ช่วงนี้อ่านหนังสือเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวหลายเล่ม (สองเล่มหลักคือ Data and Goliah กับ The Smart Girl’s Guide to Privacy) คิดขึ้นมาได้ว่าทำไมความเป็นส่วนตัวในบ้านเราถึงไม่ค่อยดีนัก
คำอธิบายในหนังสือมักระบุว่าความเป็นส่วนตัวไม่ใช่ประเด็นของสิ่งที่เราต้องปกปิด แต่เป็นความสามารถในการควบคุมว่าเราจะนำเสนอด้านไหนของเราออกไป และนำเสนออย่างที่เราต้องการ ในช่วงเวลาที่เราต้องการ
ในแง่ของ mindset คนรอบๆ ตัว มักจะละเลยการมองว่าคนเราจริงๆ แล้วมีหลายด้าน และเรารู้จักเขาเท่าที่เขานำเสนอมา โดยไม่จำเป็นว่าการนำเสนอเช่นนั้นเป็นการหลอกลวงแต่อย่างใด แต่เพียงแค่ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับเขา ทำให้เขาแสดงตัวตนออกมาแบบหนึ่ง และเราแสดงตัวตนของเราออกไปอีกแบบหนึ่ง
เรานำเสนอตัวตนของเราในแบบหนึ่งในที่ทำงาน เรานำเสนออีกแบบหนึ่งกับครอบครัว และเราอาจจะนำเสนออีกแบบหนึ่งกับเพื่อน สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่การปลอมแต่อย่างใด เราอาจจะอยู่กับตัวตนหลายรูปแบบเหล่านี้ไปจนวันตาย
การตระหนักว่าแต่ละคนมีสิทธิ์นำเสนอตัวตนตามที่ตัวเองต้องการจึงเป็นแนวคิดสำคัญของความเป็นส่วนตัว ขณะที่ความคิดของคนจำนวนมากมักไม่ตระหนักว่าคนเราสามารถนำเสนอตัวตนได้หลายแบบ เรามักคิดว่าคนเรามีเปลือกนอก กับตัวตนที่แท้จริงเพียงเท่านั้น การที่คนๆ หนึ่งเสียความเป็นส่วนตัวไปจึงไม่ได้เสียอะไรมากไปกว่ามีคนที่รู้ตัวตนที่แท้จริง มองภาพแบบละคร ถ้าตัวตนที่แท้จริงของเราไม่ใช่ตัวร้าย เราก็ไม่ต้องกลัวอะไรที่มีคนรู้ตัวตนที่แท้จริง
ยกตัวอย่างการใส่ชุดว่ายน้ำ เราอาจจะใส่ชุดว่ายน้ำที่ค่อนข้างเปิดเผยเนื้อหนัง แต่เราเลือกที่จะใส่มันในเวลาที่เราต้องการ สถานที่ที่เราต้องการ (อาจจะชายทะเล) ขณะเดียวกันเราเลือกที่จะใส่ชุดทำงานเต็มรูปแบบเมื่อเราเข้าออฟฟิศ
มันไม่มีความจริงหรือความเท็จ การปกปิดหรือการเปิดเผย เราไม่สะดวกใจหากต้องใส่ชุดว่ายน้ำเข้าออฟฟิศไปทำงาน นายจ้างไม่ควรสิทธิ์บังคับลูกจ้างให้แต่งตัวเปิดเผยเช่นนั้นโดยอ้างว่าเวลาไปทะเลก็ใส่กันได้ เช่นเดียวกับข้อมูลอื่นๆ ที่เราคุยกับใคร นัดใครไปกินข้าวที่ไหน เราจะบอกอะไรใคร มันก็ไม่ควรมีใครบังคับให้เราทำ โดยอ้างว่าทีกับคนอื่นทำได้เช่นกัน