Amazon Prime

1459344_10153039924707952_3537906946775579286_n

ไม่เกี่ยวกับภาพ แค่เป็น Forbes Asia เล่มเดียวกับที่มีบทความน่าสนใจเรื่องของอเมซอน

ประเด็นว่าอเมซอนยอมขาดทุนเพื่อสร้างฐานไว้ทำกำไรตอนหลังเป็นเรื่องที่รู้กันดี (แนวคิดของ Bezos ในหนังสือ The Everything Store คือบอกว่าถ้าตั้งราคากำไรตั้งแต่แรก คนอื่นก็ทำได้เหมือนกัน) แนวคิดหนึ่งที่ไม่ค่อยเข้าใจคือ Amazon Prime ที่จ่ายเงินก่อนรายปี แล้วจะได้บริการส่งแบบด่วนฟรี ว่าทำแล้วจะกำไรได้ยังไง แม้จะชิงฐานลูกค้าที่ซื้อเยอะเอาไว้ แต่แปลว่าทุกครั้งที่ลูกค้ากลุ่มนี้ยิ่งซื้อ ยิ่งสร้างรายจ่ายไปเรื่อยๆ

ปรากฎว่า Amazon Prime มีส่วนกลับของมันอยู่คือ Fulfillment by Amazon ที่อเมซอนรับเก็บสินค้า และส่งสินค้าให้ โดยคิดค่าบริการจากผู้ค้า อเมซอนเอาลูกค้า Prime เองไปจูงใจให้ร้านต้องมาจ่ายค่าเก็บสินค้าและจัดส่งให้เองเพราะไม่อย่างนั้นลูกค้าที่เข้าผ่านอเมซอนจะไม่ยอมกด (เพราะไม่ได้ส่งฟรี)

แนวทางแบบนี้บริษัทเล็กๆ ทั้งรักและเกลียด ในแง่หนึ่งบริษัทเล็กๆ ที่ทำสินค้าโดนใจขึ้นมาสามารถเข้าถึงลูกค้ากำลังซื้อสูงได้อย่างรวดเร็ว แต่อีกทางหนึ่งบริษัทกลุ่มนี้ก็ต้องเสียค่าบริการให้กับอเมซอนไปเรื่อยๆ

แนวทางแบบนี้ตัวอเมซอนเองจะ “บาง” ลงจากเดิมที่เป็นร้านค้าออนไลน์ กลายเป็นหน้าร้านรับจ่ายเงินและบริษัทขนส่งแทน ตัวอเมซอนไม่ต้องรับผิดชอบสินค้าค้างสต็อก สินค้าค้างสต็อกคือรายได้ของ Amazon บริษัทที่นำของมาขายต้องจ่าย บริษัทผู้ผลิตเองต้องรับผิดชอบประมาณสินค้าเองว่าจะสต็อกสินค้ามากน้อยแค่ไหน และหากอเมซอนใหญ่พอที่จะกดค่าใช้จ่ายให้กำไรจากเงินที่เก็บจากผู้ขายได้งานนี้ธุรกิจของอเมซอนก็จะกลายเป็นบริษัทลอจิสติกแบบครบวงจร

โครงสร้างแบบนี้คู่แข่งจากจีนอย่าง Alibaba ยังไม่มี

 

Computation of Things

ยุคนี้หัวข้อทางคอมพิวเตอร์ที่คนพูดถึงกันมากหัวข้อหนึ่ง คือ  Internet of Things ที่เราเริ่มจะเชื่อว่าในอนาคตอันใกล้ อุปกรณ์รอบตัวเราจะเริ่มเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตกันหมด ทำให้เราสามารถควบคุมสิ่งต่างๆ ตรวจสอบสภาพการทำงาน หรือใช้งานสิ่งของรอบตัวในรูปแบบใหม่ๆ ที่เราไม่เคยใช้งานมาก่อน (เช่น การแชร์สิทธิ์เปิดประตูให้เพื่อนที่มาบ้านเราชั่วคราว)

แม้จะตื่นเต้นกับรูปแบบการใช้งานและแพลตฟอร์มการพัฒนาที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สมัยนี้ Arduino Leonardo สั่งมาถึงบ้านแค่สองร้อยกว่าบาทพร้อมใช้ เมื่อก่อนชิปเปล่าๆ ยังเกินสามร้อย แต่โดยส่วนตัวแล้วผมเองยังสงสัยว่าคนเราะยอมรับการที่อุปกรณ์รอบตัวของเราเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตมากขนาดนั้นจริงๆ หรือ? เราอยากมีข้อมูลว่าเราเปิดเครื่องทำน้ำอุ่นกี่โมง ปิดไฟกี่โมง แล้วให้ข้อมูลพวกนี้ไปอยู่บนอินเทอร์เน็ตแม้จะเป็นเซิร์ฟเวอร์ในบ้านที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเอง อย่างนั้นจริงๆ หรือ

อย่างไรก็ดี ผมเชื่อเสมอว่าในยุคต่อๆ ไป อุปกรณ์รอบตัวของเราจะฉลาดขึ้นเรื่อยๆ ความฉลากนั้นอาจจะไม่ได้มาจากการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตแต่มาจากการใส่คอมพิวเตอร์ลงไปในอุปกรณ์ที่เราไม่เคยใส่มาก่อน เราจะชินกับรูปแบบการใช้งานใหม่ๆ และวันหนึ่งเราจะคาดหวังว่าจะฟีเจอร์ฉลาดเหล่านี้กลายเป็นฟีเจอร์พื้นฐานของอุปกรณ์รอบตัว

ตัวอย่างความฉลาดที่เราเห็นอยู่ทุกวันเช่นแอร์ที่เริ่มควบคุมอุณหภูมิได้อย่างแม่นยำในช่วงสิบปีมานี้ แอร์เหล่านี้ไม่ได้ทำงานตรงๆ แบบ เบา ปานกลาง แรง อีกต่อไป แต่มีระบบตอบสนองต่อโลกภายนอกและปรับการทำงานตามสภาพความเป็นจริง

เราเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้บ้างแล้ว ฝักบัวแสดงอุณหภูมิน้ำที่กำลังออกมาเริ่มได้รับความนิยมในจีนและคงทะลักเข้ามาในบ้านเราอีกไม่ช้า  อนาคตเราน่าจะคาดหวังให้ก็อกน้ำบอกอุณหภูมิกันได้ ประตูแบบบัตร RFID เริ่มได้รับความนิยมอย่างสูง (จนน่าวิตก เพราะหลายครั้งความปลอดภัยดูจะไม่เพียงพอ)

แพลตฟอร์มฮาร์ดแวร์ราคาถูกจะทำให้อุปกรณ์เหล่านี้เกิดใหม่ ทดลองการใช้งานแปลกๆ ได้ในต้นทุนที่ไม่แพง เช่นเดียวกับพีซีที่ทำให้คนทั่วไปเข้าถึงคอมพิวเตอร์ได้ง่ายขึ้ง และแอนดรอยด์ที่ทำให้คนทั่วไปเข้าถึงคอมพิวเตอร์พกพาได้เป็นวงกว้าง คนทั่วไปเหล่านั้นหมายถึงพัฒนารายย่อยที่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีเหล่านี้ได้ด้วยเช่นกัน ในสมัยพีซีมันทำให้ธุรกิจขนาดเล็กเข้าถึงคอมพิวเตอร์ได้ พร้อมกับบริษัทซอฟต์แวร์ขนาดเล็กที่เกิดขึ้นมากมาย ในสมัยแอนดรอยด์เราเห็นบริษัทหรือ Freelance รับงานพัฒนาแอพพลิเคชั่นโทรศัพท์มือถือ

 

Good bye my monitor…

6-20-08-e2200hda_1

จอภาพ BenQ 21.5″ เป็นของชิ้นนึงที่รู้สึกว่าคุ้มมากที่ซื้อมา มันเป็นจอแรกๆ ในตลาดที่ความละเอียดเป็น Full HD แต่ราคาต่ำหมื่น (ตอนซื้อมาน่าจะ 7-8,000 บาท) แม้ว่าคุณภาพภาพจะไม่ดีนักเพราะเชื่อมต่อ VGA ถ้าวันไหนมีสัญญาณรบกวนข้าหน่อยภาพก็เป็นริ้วขึ้นมาเลย รวมถึงคอมพิวเตอร์บางตัวไม่รองรับภาพ 1080p ผ่าน VGA เสียอีก

แต่โดยรวมแล้วมันทำงานได้ดี เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในได้อย่างคุ้มค่าราคาทุกบาทของมัน ปัญหาเล็กๆ น้อยๆ มองข้ามไปได้ไม่ยากถ้ามองถึงราคาละหากคุณใช้กับงานเขียนโปรแกรมแล้วสิ่งที่คุณต้องการก็แต่พื้นที่การทำงานเยอะๆ มันอยู่ทนนานเรื่อยมาแม้ผมจะเปลี่ยนคอมพิวเตอร์ไปแล้วเกือบครึ่งโหลตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา

ทุกวันนี้ผมปลดมันเป็นจอภาพสำรอง และจอภาพหลักใช้ monitor ที่มี HDMI ทั้งหมดแล้ว

แต่ก็น่ายินดีที่ได้เจอกับมัน

 

Sticurity

1415023199517

แนวคิดนี้ของ LINE น่าสนใจมาก เราสามารถสนับสนุนให้คนทำตัวเองให้ปลอดภัย ด้วยการตั้งจ่ายค่าตอบแทนความปลอดภัยกันโดยตรง

ลองคิดดูในอนาคตองค์กรอาจจะให้โบนัส 500 บาททุกเดือนถ้าพนักงานเปลี่ยนรหัสผ่าน เพิ่มอีกร้อยถ้ารหัสผ่านได้คะแนนระดับดีมาก

พนักงานน่าจะยอมทำตามนโยบายกันไม่ต้องวุ่นวายไปนั่งบังคับ