ifine

ไปดูมาหลายวันแล้วคิดว่าจะเขียนถึงสักที

  • GTH เริ่มพบสูตรสำเร็จแบบนิยายแจ่มใส เนื้อเรื่องวิ่งไปมาก็พอเดาได้ว่า “ประมาณนี้”
  • แต่เนื้อเรื่องนี้ทำให้คิดถึงเรื่อง กวน มึน โฮ มากเป็นพิเศษ เพราะเงื่อนการศึกษาเป็นอีกปัจจัยที่ซ่อนอยู่ในเรื่องเหมือนกัน
  • โฆษณาทั้งเรื่องอยู่ในระดับ “พอไหว” ไทยประกันก็ไม่ได้น่าเกลียดมากแบบคิดถึงวิทยา โฆษณาตามบันไดเลื่อนมันก็มีทั่วไป
  • มีเลวสุดคงเป็นเป็บซี่ ทั้งที่ในกวน มึน โฮ วางลงไปในเรื่องได้ดีมาก
  • เรื่องกาโม่มาก แต่น้อยกว่า ATM แล้ว โดยส่วนตัวแล้วรำคาญความกาโม่ของ  GTH พยายามทำหลายเรื่องแต่ทำได้ไม่ดี ประดักประเดิก ไม่ต้องพยายามกาโม่แบบแต่เกินจริงโดยตัวเหตุการณ์อย่าง รถไฟฟ้า หรือกวน มึน โฮ ออกมาดูดีกว่า
  • เนื้อเรื่องพยายามเล่นกับชื่อครูเพลง แต่น่าจะดัดทิ้งไปเยอะ เพราะมีแนวเพลงโผล่มาในเรื่องแค่สองแบบ และตอนจบเป็นเพลงแดนซ์ ฉากตัดบอกแนวเพลงกระชากอารมณ์ออกจากเรื่องมาก ควรตัดทิ้งไปทั้งหมด
  • มุขทะลึ่งไม่ขำ คือเล่นตลกทะลึ่งคงเล่นได้ แต่เล่นแบบเหมือนคิดไม่ออกว่าจะเล่นอะไร มีดารา AV เลยพยายามใส่มุขทะลึ่ง ตอน Skype ผมนั่งดูแล้วคิดว่า “เชี่ยไรเนี่ย”
  • โดยรวมมุขอื่นๆ ยังพอได้ ดูๆ ไปอย่าคิดมาก ก็คุ้มค่าตั๋วดี
 

Computation of Things

ยุคนี้หัวข้อทางคอมพิวเตอร์ที่คนพูดถึงกันมากหัวข้อหนึ่ง คือ  Internet of Things ที่เราเริ่มจะเชื่อว่าในอนาคตอันใกล้ อุปกรณ์รอบตัวเราจะเริ่มเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตกันหมด ทำให้เราสามารถควบคุมสิ่งต่างๆ ตรวจสอบสภาพการทำงาน หรือใช้งานสิ่งของรอบตัวในรูปแบบใหม่ๆ ที่เราไม่เคยใช้งานมาก่อน (เช่น การแชร์สิทธิ์เปิดประตูให้เพื่อนที่มาบ้านเราชั่วคราว)

แม้จะตื่นเต้นกับรูปแบบการใช้งานและแพลตฟอร์มการพัฒนาที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สมัยนี้ Arduino Leonardo สั่งมาถึงบ้านแค่สองร้อยกว่าบาทพร้อมใช้ เมื่อก่อนชิปเปล่าๆ ยังเกินสามร้อย แต่โดยส่วนตัวแล้วผมเองยังสงสัยว่าคนเราะยอมรับการที่อุปกรณ์รอบตัวของเราเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตมากขนาดนั้นจริงๆ หรือ? เราอยากมีข้อมูลว่าเราเปิดเครื่องทำน้ำอุ่นกี่โมง ปิดไฟกี่โมง แล้วให้ข้อมูลพวกนี้ไปอยู่บนอินเทอร์เน็ตแม้จะเป็นเซิร์ฟเวอร์ในบ้านที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเอง อย่างนั้นจริงๆ หรือ

อย่างไรก็ดี ผมเชื่อเสมอว่าในยุคต่อๆ ไป อุปกรณ์รอบตัวของเราจะฉลาดขึ้นเรื่อยๆ ความฉลากนั้นอาจจะไม่ได้มาจากการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตแต่มาจากการใส่คอมพิวเตอร์ลงไปในอุปกรณ์ที่เราไม่เคยใส่มาก่อน เราจะชินกับรูปแบบการใช้งานใหม่ๆ และวันหนึ่งเราจะคาดหวังว่าจะฟีเจอร์ฉลาดเหล่านี้กลายเป็นฟีเจอร์พื้นฐานของอุปกรณ์รอบตัว

ตัวอย่างความฉลาดที่เราเห็นอยู่ทุกวันเช่นแอร์ที่เริ่มควบคุมอุณหภูมิได้อย่างแม่นยำในช่วงสิบปีมานี้ แอร์เหล่านี้ไม่ได้ทำงานตรงๆ แบบ เบา ปานกลาง แรง อีกต่อไป แต่มีระบบตอบสนองต่อโลกภายนอกและปรับการทำงานตามสภาพความเป็นจริง

เราเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้บ้างแล้ว ฝักบัวแสดงอุณหภูมิน้ำที่กำลังออกมาเริ่มได้รับความนิยมในจีนและคงทะลักเข้ามาในบ้านเราอีกไม่ช้า  อนาคตเราน่าจะคาดหวังให้ก็อกน้ำบอกอุณหภูมิกันได้ ประตูแบบบัตร RFID เริ่มได้รับความนิยมอย่างสูง (จนน่าวิตก เพราะหลายครั้งความปลอดภัยดูจะไม่เพียงพอ)

แพลตฟอร์มฮาร์ดแวร์ราคาถูกจะทำให้อุปกรณ์เหล่านี้เกิดใหม่ ทดลองการใช้งานแปลกๆ ได้ในต้นทุนที่ไม่แพง เช่นเดียวกับพีซีที่ทำให้คนทั่วไปเข้าถึงคอมพิวเตอร์ได้ง่ายขึ้ง และแอนดรอยด์ที่ทำให้คนทั่วไปเข้าถึงคอมพิวเตอร์พกพาได้เป็นวงกว้าง คนทั่วไปเหล่านั้นหมายถึงพัฒนารายย่อยที่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีเหล่านี้ได้ด้วยเช่นกัน ในสมัยพีซีมันทำให้ธุรกิจขนาดเล็กเข้าถึงคอมพิวเตอร์ได้ พร้อมกับบริษัทซอฟต์แวร์ขนาดเล็กที่เกิดขึ้นมากมาย ในสมัยแอนดรอยด์เราเห็นบริษัทหรือ Freelance รับงานพัฒนาแอพพลิเคชั่นโทรศัพท์มือถือ

 

เรียนรู้จาก Uber

ปัญหา Uber เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของปัญหาอีกจำนวนมากที่กำลังจะเกิดใน Sharing Economy บ้านเราเองยังเพิ่งเกิดอย่างแรกๆ เพราะเรามีความฝังใจกับปัญหาแท็กซี่เป็นพิเศษ แต่ในไม่นานปัญหาซ้ำรอยเดิมๆ จะเกิดขึ้นมาเรื่อยๆ ไม่รู้จบ

ปัญหาของแท็กซี่เดิมเองแยกเป็นสองส่วน คือ โครงสร้างราคา และการควบคุมของรัฐ

โครงสร้างราคาของแท็กซี่เองตายตัวอย่างมาก ตั้งครั้งเดียวใช้กันยาวนานนับสิบปี พอจะปรับแต่ละครั้งกลายเป็นปัญหาการเมืองว่าจะทำให้ค่าครองชีพแพง พอจะปรับก็กระมิดกระเมี้ยนกันไปมา หลายค่าตั้งมาโดยไม่มีหลักอะไร เช่น ถือว่ารถวิ่งช้ากว่า 6 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเป็นรถติด ซึ่งไร้สาระมาก เพราะรถวิ่ง 10 หรือ 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมงก็รถติดทั้งนั้น การที่รัฐมาจินตนาการกฎชุดหนึ่งแล้วบอกว่ามันคือความถูกต้อง ในตลาดจริงเมื่อมันไม่สมเหตุสมผล คนที่รับกรรมคือคนเดินดินที่ต้องใช้แท็กซี่

สิ่งที่เราควรบอกรัฐคือ เลิกยุ่งกับราคา แท็กซี่ไม่ได้ไม่มีการแข่งขัน แต่รัฐเองทำลายการแข่งขันของแท็กซี่ด้วยการล็อกราคาตายตัว แท็กซี่ที่พยายามสร้างรายได้ให้มากที่สุดเมื่อถึงจุดหนึ่งยอมรับกับราคาที่รัฐตั้งมาไม่ได้ก็ไม่ยอมรับผู้โดยสารและหาทางทำกำไรสูงสุดจากช่วงเวลาที่ขับรถ

ผู้บริโภคไม่ได้ต้องการราคาตายตัวแบบเดียวที่รัฐคิดสำเร็จมาให้ Uber มีเกณฑ์ที่ต่างออกไปยังมีคนมีความสุขกับมันมากมาย แม้แต่ Surge Pricing เองจำนวนปัญหาจริงๆ ก็ไม่มากนัก คนไทยเองผมยังแทบไม่ได้ยินปัญหาแรงๆ ออกมา สิ่งที่คนต้องการคือ ราคาและบริการที่คาดหวังได้ ถ้าเขาเรียกรถแล้วจะประมาณได้ว่าถึงจุดหมายในงบประมาณเท่าใด ผู้ให้บริการอาจจะปรับราคาไปบ้าง แต่ถ้าการปรับราคายังทำให้ผู้ใช้คาดเดาได้ ปัญหาก็น้อยลง รัฐเองไม่มีความสามารถจะยืดหยุ่นราคาที่ตัวเองควบคุมไว้ อย่าว่าแต่ช่วงฝนตกรถติดแล้วควรขึ้นราคาให้ น้ำมันขึ้นราคาเป็นปีการตอบสนองก็ยังช้ามาก

การควบคุมของรัฐที่ล้มเหลวเป็นผลที่ตามมาจากการควบคุมเกินความสมเหตุสมผล เมื่อแท็กซี่พากันไม่ยอมรับผู้โดยสารในบางเส้นทาง ผู้คนเบื่อหน่ายกับการร้องเรียนที่ล่าช้า เจ้าหน้าที่เองก็อาจจะโดนร้องเรียนจนงานเต็มมือ สุดท้ายมันกลายเป็นวังวนสู่ความล้มเหลวของการควบคุมภาครัฐ การตามจับกรณียิบย่อยไม่ได้ช่วยให้ผู้บริโภคได้บริการที่ดีแต่อย่างใด

Sharing Economy ควรทำให้เราตั้งคำถามว่าสุดท้ายแล้วเราจำเป็นต้องให้รัฐทำหน้าที่ควบคุมแบบทุกวันนี้จริงๆ หรือ รัฐเคยสัญญากับเราว่ารถแท็กซี่ควรถูกจดทะเบียนอย่างถูกต้อง คนขับควรมีใบขับขี่พิเศษมีการตรวจอาชญากรรม แต่เอาเข้าจริงรัฐก็มีความสามารถในการตรวจตราจำกัด และไม่ขยายตัวเองออกไปตามปริมาณรถที่เพิ่มขึ้นได้ ขณะที่ผู้ให้บริการ Sharing Economy อย่าง Uber สามารถเก็บประวัติคนขับ ณ เวลาหนึ่งๆ ได้เหมือนที่รัฐเคยสัญญาว่าจะทำ หรือ Airbnb สามารถเก็บรายชื่อผู้เข้าพักบ้านพักได้เหมือนโรงแรมที่เก็บรายชื่อแขกที่มาพัก กระบวนการเหล่านี้มีประสิทธิภาพดีพอสมควร ที่สำคัญคือดูจะดีกว่าสิ่งที่รัฐกำลังทำอยู่ มันก็ควรถึงเวลาที่เราจะบอกรัฐให้วางมือกับงานบางอย่าง

การถอนการกำกับดูแลบางส่วน รัฐอาจให้เอกชนเป็นคนดูแลว่าคนขับตรงกับที่แจ้งหรือไม่ และหากมีเหตุต้องส่งรายระเอียดให้รัฐได้อย่างรวดเร็ว Airbnb อาจจะต้องส่งรายชื่อผู้เข้าพักให้กับรัฐแบบเดียวกับที่โรงแรมส่งให้ รัฐอาจจะแจ้งรายชื่อผู้ให้บริการจับคู่ใน Sharing Economy ว่ามีใครติด blacklist ห้ามให้บริการแทนที่จะลงไปดูแลโดยตรงทั้งหมด บริษัทอย่าง Uber อาจจะต้องส่งชื่อและลายนิ้วมือเพื่อตรวจสอบประวัติอาชญากรรมก่อนให้บริการเช่นเดียวกับคนขับแท็กซี่ (ที่ถูกต้อง) ทุกวันนี้

กระบวนการถอนการกำกับดูแลออกบางส่วนเกิดขึ้นเสมอ สถานตรวจภาพรถเอกชน, สนามสอบใบขับขี่เอกชน, ธนาคาร, สถาบันการเงิน, เครือข่ายโทรศัพท์ ฯลฯ ล้วนถูกกำกับดูแลในระดับที่สูงกว่า หลายอย่างมีการแข่งขันราคาที่ต่างกัน เทคโนโลยีและการที่สมาร์ตโฟนกลายเป็นของที่มีอยู่ทั่วไปเปิดให้เกิดความเป็นไปได้ใหม่ๆ ขึ้นอย่างมหาศาล

และเมื่อมีคนทำได้ดีแล้วก็ควรถึงเวลาที่รัฐจะมองหน้าที่ของตัวเองใหม่ ปรับบทบาทให้มีประสิทธิภาพ

 

The Hanging Tree (Mockingjay part 1)

ช่วงหลังๆ เวลาเราพูดถึงเรื่อง The Mockingjay เรามักพูดกันถึงเรื่องการชูสามนิ้วเป็นหลัก แต่ในภาคสามที่จริงแล้วประกายสำคัญในเรื่องกลับเป็นเพลง The Hanging Tree หรือต้นไม้แขวนคอ ที่โผล่มาในเรื่อง

เพลงนี้ในหนังจะเห็นตอนที่ Katniss ออกไปถ่ายวิดีโอ มันเป็นเพลงต้องห้ามที่พ่อร้องให้ฟังตอนเด็กๆ จนกระทั่งทะเลาะกับแม่ของ Katniss เอง และแม่สั่งให้ Katniss ลืมเพลงนี้เสียจนกระทั่งเธอจำได้ทุกคำเพราะแม่สั่งให้ลืม

Are you, Are you
Coming to the tree 
Wear a necklace of rope, side by side with me. 
Strange things did happen here, 
No stranger would it be, 
If we met up at midnight in the hanging tree.

เนื้อเพลงสยองมากจนน่าแปลกว่าทำไมพ่อถึงร้องให้ฟัง แต่มันเป็นเพลงแสดงความข้นแค้นอย่างที่สุดเมื่อถูกกดขี่ และคิดว่าตายก็ดีกว่าอยู่ให้โดนกดขี่ต่อไป

เพลงนี้เลยกลายเป็นตัวจุดฉนวนสำคัญให้คนในเขตอื่นๆ ลุกขึ้นสู้ต่อชนิดยอมตายในหนัง