หลายปีมานี้บ้านเราเรื่องการเลี่ยงภาษีกลายเป็นการเมืองไปเสียหมด มันเลยงงๆ กันหลายอย่าง
- ภาษีไม่ใช่สิ่งแสดงความดีต่อรัฐสมบูรณ์ คนจำนวนมากไม่ได้เสียภาษีในทางใดๆ เลยมาแต่โบราณ ไม่ใช่เรื่องแปลก
- ประเด็นสำคัญของภาษีคือการกระจาย รัฐเอาเงินส่วนหนึ่งไปเกลี่ยเป็น “อะไรบางอย่าง” ให้กับทุกคน (ที่อาจจะใช้หรือไม่ใช้) ถนน สนามบิน รถไฟ ฯลฯ
- บางประเทศรัฐทำน้อย ก็เก็บภาษีน้อย ส่วน “อะไรบางอย่าง” ที่ว่ากลายเป็นเอกชนไป เก็บค่าผ่านทางทุกทาง ถนน รถไฟ ฯลฯ
- การกระจายปกติคือ คนจ่ายให้รัฐ รัฐเอาไปจ่ายกระจายลงมา
- แต่เก็บมากแล้วดราม่า คนไม่อยากทำงานเพราะทำแล้วไม่ได้อะไรขึ้นมา
- ทางเลือกอีกทางคือเปิดช่องให้ไม่จ่ายภาษีหากทำอะไรบางอย่าง
- อะไรบางอย่างที่ว่าของไทย มีหลักๆ คือ เอาไปลงทุน และเอาไปบริจาค
- เอาไปลงทุน สิ่งที่รัฐบอกคือ อย่าเก็บเงินไว้นิ่งๆ ได้เงินมาแล้วเก็บเงินไว้เป็นเงินฝาก ลำบากต้องมาค้ำประกัน จงเอาเงินไปรับความเสี่ยงแล้วจะไม่ต้องเสียภาษี
- แนวคิดคือแทนที่จะเอาเงินมานอนกอด ก็จงเอาเงินไปให้คนอื่นทำกิจการค้าขายซะ คนอื่นจะได้มีโอกาสมีเงินบ้าง
- รัฐจะสนับสนุนเงินแบบนี้เองก็ได้ ที่ผ่านมาก็มีการสนับสนุนอุตสาหกรรมโน้นนี้ เข้าท่าบ้าง งี่เง่าบ้างคละกันไป
- แต่เงินที่ให้เราไปสนับสนุน คือให้เราคิดเอง ว่าจะสนับสนุนใคร ที่จริงเราก็ไม่ค่อยคิด จ้างผู้จัดการกองทุนคิดแทนอีกที
- รวมๆ มันคือการตัดตรง รัฐไม่ต้องคิด เราคิดกันเอง โดยหวังว่าถ้าเราโลภกำไร เงินลงทุนของเราก็น่าจะมีประสิทธิภาพสูง แทนที่จะให้รัฐไปนั่งคิด แล้วคนคิดไม่ได้หวังกำไร เงินมันเลยมีประสิทธิภาพต่ำ
- ข้อดีต่อรัฐอีกข้อคือเสี่ยงกันเอง เจ๊งบึ๊มมาเอารับกันเอง รัฐลอยตัว
- การให้ภาษีเพื่อให้เอกชนทำแทนไม่ใช่เรื่องแปลก หลายประเทศมีเครดิตภาษีการจ้างคนพิการ หรือทหารผ่านศึก
- เอกชนก็คิดแทนเหมือนกัน คือ อยากได้เครดิตภาษีก็อยากจ้างคนพิการ แต่ก็เลือกคนที่มีประสิทธิภาพสูงๆ ไปในตัว เพื่อประโยชน์สูงสุด ผลคือคนมีประสิทธิภาพสูงยังได้รับโอกาส แทนที่จะให้รัฐไปคิดว่าจะให้ใคร แล้วคิดไม่ออก ไม่จูงใจให้คนพัฒนาตัว
หาทางลดภาษีตามกฎหมายได้ก็ทำๆ ไปเถิด ไม่ต้องคิดว่ามันดีเลวมาก ไม่งั้นอีกหน่อยคงห้ามซื้อของลดราคาเพราะไม่ได้จ่าย VAT ปัญหาคือแรงจูงใจที่รัฐให้มาพร้อมกับเงื่อนไขที่เราต้องรับ ลงทุนตามรัฐลดภาษีถึงเวลากองทุนเจ๊งเกิดวิกฤติก็ต้องเตรียมใจรับกันเอง