หัวหมาและหางเสือ

ผมอ่านเรื่องพวกนี้จาก mk มาหลายตอนว่าแล้วก็คงได้เวลาเขียนเรื่องพวกนี้กันซักที

[mk ตั้งคำถามว่าทำไมคน “ชั้นกลาง” โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ รวมถึงชั้นกลาง-สูง เช่นอาจารย์มหาวิทยาลัยในต่างจังหวัด พากันกลับข้างไปมากันอย่างสนุกสนานในช่วงเวลาไม่ถึงสิบปีมานี้](http://www.isriya.com/node/2143/the-main-problem-of-thailand)

ผมเองเชื่อว่านี่คือปรากฎการณ์หัวหมาและหางเสือ…

ก่อนหน้ารัฐธรรมนูญ 2540 นั้นเราคงนึกกันออกว่าไม่ว่าคุณจะจบปริญญาไหนๆ หากคุณไม่ได้รวยระดับ 1% แรกของประเทศหรือมีตำแหน่งทางทหารอยู่ในระดับนายพลแล้ว อิทธิพลในเชิงการปกครองนั้นเข้าใกล้ศูนย์เป็นอย่างยิ่ง เพราะการซื้อเสียงที่มากมายจริงๆ ในสมัยนั้น รวมกับการปฎิวัติที่ทำกันเหมือนการล้างบ้านประจำสัปดาห์ ทำให้ไม่ว่าเราจะเป็นคนชั้นกลางที่ผ่อนโซลูน่าอยู่ หรือชาวบ้านที่เลี้ยงควายอยู่ชายทุ่ง ล้วนไม่มีสิทธิไม่มีเสียงใดๆ ในทางการเมืองมากมายนัก

สุรยุทธเคยพูดในรายการเรื่องเล่าเช้านี้ว่าเขารู้สึกว่าบ้านเมืองนี้ไม่ใช่ของเรา ผมคิดว่าความรู้สึกเช่นนี้เป็นความรู้สึกที่สะท้อนชนชั้นกลางได้ค่อนข้างดี แต่ความรู้สึกนี้จริงๆ แล้วมันไม่ได้ต่างไปจากสมัยก่อนหน้าปี 2540 นัก แต่ก่อนหน้า 2540 นั้นคนทั่วไปรู้สึกว่า

“บ้านเมืองนี้__ไม่เคย__เป็นของเรา”

ชนชั้นกลางในสมัยนั้นคือ __หัวหมา__ ที่ไม่ว่าจะสูงส่งเพียงใดแต่ก็ยังเป็นหมาอยู่นั่นเอง

รัฐธรรมนูญ 2540 ให้ความเสมอภาคที่รุนแรงอย่างมากในสังคม รากหญ้ามีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการตัดสินใจในระดับประเทศ ความไม่ลงรอยในรัฐธรรมนูญ 2540 นั้นเกิดจากความพยายามสร้างแนวทาง 1 คน 1 เสียงในสังคมไทย

สนธิเก่งกาจมากในการที่พยายามประกาศว่าชนชั้นกลาง (ที่เคยเป็นหัวหมา) นั้นจริงๆ แล้วเป็น__หางเสือ__ แม้จะเป็นเสือชั้นล่างๆ หน่อยแต่ก็ยังเป็นเสือ

แนวทางนี้อาจจะสะท้อนออกมาทางความเห็นของเด็กจบจุฬาฯ อย่างซูโม่ตู้ ที่กล่าวอย่างชัดแจ้งว่าในหนังสือของเขาว่า “ระบอบบ้านี่ ให้เสียงส่วนใหญ่ปกครอง กุลีเสียงเท่าเรา แล้วแบบนี้เราจะเรียนปริญญาตรีกันไปทำไมครับ”

จากคนที่ไม่เคยมีเสียงเท่าๆ กัน ในวันนี้สิ่งที่สนธิพยายามหยิบยื่นให้คนชั้นกลางคือ “ศักดินา” สนธิบอกแก่คนกรุงจำนวนนับล้านว่าจริงๆ แล้วเขาควรเป็นหางเสือที่มีสิทธิกดคนอีกหลายสิบล้านไว้ใต้การปกครองได้ และความวุ่นวายในวันนี้ประกันได้ว่าคนจำนวนไม่น้อยเลยที่อยากได้ศักดินานี้ไว้ในมือ

ถึงคนที่เหนื่อยหน่ายบ้านเมืองในวันนี้ คงต้องท่องไว้หนทางแห่งประชาธิปไตย และความเสมอภาคในสังคมนั้นใช้เวลานานมากในการสร้างขึ้นมา ฝรั่งเศสเองนั้นใช้เวลานับร้อยปีกว่าจะเรียนรู้มัน ระหว่างนั้นมีรัฐประหารอยู่หลายต่อหลายครั้ง เยอรมันเองนั้นก่อสงครามโลกไปแล้วสองครั้งกว่าจะเรียนรู้

ทั้งหมดต้องใช้เวลา นานบ้างสั้นบ้างตามปัจจัยจำนวนมาก

75 ปีของไทยนั้นยังเด็กนัก

 

lewcpe

CTO at MFEC PLC. Chief Editor at Blognone.com

 

7 thoughts on “หัวหมาและหางเสือ

  1. ถึงผมจะยังเข้าใจไม่หมด แต่จะพยายามศึกษาครับ

  2. @kohsija ผมว่าบทความผมคงไม่มีประเด็นอะไรพอให้ศึกษาหรอกครับ เพราะหลักๆ มันแค่เป็นการเรียบเรียงความคิดของผมที่มองสังคมเท่านั้นเอง สังคมไทยเป็นอย่างนี้จริงรึเปล่าคงต้องมีการศึกษาทางวิชาการจริงๆ กันต่อไป

  3. เป็นเรื่องปกติของสังคมไทย ถ้ามีโอกาสที่จะ “กดหัว” คนอื่นได้ ทำไมจะไม่ทำ ?

    ปรากฏการณ์สนธิ เปิดโอกาสให้คนที่เคยเป็น nobody กลายเป็น somebody ในกลุ่มของ PAD ถึงแม้ว่าภายนอกคุณจะเป็น nobody แต่เมื่อเข้าร่วมกับ PAD คุณก็จะกลายเป็นsomebody กลายเป็นคนรักชาติ ส่วนพวกที่ไม่เข้าร่วมน่ะเหรอ ก็ไม่รักชาติน่ะสิ คุณค่าของความเป็นคนต่างกันเยอะ

  4. จริงๆ ประเด็นที่ Mr.JoH ยกมา มันเกิดขึ้นมานานแล้วในสังคม Amway นะครับ ผมเคย (พาตัวเอง) ไปนั่งฟัง เพื่อศึกษาวิธีคิดของคนกลุ่มนี้

  5. เดิมที่เห็นหัวข้อ คิดว่าเรื่องจะมาแนวชีวิต..
    “หัวหมา” -> นึกถึง “หมาหัวเน่า”;
    “หางเสือ” -> นึกถึงหางเสือเรือ คือหมายถึงคนที่ประคองทิศทางของกลุ่ม;
    จับมารวมกันเลยนึกถึงชีวิตหัวหน้าครอบครัวที่ชีวิตการงานล้มเหลว..

    แต่พอเข้ามาอ่าน อ้อ.. หมายถึง “หัวหมากับหางราชสีห์” ล่ะมัง แบบว่า background เรื่องคำศัพท์ไม่ตรงกัน ^_^’

  6. ไหน ๆ ก็เข้ามาแล้ว.. เรื่องนี้ผมมองในแง่ผลลัพธ์ของประชานิยมน่ะ คือชนชั้นปกครองไปดึงชนชั้นล่างมาเป็นแนวร่วม โดยบีบชนชั้นกลางแบบแซนด์วิช ตามสูตรของประชานิยม ผลคือ ชนชั้นกลางก็พยายามหาทางออกของตัวเอง

    ในยุคทักษิณ ชนชั้นกลางแทบจะไม่มีปากมีเสียง ไม่พอใจยังไงก็กล้ำกลืนไว้ คนพยายามพูดก็กลายเป็น “ขาประจำ” หรือ “ผู้เสียผลประโยชน์” แล้วเสียงก็เงียบหายไปกับสายลม พอมีคนที่กระดูกแข็งพออย่างสนธิลิ้มขึ้นมาเป็นแกน ชนชั้นกลางเลยถือโอกาสเกาะตาม เพราะทางเดียวที่จะสู้ได้คือต้องรวมพลังกัน โดยสนธิไม่ลืมที่จะดึงชนชั้นล่างส่วนหนึ่งเข้าไปร่วมด้วย ผ่านวาทกรรมที่ชนชั้นล่างเข้าใจง่าย (แต่อาจผลักชนชั้นกลางบางส่วนให้ออกห่าง) อย่างเช่นเรื่องคอร์รัปชัน และหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แถมด้วยการขยายเครือข่าย ASTV

    สิ่งที่หลายคนมองข้าม คือเรื่องการดึงคนกลุ่มที่เคยนิยมทักษิณให้มาร่วมนี่แหละ ต้องมาอยู่ ตจว. จะเห็นคนที่อาจจะเรียกว่าชนชั้นล่างหรือชนชั้นกลางระดับล่างก็แล้วแต่ ถูกชักชวนให้เปลี่ยนข้างได้สำเร็จมากมาย แถวบ้านผมช่วงไล่ทักษิณนั้น ใครดูเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจรหรือ ASTV จะถูกประณามเป็นหมาหัวเน่า แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว ออกเดินชมเมืองจะเห็นเปิด ASTV กันพรึ่บ คุยการเมืองก็มีคนทั้งสองฝ่ายในสัดส่วนสูสีกัน

    ความเคลื่อนไหวยึดมวลชนระลอกใหม่ของพันธมิตรจึงน่าสนใจ ที่สามารถแทรกซึมได้แม้ฐานเสียงเดิมของทักษิณ (โดยที่สำนักข่าวต่างประเทศก็ยังไม่เห็นพูดถึง ส่วนมากยังคงวิเคราะห์ว่าเป็นคนกรุงเท่านั้นที่เป็นฝ่ายพันธมิตร) จนกระทั่งสามารถก่อการพร้อมกันเป็นเครือข่ายทั่วประเทศได้ในช่วงเร็ว ๆ นี้

  7. น่าเสียดาย ศาล ที่กำลังจะแข็งขึ้นมาเป็นตัวของตัวเอง กลายเป็นกองทรายที่
    ถูกน้ำทะเลพัดผ่าน

    ตอนนี้คนกรุงเองอาจจะเปลี่ยนฝ่าย

    พึ่งกลับมาจาก ปราก มามาด ๆ ไม่น่าเชื่อว่าเป็นเมืองที่เจริญมาก ๆ ทั้ง ๆ ที่
    ผ่านสงครามมามากมาย แต่ถึงเมืองจะเจริญเพียงใด ดวงดาของคนรุ่นเก่า
    ก็เศร้าหมองเหลือเกิน กรุงเทพฯ อาจจะถูกอย่างที่คนเคยพูดไว้ สร้างสะพาน
    เมื่อใด ตายเมื่อนั้น

Comments are closed.