ขอ

ผมไม่เจอคนขอเงินข้างทางนานมากแล้ว และวันนี้ผมก็พบอีกครั้ง กับเรื่องราวที่น่าเชื่อถือ จนผมลังเลใจว่านี่เป็นเรื่องจริงหรือไม่

ผมจำได้ว่านี่เป็นครั้งที่สองที่ผมไม่ได้เงินคนเหล่านี้ไป

นานมาแล้วผมเคยคิดว่า ให้ๆ ไปเถิด ใครจะรู้ว่าอาจจะมีสักคนที่เขาต้องการเงินนี้จริงๆ และเงินจำนวนนี้มันก็ไม่ได้เกินกำลังอะไรผมไป

ชายกลางคนๆ หนึ่ง เคยมาขอเงินกลับบ้านแถวหอสมัยผมเรียนปริญญาตรี นับเป็นครั้งแรกๆ ที่ผมพบกับคนเหล่านี้ในยามวิกาล (เกือบเที่ยงคืน)

ผมให้เงินเขาไปจนมากพอที่จะเดินทาง (แบบลำบากๆ หน่อย) ไปที่ไหนก็ได้ในกรุงเทพฯ

หลายเดือนผ่านไป ผมเห็นเขาที่เดิม ในเวลาวิกาลอีกครั้ง

อีกครั้งหนึ่งผมพบชายคนหนึ่งระบุตัวเองว่าเป็นทหารกำลังกลับภูมิลำเนา เป็นอีกครั้งที่ผมให้เงินเขา

และเป็นอีกครั้งที่ผมพบชายคนนั้นที่เดิมในเวลาต่อมา

บางทีคนเราก็อาจจะเรียนรู้ที่ต้องใจร้าย?

ผมไม่แน่ใจว่าผมทำถูกต้องหรือไม่ แต่ผมพบว่าการให้ของผมกำลังเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสังคมที่เลวร้าย

คนเหล่านี้ขอเงินใครบ้าง อาจจะไม่ใช่ชายร่างค่อนข้างใหญ่อย่างผมเสมอไป

จะเกิดอะไรขึ้นถ้าผู้ถูกขอเป็นผู้หญิง

จะเกิดอะไรขึ้นถ้าคนเหล่านั้นต้อง “ให้” ด้วยความกลัว

ผมอ้่าปากจะเสนอ “การสื่อสาร” (โทรศัพท์นั่นล่ะ) ให้กับผู้ขอวันนี้ อย่างน้อยถ้ามันเป็นเรื่องจริง การสื่อสารคงเป็นเรื่องสำคัญ

“เธอ” ปฎิเสธ…

ผมไม่แน่ใจว่าเรื่องของเธอเป็นเรื่องจริงหรือไม่

ผมไม่แน่ใจจริงๆ

แต่ผมแน่ใจว่าผมจะไม่เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสังคมนี่น่ากลัวเช่นที่ผมมีส่วนมาอีกต่อไปแล้ว

 

ว่าด้วยความดี

ผมว่าจะเขียนเรื่องนี้อยู่หลายครั้ง แต่มาถูกกระทุ้งอีกที่ตอนที่กระทู้ “ทำไมมีแต่คนเกลียด microsoft” ถูกขุดขึ้นมา

ผมไม่ทราบแน่ว่าความเกลียดแบบนี้มันเริ่มมาจากตรงไหน แต่คงไม่เกินไปถ้าผมจะคิดว่ามันเป็นเพราะไมโครซอฟท์ “ขาย” ซอฟต์แวร์ในราคาที่คนไทยบ่นๆ กันว่าแพง ที่น่าสนใจกว่าคือ กูเกิลนั้นดูจะอยู่ฝ่ายเทพเสมอจนน่าเอียนๆ

ผมเคยได้คุยกับ Vic Gundotra อยู่ครั้งหนึ่งเมื่อเขามาทัวร์เก็บความเห็นเกี่ยวกับ Android และโลกโมบายในแถบเอเซียตะวันออกเฉียงใต้นี้ (ตอนนั้นเขาแง้มเหตุผลที่ Google Maps มีภาษาไทยว่าเพราะมีคนใช้มาก “อย่างคาดไม่ถึง”)

เขาถามคนในห้องว่าทำไมกูเกิลจึงอยากทำ Android และอยากให้คนใช้ Android? มีคนในห้องตอบว่า “เพราะกูเกิลเป็นคนดี”

คำตอบที่กลับมา “ใช่ เราอยากเป็นคนดี … แต่สำคัญกว่านั้นคือเรามีแรงจูงใจทางเศรฐกิจ”

แรงจูงใจทางเศรษฐกิจ….

ผมพบว่าคุณจะเข้าใจทุกอย่างได้ง่ายขึ้น ถ้าเรามองอะไรง่ายๆ เช่นถ้าเราตั้งคำถามว่าบริษัทยักษ์ใหญ่เช่นไมโครซอฟท์, กูเกิล, ออราเคิล หรืออโดบีนั้นทำทุกอย่างเพื่ออะไร

ทุกบริษัทเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ มีการซื้อขายหุ้นกันทุกวัน

กิจกรรมของบริษัทนั้นเป็นไปเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของผู้ถือหุ้น ไม่มีอะไรยากไปกว่านั้น และผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นนั้นแทบทั้งหมดคือกำไร มีบ้างที่เป็นอย่างอื่น เช่นเมื่อครั้ง New York City Pension Funds เสนอให้กูเกิลทำตามหลักหกข้อเพื่อพิทักษ์สิทธิในการแสดงความเห็น ครั้งนั้นผู้เรียกร้องมาในนามของผู้ถือหุ้น 8 เปอร์เซนต์กว่าๆ (เข้าใจว่าไปล็อบบี้นอกรอบยืมเสียงหุ้นมา)

แน่นอน คนที่เชื่อว่า PowerPC ดีกว่า x86 เพราะมันเป็นจิตวิญญาณ อาจจะยับยั้งการเปลี่ยนมาใช้ x86 ได้ง่ายๆ ถ้าคุณมีหุ้นมากพอ

บริษัทต่างๆ ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดี เพื่อที่จะมีหน้าไปบอกผู้ถือหุ้นได้ว่ารอบปีหนึ่งๆ พวกเขาทำอะไรกันบ้าง

ผลประโยชน์นั้นมีทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ระยะสั้นก็คงเป็นกำไรที่เห็นๆ กันอยู่ ระยะยาวนั้นคืออิทธิพลบริษัทในตลาด เพื่อผลกำไรในระยะยาวต่อไป

ผู้ถือหุ้นไมโครซอฟท์อดทนต่อสภาพตัวแดงเถือกตลอดหลายปีที่ผ่านมาของ Xbox ได้เพราะเล็งเห็นว่ามันจะเริ่มแสดงตัวเขียวในวันนี้ และหวังว่าปีหน้ามันจะเขียวมากๆ (แต่ถ้าไฟแดงยังเถือกอยู่อย่างนี้อาจจะลำบากหน่อย)

กูเกิลต้องการดึงผู้ใช้เข้าหาตัว ยิ่งคนใช้กูเกิลมาก โอกาสทำกำไรก็ยิ่งมาก กูเกิลเลยผู้ทุกคนไว้กับตัว Android รุ่นที่ผูกกับกูเกิลมากๆ นั้นแทบใช้อะไรไม่ได้ถ้าคุณไม่มี Google Account แถมด้วยการที่กูเกิลควบคุมแพลตฟอร์มได้ ทำให้หากกูเกิลคิดบริการแปลกประหลาดใหม่ๆ (เช่น Wave) ก็สามารถดันลงไปสู่เครื่องลูกข่ายได้โดยเร็ว (ผ่าน Android, Chrome) ทั้งหมดกลับมาเป็นความได้เปรียบในการแข่งขันและกำไร

อโดบีนั้นก็ไม่ต่างกัน แม้จะมีกำไรจาก “ชุดพัฒนา” เสียมากกว่า การปล่อยให้แพลตฟอร์มหลักตกไปอยู่ในมือของกูเกิลหรือไมโครซอฟท์ ซึ่งจะทำให้อโดบีไม่สามารถเป็นผู้นำได้ ก็ยอมไม่ได้เช่นกัน อโดบีจึงทุ่มทุนมหาศาลดึงคนมาอยู่ใน Flash ไม่ว่าจะเป็น AIR หรือ Flex

ความดีในภาพเหล่านี้คืออะไรกัน ในโลกทุนนิยมความดีคือผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น แม้มันจะดูเลือดเย็น แต่มันเป็นความจริง

แต่ความจริงอีกด้านหนึ่งแล้ว หากบริษัทเหล่านี้ไม่ทำเพื่อกำไรสูงสุด ภาพที่เกิดขึ้นกลับไม่ใช่เศรษฐีรายใหญ่หมดตัวเสมอไป แต่กลับเป็นภาพของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของคนทำงานมายี่สิบสามสิบปีที่กำลังหายวับไปกับตา เป็นภาพของคนชั้นกลางธรรมดาๆ ที่ต้องหมดเนื้อหมดตัว…

ความดีในโลกธุรกิจคืออะไรกัน?

 

The Cardinal of Kremlin

ตามโครงการ “เราจนเกินไปที่จะอ่านหนังสือภาษาไทย” ของผมเอง เล่มต่อมาที่อ่านคือ Tom Clancy: The Cardinal of Kremlin

288 บาทจากคิโนะฯ ไร้ส่วนลดใดๆ… กับความหนา 540 หน้า

เล่มนี้เป็นภาคต่อของ The Hunt for the Red October ที่หลายคนคงดูในหนังกันมาแล้ว ถ้ายังไม่เคยดู… จงหามาดู เพราะเป็นหนังที่ผมชอบมาก ไม่พูดพล่ามทำเพลง ผมสปอยย่อๆ ก่อน

  • เนื้อเรื่องเริ่มจาก CIA มีสายข่าวคนในที่ใหญ่มากในกองทัพรัสเซีย ชื่อรหัสว่า CARDINAL (ในเรื่องเขียนตัวใหญ่ และเป็นที่มาของชื่อเรื่อง)
  • CARDINAL ขายข่าวให้ CIA มาหลายสิบปี ทำไปทำมาจะโดนจับได้เอา
  • Ryan เด็กใหม่ เก่งโคตร และโชดดีฉิบหาย เดาอะไรก็ถูกเข้ามาบอกว่า ต้องช่วย CARDINAL ออกมาให้ได้ทุกราคา
  • ตัดจบเลย หลังจากโคตรลุ้น และเกือบจะพลาดอยู่แล้ว CIA ก็ชนะทุกอย่าง Happy Ending
  • เนื้อเรื่องกาโม่มากๆ
  • ตอนจบ CARDINAL แก่ตาย เสี่ยงชีวิตคนเป็นโหลช่วยมาแป๊บเดียวมันตายเองเลย

ประเด็นสำคัญไม่ใช่ตรงนั้น คำถามสำคัญของผมในเรื่องนี้คือ CARDINAL เลวไหม?

ในเรื่อง CARDINAL เป็นนักรบสามสมรภูมิ ได้เหรียญ Hero of the Russian Federation สามเหริยญรวด เขาทำทุกอย่างเพื่อปกป้องประเทศ ทุกอย่างรวงมถึงการทรยศต่อชาติ เขาเชื่อว่าการทำให้ประเทศของเขาเองพ่ายแพ้ทางการทหาร จะเป็นการปกป้องประเทศของเขาได้ดีที่สุด

อ่านแล้วผมโคตรซึ้งเรื่อง Zipang ที่บอกว่าญี่ปุ่นต้องก่อสงครามเพื่อแพ้สงครามก็คราวนี้

ในสมรภูมิที่ด้านหนึ่งแล้วทุกคนเป็นศัตรูกัน สหรัฐฯ เองเป็นศัตรูกับรัสเซีย ส่วนคนรัสเซียนั้นเป็นศัตรูกับ CARDINAL เพราะมองว่าทรยศชาติ

เราจะยังคงให้เกียรติกันและกันในฐานะคนที่เชื่อในอะไรบางอย่าง และต่อสู้เพื่อสิ่งที่ตนเองเชื่ออย่างกล้าหาญได้หรือไม่?

One way or another we all fight for the things we believe in. – Jack Ryan

Hero of the Russian FederationHero of the Russian Federation
 

My Personas

My Personas

My Personas

Personas เป็นโครงการของทาง MIT Media Lab (เจ้าของเดียวกับ OLPC ที่เจ๊งๆ ไปแล้ว) ประเด็นมีแค่การหาชื่อคนแล้วทำ signature ความเกี่ยวข้องออกมาเป็นสีสวยๆ แต่ภายใต้มันอาศัยงานวิจัยด้าน NLP ที่ค่อนข้างทรงพลัง แถมด้วยการทำ Data Mining

น่าสนใจมากว่าถ้าทำ Data Mining แบบเยอะๆ กว่านี้เราอาจจะได้ข้อมูลอะไรๆ ที่น่าสนใจกว่านี้ เช่นว่า DNA ของคน Blognone อะไรอย่างนั้น