นานมาแล้ว ผมจำได้ว่าพ่อผมพาผมเข้าร้าน SE-ED ที่ฟอร์จูน (IT Mall ปัจจุบัน) บ้านผมมีกติกาฝังหัวคือหนังสือนั้นเป็นสิ่งจำเป็นอันดับสองรองจากของกิน ดังนั้นอย่าแปลกใจที่ผมอ้วน… :P
ผมจำได้ว่าร้านหนังสือร้านนั้น “ใหญ่โคตร” สำหรับผมในตอนนั้น หนังสือละลานตาแบบอ่านทั้งชีวิตไม่หมด และสิ่งที่ดีที่สุดคือคำพูดของพ่อผมที่ว่า
“อยากได้เล่มไหนก็หยิบมา….”
ผมอ่านเยอะขึ้น และซื้อหนังสือด้วยทุนพ่อเรื่อยมา จนวันหนึ่งแล้วแล้ว เมื่อผมอ่านมากขึ้น และผมหยิบหนังสือมากขึ้น
หนังสือที่ผมซื้อก็เกินพันบาท…
ผมจำไม่ได้ว่าผมซื้อไปกี่เล่ม แต่จำได้ว่ามัน “โคตรเยอะ” ผมตั้งคำถามว่าผมจะอ่านหนังสือกองนั้นอีกกี่เดือนกันถึงจะหมด
กาลเวลาเปลี่ยนไป ความเจริญเพิ่มเข้ามา งานหนังสือย้ายจากสวนอัมพรมายังศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์ การมาและจากไปของร้านดวงกมลที่ห้างซีคอน
หนังสือเป็นสิ่งจำเป็น กลายเป็นสัญชาติญานที่ถูกฝังในตัวผมไปเรียบร้อยแล้ว แม้แต่ตอนเรียนวิศวกรรมคอมพิวเตอร์เอง ผมก็ยินดีจะประหยัดกับค่าคอมพิวเตอร์มากกว่าที่จะประหยัดค่าหนังสือ
ผมจ่ายเงินมากขึ้นให้กับหนังสืออย่างต่อเนื่อง….. แต่หนังสือที่ได้มาแต่ละครั้งกองเล็กลง เล็กลง และเล็กลง…
หนังสือบ้านเราสวยขึ้นเรื่อยๆ หน้าปกมีการออกแบบที่ดีขึ้นเรื่อยๆ การเข้าเล่มใช้วิธีการที่คงทนกว่าเดิม กระดาษนั้นเป็นมิตรกับสายตาขึ้น
แต่ขณะที่ผมทำงานหาเงินเองได้นี้เอง ผมรู้สึกว่าตัวเองจนเกินไปที่จะซื้อหนังสือแบบเดียวกับที่เคยซื้อได้ก่อนหน้านั้น การซื้อหนังสือในงบประมาณที่ไม่ได้น้อยเลยนั้นกลับได้หนังสือที่อ่านเพียงไม่นานนักก็จะหมดลง
ผมรู้ตัวอีกทีตอนที่ผมเข้าร้านคิโนะคุนิยะเมื่อปีที่แล้ว…
หนังสือภาษาอังกฤษที่เคยเป็นของ “เกินเอื้อม” สำหรับผม กับร้านที่ผมเคยคิดว่า “หรูเกินไป” สำหรับคนอย่างผมนั้นกลายเป็นสิง่ที่ผมดูจะจ่ายได้ไม่ต่างจากหนังสือภาษาไทยนัก
แน่นอนคุณภาพมันแย่กว่ามาก กระดาษปรู๊ฟบางๆ กับหมึกเละหน่อยๆ ไม่ทำให้ใครรู้สึกหรูหราเมื่อเปิดหนังสือเหล่านั้นแน่นอน
แต่ใครสนใจกันล่ะ?
ผมหันมามองหนังสือในชั้น หนังสือแปลจำนวนมากนั้นหนามาก หลายเล่มต้องแบ่งสองเล่มเนื่องจากกระดาษคุณภาพสูงเหล่านั้น
ราคาหนังสือต่อเล่มที่คนไทยกำลังจ่ายนั้นมันเริ่มไม่ต่างจากที่คนตะวันตกจ่ายให้หนังสือของพวกเขาแต่ละเล่มเข้าทุกวัน
เรากำลังไปทางไหนกัน? เรากำลังกลับไปยุคก่อนกูเตนเบิร์กที่หนังสือเป็นของล้ำค่าไว้บูชาในบ้านหรืออย่างไร
เกิดอะไรขึ้นกับอุตสาหกรรมหนังสือไทย?
จริงๆไม่ใช่ว่า”เริ่ม”ไม่ต่างนะ ผมว่าตอนนี้ราคาหนังสือไทยและหนังสือในยุโรปนั้นเกือบจะเท่ากันแล้ว ยิ่งถ้าเทียบว่าหนังสือในยุโรปมีตัวเลือกมากกว่า มีช่วงเวลาลดราคาจากราคาหลายพันบาทเป็นไม่ถึงสองร้อยบาท
ทุกวันนี้ผมเดินผ่านร้านหนังสือรวมผลงาน Rembrandt หรือ Da Vinci จากเล่มละ 60 ยูโร เหลือแค 4 ยูโร แต่ก็ยังไม่มีคนซื้อ (ขนาดหนังสือใหญ่พอๆกับพจนานุกรมฉบับราชฯ)
ผมคิดว่าเป็นเพราะประชากรไทยกลุ่มหนึ่งมีกำลังซื้อมาก ในขณะที่ประชากรโดยรวมในประเทศไม่ใช่อย่างนั้น หนังสือที่ขายกันทั้งหลายก็ขายเพื่อคนกลุ่มที่มีกำลังซื้อ ไม่ใช่ขายคนโดยรวม
คุณชาติ กอบจิตติเคยตั้งคำถามแบบนี้เหมือนกันเมื่อสิบกว่าปีก่อน
ผมอ่านเจอจากคำนำในนิยายเรื่อง “เวลา”
สำนักพิมพ์หอนของคุณชาติเองเลยพยายามต่อสู้ทำหนังสือราคาถูกออกมา
ด้วยการพิมพ์หนังสือด้วยกระดาษปรู๊ฟ ไม่ใช้กระดาษปอนด์ที่แพง (แต่สวย)
เมื่อก่อนหนังสือแกเล่มละไม่ถึงร้อย แต่เดี๋ยวนี้ก็เริ่มขยับไปร้อยนิดๆ แล้ว
เวลามีประเด็นเรื่องหนังสือแพงผมนึกถึงแกทุกที
เรื่องคุณภาพกับราคาหนังสือนี้คงแล้วแค่บุคคลครับ
สำหรับบางคนที่สะสมหนังสือ คุณภาพการผลิตของหนังสือก็ถือเป็นเรื่องสำคัญของเค้า ถึงแม้ไม่ได้มากไปกว่าคุณภาพของเนื้อหา แ่ต่มันคงได้เรื่องจิตใจน่ะครับ
ผมกลับคิดว่าน่าจะมีทางเืลือกให้มากกว่าเช่น ออกมาเป็น 2 รูปแบบเหมือนที่หนังสือต่างประเทศทำคือ ออกหนังสือแบบ ปกแข็ง (hardcopy) ก่อน พอหนังสือขายได้ดี ก็ออกแบบกระดาษปรู๊ฟ (paperback) ออกมา เราอาจจะกลับกันก็ได้คือ ออกแบบ กระดาษปรู๊ฟก่อนเพราะถูกกว่า แล้วค่อยออก แบบสวยๆให้นักสะสมครับ
เดี๋ยวนี้ผมซื้อหนังสือที่พันพิพย์งามฯ ครับ ประเภทไปคุ้ยๆ กองเอา หลายครั้งเล่มไม่ถึง 100 บาทอ่านได้ตั้งนาน บางก็มีเรื่องที่น่าอ่านอย่างไม่น่าเชื่อรวมอยู่ด้วย.
อาจจะถึงเวลาของ e-book แล้ว? แบบที่พิมพ์มาสวยๆ ก็เป็นของนักสะสมไป
หนังสืออ่านนอกเวลาเล่มเล็กๆ ที่ใช้กระดาษปรู๊ฟห่วยๆ พิมพ์ ราคาไม่กี่สิบบาท ไม่มีให้เห็นแล้ว
ก็ยังสงสัยอยู่ว่า เดี๋ยวนี้เด็กๆ อ่านหนังสืออ่านนอกเวลากันจากไหน
ตอบ Oakyman
ผมเดินที่ร้านคิโนะคูนิยะ พารากอน ก็ยังเห็นหนังสืออ่านนอกเวลามีจำหน่ายนะครับ ทำเป็นชั้นแยกต่างหากเลย แต่พิมพ์ด้วยกระดาษปอนด์หมดแล้ว เล่มนึงก็ร้อยบาทขึ้นไป
สมัยผมซื้ออ่านเนี่ยเล่มละสามสิบบาทเอง
อันที่จริง ต้นทุนหลักของหนังสือ อาจจะไม่ใช่กระดาษเสมอไปครับ
เริ่มจาก ค่า distribute ซึ่งเกิดจากค่าขนส่งที่สูงขึ้น (35-45% ของราคาขาย) ทำให้เหลือถึง สนพ. 55-65% ของราคาปก
ค่าลิขสิทธิ์ ซึ่งแทบไม่เคยมีในสมัยก่อน(สำหรับหนังสือนอก) ก็กลายเป็นต้นทุนอย่างน้อยก็ 5-10% ของราคาขาย (หมายความว่าอาจจะเป็น 10-20% ของราคาต้นทุนก็ได้ เพราะราคาขาย คือราคาที่บวกกำไรไปแล้ว)
ค่าคงที่ต่างๆ ซึ่งแพงขึ้นมาก เช่น ค่าแปล, ค่าใช้จ่ายจิปาถะ, ค่าเพลท ซึ่งหากยอดขายไม่มาก เช่นพวกหนังสือเฉพาะกลุ่ม ตรงนี้อาจจะกลายเป็นต้นทุนหลักแทน
โดยรวมแล้ว สำหรับหนังสือที่ยอดขายไม่มาก ค่ากระดาษอาจจะเป็นต้นทุนเพียงส่วนเดียวส่วนเล็กๆ ขณะที่ยอดขายหนังสือบางแนว แทบจะไม่เพิ่มขึ้น หรืออาจจะน้อยลงด้วยซ้ำ เนื่องจากไม่มีที่บนชั้นขายหนังสือ (เพราะโดนหนังสือดารา หรือนิยายนายนั่นกับยายนี่เบียดตกชั้น) การเปลี่ยนไปใช้กระดาษคุณภาพต่ำลง ช่วยลดราคาจากปกได้ไม่น่าจะเกิน 10% ครับ (นอกเสียจากจะเป็นหนังสือที่ขายดีมากๆ จนค่ากระดาษซึ่งเป็นต้นทุนผันแปร ไม่ใช่ต้นทุนหลัก ดูพวกหนังสือสอนการใช้ windows เป็นตัวอย่าง)
ไม่ต้องกลัวว่าหนังสือบางแนวจะกลายเป็นของบูชา เพราะสุดท้าย หนังสือที่ไม่ใช่แนวตลาด ถ้าจะแปลเป็นไทยต้องลงทุนสูง ก็คงไม่มีใครพิมพ์ครับ ปล่อยให้หนังสือแนวตลาดครองเมือง ส่วนคนที่อยากจะอ่านอะไรมากกว่านั้น คงต้องไปซื้อหนังสือภาษาอื่นแทน