Wearable Computing

ได้ลองใช้ Pebble Time มาพักใหญ่ๆ จดโน้ตความคิดเกี่ยวกับมันสักหน่อย

  • ปัญหาของ Wearables โดยรวมคือไม่มี killer app ใหม่ๆ ผ่านมาสามปี การใช้งานที่คิดออกตอนนั้น ตอนนี้ก็เท่าเดิม
  • การใช้งานที่ใช้ได้จริงของ Wearable ถูกจำกัดอยู่ที่ นับก้าว, ดู notification, และตอบข้อความแบบง่ายๆ
  • ผ่านไปหลายปี สิ่งที่เพิ่มขึ้นมาคือความเนียนในการใช้งาน ไม่มีการใช้งานใหม่ๆ เพิ่มเติม อาจจะขยายไปบ้าง นับก้าวอาจจะจับการเต้นหัวใจได้ด้วย, การดู noti อาจจะทำได้หลากหลายแอพขึ้น, การตอบข้อความอาจจะดีขึ้นหน่อย แอปเปิลใช้มือวาด Pebble ตอบด้วยเสียง
  • ต่างจากในสมัยของโทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ต เราเห็นแนวทางการใช้งานใหม่ๆ ที่ฉีกออกไปเกิดขึ้นเรื่อยๆ โทรศัพท์เอามา เล่น social, chat, video call, เกมรูปแบบใหม่ๆ ฯลฯ แนวทางการใช้งานที่แปลกออกไปเกิดขึ้นแทบทุกปีอย่างต่อเนื่อง อย่างหลังๆ ก็นับก้าวได้แล้วด้วย
  • Wearable เลยเกิดได้ในวงจำกัดในฐานะ Wearable (ไม่ใช่ในฐานะเครื่องประดับ) น่าสนใจว่าถ้ามีสถิติการใช้งาน ปริมาณการใช้งานจริงก็น่าจะยิ่งต่ำลงไปอีกเพราะคนซื้อไปเป็นเครื่องประดับกันส่วนหนึ่ง ใส่แล้วได้ watch face แปลกๆ ทุกวันก็เป็นเรื่องน่าสนุกดีสำหรับหลายๆ คน
  • ลองใช้งานดูพบว่าโทรศัพท์เป็นคู่แข่งสำคัญ ระยะเวลาหยิบโทรศัพท์มาทำ operation ที่ซับซ้อน เช่น ตอบอีเมล ไม่ได้นานขนาดนั้น อาจจะปลดล็อก 5-10 วินาที wearable ต้องแข่งกับระยะเวลานี้ ต่างจากโทรศัพท์และแท็บเล็ตที่แข่งกับเวลาเปิดคอมที่อาจจะหลายนาที
  • การดู noti แบบชายตามองว่าใครส่งข้อความมาเป็นการใช้งานที่มีประโยชน์จริง แต่พอจะเริ่ม reply ก็เริ่มตั้งคำถามทันทีว่าคุ้มไหม Pebble Time กว่าจะส่งหน้ายิ้มไปได้ใช้การกด 3-5 ครั้ง
  • แอพที่จะเกิดได้จริง คือแอพที่ไม่คุ้มที่จะหยิบโทรศัพท์ขึ้นมา การ interact ต้องใช้เวลาสั้นมากๆ สั้นกว่าการปลดล็อกโทรศัพท์
  • UI อาจจะต้องเปลี่ยนไปอีกจากนี้ เราอาจจะต้องทำ operation ที่ซับซ้อนขึ้นแต่ใช้เวลา interact สั้นลง เช่นเราอาจจะส่งข้อความไปหาเพื่อโดยรู้ว่าเพื่อนใช้ wearable แล้วสามารถสร้างตัวเลือกที่ตอบได้ในคลิกเดียวได้เลย (ไปไหม Y/N อะไรแบบน้น)
  • แอพพลิเคชั่นใหมๆ จะอยู่บนแนวทาง แปลกใหม่แต่ใช้เวลานิดเดียว มันมีอะไรที่ทุกคนน่าจะต้องใช้และทำได้ภายใต้เงื่อนไขนั้นไหม?
  • การจะทำได้ บริการจะต้องเดาใจผู้ใช้ให้แม่นกว่าทุกวันนี้อย่างมากๆ 4sq เดินเข้าร้านต้องแสดงร้านได้อย่างแม่นยำ กดหน้าจอแล้ว checkin ได้เลย เพราะผู้ใช้ไม่ต้องการมากดเลือกๆ อีก (ไม่คุ้ม เปิดมือถือเอาง่ายกว่า)
 

ประชาธิปไตยแห่งข้อมูล

เห็นหมอจิมมี่กับพี่เฮ้าพูดเรื่องเว็บ Skiplagged ถูกฟ้องเพราะไปหาทางบินราคาถูกด้วยการลงกลางทางในเที่ยวบินต่อบางเที่ยว

ในแง่ผลกระทบว่าสุดท้ายแล้วสายการบินจะขึ้นราคาหรือไม่คงเป็นเรื่องหนึ่ง แต่ในแง่หนึ่งผมมองว่านี่เป็นประชาธิปไตยแห่งข้อมูล

เวลาที่เราพูดถึง Big Data เรามักพูดกันแต่ว่าธุรกิจจะสร้างแนวทางให้บริการใหม่ๆ ได้อย่างไร เราจะเอาเงินจากลูกค้าคนหนึ่งๆ ที่เข้าเว็บหรือเข้าร้านอขงเรามาแล้วได้อย่างไร

ราคาตั๋วที่แปลกประหลาดของสายการบินเองก็มีแนวทางมาจากแนวคิดเหล่านี้ สายการบินดูฐานข้อมูลของตัวเองแล้วนั่งคิดว่าจะทำอย่างไรจึงทำให้สายการบินได้เงินมากที่สุดจากเที่ยวบินที่ขายตั๋วไปแล้ว สายการบินคำนวณจากข้อมูลมหาศาล ใส่เงื่อนไขทางธุรกิจของสายการบินลงไป แล้วได้ราคาที่ออกจะแปลกประหลาดออกมา

ผมคงไม่แปลกใจเท่าไหร่ ถ้าสายการบินใส่เงื่อนไขลงไปเองว่าห้ามตั๋วในเส้นทางยอดนิยมต่ำกว่าค่าๆ หนึ่ง แม้ว่าระบบจะแนะนำให้ตั้งราคาต่ำกว่านั้นเพื่อให้ได้รายได้สูงสุดก็ตามที เพราะเงื่อนไขทางธุรกิจที่ฝ่ายการตลาดเชื่อว่าหากตั้งราคาต่ำกว่าค่าหนึ่งแล้วจะ “เสียราคา”

แนวทางแบบนี้ใช้มาได้นานหลายเพราะคนถือข้อมูลคือสายการบินเพียงอย่างเดียว เว็บค้นหาราคาเองก็ค้นหาเฉพาะปลายทางถึงปลายทางเท่านั้น

สิ่งที่เกิดขึ้นกับ Skiplagged คือความจริงว่าสายการบินไม่ได้ถือข้อมูลคนเดียวอีกต่อไป ลูกค้าเองก็อาจจะเข้าถึงข้อมูลของสายการบินได้แบบเดียวกับที่สายการบินถือข้อมูลการซื้อตั๋วของลูกค้า

เรื่องแบบนี้เคยเกิดขึ้นกับร้านค้าทั่วไปที่ถูกเช็คราคาออนไลน์ตลอดเวลา และร้านค้าก็โวยวายว่าไม่แฟร์เช่นกัน ในอนาคตคงไม่แปลกถ้าจะมีข้อมูลมหาศาลถูกใช้กลับข้างสำหรับผู้บริโภคมากขึ้นเรื่อยๆ และมีคนทำกำไรจากการยื่นข้อมูลให้ผู้บริโภคแบบนี้ ร้านค้าออนไลน์เองนอกจากถูกเทียบราคาแล้ว อาจจะถูกเก็บประวัติราคาอย่างชาญฉลาด ข้อมูลสินค้าจำนวนมหาศาลในเว็บอีคอมเมิร์ชขนาดใหญ่อาจจะถูกเก็บข้อมูลเพื่อคำนวณดัชนี เว็บขายเกมอย่าง Steam อาจจะมีบริการพยากรณ์ว่าเกมจะถูกลงเมื่อไหร่ แทนที่จะต้องมานั่งเดาหลังจ่าพิชิตซื้อแบบทุกวันนี้

คดี Skiplagged อาจจะชนะหรืออาจจะแพ้ แต่ข้อมูลจะมีคนรวบรวมและเข้าถึงมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นเรื่องที่คงต้านไว้ได้แค่ช่วงเวลาหนึ่ง หรืออาจจะต้านไม่ได้เลย

 

It isn’t just 3D printing, it’s mass customization.

เทคโนโลยีเครื่องพิมพ์สามมิติออกมาในช่วงหลัง เรื่องนึงที่คนทั่วไปสงสัยกันคือ “มันจะเอามาทำอะไรวะ?” เพราะโลกเราจริงๆ ไม่ได้ต้องการถ้วยทรงประหลาด ป้ายชื่อ ฯลฯ บ่อยกันขนาดนั้น

แต่ผมมองว่ามันไม่ใช่แค่เรื่องของ 3D Printing เทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติที่จริงแล้วเป็นเทคโนโลยี “การผลิตอย่างอัตโนมัติ” ที่เข้าถึงได้ง่าย ราคาถูก โอเพนซอร์ส ปรับแต่งได้ง่าย

จากเครื่องพิมพ์สามมิติ ที่ใช้งานกันจริงๆ คงมีเฉพาะวงการออกแบบ กับอุตสาหรรม ที่ต้องการชิ้นงานตัวอย่างหรือชิ้นอะไหล่ที่เฉพาะทาง กระบวนการสั่งชิ้นงานเฉพาะทางมีราคาแพง เครื่องกัด CNC ในสมัยก่อนเป็นเครื่องจักรเฉพาะทาง เครื่องใช้เรียนเองก็มีราคาหลายแสนบาท ระบบควบคุมมีบริษัททำได้ไม่กี่บริษัท

เทคโนโลยีสามมิติทุกวันนี้คือคความพร้อมถึงขีดสุดของเทคโนโลยีพื้นฐาน เราสามารถใช้ชิป AVR ราคาถูกๆ สร้างเครื่องจักรด้วยซอฟต์แวร์ที่โอเพนซอร์สทั้งหมด เชื่อมต่อกับระบบควบคุมได้ โดยทั้งหมดมีบล็อกพื้นฐานมาพร้อม

Mass Customization เป็นหัวข้อเรียนใน IT Management ที่มีมายาวนาน ในยุค dot com ยุคแรกเคสคลาสสิคคือ Levis ทำเว็บรับสั่งตัดกางเกงแบบเข้ารูปกับลูกค้าทุกคนที่เรียกว่า Original Spin แต่สุดท้ายก็ปิดบริการไป

ในยุคก่อนการทำสินค้าให้ตรงตามความต้องการทุกคนเป๊ะๆ แบบนี้โดยที่จะมีต้นทุนที่สูงมาก เราต้องใช้เครื่องจักรราคาแพง ซอฟต์แวร์พัฒนาเฉพาะทาง และความชำนาญเฉพาะ

เทคโนโลยีเครื่องพิมพ์สามมิติเป็นจุดเริ่มต้นว่าเทคโนโลยีการผลิตที่เคยอยู่กับบริษัทใหญ่ๆ เหล่านี้กำลังกลายเป็นของที่หาได้ทั่วไป การดัดแปลงเทคโนโลยีเพื่อให้เข้ากับูการผลิตอย่างอื่นๆ จะค่อยๆ มีการต่อยอดไปเรื่อยๆ ในอนาคต

เทคโนโลยีอันใกล้ ในอนาคตฟิล์มกันรอยอาจจะส่งมาจากโรงงานเป็นขนาดไม่กี่ขนาด ร้านค้าสต็อกฟิล์มเพียง 4 นิ้ว, 7  นิ้ว, และ 10 นิ้ว เมื่อลูกค้านำโทรศัพท์เข้าไปติดฟิล์ม เพียงบอกรุ่น เครื่องตัดก็จะตัดและเจาะรูให้ตรงกับความต้องการได้พอดี ตัวร้านเองแทยที่จะต้องรับความเสี่ยงสต็อกฟิล์มสำหรับรุ่นที่ขายยาก ก็ไปสต็อกเนื้อฟิล์มแปลกๆ เพิ่มเติม

เคสโทรศัพท์อาจจะขึ้นรูปจากเครื่องพิมพ์สามมิติในแบบเดียวกัน

ไปเรื่อยๆ ถึงจุดหนึ่งเราอาจจะสามารถสั่งกาแฟได้อย่างละเอียดอย่างมาก เราอาจจะกำหนดความดัน ความร้อนของน้ำร้อน ส่วนผสมเม็ดกาแฟ ระยะเวลาคั่ว ความละเอียดของการบด เราสั่งกาแฟหนึ่งแก้วผ่านแอพโดยเลือกตัวเลือกทั้งหมด เดินห้างรอกาแฟสิบนาที เครื่องอัตโนมัติจะผสมเม็ดกาแฟ คั่วตามเวลาที่เรากำหนดแล้วบดทันที ต้มน้ำร้อนแล้วชงกาแฟ พร้อมวาดลาเต้อาร์ตจากรูปโปรไฟล์เฟซบุ๊กเราให้เอง

เรื่องแบบนี้ทุกวันนี้เราอาจจะทำได้อยู่แล้วโดยอาศัยคน แต่เมื่อเทคโนโลยีการผลิตแบบอัตโนมัติพร้อม มีราคาถูก และคนทั่วไปเข้าถึงได้ เทคโนโลยีเหล่านี้อาจจะกลายเป็นสิ่งที่เราเห็นตามร้านกาแฟหัวมุมถนนในสักวันหนึ่ง

 

ระบบลงทะเบียนจุฬาฯ

วันนี้เพิ่งเห็นข่าวในมติชน เห็นแล้วได้แต่ถอนหายใจแล้วคิดว่า “ห่วย”

ปัญหาไม่ใช่ว่ามัวแต่ไปซื้อเซิร์ฟเวอร์ ทำไมไม่ใช้คลาวด์ ฯลฯ ปัญหาคือโหลดการลงทะเบียนแบบนี้เป็น “โหลดที่คาดเดาได้” มันไม่ใช่การขายตั๋วคอนเสิร์ตที่เราไม่มีทางรู้ว่าสุดท้ายคนจะแย่งบัตรกันแค่ไหน เรารู้อยู่แก่ใจว่านิสิตมีกี่คน และประเมิณได้ว่าทุกคนน่าจะลงทะเบียนหมด

การทำให้โหลดที่คาดเดาได้แบบนี้แต่ทุกคนอยากลงทะเบียนในวินาทีแรกอาจจะเป็นไปได้ยากหากไม่ใช้คลาวด์ใหญ่ๆ ที่ขยายระบบได้มหาศาล แต่การจัดการอื่นๆ เช่นทำหน้ารอคิวที่กินโหลดต่ำๆ ก็ทำได้ไม่ยาก และนิสิตไม่ถึงแสนคนน่าจะจัดการได้หมดบนเซิร์ฟเวอร์ตัวเดียว

ข้อจำกัดของระบบการจัดซื้อที่ไม่ยืดหยุ่นทำให้พอเข้าใจได้ว่าทำไมไม่ใช้คลาวด์

แต่โหลดที่ชัดเจนว่าเป็นเท่าใดควรมีกระบวนการที่ดีกว่านี้ ระบบอาจจะจัดการไม่ได้ทั้งหมดทันทีอย่างที่หวัง แต่การจัดการได้คือในเครื่องที่ซื้อมาแล้ว ควรมีระบบรอคิว กระจายคน ปรับจูนระบบ ฯลฯ ให้ระบบ “ไม่ล่ม” ตลอดระยะเวลาให้บริการ