ผู้หญิงคนแรก

เคยเขียนเรื่องคนดีไว้ที่ไหนสักที่ ว่าเวลาเราดีใจที่เราพบคนดีในสังคม นั่นเป็นเครื่องยืนยันว่าสังคมเราน่าเวทนาที่ต้องแสดงความยินดีเมื่อเจอคนดี และอีกแง่เรากำลังรู้สึกว่าการทำความดีเป็นเรื่องพิเศษที่ห่างไกลตัวเราเอง

ในแง่ของความเท่าเทียมทางเพศก็เช่นกัน ถ้าเรายังต้องแสดงความดีใจทุกครั้งที่มีผู้หญิงทำหน้าที่ต่างๆ และไปแสดงความยินดีเพราะเธอเป็น “ผู้หญิง” เป็นการยืนยันว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องแปลก และเป็นความน่ายินดีที่มันเป็นเรื่องแปลกเสียด้วย

ในแง่หนึ่งการดีใจกับคนที่ก้าวสู่ตำแหน่งต่างๆ ได้เพราะว่าเธอเป็นผู้หญิง คือการดูถูกว่าเธอเป็นผู้หญิงจึงได้รับการยกย่องในตำแหน่งเดียวกันเป็นพิเศษ

ถ้าใสใจความเท่าเทียม อาจจะต้องเริ่มจากการมองอย่างเท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็นด้านดีและด้านแย่

 

ราคาแห่งความจน

วันนี้ไปเดินหาอะไรกินในซุปเปอร์แถวบ้าน…

เจอแชมพูลดราคาอย่างหนัก ขวดขนาดหนึ่งลิตร ลดราคาอย่างไรเหตุผล เพราะมันถูกกว่าขวด 700cc. ที่วางอยู่ข้างๆ เสียอีก ผมซื้อมาหนึ่งขวด ทั้งที่ที่บ้านยังมีใช้ไปได้อีกอย่างน้อยสองเดือน

ที่บ้านผมเองมีของที่ต้องใช้เป็นประจำเหล่านี้สะสมในระดับที่ใช้งานได้เกินสามเดือนข้างหน้าเสมอๆ ทุกชิ้นล้วนซื้อมาในช่วงที่ค่อนข้างแน่ใจว่าได้ราคาต่ำสุด หลายชิ้นต่ำกว่าราคาเฉลี่ยในตลาดมากกว่าครึ่ง

เมื่อกลับมามองดูต้นทุนการดำรงค์ชีวิตพื้นฐานของผมแล้ว ผมพบว่ารายจ่ายเฉลี่ยสำหรับของพวกนี้ของผมถูกมาก

ผมทำเช่นนี้ได้เพราะมีทุนเพียงพอที่จะบอกว่าการซื้อล่วงหน้าเป็นเวลานาน

ผมนึกถึงสัมภาษณ์นักธุรกิจคนหนึ่ง เขาบอกว่าการทำธุรกิจกับกลุ่มรายได้ต่ำคือการแบ่งขายในขนาดเล็ก แม้จะขายราคาต่อหน่วยแพงขึ้นก็ตาม

แชมพูขวดหนึ่งอาจจะใช้ได้ต่อเนื่องสามเดือนเต็ม ในราคาไม่ถึงร้อย แต่คนรายได้น้อยกลับต้องจ่ายวันละ 5 บาทเพื่อใช้มัน

ความจนอาจจะไม่ได้เกิดจากความพยายามสิ้นเปลืองไปทั้งหมดเสียทีเดียว ความจนอาจจะเกิดจากความไม่มี

เราอาจจะรู้สึกว่าคนจนนั้นโง่ที่ได้เงินมาแล้วไปซื้อมอเตอร์ไซต์ นั้นเป็นเพราะเราอยู่ในเมืองที่มีระบบขนส่งมวลชนซับซ้อนและครอบคลุม

เราอาจจะไม่คิดอย่างนั้น ถ้าทุกครั้งที่เราต้องการเข้าตัวจังหวัด มันหมายถึงการเหมารถกระบะในหมู่บ้านออกไปครั้งละ 300 บาท การสิ้นเปลืองกับสิ่งที่ไม่ใช่ปัจจัยกลายเป็นเรื่องสมเหตุสมผลในทันที

ผมมองขวดแชมพูแล้วแอบคิดในใจ ว่าถ้าคนที่ต้องซื้อซองละห้าบาท เขาสามารถซื้อแชมพูขวดนี้ไปแล้วค่อยๆ จ่ายตามราคาพร้อมดอกเบี้ยได้

ชิวิตเขาคงดีขึ้นไม่น้อย

 

แนวคิดส้นตีน

มันมีแนวคิดอย่างหนึ่งฝังรากมานานในประเทศไทย เป็นแนวคิดปลูกฝังกันมา จนเป็น “แนวคิดส้นตีน” อยู่ในประเทศนี้ เอามันไม่ออก

“เรื่องแค่นี้ทำไม่ได้ แล้วเรื่องอื่นจะไปทำอะไรได้”

นี่คือความส้นตีนสุดยอดในตรรกะของสยามประเทศ เป็นแนวคิดที่ห้ามพิสูจน์ เป็นแนวคิดที่พูดไปถูกมั๊ยไม่รู้ แต่คนพูดดูยิ่งใหญ่ (อาจจะเพราะใช้ส้นตีนคิดมา)

คัดลายมือให้ดียังทำไมได้ แล้วจะไปทำอะไรได้

ตัดผมให้เรียบร้อยยังทำไม่ได้ แล้วจะไปทำอะไรได้

ใส่เครื่องแบบให้ถูกต้องยังทำไม่ได้แล้วจะไปทำอะไรได้

 

แนวคิดส้นตีนนี้ถูกใช้อธิบายความเลวร้ายของสังคมได้อย่างอัศจรรย์ คุณอาจจะเห็นคำอธิบายว่าทำไมเด็กไทย ไม่มีความคิดสร้างสรรค์ เพราะเด็กรุ่นใหม่มันไม่ได้เรื่อง มันไม่อยู่ “ในร่องในรอย” เหมือนคนสมัยก่อน (ที่ก็ไม่ได้มีความคิดสร้างสรรค์อะไรมากมาย)

คนที่อุปโลกตัวเองว่าผ่านน้ำร้อนมาก่อน จะพร่ำพรรณนาว่าในสมัยตัวเองนั้น ทุกคนล้วนอยู่ในวินัย

ไม่มีใครถามว่าไอ้ที่บอกว่า “เรื่องแค่นี้” มันส่งเสริมให้สังคมไปถึงจุดหมายได้อย่างไร

ทุกคนอธิบายเพียงว่ามันเป็นเรื่องเล็กๆ ผ่านไปไม่ยากหรอก อย่าไปตั้งคำถามกับมันสิ แล้วจะผ่านมันไปเอง

 

ส้นตีนเถอะครับ

 

Open Identity

ความเชื่ออย่างหนึ่งของผมคือในท้ายที่สุดแล้ว ระบบ Social Network ทั้งหมดจะพังลงมากลับมาเป็นเว็บอีกครั้ง

การรวมศูนย์ของระบบ Social Network เป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในยุคของ Web 2.0 บริการบล็อกต่างๆ พากันรวมศูนย์เข้าสู่ที่ต่างๆ อย่างรวดเร็ว เว็บที่เคยเป็นการสร้าง HTML ไปอัพโหลดตามที่ต่างๆ กลับกลายเป็นการไปพึ่งพิงอยู่ให้บริการใหญ่ๆ ไม่กี่ราย

แล้วถ้า Social Network จะแตกดับกลับมาเป็นเว็บอีกทีจะเป็นอย่างไร?

ผมเองเชื่อว่า Social Network มันคือเรื่องของปฎิสัมพันธ์ มันคือการ “เม้น status” และการ “mention” กันไปมา (แม้ผมจะเล่น Social Network แบบไม่ mention ก็ตาม)

ทุกวันนี้ผู้ให้บริการอย่าง Facebook ให้บริการปุ่ม Like ในเว็บต่างๆ และ Comment Box สักวันหนึ่งบริการเหล่านี้จะขยายตัวออกไปจากการบีบคั้นด้วยการแข่งขัน ทำให้ผู้บริการเหลา่นี้ต้องยอมกับกิจกรรมหลายๆ อย่างที่อาจจะไม่ได้ดึงคนไว้ในเว็บตัวเอง

อนาคตเราน่าจะ mention กันไปมาจากในบล็อกของเราเองได้ ระบบน่าจะเปิดพอที่เราจะอ้างถึงคนจาก Social Network ใดๆ ในหน้าเว็บใดๆ ได้ อาจจะมีคน mention ถึงเรา บริการ Social Network เหลือหน้าที่คือการรวบรวมและคัดกรองว่าจะเตือนเราเมื่อมีคนพูดถึงเราเมื่อใด มีการโต้ตอบถึงเราในที่ใดๆ หรือไม่

จริงๆ แล้วแนวคิดนี้ของ Google Plus ก็แอบย่องๆ ทำไปแล้ว ด้วย rel-author สักพักเมื่อมันเสร็จ เราน่าจะได้เห็นอะไรรูปแบบเดียวกับการ mention กันในเว็บได้แทบทุกแห่ง