SEO is here

ผมประกาศชัดมานานว่าผมเกลียดการกระทำ SEO ใดๆ ที่ไปยุ่งกับเว็บคนอื่นโดยเจ้าของเว็บเขาไม่ได้ยินดี และผมเรียกการกระทำนั้นว่าสแปมทั้งหมด

ผมคิดมานานว่าหากมีโอกาส จะรวบรวมเว็บจำนวนหนึ่งมาร่วมกัน “ต่อต้าน” การกระทำเช่นนี้ เพื่อสร้างผลลบให้กับการกระทำจนกระทั่งอย่างน้อยที่ที่สุด กลุ่มผู้เข้าร่วมได้รับการปกป้องจากการกระทำนั้น

สมาคมสำหรับการต่อต้านนั้นคิดไว้นานแล้วว่าจะรวบรวมกันมา ที่คิดไม่ออกคือ แล้วจะทำอะไรดีเมื่อถูกบุคคลเหล่านี้โจมตี

วันนี้แว๊บขึ้นมาว่าน่าจะมีวิธีที่ดีกว่า ด้วยการสร้างเว็บมาทำ SEO แข่งกันเสียเลย

แนวคิดคือแทนที่เราจะปล่อยให้พื้นที่คีย์เวิร์ดบางอย่าง กลายเป็นพื้นที่เน่าๆ ที่เต็มไปด้วยข้อมูลที่มนุษย์ไม่สามารถอ่านให้มีประโยชน์ขึ้นมาได้ หรือเป็นข้อมูลละเมิดลิขสิทธิ์ เราทำข้อมูลจริงขึ้นมาแข่งกันเสียในคีย์เวิร์ดนั้นๆ

ช่องทางที่เหล่าสแปมเมอร์เหล่านี้มักอาศัยอยู่เสมอๆ คือเว็บเนื้อหาจริงๆ นั้นไม่ได้สนใจจะทำ SEO กับคีย์บเวิร์ดใดเป็นพิเศษ เพราะเอาเวลาไปทำอย่างอื่นดีกว่า

แต่สมาคมต่อต้าน SEO นี้จะทำหน้าที่นั้น ด้วยการสัญญากันและกันของเว็บในเครือข่าย ว่าจะผลักดันให้เว็บที่สร้างขึ้นเพื่อต่อต้านนั้นขึ้นไปอยู่อันดับหนึ่งแทนได้ เช่้นทุกเว็บจะรับ feed ที่มีลิงก์ของเว็บกลางนี้ และสัญญาว่าจะวางมันไว้ในตำแหน่งที่มีผลต่อ SEO สูงๆ เช่นด้านบนของเว็บ โดยลิงก์ด้วยคีย์เวิร์ดที่ตรงกับคีย์เวิร์ดที่ถูกโจมตี เพื่อดันให้เว็บกลางนี้มีอันดับลอยขึ้นมาแล้วผลักเว็บผู้โจมตีลงไป

จุดสำคัญของเรื่องนี้คือกฏการลงมือ (Rules of Engagement) ที่ต้องชัดเจน ไม่อย่างนั้นสมาคมนี้จะกลายเป็นเครื่องมือทำ SEO ไปเสียเอง

  1. เว็บในเครือข่ายต้องถูกโจมตี และอาจจะต้องถูกโจมตี “มากพอ” เช่นว่ามีคนมาโพสครั้งเดียวลบทิ้งก็จบ อาจจะไม่นับ
  2. การโจมตีนั้นต้องมีผล เช่นว่าเว็บที่มาทำ SEO  หรือเว็บในเครือข่ายเดียวกันได้ขึ้นอันดับหนึ่งของกูเกิล พวกทำแล้วแป๊กให้ปล่อยไป
  3. การตอบโต้มีหลายระดับ นับแต่การผลักเว็บนั้นลงจากที่หนึ่ง ไปจนถึงการผลักมันลงไปจากหน้าแรก (ด้วยการสร้างเว็บจำนวนมากพอมาทำ SEO ในคีย์เวิร์ดเดียวกัน

เนื้อหาที่นำมาใส่ในเว็บเหล่านี้ต้องเป็นเนื้อหาจริง เช่นช่วยกันเขียนบล็อกท่องเที่ยว, ของกิน ฯลฯ ลงเว็บเดียวกัน เนื้อหาทั้งหมดต้องเป็นเนื้อหาใหม่ และลิงก์ไปยังเว็บที่มีเนื้อหาจริงในหมวดหมู่เดียวกัน เพื่อให้เว็บเหล่านั้นได้อันดับกลับมาหลังจากโจมตีสิ้นสุดลง

ยังคิดไม่สุดดีไม่รู้ว่าจะทำได้จริงรึเปล่า

 

lewcpe

CTO at MFEC PLC. Chief Editor at Blognone.com

 

2 thoughts on “SEO is here

  1. ผมว่าการทำ SEO ต่อต้าน SEO นั้นอันตรายมากเลย

    1. เราอาจลงโทษผิดคน
      ใครจะพิสูจน์ว่า นี่คือการโจมตี หรือนี่คือการใส่ร้าย?
      ผมอาจใส่ร้ายเว็บ x โดยการ spam link?
      หากเว็บของเครือข่ายต่อต้าน SEO คือเว็บ y ผมอาจใส่ร้ายเว็บ y อีกรอบ?

    2. สิ่งที่เราทำ เนื้อหาดีกว่าเว็บที่เค้าทำ SEO กันจริงหรือ?
      เว็บจำนวนมากที่ทำ SEO คือเว็บขยะ แต่บางเว็บก็พยายามสร้างข้อมูลที่น่าสนใจ (และทำ SEO ไปด้วย) เราจะพิสูจน์ได้อย่างไรว่าข้อมูลที่เราทำเอง ดีและสมควรกับอันดับหนึ่ง มากกว่าเว็บที่ทำ SEO นั้น?

    หมายเหตุ: SEO ในที่นี้ความหมายเหมือนในบทความนะครับ คือเป็น SEO ที่เบียดเบียนคนอื่น

    ผมยังนึกทางแก้ตรงๆ ไม่ออก แต่ถ้าเป็นทางแก้แบบ “แจ้งเตือน” เท่าที่คิดออกก็เช่น

    ทำเว็บเตือนว่า ช่วงนี้มีคีย์เวิร์ด/เว็บขยะเรื่องไหน แล้วเอาเว็บนี้แจ้ง Google

    1. ถ้า Google ไทยห่วย ก็ปั่นเว็บนี้ขึ้นอันดับหนึ่งเอง (แม้ไม่เห็นด้วยกับการปั่น แต่ผมอนุโลมว่า เราเสนอข้อมูลคนละแบบกับที่แย่งกันอยู่ น่าจะสร้างประโยชน์กับทุกฝ่ายมากกว่า)
    2. ถ้า Google ไทยไม่ห่วย ก็ลงแรงน้อยสุด ได้ประโยชน์มากสุด ทำเว็บแจ้งเฉยๆ ไม่ต้องปั่น จนวันหนึ่งอาจไม่ต้องมีเว็บแจ้งเตือนก็ได้ แจ้งตรงที่ Google เองเลย
  2. @iMenn ผมเห็นด้วยครับว่าโอกาสการกระทำแบบนี้มันอันตรายมาก ถ้าสามารถทำให้เกิดขึ้นได้จริง มันจึงควรเป็นอาวุธที่ถูกใช้ในวงจำกัดมากๆ

    ในทางปฎิบัติ ถ้ามีข้อตกลงร่วมกันว่าจะสร้าง content ขึ้นใหม่ มันก็จะจำกัดอยู่แล้วด้วยพลังงานในการเขียน content เอง

    เรื่องคุณภาพ content ผมว่าเป็นอีกประเด็นที่ต้องใส่ไว้ใน rules of engagement ครับ ถ้าผู้โจมตีไม่ใช่คนสร้างเนื้อหาแบบ computer generate (copy หรือแปลแบบ Google Translate) อาจจะละไว้ไม่โต้ตอบ เพราะถือว่าอย่างไรเสียคนนั่งทำ content ก็น่าจะคุยกันได้ (จริงรึเปล่าอีกเรื่อง)

    ถ้าเป็นเช่นนี้ประเด็นมันจะเหลือแค่ องค์ประกอบสามข้อ คือ

    1. มีการ “ยิงกระหน่ำ” ไปยังเว็บในเครือข่าย (เว็บนอกเครือข่ายเราจะไม่ไปยุ่ง)
    2. ทำสำเร็จ เว็บเหล่านั้นกำลังครองคีย์เวิร์ดเหล่านั้นไปแล้ว เจ้าของตัวจริงถุกผลักไปอยู่หน้าสามนานแล้ว
    3. เนื้อหาเป็น computer generated ไม่ใช่เว็บคู่แข่งที่สร้างเนื้อหากันจริง (ซึ่งนั่นเป็นอีกประเด็น)

    เงื่อนไขเหล่านี้น่าจะพอบีบว่ากลุ่มเหล่านี้อยู่เกินกว่าที่จะเจรจาได้รึเปล่าครับ?

Comments are closed.