Jurassic World

หนังที่ต้องไปดูเพราะความทรงจำกับภาคแรกๆ สมัยที่ผมต้องนั่งเก้าอี้เสริมระหว่างทางเดินในโรงหนัง แม้จะอยู่ในระดับคลาสสิคแต่ภาคต่อๆ มากลับทำได้แย่ลงเรื่อยๆ (IMDB จาก 8.1 เหลือ 6.5 และ 5.9) กลายเป็นหนังราคาถูกที่เล่นกับกิมมิกของภาคแรกซ้ำไปมา

Jurassic World พยายามไถ่บาปของทั้งสองภาคก่อนหน้านี้ ด้วยการรีเซ็ตโลกใหม่ที่พอมีความเกี่ยวกันบ้างแต่ก็ไม่ได้พยายามเดินเรื่องต่อกันนัก ไม่เล่นกับกิมมิกเดิมๆ อีกต่อไป

โปรดักชั่นและบทของภาคนี้กลับมาเป็นหนังชั้นดีอีกครั้ง แต่ผู้สร้างจงใจเอาใจคนที่ชอบภาคแรกชนิดว่าใครคิดถึงก็ยังไม่ลืมกัน

22 ปีผ่านไป Jurassic World คงเป็นแบบเดียวกับวงนักร้องในไทยที่กลับมารวมตัวกันใหม่แล้วประสบความสำเร็จอย่างสูง คนยุค Jurassic Park สามารถจูงลูกไประลึกความหลังโดยสนุกไปพร้อมๆ กัน

แต่สำหรับผมเองแล้วกลับรู้สึกว่ามันเด็กเกินไปหน่อย มันพยายามตลกเกินไป เพราะอารมณ์ที่จำได้จาก Jurassic Park คือความตื่นเต้นและตื่นตา สิ่งเหล่านี้กลับหายไป ฉากบู๊แม้จะเรียกว่าสนุกแต่ก็ไม่ได้สร้างความตื่นเต้นในระดับเดียวกันได้อีกแล้ว ไดโนเสาร์เองก็ไม่ใช่ของที่ผมจะทึ่งอีกครั้งกับกราฟิกที่ Jurassic Park ทำได้ในระดับสมจริงเป็นครั้งแรกๆ ครั้งนี้ก็กลายเป็นอีกครั้งที่สมจริงพอสมควร

อารมณ์และประสบการณ์แบบนั้นคงไม่สามารถดึงกลับมาได้อีกครั้งแล้ว

 

พังเพราะอวดรวย

ผมได้ยินเรื่องราวของโปรเจคไอทีที่อยู่ในระดับ “พัง” อยู่เรื่อยๆ ได้ยินต่อๆ กันมาบ้างใกล้บ้างไกลบ้าง สาเหตุแตกต่างกันไป

แต่สาเหตุหนึ่งที่บ่อยครั้งเป็นสาเหตุใหญ่ และแม้แต่โปรเจคที่ไม่ได้พังก็มักมีความชอกช้ำกันมา คือการอวดรวย

การซื้อของแพงไม่ได้ผิด ความน่าเชื่อถือของสินค้าหลายตัวเป็นเรื่องจริง สินค้าที่มี ecosystem ที่ดีเป็นคุณค่าจริงที่หากเราได้ประโยชน์จากมันก็อาจจะคุ้มค่าที่จะจ่าย

แต่การซื้อของแพงโดยที่งบประมาณจำกัด การทุ่มทุนกับของที่หาประโยชน์อะไรจริงจังไม่ได้นอกจากความเชื่อว่ามันจะดี เบียดเบียนให้ต้องมาจำกัดจำเขี่ยกับทรัพยากรที่มีประโยชน์แน่ๆ นำพาให้โครงการต้องเดินหน้าอย่างขัดสน ขาดทรัพยากรพื้นๆ นำไปสู่ความล่าช้า (ซึ่งเอาจริงๆ ค่าตัวแรงงานมักจะแพงที่สุด แต่จะมาบานปลายหลักจากบีบให้แรงงานทำงานอย่างจำกัดจำเขี่ยไปแล้วนานๆ จนกระทั่งโปรเจคเกินกำหนด)

ถ้ารวยก็ซื้อของแพงไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ถ้าไม่รวยก็อย่าพยายามหลอกตัวเองว่ารวย อยู่กับของที่มี ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

มีไม่มีกี่ครั้งที่จะมีการตัดสินใจแบบนี้

 

ผู้ได้รางวัล

ในชีวิตการเรียนแบบลุ่มๆ ดอนๆ ของผมมีโอกาสได้รางวัลสมัยเรียนบ้างบางครั้ง และพบว่ารางวัลเหล่านั้นกลายเป็นความภาคภูมิใจอันยิ่งใหญ่จนหาอะไรเปรียบไม่ได้ ญาติพี่น้องอาจจะร่วมแสดงความยินดี พร้อมๆ กับสถานศึกษาที่มาช่วยกันแสดงความภาคภูมิใจ

ผมหันกลับมามองตัวเองในตอนนี้และพบว่ามุมมองของผมต่อรางวัลงานแข่งขัน งานประกวดต่างๆ เปลี่ยนไปมาก เมื่อได้เห็นการความภูมิใจกับรางวัลเหล่านี้ถูกดันไปจนน่าจะเกินเลยความเป็นรางวัล

อย่างแรกเลยคือรางวัลเหล่านี้ มักจะวัดผลสำเร็จแคบๆ บางอย่างเท่านั้น การทำการทดลองตามแล็บมัธยมได้อย่างแม่นยำไม่ได้บอกว่าคุณจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ดี การตอบคำถามตามหัวข้อที่กำหนดไม่ได้บอกว่าคุณจะเป็นผู้รอบรู้ หรือการเขียนโปรแกรมภายใต้ภาวะกดดันที่สูงโดยเฉพาะเวลาที่จำกัดมากๆ ไม่ได้แปลว่าคุณจะเป็นโปรแกรมเมอร์ที่ดี

โลกความเป็นจริงเต็มไปด้วยสิ่งมากมายที่ต้องเรียนรู้ และคนจำนวนมากที่ไม่ได้ประสบความสำเร็จจำลองในการเรียนอาจจะสามารถประสบความสำเร็จในโลกความเป็นจริงได้ง่ายกว่ามาก

การให้รางวัลเด็กที่มุ่งมั่นเพื่อความสำเร็จในระดับนักเรียนเป็นเรื่องที่ดี ไม่ใช่เพราะรางวัลเหล่านั้นสำคัญกับชีวิต แต่เพราะการมุ่งมั่นเพื่อให้ได้รางวัลเหล่านั้นมากเป็นหนึ่งในกระบวนการศึกษาที่ดี ในโลกความเป็นจริงมีช่วงที่คุณอาจจะทำงานหนักกว่าปกติ เจองานยากที่อยากจะถอนตัว ฯลฯ รางวัลเหล่านี้สอนให้เด็กรู้จักฝ่าฟันเหตุการณ์คล้ายกับช่วงเวลาในชีวิตจริง และเมื่อมีบางคนทำได้ดีเขาก็ควรได้รับคำชมเชย

แต่ระบบการศึกษาที่ไม่ค่อยดีนักของไทยกำลังทำให้รางวัลกลายเป็นเครื่องชี้วัดแบบเอาเป็นเอาตาย เด็กได้รางวัลกลับมากลายเป็นความภาคภูมิใจของสถานศึกษาที่มองเป็นความสำเร็จของตัวเอง ไม่ได้มองว่าเป็นหน้าที่ของตัวเองที่จะสอนให้เด็กทุกคนเห็นคุณค่าของการแข่งขัน

เด็กไม่กี่คนจากทั้งชั้นหรือทั้งโรงเรียนได้รางวัลที่ดูจะยิ่งใหญ่สักหน่อยสำหรับสถานศึกษาสามารถกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความสำเร็จของสถานศึกษา และไปไกลถึงกับการทุ่มทรัพยากรต่อเนื่องยาวนานให้กับเด็กบางกลุ่มโดยแทบจะไม่ต้องสนใจการเรียนตามปกติ เพียงเพื่อให้เด็กกลุ่มเล็กๆ นั้นคว้ารางวัลกลับมายืนยันให้ได้ว่าสถานศึกษานั้นมีคุณภาพ เด็กเหล่านี้ถูกนำไปขึ้นป้ายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ แข่งกันจนหากไปสถานศึกษาไหนของไทยแล้วไม่มีหน้าเด็กได้รางวัลสักรายการขึ้นป้ายใหญ่ๆ อยู่ข้างหน้าก็กลายเป็นเรื่องแปลก

การทุ่มทรัพยากรที่มีจำกัดในแบบที่ไม่สนใจเด็กกลุ่มอื่นๆ ทำให้ความสามารถเฉพาะด้านของเด็กเหล่านี้ไม่ได้สะท้อนภาพรวมของการศึกษา และเราก็ตั้งคำถามว่าทำไมมีเด็กได้รางวัลในรายการต่างๆ มากมายแล้วจึงไม่สามารถพัฒนาชาติ

คำถามแบบนี้เป็นเครื่องสะท้อนปัญหาการศึกษาในตัวมันเอง

 

ด้วยการประมวลผลและเซ็นเซอร์

ผมเคยเขียนเรื่อง computation of things ไปแล้วเมื่อหลายเดือนก่อน คำถามคือในภาพรวมแล้ว การที่อุปกรณ์ไฟฟ้าแทบทุกชิ้นในบ้านของเรามีคอมพิวเตอร์และเซ็นเซอร์จำนวนมากในตัวจะเปลี่ยนแปลงโลกได้อย่างไร นอกจากความหรูหราเป็นลูกเล่นเท่านั้น

คำตอบหนึ่งคือประสิทธิภาพพลังงาน

เราเห็นในเครื่องปรับอากาศยุคเก่าที่ประสิทธิภาพเข้าขั้นเลวร้าย เพราะไม่สามารถทำอะไรได้นอกจากปรับแอร์ให้เย็นเป็นจังหวะ ช่วงหัวค่ำที่เรากำลังเข้านอนเราจึงต้องปรับเครื่องให้อยู่ในระดับเย็นสบาย ก่อนจะพบว่าเมื่อถึงเวลาดึกแล้วห้องกลับเย็นเกินไปทำให้สูญเสียพลังงานไปโดยไม่จำเป็น

เราสูญเสียพลังงานโดยไม่จำเป็นเช่นนี้อีกนับไม่ถ้วนในชีวิตประจำวัน เมื่อเราต้องการต้มน้ำเดือดมาชงชาสักแก้วด้วยไมโครเวฟ เราต้องประมาณเวลาเอาเองว่าจะใช้เวลาและความแรงเครื่องเท่าใด ในความเป็นจริงเราไม่เคยว่างมานั่งลดเวลาต้มน้ำลงเพื่อให้ใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และหากตั้งใจวัดก็ทำได้ยากเพราะมีปัจจัยอื่นๆ เช่น อุณหภูมิห้อง หรืออุณหภูมิเริ่มต้นของน้ำเอง

เครื่องปรับอากาศยุคใหม่ล้วนปรับอากาศด้วยการบอกระดับอุณหภูมิห้องที่ต้องการ อนาคตแนวทางบอกความต้องการให้เครื่องใช้ไฟฟ้าทำตามอย่างพอดีน่าจะเป็นแนวทางปกติเมื่อเครื่องใช้ไฟฟ้าเหล่านั้นล้วนมีคอมพิวเตอร์และเซ็นเซอร์ในตัว

ไมโครเวฟยุคต่อไปอาจจะมีโหมดต้มน้ำ ที่บอกได้พอดีว่าต้องการน้ำเดือดหรือไม่ หรือหากต้องการเดือดแล้วต้องการให้เดือดนานแค่ไหน หากต้องการน้ำร้อนก็สามารถกำหนดอุณหภูมิได้พอดี ตัวเครื่องจะมีเซ็นเซอร์และต้มน้ำไปด้วยกำลังสูง ขณะที่วัดอุณหภูมิของน้ำไปเรื่อยๆ เมื่อได้ระดับที่ต้องการก็หยุดไปทันที

รูปแบบเช่นนี้สามารถขยายออกไปสู่สิ่งรอบตัวเราได้มากมาย หลอดไฟในบ้านอาจจะสามารถปรับแสงได้ และแทนที่เราจะเปิดหรือปิดไฟ เรากลับสามารถปรับระดับความสว่างของห้องแทน เมื่อเราเปิดม่าน หรือเวลากลางวัน หลอดไฟจะลดระดับความสว่างไปเอง

ไปไกลกว่านั้นอีกสักหน่อย ตู้ไมโครเวฟเหล่านั้นสามารถวัดระดับพลังงานของตัวเองที่ใช้ไปเพื่อการต้มน้ำได้ และรายงานออกมาเป็นตัวเลขว่าการต้มน้ำครั้งนั้นใช้พลังงานรวมเท่าใด เราอาจจะสังเกตได้ว่าวันนี้อากาศหนาวทำให้การต้มน้ำครั้งนี้ใช้พลังงานมากกว่าปกติ แต่หากเป็นวันที่อากาศร้อนแต่เครื่องยังใช้พลังงานสูงขึ้นต่อเนื่องก็อาจจะแสดงว่าเครื่องมีปัญหาบางอย่าง

เช่นเดียวกับเครื่องปรับอากาศที่แทนที่เราจะพยายามล้างแอร์ตามรอบ ที่แต่ละคนก็มีรอบที่ควรล้างไม่เท่ากัน เซ็นเซอร์จะช่วยคำนวณว่าที่เครื่องทำงานได้เต็มประสิทธิภาพดีหรือไม่ หากเครื่องเริ่มอยู่ในสภาพไม่สมบูรณ์ที่จะทำงานได้เต็มประสิทธิภาพก็สามารถเตือนผู้ใช้ให้ล้างแอร์ได้เองโดยไม่ต้องสนใจรอบการใช้งาน

รถยนต์ในอนาคตจะรายงานแทบทุกอย่าง รวมไปถึงน้ำหนักรถที่สามารถวัดจากความสูงของตัวถังรถจากพื้นได้ รถสามารถแจ้งเตือนผู้ใช้ได้ว่าใส่ของน้ำหนักมากเกินไป ทำให้ประสิทธิภาพพลังงานแย่ลง หรือหากที่น้ำหนักรถไม่หนักมาก แต่อัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันยังคงสูง ก็แสดงว่าถึงเวลาเข้าศูนย์ซ่อมบำรุงแล้ว