โอเพนซอร์สกับ 30 บาท

ผมเป็นคนหนึ่งที่เห็นด้วยกับโครงการ 30 บาท “ในหลักการ” มาโดยตลอด แนวคิดง่ายๆ คือคนเราไม่ว่าจะยากดีมีจนยังไง ก็ไม่ควรมีใครต้องเป็นไข้หวัดตายอยู่ข้างถนน มันสำคัญกว่าที่จะให้มีทางออกที่ให้ทุกคนใช้ได้โดยเท่าเทียมกัน

พล่ามเรื่องที่ตัวเองไม่เชี่ยวมา ก็ไม่มีอะไร ผมมองว่ารัฐควรสนับสนุนโครงการโอเพนซอร์สในระดับเดียวกับโครงการ 30 บาท นั่นล่ะ อาจจะถึงเวลาที่รัฐต้องบอกว่ามีทางเลือกขั้นต่ำที่ฟรีในการใช้งานทั่วไป โดยรัฐรับประกันว่าจะมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

โครงการพวกนี้อาจจะต้องรวมเช่น ระบบปฏิบัติการ, เวิร์ดโปรเซสเซอร์, สเปรตชีท, กราฟฟิก และบราวเซอร์ ทั้งหมดนี้ต้องใช้ร่วมกันได้ ระดับที่ว่าลงชุดนี้แล้วเข้าถึงระบบของภาครัฐได้แทบทั้งหมด

ที่ผ่านมา ดูเหมือนเรายังขาดความจริงจังกันอยู่มาก โปรแกรมจำนวนมากที่ใช้ภาษาไทยได้ในตอนนี้เป็นการช่วยกันทำของคนกลุ่มเล็กๆ ที่ไม่ได้รับประกันอะไรว่าเมื่อผมย้ายไปใช้งานกับเขาแล้ว จะมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โค้ดทั้งหมดต้องถูก Commit เข้าเป็นส่วนหนึ่งของโค้ดหลักของแต่ละโครงการ

ในความเป็นจริงแล้ว โปรแกรมระดับพื้นฐานทั้งหมด หากต้องการพัฒนาภาษาไทยอย่างต่อเนื่อง โดยมีฐานเป็นโค้ด GPL ทั้งหมด ผมเชื่อว่ามันทำได้โดยบริษัทขนาดไม่เกิน 20 คน ค่าใช้จ่ายต่อปีไม่เกิน 10 ล้าน

น้อยกว่าค่าคอมพิวเตอร์ 100 ดอลลาร์แน่ๆ ล่ะ

ถึงเวลานั้น ไมโครซอฟท์จะไล่จับซอฟท์แวร์เถื่อนไปถึงในบ้าน ผมว่าก็ไม่ใช่เรื่องซีเรียสอะไร หากคนยังมีทางออกกันอยู่

 

lewcpe

CTO at MFEC PLC. Chief Editor at Blognone.com

 

5 thoughts on “โอเพนซอร์สกับ 30 บาท

  1. ใช่เลยครับ คงมีคนคิดกันมาหลายสมัย ตอนเรียนคอมผมกับเพื่อนก็มีการทำ OS กันบางส่วนด้วย

    แต่นั่นก็อยู่ในแล็บ แล้วเมื่อเรียนจบแล้ว รุ่นอื่นๆก็พัฒนากันไปต่างๆนานา น่าเสียดายเหมือนกัน

    ผมว่าข้าราชการส่วนใหญ่ไม่มีความรู้ด้วยมั้งครับว่า software เนี่ย ราคามันแพงกว่า 150 บาทนะเฟร้ย แล้วก็ขอคนนู้นคนนี้ฟรีซะเรื่อย พอบิลเกตมาที ก็ไล่จับกันที ทั้งเอาหน้า และเอาค่านายหน้า

    ถ้าเหล่าศูนย์วิทยาศาสตร์ซอฟแวร์เทคโนโลยีสารสนเทศอะไรนั่น มีโปรดักแนวนี้ก็น่าจะดีนะครับ ทั้ง OS+Office แห่งชาติ แล้วบังคับให้ส่วนราชการใช้จริงจังซะ เป็นตัวอย่างการทำถูกลิขสิทธิ์แบบไม่งอมืองอเท้า

  2. จริงๆ บังคับหน่วยงานราชการใช้ ยากมากๆๆ
    และพวกนี้จะรู้สึกว่าตัวเองจะไม่พร้อมรับสิ่งใหม่ๆ
    อย่างที่ทำงาน ผมจะลง server เป็น linux
    เขาบอกว่าเผื่อผมไม่อยู่ไ่ม่มีใครแก้ได้ ให้ลง win 2k server
    จะบ้าตาย เพราะต้องมานั่งหาโปรแกรมทำ proxy server
    ทำโน่นทำนี่ ทั้งๆที่ถ้าลง linux เครื่องมือพวกนี้ก็ีมีมาให้เลย
    ไม่รู้คิดแม่งไรกันว้า

  3. โดยส่วนตัวผมไม่สนเลยครับ ว่าราชการจะใช้อะไร แต่ในช่วงแรกอาจจะต้องใช้อำนาจรัฐมากดดันไมโครซอฟท์บ้าง ว่าต้องทำตัวยอมรับ OpenDocument ให้ได้ หลังจากนั้น เมื่อมันใช้กันได้แล้ว รัฐบาลจะใช้อะไรก็เรื่องของเขาครับ ปัญหาคือประชาชนมีทางเลือก “ขั้นต่ำ” ว่าถ้าเขาไม่อยากจ่ายตังค์ เขาก็มีทางเลืิอกที่จะใช้คอมพิวเตอร์เข้าถึงข้อมูลได้ หลักจากนั้นแล้ว ใครจะใช้อะไรก็ทางใครทางมันครับ

    มันคล้ายๆ กับว่าผมมีแค่สามสิบบาทแล้วจะเข้าโรงพยาบาล หรือมีห้าบาทจะเดินทางก็มีรถเมล แต่ถ้าผมจะใช้โรงพยาบาลวิชัยยุทธ มันก็เรื่องของผม ถ้าผมจะขับเบนซ์ไปทำงาน แล้วใครจะทำไม ที่สำคัญคือเรามีทางออกขั้นต่ำให้กับทุกคนอย่างเท่าเทียมมากกว่าครับ

  4. ที่เขียนว่า บังคับหน่่วยราชการใช้ จริงๆแค่อยากบ่นว่า ก็ไปจับที่หน่วยราชการก่อนสิ ซอฟแวร์เถื่อนเพียบ (เลยเอา .doc มาเป็นมาตรฐาน เอา Angsana มาเป็นมาตรฐาน) ถ้าหน่วยราชการต้องจ่ายตังค์เหมือนบริษัท (คือเคารพกฎหมายเหมือนกัน) เค้าจะได้ดิ้นรนใช้ซอฟแวร์ที่ถูกกฎหมายบ้าง (ไม่ว่าจะเป็น Free หรือจ่ายลิขสิทธิ์)

    แต่ถ้ามี OpenDocument จริงๆก็ดีเลยครับ เป็นมาตรฐานขั้นต่ำ … เฮ้อ สงสัยฝันมากเกิน

  5. เห็นด้วยกับคุณ iMenn เพราะเอาง่ายๆ อย่างตอนเราทำโปรเจค หรือจะทำอะไรที่ต้องเกี่ยวกับราชการ
    แบบฟอร์ม ก็เป็น word อีก เซ็ง

Comments are closed.