LINE on Chrome

ด่า LINE มานาน เคยไปคอมเมนต์ไว้ตั้งแต่ปีที่แล้ว เรื่องแอปขอสิทธิ์ “อ่านและเขียนเนื้อหา” ทุกเว็บที่เราเข้า เพราะตัวแอปพัฒนามาแบบ extension แล้วเลิกพัฒนาแบบแอปไป

ล่าสุดก็ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะแก้ไขอะไร LINE ยังคงเป็นแพลตฟอร์มที่แย่ที่สุดสำหรับการใช้งานจริงจัง แพลตฟอร์มอื่นก็แค่ให้ใช้ผ่านเว็บธรรมดาไม่ต้องเรื่องมาก แถมฟีเจอร์ค่อนข้างใกล้เคียงกันทุกแพลตฟอร์ม LINE นี่พอออกนอกแอปแล้วอยู่ระดับเลวร้าย

ในเมื่อเราไม่อยากให้สิทธิ์ LINE อ่านทุกแท็บ บนเดสก์ทอปธรรมดามีทางออกอีกแบบคือแยก profile ไป เพราะ Chrome รันสองโปรไฟล์พร้อมกันได้ แต่ถ้าไม่อยากทำแบบนั้น หรืออยู่บน chromeos ซึ่งรันสองโปรไฟล์พร้อมกันไม่ได้ก็มีทางจำกัดสิทธิ์อีกอย่าง

ใน chromeos ล่าสุดเปิดให้คอนฟิก site-access ได้แล้ว ก็จะจำกัดให้อ่านได้เฉพาะเว็บที่เรากำหนด ซึ่งพบว่าเปิดให้แค่สี่เว็บก็ใช้งานได้ครบถ้วนดี

ใส่ไว้เท่านี้ก็จะใช้งานได้โดยไม่ต้องเปิดให้อ่านเว็บอื่น ตอนนี้คุยงานได้ แต่เจอฟ้องว่าเน็ตเวิร์คไม่เสถียร ไม่แน่ใจว่าเพราะอะไร

 

สมประสงค์ แลนด์

อ่านเรื่อง Asia Financial Crisis เมื่อปี 2540 อีกครั้ง แล้วเพิ่งเห็นว่าจุดเริ่มต้นของวิกฤติมีจากเดิมที่ได้ยินว่าเป็น Finance One ยังมี สมประสงค์ แลนด์ อีกบริษัท อันนี้ไม่เคยได้ยินมาก่อน เลยลองไปอ่านดู

 

LTF/RMF

เห็นเริ่มมีถกเถียงกันเยอะขึ้นเรื่อยๆ บันทึกความคิดตัวเองเกี่ยวกับ LTF/RMF ไว้หน่อย

TL:DR ควรยกเลิกรูปแบบที่เป็นอยู่

ไม่ว่าเราจะบอกว่า RMF เป็นการสนับสนุนให้คนออมหรืออย่างไร ระบบการจูงใจ LTF/RMF ทุกวันนี้ออกแบบไว้ในขั้นแย่ มันลดภาษีให้คนฐานภาษีสูง ที่น่าจะมี รายรับส่วนเกิน (จากการใช้เพื่อดำรงค์ชีพ) สูงอยู่แล้ว มากกว่าคนฐานต่ำ

LTF บอกว่าทำให้ตลาดหุนมีเสถียรภาพนี่ก็ไร้สาระ ปีๆ นึงนักวิเคราะห์ต้องออกมาวิเคราะห์ว่าเงินจะเข้าจะออกจากตลาดหุ้นเท่าไหร่ กระทบ index เท่าไหร่ ถ้าไม่จูงใจ มั้นมีเสถียรภาพตรงไหน

ถ้าจะทำต่อ อย่างน้อยก็ต้องปรับให้เป็นระบบเครดิตภาษี คนฐานภาษีต่ำได้มากกว่าหรือเท่ากับคนฐานภาษีสูง เช่น ซื้อ 100,000 คืนภาษี 15,000 ไม่สนฐานภาษี คนรายได้น้อยแต่ออมเยอะ อัตราภาษีก็อาจจะต่ำลงจนถึงหายไปเลย ให้คนชั้นล่างลืมตาอ้าปากได้ง่ายขึ้น ส่วนคนฐานภาษีสูงก็ต้องไม่ “ได้ประโยชน์” มากไปกว่าคนฐานภาษีต่ำ ไม่ใช่คนฐาน 35% คิดส่วนลดภาษีแล้วแทบไม่มีทางขาดทุนเลยแบบทุกวันนี้

คนฐานภาษีสูงๆ นั้นไม่ต้องไป “จูงใจ” ให้เขาลงทุนมากหรอก คนเหล่านี้เขามี surplus สูง เงินเก็บเยอะ เขาทนเห็นดอกเบี้ยฝากประจำไม่ได้นานหรอก ถึงจุดหนึ่งเขาหาทางซ้ายขวาจัดพอร์ตลงทุนตัวเองทั้งนั้น คนพวกนี้ธนาคารรักขาดใจ ส่งที่ปรึกษามาชวนจัดพอร์ตการลงทุน (เพื่อหวังค่าธรรมเนียม) ด้วยซ้ำ

ระยะยาวถ้าจะจูงใจ เห็นแก่ว่าเป็นเงินเก็บยามชรา ก็งดภาษี capital gain หากซื้อครบตามเงื่อนไขก็พอแล้ว

 

The History of the Future

ผมเคยคิดว่า VR “จะมา” แล้วสมัย Google Cardboard เพราะมันคือจุดแรกของการนำ VR ไปสู่ทุกคนได้จริงๆ

แต่ผ่านไปหลายปี ความเชื่อนั้นไม่เป็นจริง Cardboard เป็นแค่ของเล่นชั่วคราวที่ไม่มีใครใช้งานจริง ไม่มีใครแชร์ภาพตอนไปเที่ยวเป็น VR แต่อย่างใด

หลังจากลองเล่น Oculus Go แล้ว ส่วนตัวพบว่าการใช้งานอย่างเดียวที่คิดออกคือใช้ดู Netflix ที่ให้ประสบการณ์ดูภาพจอใหญ่ได้ดีทีเดียว ส่วนการใช้งานอื่นแม้จะดูตื่นเต้น แต่ก็ไม่เห็นประโยชน์จริงจัง

แต่ทั้งหมดทั้งมวล เฟซบุ๊กลงเงินกับ VR ไปแล้ว มหาศาลและตอนนี้ยังไม่เห็นผลงานอะไรจริงจัง

หนังสือ The History of the Future ออกวันที่ 19 นี้เล่าประวัติการลงทุนใน VR ไว้คงซื้อมาอ่านตั้งแต่วันแรกๆ