เรียนรู้จาก Uber

ปัญหา Uber เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของปัญหาอีกจำนวนมากที่กำลังจะเกิดใน Sharing Economy บ้านเราเองยังเพิ่งเกิดอย่างแรกๆ เพราะเรามีความฝังใจกับปัญหาแท็กซี่เป็นพิเศษ แต่ในไม่นานปัญหาซ้ำรอยเดิมๆ จะเกิดขึ้นมาเรื่อยๆ ไม่รู้จบ

ปัญหาของแท็กซี่เดิมเองแยกเป็นสองส่วน คือ โครงสร้างราคา และการควบคุมของรัฐ

โครงสร้างราคาของแท็กซี่เองตายตัวอย่างมาก ตั้งครั้งเดียวใช้กันยาวนานนับสิบปี พอจะปรับแต่ละครั้งกลายเป็นปัญหาการเมืองว่าจะทำให้ค่าครองชีพแพง พอจะปรับก็กระมิดกระเมี้ยนกันไปมา หลายค่าตั้งมาโดยไม่มีหลักอะไร เช่น ถือว่ารถวิ่งช้ากว่า 6 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเป็นรถติด ซึ่งไร้สาระมาก เพราะรถวิ่ง 10 หรือ 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมงก็รถติดทั้งนั้น การที่รัฐมาจินตนาการกฎชุดหนึ่งแล้วบอกว่ามันคือความถูกต้อง ในตลาดจริงเมื่อมันไม่สมเหตุสมผล คนที่รับกรรมคือคนเดินดินที่ต้องใช้แท็กซี่

สิ่งที่เราควรบอกรัฐคือ เลิกยุ่งกับราคา แท็กซี่ไม่ได้ไม่มีการแข่งขัน แต่รัฐเองทำลายการแข่งขันของแท็กซี่ด้วยการล็อกราคาตายตัว แท็กซี่ที่พยายามสร้างรายได้ให้มากที่สุดเมื่อถึงจุดหนึ่งยอมรับกับราคาที่รัฐตั้งมาไม่ได้ก็ไม่ยอมรับผู้โดยสารและหาทางทำกำไรสูงสุดจากช่วงเวลาที่ขับรถ

ผู้บริโภคไม่ได้ต้องการราคาตายตัวแบบเดียวที่รัฐคิดสำเร็จมาให้ Uber มีเกณฑ์ที่ต่างออกไปยังมีคนมีความสุขกับมันมากมาย แม้แต่ Surge Pricing เองจำนวนปัญหาจริงๆ ก็ไม่มากนัก คนไทยเองผมยังแทบไม่ได้ยินปัญหาแรงๆ ออกมา สิ่งที่คนต้องการคือ ราคาและบริการที่คาดหวังได้ ถ้าเขาเรียกรถแล้วจะประมาณได้ว่าถึงจุดหมายในงบประมาณเท่าใด ผู้ให้บริการอาจจะปรับราคาไปบ้าง แต่ถ้าการปรับราคายังทำให้ผู้ใช้คาดเดาได้ ปัญหาก็น้อยลง รัฐเองไม่มีความสามารถจะยืดหยุ่นราคาที่ตัวเองควบคุมไว้ อย่าว่าแต่ช่วงฝนตกรถติดแล้วควรขึ้นราคาให้ น้ำมันขึ้นราคาเป็นปีการตอบสนองก็ยังช้ามาก

การควบคุมของรัฐที่ล้มเหลวเป็นผลที่ตามมาจากการควบคุมเกินความสมเหตุสมผล เมื่อแท็กซี่พากันไม่ยอมรับผู้โดยสารในบางเส้นทาง ผู้คนเบื่อหน่ายกับการร้องเรียนที่ล่าช้า เจ้าหน้าที่เองก็อาจจะโดนร้องเรียนจนงานเต็มมือ สุดท้ายมันกลายเป็นวังวนสู่ความล้มเหลวของการควบคุมภาครัฐ การตามจับกรณียิบย่อยไม่ได้ช่วยให้ผู้บริโภคได้บริการที่ดีแต่อย่างใด

Sharing Economy ควรทำให้เราตั้งคำถามว่าสุดท้ายแล้วเราจำเป็นต้องให้รัฐทำหน้าที่ควบคุมแบบทุกวันนี้จริงๆ หรือ รัฐเคยสัญญากับเราว่ารถแท็กซี่ควรถูกจดทะเบียนอย่างถูกต้อง คนขับควรมีใบขับขี่พิเศษมีการตรวจอาชญากรรม แต่เอาเข้าจริงรัฐก็มีความสามารถในการตรวจตราจำกัด และไม่ขยายตัวเองออกไปตามปริมาณรถที่เพิ่มขึ้นได้ ขณะที่ผู้ให้บริการ Sharing Economy อย่าง Uber สามารถเก็บประวัติคนขับ ณ เวลาหนึ่งๆ ได้เหมือนที่รัฐเคยสัญญาว่าจะทำ หรือ Airbnb สามารถเก็บรายชื่อผู้เข้าพักบ้านพักได้เหมือนโรงแรมที่เก็บรายชื่อแขกที่มาพัก กระบวนการเหล่านี้มีประสิทธิภาพดีพอสมควร ที่สำคัญคือดูจะดีกว่าสิ่งที่รัฐกำลังทำอยู่ มันก็ควรถึงเวลาที่เราจะบอกรัฐให้วางมือกับงานบางอย่าง

การถอนการกำกับดูแลบางส่วน รัฐอาจให้เอกชนเป็นคนดูแลว่าคนขับตรงกับที่แจ้งหรือไม่ และหากมีเหตุต้องส่งรายระเอียดให้รัฐได้อย่างรวดเร็ว Airbnb อาจจะต้องส่งรายชื่อผู้เข้าพักให้กับรัฐแบบเดียวกับที่โรงแรมส่งให้ รัฐอาจจะแจ้งรายชื่อผู้ให้บริการจับคู่ใน Sharing Economy ว่ามีใครติด blacklist ห้ามให้บริการแทนที่จะลงไปดูแลโดยตรงทั้งหมด บริษัทอย่าง Uber อาจจะต้องส่งชื่อและลายนิ้วมือเพื่อตรวจสอบประวัติอาชญากรรมก่อนให้บริการเช่นเดียวกับคนขับแท็กซี่ (ที่ถูกต้อง) ทุกวันนี้

กระบวนการถอนการกำกับดูแลออกบางส่วนเกิดขึ้นเสมอ สถานตรวจภาพรถเอกชน, สนามสอบใบขับขี่เอกชน, ธนาคาร, สถาบันการเงิน, เครือข่ายโทรศัพท์ ฯลฯ ล้วนถูกกำกับดูแลในระดับที่สูงกว่า หลายอย่างมีการแข่งขันราคาที่ต่างกัน เทคโนโลยีและการที่สมาร์ตโฟนกลายเป็นของที่มีอยู่ทั่วไปเปิดให้เกิดความเป็นไปได้ใหม่ๆ ขึ้นอย่างมหาศาล

และเมื่อมีคนทำได้ดีแล้วก็ควรถึงเวลาที่รัฐจะมองหน้าที่ของตัวเองใหม่ ปรับบทบาทให้มีประสิทธิภาพ

 

lewcpe

CTO at MFEC PLC. Chief Editor at Blognone.com