้ถูกประหารให้จบๆ กันไป

บ้านเราเองก็เคยอยู่ในยุคมืดแห่งคอมมิวนิสต์ ที่นักศึกษาผู้เรียกร้องประชาธิปไตยถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์จนต้องไปเข้าร่วมกับคอมมิวนิสต์เข้าจริงๆ

การจับแบบเหวี่ยงแหเช่นนี้ไม่เคยสร้างประโยชน์ให้กับใคร มันทำลายทั้งผู้ถูกกล่าวหาและตัวผู้ปกครองเอง

ผมเคยอ่านหนังสือเรื่องประชาธิปไตยบนเส้นขนาน ประโยคหนึ่งที่น่าสนใจในหนังสือนั้นมีใจความว่า “น่าแปลกที่ประวัติศาสตร์มักย้อนกลับมาเสมอๆ”

ใช่มันน่าแปลกจริงๆ

ผมได้แต่หวังว่าครั้งนี้ มันจะจบลงด้วยความต่างออกไป…

 

บล็อกนี้ตอบคุณ tanakorn ในบล็อกก่อนหน้านี้ว่าเด็กน่าจะมีสิทธิ์จะเอาตัวรอดด้วยการมุ่งไปที่เงิน

คำตอบผมง่ายๆ ครับ

ผมเชื่อว่าเด็กคิดถูกแล้วครับ ที่ทำอย่างนั้น ผมมีลูกแล้วลูกเลือกเรียนคณะที่จบมาแล้วจนผมคงคิดมากจนหัวหงอกเอาเหมือนกัน
สิ่งที่ทำให้การเรียนวิศวกรรมคือการที่มีแต่เด็กที่คิดแต่เรื่องเงินมาเรียนเต็มคณะ

ง่ายๆ คือผมไม่ได้โทษเด็ก…..

สิ่งที่แย่ไม่ใช่การที่เด็กคนหนึ่งจะคิดแต่เรื่องเงินแล้วเข้ามาเรียนวิศวฯ แต่สิ่งที่แย่คือคณะที่เต็มไปด้วยแต่เด็กที่คิดแต่เรื่องเงิน

ทุกคนคิดเรื่องเงินแน่ๆ ครับ ผมก็คิด และทุกคนก็ควรคิด  บางคนอาจจะเป็นเหตุผลเดียวของการเรียน บางคนอาจจะเป็นเหตุผลที่สาม สี่ ห้า  มันไม่ใช่เรื่องผิด และไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ถ้าค่อนคณะเต็มไปด้วยความคิดแบบนี้ ก็น่าสนใจว่าเกิดอะไรขึ้น

ผมลองไล่ๆ ดู

  • ระบบการแนะแนวที่อ่อนด้อยของบ้านเรา ไม่สามารถชี้นำเด็กและผู้ปกครองให้ส่งเด็กไปยังสายการเรียนที่เหมาะสมได้
  • แนวทางการศึกษาประหลาดๆ ที่จำกัดสิทธิ์เด็กสายศิลป์ไม่ให้เข้าคณะสายวิทย์ จำกัดปริญญาตรีไม่ให้ต่อปริญญาโท บ้านเราเลือกผิดตอน ม. สามนี่ชีวิตจะไม่มีโอกาสแก้ไขกันเลยครับ
  • การศึกษาสายอาชีพที่ภาพรวมยังอ่อนแอ วิศวกรคอมพิวเตอร์กว่าครึ่งจบมาก็ไปเป็นโปรแกรมเมอร์ ไม่ได้ออกแบบหรือใช้ความรู้ทางวิศวกรรมใดๆ ถ้าระบบการเรียนสายอาชีพ ถ้าจบปวศ. พร้อม SCJP ได้ ได้เงินเดือนสัก 25k แล้วจะเสียเวลาเรียนนานๆ ทำปริญญาไปทำไมกัน?
  • สังคมที่บีบบังคับเด็ก โดยเฉพาะพ่อแม่

ข้อเสียที่เกิดขึ้นเพราะการที่เด็กคิดแต่เรื่องเงินมีเยอะมาก หลักๆ คือเสียบรรยากาศในการเรียน เด็กหลายคน ที่อยากเป็นโปรแกรมเมอร์แต่ต้องมาเรียนวิศวะ พอเจอวิชายากๆ และอาจจะไม่ได้ใช้เพราะจะเป็นโปรแกรมเมอร์ไม่ได้อยากเป็นวิศวกร ก็พาลไม่อยากเรียน แย่ลงไปอีกก็ซิกแซกหาทางให้ได้เกรดมาให้ได้ ความรู้ไม่ต้องสนใจเพราะไม่ได้ใช้อยู่แล้ว