One Day More

ภายใต้การต่อสู้ ภายใต้ความคิดว่าฝ่ายหนึ่งถูกฝ่ายหนึ่งผิด มันมีอะไรอยู่ใต้สิ่งเหล่านั้นมากมาก

มันมีความเชื่อ มันมีแรงผลักดันจำนวนมาก มันมีความรัก มันมีความโหยหา มันมีหลักการที่ต่างฝ่ายต่างยึดมั่นเอาไว้

เราจะมองอย่างไร เราจะละทิ้งคุณค่าของอีกฝ่ายหนึ่งเพียงเพราะเขายึดมั่นคนละหลักกับเรา หรือเราจะมองอย่างเรียนรู้ และทำความเข้าใจ

แล้วสิ่งที่เราเลือก จะตราอยู่ในชีวิตเราไปตลอดกาล

 

โกงอีกแล้ว

เรื่องหนึ่งที่ผมไม่ชอบมากๆ ในสังคมไทยวันนี้ คือ การมองว่าปัญหาทุกอย่างมีรากเหง้ามาจากการโกง

การมองเช่นนี้เป็นการมองที่ตื้น และหลายครั้งปัญหาหลายปัญหาก็มีรากเหง้ามาจากความกลัวแบบนี้เอง

คนเรามีแนวโน้มคิดว่า “กันไว้ดีกว่าแก้” จะไม่ทำให้เกิดปัญหาอะไร ผลที่ได้คือกระบวนการมากมายจนการพัฒนาหลายอย่างทำไม่ได้ หรือทำได้แต่ช้า หรือไม่ก็มีต้นทุนสูงมาก

พอต้นทุนสูง คนที่สร้างปัญหาแบบนี้ก็จะมองว่าเป็นการโกง แล้วสร้างกระบวนการที่จะเพิ่มต้นทุนในการพัฒนาเข้าไปอีก เป็นวนเวียนไม่จบสิ้น

มันอาจจะได้เวลามองใหม่ แล้วตั้งคำถามดีๆ ว่า “ปัญหาคืออะไร”

 

อาหาร 2100

ในปี 2100

พาดหัวหนังสือพิมพ์ซ้ำๆ เช่นทุุกวัน หนุ่มใหญ่ตายคา fitness เพราะออกกำลังกายโดยไม่กินอะไรที่มีพลังงานเลยมาต่อเนื่องหลายวัน

ใช่แล้วอาหารไร้พลังงานในยุคนี้เป็นเรื่องปรกติ เราเห็นร้านอาหารจำนวนมากขายอาหารไีร้พลังงานกันเป็นเรื่องปรกติ

นวัตกรรมอาหารไร้พลังงานถูกคิดค้นมาได้ตั้งแต่ช่วงปี 2040 แต่กว่าจะเริ่มพัฒนารสชาติและเทคโนโลยีการผลิตให้เหมือนอาหารปรกติได้ก็ต้องใช้เวลาถุึงปี 2050 การคิดค้นเหล่านี้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง หลังจากมนุษย์ชาติต้องผจญกับโรคอ้วนไปแล้วกว่าค่อนโลก

หลายร้อยปีแห่งการต่อสู้กับการกันดารอาหาร เมื่อมนุษยชาติชนะสงครามนั้น กลับต้องเจอกับสงครามแห่งโรคอ้วนที่คร่าชีวิตคนไปมากมายตั้งแต่เด็ก

แต่เทคโนโลยีไม่ลำบากเท่ากับการให้สังคมยอมรับ หลายสิบปีที่ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากไม่ยอมรับว่าอาหารไร้พลังงานเหล่านี้ เช่นเดียวกับสมัยที่มนุษยชาติไม่ยอมรับมันฝรั่งที่เข้ามาทดแทนการกันดารอาหาร ผู้เชี่ยวชาญจำนวนหนึ่งยืนยันว่าสามารถสัมผัสได้ว่ารสชาติของอาหารไร้พลังงานเหล่านี้แตกต่างจากอาหารปรกติ แม้จะไม่สามารถพิสูจน์ได้ และไม่มีใครยอมเข้าทดสอบ blind test ก็ตามที

โลกยังต้องต่อสู้กับโรคอ้วนโดยหวังว่าการลดความอ้วนที่แท้จริงคือการไม่กินเกินกว่าความต้องการ ในยุคที่อาหารราคาถูกจนแทบจะเป็นของฟรีเมื่อเทียบกับรายได้ของคนในยุคนี้

ผมแทะน่องไก่ไร้พลังงาน ผู้ผลิตยืนยันว่ารสชาติมันเหมือนกับน่องไก่เลี้ยงตามบ้านทุกประการ น่องไก่แบบนี้เพิ่งได้รับการยอมรับให้วางขายทั่วไปในปี 2080 ที่ผ่านมา และต้องกลายเป็นอาหารที่แพทย์สั่งให้คนป่วยได้กินเท่านั้น

แต่ภายในไม่นานหลังจากนั้นคนเริ่มยอมรับมันมากขึ้น ร้านบุฟเฟ่ห์เนื้อแบบไร้พลังงานร้านแรกเปิดกิจการในปี 2087 มันได้รับความนิยมอย่างสูง และแพร่ออกไปเป็นร้านอาหารไร้พลังงานจนทั่วในช่วงปี 2090 ที่ผ่านมา

คนเสียชีวิตจากการขาดอาหารทั้งที่กินอาหารตลอดเวลา แต่กลับกินแต่อาหารไร้พลังงานคนแรกเสียชีวิตในปี 2095 หลังจากนั้นภาครัฐต้องเข้าควบคุมหลายๆ อย่าง ร้านอาหารไร้พลังงานถูกสั่งห้าม และทุกร้านต้องมีเมนูอาหารที่มีพลังงานอยู่ในเมนูด้วยเสมอ ขนมขบเคี้ยวถูกเรียกร้องให้เตือนตัวใหญ่ๆ ว่าเป็นอาหารไร้พลังงาน

แอพพลิเคชั่นยอดนิยมกลุ่มใหม่ในช่วงหลายปีมานี้คือ food tracker ที่ให้เราบันทึกว่าเรากินอาหารมีพลังงานไปเพียงพอต่อความต้องการหรือยัง และเตือนให้เรากินของหวานก่อนนอนจะได้พลังงานครบถ้วนตามกิจกรรมที่เราทำในแต่ละวัน

ล่าสุดกลุ่มนักวิจัยกำลังวิจัยอาหารที่รับรู้ว่าเรากินอาหารเข้าไปเท่าใหร่แล้วในแต่ละวัน และปล่อยสารอาหารออกมาให้พอดีกัน ลองจิตนาการถึงยุคที่คุณกินเท่าใหร่ก็ได้แต่ไม่อ้วนหรือไม่ผอมลงเลยสิ

ผมทนรอมันแทบไม่ไหวแล้ว

 

On the Post PC Era

เรื่องที่มองๆ อุตสาหกรรมช่วงนี้มาสักพักคือความเปลี่ยนแปลงในอีกสองปีข้างหน้า ว่ามันจะเป็นไปในทางไหน จากที่ตอนนี้ฝุ่นยังค่อนข้างตลบ แต่ความเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดขึ้นค่อนข้างแน่นอน

ตอนนี้โลกเรามีทั้ง PC ที่ยังแข็งแกร่ง, Netbook ที่อ่อนแรง, Ultrabook ที่น่าจะมา, Tablet, และโทรศัพท์มือถือ

ส่วนตัวแล้วผมเชื่อแนวทางของ Asus ที่เลือกผลิต transformer ที่สุด

ปัญหาสำคัญของวินโดวส์และลินุกซ์แบบเดสก์ทอปทุกวันนี้คือมันไม่ได้ออกแบบมาสำหรับการประหยัดพลังงานนัก การทำงานของ OS ออกแบบไว้ให้จำลอง “เครื่องเสมือน” สำหรับทุกโปรแกรม

ในยุคที่เป็นเดสก์ทอปจริงๆ แนวคิดแบบนี้ก็โอเคดี เพราะพัฒนาง่าย แต่ในยุคที่พลังานเป็นข้อจำกัด มันกลายเป็นปัญหาไป

tablet/mobile ทุกวันนี้มีแอพพลิเคชั่นที่ออกแบบมาด้วยแนวคิดยุคใหม่ๆ แอพพลิเคชั่นแยกส่วนที่จำเป็นต้องรันตลอดเวลาออกจากส่วนที่ไม่จำเป็น ส่วนที่ไม่จำเป็นถูกฆ่าได้เสมอหาก OS ตัดสินใจ แต่ด้วย form factor ที่ไม่เหมาะกับการทำงานจริงจัง มันยังเป็นข้อจำกัดอยู่

โลกยังมีตลาดใหญ่มากคือตลาดที่ต้องการออกจากพีซี แต่ต้องการใช้ทำงานแบบเดิม

คนเหล่านี้ต้องการ ทำ word processing และ spread sheet เป็นงานหลัก และต้องตอบอีเมลตลอดวัน เข้าห้องประชุม นำเสนองาน ฯลฯ แต่ขณะเดียวกันคนกลุ่มนี้ก็หงุดหงิดกับการที่ต้องแบกสายชาร์จและหาปลั๊กไปเรื่อยๆ

เรื่องที่ผมเชื่อคือวันหนึ่งโลกเราจะค่อยๆ เปลี่ยนไปเรื่อยๆ เลขาหน้าห้องจะค่อยๆ ใช้แท็บเล็ตทำงาน พิมพ์งานอย่างจริงจัง

และถึงวันหนึ่งเราก็จะเริ่มสงสัยว่าเราจะใช้วินโดวส์ทำไม

รูปร่างหน้าตาคอมพิวเตอร์ที่เราถืออาจจะไม่ต่างออกไป แค่เราแบกมันมากขึ้น น้ำหนักมันเบาลง และเราทิ้งสายชาร์จไว้ที่บ้านยกเว้นเวลาไปต่างจังหวัด