กี่นาที

เรื่องที่บ้านเราทำกันไม่ค่อยได้คือการไปให้ตรงนัดแบบพอดีเป๊ะๆ สมัยก่อนนั้นเราคงอ้างได้ว่ากรุงเทพฯ รถมันติด แต่สมัยนี้แม้จะทำงานในกรุงเทพฯ ที่เป็นแนวรถไฟฟ้า เราก็ยังคงเห็นการไม่ตรงเวลาอยู่นั่นเอง

เรื่องระเบียบคนก็ต้องสร้างกันไป แต่เรื่องหนึ่งที่บ้านเราไม่มีคือข้อมูลพื้นฐานประกอบการวางแผน เรามีโฆษณา BTS ที่โฆษณาว่าเร็วสารพัด หรือโฆษณา MRT ว่ามาตรงเวลาถึง  95% แต่เราไม่สามารถบอกได้ว่าถ้าเราไปถึงประตูรถไฟฟ้าแล้วเราจะถึงปลายทางในกี่นาที และเราต้องเผื่อเวลาไว้เท่าใหร่

เมื่อวานเลยลองจับเวลาแต่ละสถานีเล่นๆ จากหมอชิตไปอโศก

  1. หมอชิต (0.00) จุดเริ่มต้น
  2. สะพานควาย (+2.11)
  3. อารีย์ (+2.09)
  4. สนามเป้า (+1.43)
  5. อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ (+2.34)
  6. พญาไท (+1.47)
  7. ราชเทวี (+1.36)
  8. สยาม (+2.08)
  9. ชิดลม (+2.31)
  10. เพลินจิต (+1.33)
  11. นานา (+1.44)
  12. อโศก (+1.31)

ถ้ามีแผนผังทั้งระบบรถไฟอีกหน่อยเวลาใครโทรตามเราจะได้ไม่ต้องบอกส่งเดชว่า “อีก 5 นาที” แค่ดูจำนวนป้ายแล้วบวกเวลากันประมาณไปได้เลย

 

ด้วยความกรุณา

ช่วงหลังๆ นี้มีเรื่องต้องเขียนเกี่ยวกับสิทธิพื้นฐานหลายๆ อย่าง และต้องถกกับหลายๆ คนในเรื่องนี้ ผมพบว่าคนไทย แม้จะเป็นคนมีความรู้เอง ยังมองไม่ออกในเรื่องของสิทธิพื้นฐาน

เรายังอยู่กับความคิดของบุญกรรม เรายังไม่รู้สึกรับผิดชอบอะไรที่มีใครบางคนในสังคมเดียวกับเราไม่ได้รับสิทธิอะไรบางอย่าง

คนเหล่านั้นไม่ใช่คนชั่วร้ายอะไร คนจำนวนมากเป็นคนดีที่ผมคงบอกได้ว่าเป็นคนดีมากกว่าผม เขาพร้อมจะสละหลายๆ อย่างเพื่อแสดงความ “กรุณา” แก่ผู้ด้อยโอกาสที่เขาเห็นว่าสมควรจะได้รับ

แต่สิทธิไม่ใช่เรื่องการควรได้หรือไม่ควรได้ สิทธิพื้นฐานมันคือเรื่องของสิ่งที่คุณจะได้เองทันที เมื่อคุณเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่รับรองสิทธิพื้นฐานเหล่านั้น ไม่ว่าคุณจะยากดีมีจน ไม่ว่าคุณจะน่าสงสารหรือสมประกอบ

เด็กทุกคนต้องได้รับการศึกษาที่ดี ไม่ว่าจะมีคุณย่าป่วยต้องหาเลี้ยงอยู่ที่บ้านหรือไม่ คนไทยทุกคนต้องเข้าถึงการปัจจัยพื้นฐานได้แม้เขาจะเป็นนักโทษฉกรรจ์ในเรือนจำก็ต้องได้รับการรักษาโรค สิทธิผู้บริโภคไม่ใช่สิทธิตามแต่ผู้ให้บริการจะทำให้ได้เมื่อสะดวก แต่เป็นสิ่งที่ผู้ให้บริการต้องจัดหาให้พร้อมก่อนจะให้บริการ

การมองสิทธิว่าทุกคนต้องได้รับจึงไม่ใช่เรื่องของความกรุณา มันเป็นเรื่องของการเชื่อว่าทุกคนควรได้รับเท่าๆ กันจริงๆ ไม่ว่าจะน่ารังเกียจ หรือไม่สมควรได้เพียงใด

วันหนึ่งสังคมเราคงมองมันออก และเปลี่ยนความคิดไป

 

พื้นที่เปิดโล่ง

หนึงในนโยบายทางการศึกษาที่ผมเห็นการเริ่มต้นของมันด้วยตา และมองว่ามันเส็งเคร็งที่สุดคือนโยบายทรานสคริปต์กิจกรรม

กิจกรรมเป็นสิ่งที่ดีแน่นอน ผมเองสนับสนุนให้น้องๆ ทำกิจกรรมเรื่อยมา แต่มันไม่ใช่มันดีเพราะมันเป็นกิจกรรม กิจกรรมไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์แห่งการศึกษา

กิจกรรมคือการสร้างพื้นที่ “เปิดโล่ง” ให้กับสถานศึกษา มันคือสิ่งที่ใช้เรียกการกระทำ “อะไรก็ได้” ตามแต่ที่ตัวคนเรียนจะเห็นสมควร ภายใต้กรอบที่กว้างที่สุดเท่าที่สถานศึกษาจะเปิดพืนที่ให้ได้

การศึกษาที่เคารพผู้เรียนว่าไม่โง่งี่เง่าจนคิดอะไรไม่ออก ควรเปิดพื้นที่ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ วิชาเลือกต่างๆ ควรมีความหลากหลายและเพียงพอที่คนเรียนจะเลือกเส้นทางของตัวเองได้อย่างกว้างขวาง แต่กระนั้นแม้การสร้างทางเลือกให้มากมายแล้วก็ยังมีบางอย่างที่เกินกว่าจะสร้างทางเลือกในฐานะ “วิชา” ในสถานศึกษาไปได้

นั่นคือต้องมีกิจกรรม

ในภาวะที่หน่วยงานการศึกษาไทยจำนวนมากมีทรัพยากรจำกัดจำเขี่ย ผู้บริหารไร้ศักยภาพแม้แต่จะจัดสรรวิชา “บังคับ” ให้มีเพียงพอต่อการเรียน กลับเกิดภาวะแย่งกันเรียนจนแทบจราจลทุุกปี เราจะเชื่ออะไรกับคนกลุ่มนี้ที่มาพูดเรื่องความหลากหลาย

สิ่งที่พวกเขาทำไม่ใช่ความหลากหลาย สิ่งที่พวกเขาทำคือการสร้างสิ่งศักดิ์สิทธิขึ้นมาให้คนกราบไหว้

พวกเขาเลือกกิจกรรมขึ้นมาเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พวกเขาสร้างภาพสิ่งที่เรียกว่าเป็นกิจกรรมให้สำเร็จรูป ตามภาพความเชื่อของพวกเขา กิจกรรมถูกบีบให้กลายเป็นสิ่งที่พวกเขามองว่าเป็นกิจกรรม สิ่งอื่นๆ นอกจากนั้นกลายเป็นสิ่งที่ไม่มีที่ยืน

ทุกอย่างมันย้อนกลับไปที่คำถามเริ่มต้น คุณเชื่อในคนเรียนแค่ไหน หรือคุณเห็นเขาเป็นแค่กระดาษที่รอการพิมพ์เนื้อความลงไป

 

Open Deeds

ความหลากหลายของอินเทอร์เน็ตทำให้คนจำนวนมากมาเจอกันทั้งที่เขาเหล่านั้นอาจจะไม่มีวันได้เจอกันเลยในโลกความเป็นจริง พวกเขาถูกเชื่อมโยงเข้าด้วยกันในมิติที่ต่างออกไปจากคนยุคก่อนหน้า แทนที่จะเจอกันจริงๆ เพื่อทำความรู้จัก แต่คนในยุคนี้และยุคต่อๆ ไปจะเจอคนตามเรื่องราวความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ

ปัญหาอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นคือความแตกต่างระหว่างกลุ่มคนที่มาเจอกันนั้นจะมากขึ้นเรื่อยๆ การรู้จักกันตัวจริงๆ เรามีข้อมูลมากมายที่จะคาดเดาฝ่ายตรงข้ามได้ เราประเมินอายุ เพศ ศาสนา รสนิยม ฯลฯ ได้ทันทีที่พบกัน  แต่ในอินเทอร์เน็ต ทั้งหมดกลายเป็นเพ่ียงตัวอักษร

เมื่อทำความรู้จักกันบนโลกความเป็นจริง เรามีโอกาสที่จะปรับตัวล่วงหน้า ระมัดระวังในบางเรื่อง

ช่วงนีคิดถึงเรื่องของการ “ประกาศตัว” เพื่อให้คนที่เข้ามาพูดคุยด้วยได้รู้ว่าตัวตนเบื้องต้นของเราเป็นอย่างไร เพื่อให้คนอื่นๆ สามารถทำความเข้าใจได้ดีขึ้น เช่น

  • ผมมองว่าการ unfollow/unfriend ไม่ได้แปลว่าไม่พอใจกัน
  • ผมรับไม่ได้ต่อการพูดคำหยาบ
  • ผมรับได้ต่อการพูดเรื่องเพศ
  • ฯลฯ

เราอาจจะสร้างหน้าเว็บสำหรับแนวทางแคบๆ เหล่านี้ขึ้นมา แต่ละแนวทางแคบๆ เช่นนี้มีโลโก้ของมันเองอย่างชัดเจน มีคำอธิบายที่เข้าใจได้ภายในไม่กี่ประโยค

รูปแบบนี้เป็นรูปแบบเดียวกับ Creative Commons ที่มี deed ให้อ่านเข้าใจได้ง่ายๆ และมีโลโก้ให้แต่ละคนแสดงตัวได้อย่างชัดเจน

การขยายแนวทางนี้ออกไปให้ไม่จำกัดอยู่แค่ลิขสิทธิ์ แต่เป็นแนวทางในสังคมร่วมกัน ในเว็บหนึ่งๆ เองก็อาจจะประกาศแนวทางของตัวเองด้วย deed ชุดหนึ่ง ระบบทั้งหมดอาจจะทำให้คอมพิวเตอร์อ่านเข้าใจได้ (เป็น semantics) เราอาจจะมีเบราเซอร์ตรวจสอบแนวทางของเว็บ และตรวจสอบว่าเข้ากับแนวทางส่วนตัวของเราหรือไม่ เมื่อเราเข้าเว็บใดๆ เราอาจจะได้รับคำเตือนเช่น “เว็บนี้ยอมรับได้กับการเซ็นเซอร์เนื้อหาแม้ไม่ขัดแต่กฏหมาย แต่ …….. แนวทางทางนี้จะขัดต่อแนวทางของคุณว่าการเซ็นเซอร์ต้องเป็นไปตามกฏหมายเท่านั้น” เป็นต้น