The Short Drop

Olivia Munn orange dress at Oscars 2016 red carpet

นิยายเรื่องราวของแฮกเกอร์ชื่อว่า Gibson Vaughn แต่เอาจริงๆ ไม่ได้เป็นเรื่องราวของแฮกเกอร์อะไร แต่เป็นนิยาย thriller การเมือง, สืบสวน

  • ต่างไปหน่อยคือการอ้างอิงเรื่องคอมพิวเตอร์แม่นยำ ไม่มีอะไรเวอร์เกินจริง
  • ตัวนิยายสนุกสมราคา แต่ความรู้สึกคือโดยรวมๆ มันก็ไม่ได้สนุกขนาดนั้น แต่แฟนๆ ใน Amazon เยอะมาก ไม่แน่ใจว่าเพราะอะไร
  • ใน Goodreads ได้ 4.2 คะแนนแถมมีสองหมื่นกว่ารีวิว
  • กำลังจะออกเล่มสองเร็วๆ นี้ (ก็ไม่แปลกเพราะเล่มแรกดังมาก)
  • โดยรวมๆ ไม่มีความประทับใจอะไรเป็นพิเศษ ถ้าไม่จดไว้ก็อาจจะลืมว่าเคยอ่านเล่มนี้
 

#เท่าทันสื่อ

เห็น @supinya พูดถึงเรื่องการรู้เท่าทันสื่อแล้วคิดถึงเรื่องของตัวเอง

ผมมองว่าการที่เราจะบอกว่าเรา “เท่าทัน” อะไรสักอย่างอย่างคงต้องเป็นการก้าวข้ามจากการเชื่ออย่างหมดใจมาเป็นการมองตามความเป็นจริง สิ่งที่เราไม่เคยเชื่อถือเราคงไม่ต้องการการเท่าทันเท่าไหร่นัก เพราะไม่ว่าสิ่งนั้นจะบอกอะไรเรา เราก็ไม่เคยเชื่อหรือไม่เคยสนใจอยู่แล้ว

การที่จะบอกว่าให้เราเท่าทันสื่อก็คงเป็นเรื่องที่สมมติอยู่บนฐานว่าคนจำนวนนึงเชื่อว่าสื่อบอกอะไรมาก็เป็น “ความจริงอันสมบูรณ์” ไปในทันที (ซึ่งก็คงมีจริง) และการเท่าทันก็เป็นเรื่องที่เราต้องบอกให้คนกลับมาคิดว่าสื่อเองก็มีความผิดพลาดหรือความไม่สมบูรณ์ได้เหมือนกัน

สำหรับผมเองการ “เท่าทัน” ครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งคือการเท่าทัน “ครู”

ด้วยระบบการศึกษาไทยที่มีการแบ่งชั้นชัดเจน ผมถูกปลูกฝังมาว่าครูคือผู้ถือความถูกต้องเอาไว้เสมอ ความรู้สึกและความเชื่อนี้เป็นจริงในช่วงเวลาหลายปีในชีวิตนักเรียน

แล้ววันหนึ่งผมก็รู้ว่าครูก็สอนผิดเป็น

มันก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรนักกับการที่คนๆ หนึ่งจะสอนอะไรผิดไป แต่สำหรับนักเรียนที่เชื่อว่าครูคือผู้ถือความจริงอันสมบูรณ์มันสร้างคำถามในชีวิตว่า แล้วต่อจากนี้กูจะเหลืออะไรให้เชื่อได้อีกบ้าง ในแง่หนึ่งมันคืออาการ “โลกสลาย” เมื่อเราพบว่าโลกที่เราเคยรู้จักมันไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

บทเรียนหลังจากนั้นผมเจออะไรอีกหลายอย่างที่ต้อง “เท่าทัน” ทั้งครูอีกหลายๆ คนที่พบว่าสามารถเล่าเรื่องตาม forward mail ได้อย่างเป็นจริงเป็นจังโดยไม่ได้ตรวจสอบ คนในวงการศาสนาที่ทำผิดเสียเอง งานวิจัยเมกผล งานวิจัยอ้างผลเกินจริง ฯลฯ อีกมากมาย

โลกที่เคยสลายไปแล้วก็สลายไปอีกหลายๆ ครั้ง จนมันไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร มันก็แค่การมองโลกที่โลกมันเป็น

โลกมันเป็นอย่างนี้ เราเองถูกสอนให้มองโลกอย่างที่มันไม่เคยเป็น เราเองถูกสอนว่าอะไรเชื่อถือได้อะไรเชื่อถือไม่ได้ อะไรคือความ “สมบูรณ์” ในตัวเอง ผมมองกลับไปแล้วพบว่าแม้ครูคนหนึ่งจะสอนผิดแต่เขาก็สอนสิ่งที่ถูกต้องอีกหลายอย่าง แม้ครูคนหนึ่งจะเล่าเรื่องตาม forward mail อย่างมั่วซั่วแต่เขาก็เตรียมการสอนในเนื้อหาอย่างดีเยี่ยม

โลกมันเป็นแบบนี้ของมัน มันไม่มีความสมบูรณ์ในตัว ถ้าเราไม่คาดหวังความสมบูรณ์ และเรียนรู้ว่าทุกอย่างอาจจะผิดได้ แม้แต่ตัวเราเองที่ประสบการณ์เปลี่ยนไป เรื่องที่เราบอกว่าพิจารณาไตร่ตรองมาอย่างดีว่าถูกต้อง ตัวเราเองในอนาคตก็บอกว่ามันผิดได้เหมือนกัน

การเท่าทันสื่อเลยไม่ใช่เรื่องใหญ่โตที่ผมคิดว่าเราต้องไปอะไรเป็นพิเศษนัก ถ้าเรายังมีช่องทางที่เราเชื่อว่ามัน “สมบูรณ์” อยู่ ช่องทางนั้นก็คงเป็นช่องทางที่เราต้องเรียนรู้จะเท่าทันมันต่อไป

 

On Demand Generation

อ่านเจอเรื่องของคนรุ่นหนึ่งมองคนอีกรุ่นหนึ่งมาเยอะ คิดว่าคงเป็นเพราะอินเทอร์เน็ตที่ทำให้คนหลายๆ รุ่นมาเจอคำบ่นของคนอีกรุ่นกันได้ ไม่อย่างนั้นเรื่องพวกนี้ก็น่าจะอยู่แค่บนโต๊ะกินข้าวของคนร่วมรุ่นกันเท่านั้น

เรื่องคำบ่นว่าขี้เกียจหรือไม่คงแล้วแต่ประสบการณ์จะพบเจอกัน แต่โดยรวมๆ ผมเรียกคนรุ่นต่อไป ที่กำลังเริ่มทำงานหรือใกล้จะเรียนจบแล้ว ว่า on demand generation

คนรุ่นนี้เติบโตมากับการออนไลน์มากกว่าทีวี พวกเขาเจอกับเว็บดีล, ตั๋วเครื่องบินราคาถูก, โปรโมชั่นโรงแรมช่วง low season, เว็บเซิร์ฟเวอร์แบบคลาวด์ ฯลฯ

พวกเขาเรียนรู้เต็มที่ว่าหากคุณมีเวลาต่างจากคนอื่น คุณสามารถมีทำอะไรภายใต้รายได้ที่ไม่ต้องสูงมากได้มากมาย พวกเขาตั้งคำถามกับการแห่แหนกันไปเที่ยวช่วงสงกรานต์และปีใหม่ เพราะพวกเขารู้ว่าหากเลื่อนการเดินทางไปอีกสองสามวันก็สามารถเดินทางได้ใกล้เคียงกัน คนน้อยกว่า เที่ยวได้มากกว่า และราคาอาจจะเหลือเพียงครึ่งเดียว

พวกเขาดูรายการทีวียอดฮิต “หลัง” จากรายการฉายไปแล้วหลายชั่วโมงถ้ารายการนั้นดังมากๆ หลายวันถ้าเพื่อนๆ เริ่มพูดถึง และอาจจะหลายเดือนหรือปีถ้ามารู้ที่หลังว่ารายการนั้นน่าสนใจ พวกเขาไม่มีตารางเวลาที่จะกลับบ้านไปดูละครเหมือนรุ่นก่อนหน้านี้อีกแล้ว

อิสระทางเวลากลายเป็นสิ่งที่พวกเขามองเป็นเงินได้อย่างชัดเจน ต่างจากคนรุ่นก่อนที่การไปเที่ยวช่วงเวลาซ้ำซ้อนกับคนอื่นก็ทำให้รถติดบนทางไปหัวหินไม่กี่ชั่วโมง ลักษณะงานที่เป็นงานประจำและทำงานต่อเนื่องยาวนานแทบไม่มีการเปลี่ยน เวลาเข้างานตรงเวลาออกจากงานตรงเวลา

น่าสนใจว่าความต่างเช่นนี้ถ้าใครเข้าใจและปรับกระบวนการทำงานได้ก็คงมีโอกาสเลือกคนได้เยอะขึ้นไม่น้อย ลองคิดสภาพออฟฟิศที่เปิดโอกาสให้เลื่อนวันหยุดได้ตามใจชอบ ทำไมคุณจะไม่มาทำงานช่วงสงกรานต์ ถ้ารถในกรุงเทพมันจะโล่งสบาย และรอไปเที่ยวอีกสักสัปดาห์หลังจากนั้น ชั่วโมงทำงานที่เลือกได้ว่าอาจจะเข้างานสิบโมงออกจากงานสองทุ่มหลบรถติด

บางทีพวกเขาก็ไม่ได้อยากเป็น “ฟรีแลนซ์” ที่ไม่ได้สวยหรูขนาดนั้น แต่ออฟฟิศดั้งเดิมไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับชีวิตพวกเขาได้

 

เสือก

บล็อคผมเมื่อปี 2014 กลายเป็นประเด็นสังคมขึ้นมาอีกรอบเมื่อสังคมไทยมีประเด็นอีกครั้ง ผมไม่ได้แชร์เองในรอบนี้แต่ตามคนรอบข้างก็มีเอาบล็อคไปแชร์อยู่เรื่อยๆ เรียกความคิดเห็นกันเป็นระยะ

สังคมไทยจำนวนมากเริ่มเข้าในสิทธิพื้นฐานในบางระดับ เราเริ่มเห็นการถกเถียงเปลี่ยนผ่านจากการที่เด็กท้องแล้วเป็นตัวอย่างศีลธรรมอันเลวทรามที่ต้องขจัดออกไปจากสังคม และเริ่มมีเสียงตรงกันมากขึ้นว่าเด็กแม้จะพลาดไปก็ต้องมีโอกาสได้เรียน

ข้อถกเถียงใหม่ๆ ของผู้ที่เปี่ยมไปด้วยจริยธรรมอันโหดเหี้ยมจึงเปลี่ยนไป และแสดงความปรารถนาดี™ ขึ้นมาได้อย่างน่าขนลุก

น้องๆ สุขภาพมีปัญหาแล้วจะเรียนได้ยังไง ควรไปที่ที่จัดไว้เฉพาะ

เสียงในหัวผมลอยก้องขึ้นมาทันที ว่า “เสือก”

คนพวกนี้ใส่หน้ากากความสงสารเพื่อตัดสิทธิ์พื้นฐานของคนสนองจริยธรรมอันโหดร้ายได้อย่างน่ากลัว ภายใต้ความสงสารพวกเขาผลักไสคนออกไปให้พ้นหน้าพ้นตาภายใต้ความรู้สึกว่าได้กระทำดี

เราอยู่ในสังคมที่หญิงทำงานโรงงาน (ที่บางคนก็ไม่ได้อายุเยอะกว่าเด็กในวัยเรียนที่ว่าสักเท่าไหร่) มีโอกาสลางานไปคลอดได้สามเดือน เราอยู่ในสังคมที่เด็กโดนรถชนขาหักสามารถเรียนจากโรงพยาบาลแล้วตามมาสอบได้ ประเด็นคนป่วยแล้วมาเรียนมาสอบอยู่ในหนังสือมานีมานะที่คนยุคนี้ดูจะ “อิน” กันเสียด้วยซ้ำ

ถ้าเราให้โอกาสคนเหล่านั้นให้เป็น “ปกติ” ที่สุดที่เราจะทำได้ แล้วจะเป็นอะไรกันนักหนากับคนท้อง เพียงเพราะเขาท้องตอนเรียน?

เขาทำอะไรได้ไม่ได้ก็เรื่องของเขา เขาจะพยายามลำบากกว่าคนปกติหรือไม่ก็เป็นทางเลือกของเขา การ “เสือก” เอาความสงสารไปทำลายชีวิตเขาคงไม่ใช่สิ่งที่คนที่มองตัวเองว่าเป็นคนดีจะทำกัน