Her Private Life

เห็นเรื่องนี้ดังมากในทวิตเตอร์เมื่อปีที่แล้ว เพิ่งได้ดูใน Netflix และเกือบเลิกดูตั้งแต่ 1-2 ตอนแรกเพราะเห็นว่าเป็นหนังรักแบบการ์ตูนเกินไป ไม่มีประเด็นอะไรให้คิดต่อเท่าไหร่

แต่กลางๆ เรื่องพอโอเคอยู่ เล่นประเด็นกับความสัมพันธ์ของคนที่คลั่งไคล้ (obsessed) กับอะไรมากๆ และการวางความสัมพันธ์กับคู่ที่เป็นแฟนว่าจะวางตัวกันอย่างไร และมันก็อยู่กันไปได้ โดยเรื่องหลักพูดถึงชีวิตกลุ่มแฟนคลับ (นางเอก) ที่บ้าดาราชายมากๆ แต่ก็มีความสัมพันธ์ของตัวเอง ขณะเดียวกันในเรื่องก็มีคู่พ่อแม่นางเอกที่ต่างคนต่างคลั่งอะไรกันคนละอย่างอีกเช่นกัน

มีประเด็นเล็กๆ ให้เก็บบ้าง เช่น การเล่นสัญลักษณ์กาแฟ ที่นางเอกเป็น americano และพระเอกเป็นนมร้อน (กินกาแฟไม่ได้) แต่ก็หาพื้นที่ร่วมเป็นลาเต้ได้ หรือเพื่อนนางเอกที่พูดถึงความสัมพันธ์ที่สามีทำผิดแล้วใช้ลูกมาง้อว่าเป็นการกระทำที่ขี้ขลาด

ท้ายเรื่องเริ่มยืดมีอาการบทหมดไม่มีประเด็นต่อแล้ว ตอนสุดท้ายนี่มีประเด็นเดียวคือทั้งสองรักกันตลอดไป happily ever after

 

The Rise and Fall of Dinosaurs

หนังสือเล่มที่สองที่ฟังในปีนี้ หลังจากซื้อมาเมื่อปลายปีที่แล้ว เล่าถึงประวัติศาสตร์แห่งไดโนเสาร์ ไล่มาจากจุดกำเนิดที่มีสิ่งมีชีวิตยุคก่อนมัน สภาพแวดล้อมของโลก และเหตุผลที่บางพันธุ์แพร่พันธ์ไปบางพื้นที่

ให้เทียบกับหนังสือไดโนเสาร์ทั่วไปที่มักเอาแต่บอกว่าไดโนเสาร์ตัวไหนอยู่ยุคไหนแล้ว หนังสือเล่มนี้ก็นับว่าดีกว่ามาก มันเล่าถึงความเชื่อมโยง สภาพภูมิศาสตร์ จุดเปลี่ยนสำคัญที่เชื่อมโยงระหว่างกัน และการตัดแบ่งยุคต่างๆ ว่ามันมีจุดตัด (และบางจุดที่ไม่มีอะไร แค่ยุคที่แล้วมันนานไปแล้ว) อย่างไรบ้าง ไปจนถึงกระบวนการค้นแบบต่างๆ ตั้งแต่แหล่งค้นพบฟอสซิล ไปจนถึงข้อสรุปของไดโนเสาร์ที่หลายประเด็นก็เพิ่งมีข้อสรุปไม่กี่สิบปีที่ผ่านมานี้เท่านั้น

ผมเองไม่ใช่แฟนคลับไดโนเสาร์นัก อ่านได้เรื่อยๆ ไม่ตื่นเต้น และอาจจะเรียกว่าไม่อินก็คงได้ แต่โดยรวมถ้าชอบ หรือให้เด็กโตหน่อย ม.ต้น-ม.ปลาย ก็น่าจะได้ความรู้ดี

หนังสือเสียงจาก Audible ไม่แถม PDF ภาพ อันนี้แย่

 

Upheaval

หนังสือเล่มแรกที่อ่านจบในปี 2019 หลังจากอ่าน Guns, Germs, and Steel ของคนเขียนคนเดียวกันไม่จบ เป็นหนึ่งในไม่กี่เล่มที่ปีที่แล้วขอ refund

โดยรวมคือหนังสือประวัติศาสตร์สมัยใหม่ ของหกชาติที่ส่วนใหญ่เป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่สองมา และผ่านจุดเปลี่ยนอย่างรุนแรงที่ปกเรียกว่า upheaval แต่ในหนังสือมักเรียกเป็นวิกฤติ (crisis) แล้ววิเคราะห์ถึงเหตุผลที่การเปลี่ยนผ่านเหล่านั้นว่าทำไมจึงเป็นอย่างที่มันเป็น โดยกำหนดปัจจัย 12 ประการ

หนังสือสนุกดี และเราน่าจะได้ความรู้ประวัติศาสตร์ประเทศที่เราไม่เคยรู้อยู่บ้าง เช่น ฟินแลนด์ที่ผมแทบไม่เคยอ่านเรื่อง Winter War เลย หรือแม้แต่ประวัติศาสตร์อินโดนีเซียช่วงก่อนซูฮาโตก็นึกไม่ออกเหมือนกัน หนังสือเล่าเรื่องราวทีละประเทศไปเรื่อยๆ ทำให้เหมือนหนังสือเล่มเล็กๆ ต่อกัน

แต่การเล่าเรื่องและการวิเคราะห์หลายครั้งก็ใช้ประเด็นยิบย่อย เช่น ฟังเพื่อน ฟังญาติ แม้จะอ่านสนุกแต่ก็ตั้งคำถามว่ามันจะเป็นการวิเคราะห์ที่ดีหรือเปล่า การใช้ factor ทั้ง 12 ที่ยกมาก็ดูไม่มีน้ำหนักอะไรมากนัก

ครึ่งหลังเป็นการวิเคราะห์ถึงวิกฤติในปัจจุบันทำให้หนังสือหลุดจากการเป็นหนังสือประวัติศาสตร์ และเหมือนเป็นหนังสือสรุปข่าวประจำปีมากกว่า

โดยรวมๆ เป็นหนังสือที่อ่านได้ สนุกดีแต่ไม่ได้คิดว่ามีพลังเท่ากับเล่มก่อนๆ หน้า

 

วันเด็ก

วันเด็กกลับมาอีกครั้ง โลกทวิตเตอร์คงกลับไปเปลี่ยนภาพอวาตาร์เป็นภาพเด็กกันทั้ง timeline ตามทุกปี แต่ปีนี้มีประเด็นการเมืองเข้ามาก็อาจจะถึงเวลาพูดถึงเรื่องสังคมสักหน่อย

มีคนเขียนถึงในทวิตเตอร์ว่าวันเด็กแทนที่ผู้ใหญ่จะบอกให้เด็กเป็นอะไร น่าจะเป็นวันที่ให้เด็ก นั่นคือจะให้อะไรเด็ก มากกว่าจะบอกว่าจะเอาอะไรจากเด็ก อยากได้เด็กแบบไหนทำตัวยังไง

บ้านผมเป็นคนจีนรุ่นสาม รุ่นปู่ย่าตายายนั้นมาจากเมืองจีนทั้งหมด มองย้อนดูแล้ว เวลาพูดถึงเด็ก ก็เห็นว่าคนแต่ละรุ่นให้อะไรรุ่น “เด็ก” ของตัวเองได้บ้าง

รุ่นปู่นั้นคงเป็นเรื่องของความเป็นอยู่ กินอิ่ม นอนหลับ บ้านมีหลังคา ความสำเร็จของรุ่นปู่ที่บ้านคือเราไม่มีปัญหาอัตคัดอาหารแต่ละมื้ออีกแล้ว แม้จะหลงเหลือแนวคิดเช่น ต้องกินไม่ให้เหลือ หรือกินข้าวเยอะๆ ไม่เปลืองกับข้าวอะไรอย่างนั้นอยู่บ้าง

รุ่นพ่อแม่หลังจากเรื่องกินอยู่กลายมาเป็นเรื่องการศึกษา ที่บ้านผมเองนับว่าได้โอกาสการศึกษาอย่างเต็มที่ มีคอมพิวเตอร์ให้ใช้แต่เด็ก หนังสือเป็นของที่ซื้อได้ไม่จำกัด ในบ้านของผม (ซึ่งจำได้ว่าตอนเด็กๆ ซื้อหนังสือหนึ่งพันบาทนี่กองใหญ่มาก) ผลสำเร็จคือทุกคนในครอบครัวก็ประสบความสำเร็จในการเรียนกันดี

คำถามคือถ้ามีรุ่นต่อไป เราจะให้อะไรเขาได้ เราอยู่ในยุคที่การศึกษาไม่ใช่ของแพงขนาดนั้น โรงเรียนติวเตอร์ไม่จำเป็นต้องต่อคิวไปสมัครแต่อย่างใด คอมพิวเตอร์ คอร์สเรียนออนไลน์ล้วนเข้าถึงได้ในราคาถูกพอที่ชนชั้นกลางจะจัดหาได้ไม่ยาก

ในโลกแห่งความฝัน หากฝากอะไรให้คนรุ่นต่อไปได้ คงเป็นสังคมที่เปิดกว้าง เราอยู่ในยุคที่ต้องตระหนักว่าแนวคิดเรื่องการงาน เรื่องอาชีพมั่นคงที่เคยเป็นจริงมาหลายชั่วอายุนั้น เป็นจริงน้อยลงเรื่อยๆ ในชั่วอายุที่ผ่านมาเราเปลี่ยนความคิดจากที่ว่าดาราคืออาชีพเต้นกินรำกินไม่น่านับถือ กลายเป็นอาชีพที่ได้รับความนับหน้าถือตาในสังคม จนมาถึงยุคที่ความเป็นดาราเป็นสิ่งที่ไขว้คว้ากันเองได้ จากงานประกวดต่างๆ เรื่อยมาสู่การลงมือเป็น YouTuber ในทุกวันนี้

เราไม่รู้หรอกว่ารุ่นต่อไปจะเลี้ยงตัวด้วยอาชีพอะไร เราไม่รู้หรอกว่าคนรุ่นต่อไปจะเจอแฟนทางไหน ยี่สิบปีก่อนหากใครบอกว่าเจอแฟนทางอินเทอร์เน็ตก็นับเป็นเรื่องน่าตื่นเต้น แต่ห้าปีที่ผ่านมาเพื่อนเก่าเราสักคนจะบอกว่าเจอแฟนทาง Tinder ก็ไม่ใช่เรื่องน่าตกใจอะไรแล้ว

ความเปลี่ยนแปลงที่เราประสบนี้ควรเตือนเราคนรุ่นปัจจุบันว่า “เราไม่รู้” อะไรเลยเกี่ยวกับคนรุ่นหน้า เด็กรุ่นนี้สิบขวบต้องฝึกขับรถไหม หรือรถไร้คนขับจะเต็มถนนแล้วตอนพวกเขาอายุพอทำใบขับขี่ พวกเขาควรเรียนอะไร ขณะที่เรานั่งรอว่านักร้องต่างประเทศสักคนจะมาจัดคอนเสิร์ตที่ไทยไหม ลูกหลานของเราหลายๆ คนอาจจะคุยกับนักร้องที่เขาชอบผ่าน IG Story ได้โดยตรงโดยพ่อแม่ไม่รู้เรื่องด้วย

เราได้แต่หวังว่าสังคมที่เราทิ้งไว้ให้จะไม่โหดร้ายกับพวกเขาจนเกินไป พวกเขาจะมีโอกาสลองผิดลองถูกกับชีวิตที่เราก็ให้คำแนะนำไม่ค่อยได้นี้ และพวกเขาจะเติบโตขึ้น โดยสามารถอยู่กับสังคมที่เราไม่รู้จักนี้ไปได้อย่างมีความสุข

น่าเศร้าที่สังคมเราในช่วงสิบปีมานี้ถดถอยลงอย่างรวดเร็ว เราอยู่ในโลกที่มีแต่สีขาวกับดำ เรานิยามความดีและความชั่วโดยมีเส้นแบ่งที่ชัดเจนโดยไม่รอ เราเป็นสังคมที่ให้อภัยกันน้อยลงเรื่อยๆ และสามารถเรียกร้องการเพิ่มโทษอย่างไม่สมสัดส่วนได้โดยมีเสียงดังในสังคม

วันนี้ที่ผมมองย้อนกลับไป 50-60 ปีแล้วเห็นสังคมที่รุ่นก่อนหน้าทิ้งไว้ให้ ก็ได้แต่สงสัยว่าอีก 20-30 ปีข้างหน้าเราจะมองย้อนกลับมาแล้วคิดว่าเราทิ้งอะไรไว้ให้คนรุ่นต่อไป