Policy

บทความนี้่เป็นการถกประเด็นนโยบายการเขียนข่าวใน Blognone กับ mk ถ้าใครยังไม่ได้อ่านเรื่องนี้ แนะทำให้อ่านก่อนอ่านเรื่องนี้

ผมเป็นคนหนึ่งที่เชื่อว่าโลกอินเทอร์เน็ตทรงพลังเพราะทุกคนร่วมกันรับผิดชอบในส่วนของตนเอง นี่คือนโยบายที่ทำให้อินเทอร์เน็ตเติบโตได้นับแต่วันแรกที่กลาโหมสหรัฐสร้าง ARPANet เพื่อให้มันทนทานต่อการเสียหายไปบางส่วน ในกรณีที่ถูกโจมตีจากอาวุธนิวเคลียร์

มาในวันนี้ ผมยังเชื่อว่าโลกอินเทอร์เน็ตควรคงนโยบายเดิมเอาไว้ ที่จะให้ทุกคนเข้ามาร่วมรับผลประโยชน์จากมันดูแลในส่วนของตัวเอง โดยทุกคนอยู่ในกติกากว้างๆ ร่วมกัน เช่นมาตรฐานของ IETF หรือการแนะนำของ W3C

ผมจำได้ถึงข้อสอบข้อหนึ่งสมัยเรียน ที่ระบุให้ทุกคนคอนฟิกหน้าจอเทอร์มินัล ไม่ให้มีแมสเสจมาขึ้นที่หน้าจอที่อาจจะทำให้การทำงานมีปัญหา ซึ่งในลินุกซ์เองก็มีคำสั่งอย่างนี้อยู่

เพื่อนผมคนหนึ่งแก้โจทย์ข้อนี้ด้วยการส่งแมสเสจไปหาทุกคน บอกว่าอย่าส่งแมสเสจมาที่แอดเดรสนี้….

ปัญหาแนวๆ นี้สร้างปัญหาขึ้นมาในโลกอย่างไม่รู้จบ สร้างกฏเกณฑ์ที่ไม่เป็นมาตรฐาน เพิ่มความสับสนรวมให้กับสังคมอย่างไม่รู้จบ

ผมเชื่อว่า ถ้าคุณอยากได้ประโยชน์จากอะไร ก็เป็นหน้าที่ของคุณเองที่จะเรียนรู้มัน เช่นในกรณีที่สำนักข่าวเอเอฟพีฟ้องกูเกิลที่ทำการอินเด็กซ์เว็บของเอเอฟพี โดยบอกว่าได้เมลไปบอกกูเกิลก่อนฟ้องแล้ว ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว เอเอฟพีสามารถเขียน robot.txt ให้กูเกิลถอนเว็บออกจากกูเกิลได้โดยอัตโนมัติ

มาในเรื่องที่ mk เขียนไว้ในบล็อกว่าการนำข่าวการรีลีสต์ ขึ้นก่อนเว็บเจ้าของทำให้ FTP ของดิสทริบิวชันนั้นเดือดร้อน ถ้าถามผมแล้ว..

ผมไม่เชื่อว่าคนระดับนักพัฒนาดิสทริบิวชันลินุกซ์จะหาทางปิดไม่ได้มีคนโหลดก่อนเวลาไมไได้

มีประเด็นแนบมาตอนท้าย อีกหน่อยคือเรื่องของข่าวลือ

ผมเชื่อว่าข่าวลือที่เขียนอย่างเข้าใจว่าเขียนเรื่องอะไรอยู่ และเขียนโดยรับรู้ว่ามันเป็นข่าวลือ มีคุณค่ายิ่งกว่าข่าวที่ยืนยันแล้ว แต่เขียนโดยคนที่ไม่เข้าใจว่าตัวเองกำลังเขียนอะไรอยู่เสียอีก (หาอ่านได้ตามหนังสือพิมพ์ที่คุณก็รู้ว่าฉบับไหน)

ข้อต่อมาคือ ผมสร้าง Blognone โดยหวังจะสร้างเครือข่ายที่เติมเต็มส่วนอื่นๆ ขึ้นมาในอนาคตแบบเดียวกับ OSTG ที่มี NewsForge มาเติมเต็มในส่วนของข่าวที่ผ่านการยืนยันแล้ว

ดังนั้น Blognone ในวันนี้จึงยังเป็นส่วนที่ไม่ต้องกังวลถึงความถูกต้องแม่นยำของข่าว แนวคิดคือถ้ามันมีข่าว เราก็แจ้งข่าว ถ้าข่าวยังไม่ยืนยัน เราก็บอกว่ามันยังไม่ยืนยัน ถ้ามันยืนยันแล้ว เราอาจจะเขียนข่าวใหม่มา หรือกลับไปแก้ข่าวเก่าให้ถูกต้อง

แต่ตรงนี้ก็ควรอธิบายให้คนอ่านรับรู้ และเข้าใจ

 

lewcpe

CTO at MFEC PLC. Chief Editor at Blognone.com

 

One thought on “Policy

  1. > ผมไม่เชื่อว่าคนระดับนักพัฒนาดิสทริบิวชันลินุกซ์จะหาทางปิดไม่ได้มีคนโหลดก่อนเวลาไมไได้

    อาจจะไม่ใช่ว่าทำไม่ได้ แต่ทำแล้วสร้างปัญหาอื่นขึ้นมาแทนมากกว่า เช่น การบังคับให้ mirror site ต้อง subscribe หรือเป็นการจำกัด contributor ที่ช่วยทดสอบและแจ้งปัญหาอยู่ตลอดเวลา (ในที่นี้ รวมความถึงโครงการต้นน้ำอย่าง GNOME, KDE ที่ทำงานกับ source code เป็นปกติด้วย ไม่ใช่แค่ดิสทริบิวชัน) การจำกัดการเข้าใช้ในช่วงนั้น จะทำให้ขาดโอกาสร่วมกันตรวจสอบปัญหาในแนวทางโอเพนซอร์สไป จริงอยู่ จำนวนนักพัฒนาที่เข้าร่วมอาจจะน้อย เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ใช้ที่เข้าไปดาวน์โหลด แต่ก็เป็นจำนวนที่ไม่เคยจำกัด

    ถ้าจะเสนอว่าควรแยกเป็นสองแหล่ง สำหรับนักพัฒนาและสำหรับผู้ใช้แยกกัน ก็คิดว่าคงมีปัญหาว่า 1) เปลืองที่เก็บ โดยเฉพาะสำหรับ distro ใหญ่ๆ อย่าง debian 2) นักข่าวก็คงดอดไปดมกลิ่นที่แหล่งสำหรับนักพัฒนาอยู่ดี 3) โลกโอเพนซอร์สไม่มีเส้นแบ่งระหว่างความเป็นผู้ใช้และผู้ร่วมพัฒนา การพยายามแบ่งกลุ่ม กำหนดสิทธิ์การเข้าถึง จะเป็นเรื่องยุ่งยากเสียมากกว่า

    คิดว่า ความเข้าใจซึ่งกันและกันระหว่างโครงการกับนักข่าว น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด เพื่อที่นักข่าวจะได้เป็นเพียงผู้รายงาน โดยไม่ไปสร้างผลกระทบในการเปลี่ยนโครงสร้างของสิ่งที่รายงาน

Comments are closed.