ไม่ว๊ากแล้วไปไหน?

สืบเนื่องจากน้องนัทมารายงานข่าวมารายงานข่าวว่า ที่มหาวิทยาลัยของน้องเค้าโดนสั่งห้ามว๊ากเป็นการถาวรไปแล้ว เลยมาให้ช่วยคิดกิจกรรมใหม่ๆ ไปเสนอกัน อันนี้เป็นกึ่งๆ ความรับผิดชอบเพราะไปปะทะคารมกับน้องเค้าไว้ตั้งแต่ปีก่อน

แนวคิดหลักๆ ของผมที่มีต่อการรับน้องก่อนแล้วกัน แนวคิดพวกนี้ตกตะกอนมาจากแนวคิดก่อนๆ หน้า

  1. มันไม่จำเป็นต้องเหมือนเดิม ไม่มีอะไรคงอยู่ในรูปแบบเดิมได้ตลอดไป แนวคิดและจุดมุ่งหมายอาจจะคงเดิม แต่การทำอย่างเดิมๆ คือหนทางแห่งหายนะ (ที่มา)
  2. มันเป็นงาน ถ้าจะทำ มันคืองานที่ต้องรับผิดชอบ งานที่อาจจะล้มเหลวได้ งานที่มีโอกาสไม่ดีได้ และมีโอกาสประสบความสำเร็จอย่างเกินคาดได้ ไม่ควรมีใครต้องแบกรับผลทั้งหมดของมันไว้ตามลำพัง ไม่ว่าจะเป็นรุ่นพี่ รุ่้นน้อง หรือใครก็ตามที (ที่มา)
  3. มันต้องแสดงความรับผิดชอบของผู้ทำเป็นอย่างดี หมดยุคของการโอดโอย โทษฟ้าโทษฝนถึงผลที่ตามมา แม้จะเป็นผลที่คาดเดาได้เสมอๆ
  4. ยอมรับความแตกต่างของแต่ละบุคคล รถฮอนด้าพันคันออกมาจากโรงงานเดียวกัน บ้านผมมีสองสามคันดีหมด ยังมีคันนึงออกมาให้คุณเดือนเพ็ญไปทุบจนเป็นข่าวไปทั่วโลก ดังนั้นอย่าคาดหวังว่าทุกๆ คนจะเหมือนกัน และโดยเฉพาะอย่าไปตัดสินว่าความแตกต่างนั้นเป็นความผิดเสมอ (3 กับ 4 นี่อันเดียวกัน)

แนวคิดอะไรประมาณนี้จะทำให้เกิดกิจกรรมเดียว ที่ทุกคนในมหาวิทยาลัยทำร่วมกันได้นี่เป็นเรื่องยากมากที่จะทำให้ดี “ในภาพรวม” ได้ ยิ่งเราต้องคิดถึงแนวคิดข้อ 4 ในเรื่องความแตกต่างเข้าไปด้วยแล้ว แต่เท่าที่ลองนึกๆ ดูก็มี

  1. งานแฟร์ แทบทุกมหาวิทยาลัยมีงานแฟร์กันอยู่แล้ว ดีกรีความน่าสนใจต่างกันไป อย่างที่ผมชื่นชมมากๆ ก็เช่น ม.บางมด ถ้าทำให้งานแฟร์ในมหาวิทยาลัยเป็นงานที่คน “ส่วนใหญ่” มีส่วนร่วมได้ จะเป็นเรื่องดีมากๆ เพราะแบ่งส่วนได้ตั้งแต่วิชาการเต็มเหนี่ยวไปจนถึงบันเทิง (ต้องคุมสัดส่วนดีๆ ไม่งั้นเละ)
  2. ผมเคยพูดถึงวิชาสมมติ ที่ให้รุ่นพี่มีส่วนร่วมสูงๆ (อยู่ในบล็อกนี่ล่ะ แต่หาไม่เจอ) อย่างวิศวะก็เป็น Introduction to Engineering ให้ทำงานกลุ่ม รุ่นพี่มีส่วนร่วมมากๆ TA อาจจะอยู่ในระดับ 1 ต่อ 5 ทำงานกลุ่ม โปรเจคไม่ยากเกินไป แต่อาศัยความร่วมมือสูงๆ อย่างลองสร้างบ้านจำลอง, สร้าง GRID Computing จากซากคอม (ยากไปป่าวว่ะ?), เครื่องบินบังคับวิทยุ จากไม่บัลซาร์กับรถกระป๋อง ฯลฯ
  3. จัดติว อันนี้คงมีกันทุกมหาวิทยาลัย แต่คนมีส่วนร่วมอย่างมากๆ คงไม่เกิน 50 คน มากกว่านี้คงจัดการกันลำบาก
  4. เข้าค่าย เป็นกิจกรรมที่น่าจะดูเข้าท่าที่สุด แนวคิดคือจุดมุ่งหมายง่ายๆ ประสบความสำเร็จโดยเร็ว จะได้กลับบ้านไปอ่านหนังสือ อย่างเช่นไปปลูกป่าปีละิสิบไร่ ปักป้ายไว้ว่ารุ่นไหนก็คงเข้าท่า หรือไปดำนากันรุ่นละยี่สิบแปลง (ดำอย่างเดียว ให้ชาวนาดูแลต่อ) ถึงเวลากลับไปเกี่ยวมาหุงกิน จะได้รู้รสชาติ อันนี้อยากทำเองมานานแล้ว

แนวคิดพวกนี้ เอาเข้าจริงแล้ว มันก็แค่การสมมติในหัว และเขียนอธิบายอยู่ในหน้าจอคอมพิวเตอร์ สุดท้ายแล้วการเปลี่ยนแปลงคงต้องเจอความเจ็บปวดกันไม่น้อยจากการล้มลุกคลุกคลานของการเริ่มต้นสิ่งใหม่ๆ แต่อย่างไรก็ตาม การเจ็บปวดในวันนี้ ก็เป็นการลดความปวด หากต้องเจอความเปลีั่ยนแปลงในวันพรุ่งนี้เสมอๆ

Now is better than never.
Although never is often better than *right* now.
The Zen of Python

 

lewcpe

CTO at MFEC PLC. Chief Editor at Blognone.com

 

2 thoughts on “ไม่ว๊ากแล้วไปไหน?

  1. ขอบคุณมากเลยค่ะพี่ลิ่ว

    ที่ตรงใจนัท นัทอยากได้ข้อ 2 กับ ข้อ 4 นะ
    น่าสนุกดี

    ส่วนเรื่องติว มหาลัยนัทมีอยู่แล้ว
    แล้วก็ข้อ 1 นัทคิดว่ามันธรรมดาไปหน่อย

    ขอบคุณมากอีกทีนะคะ

    ไม่ได้เข้ามาอ่านนาน บล็อกเปลี่ยนไป

    แต่ปกตินัทอ่านก็ไม่ค่อยคอมเมนท์เท่าไหร่แหะๆ

    :)

    ไว้จบงานเฟสที่ทำอยู่ คงมีเวลามาอ่านมากขึ้นค่ะ

  2. ปีที่แล้ว ผมก็ไปแจม ต้องมาช่วยคิดด้วยมั๊ยเนี่ย

Comments are closed.