เชื่อ

ตลอดชีวิตของผม ผมใช้โทรศัพท์มือถือมาแล้วประมาณครึ่งโหล สองเครื่องเป็น Nokia และอีกสองเครื่องเป็น Samsung

สองอันดับแรกของโทรศัพท์ที่ขายดีที่สุดในไทยตอนนี้…

เครื่องปัจจุบันผมใช้ Wellcom W3319 เป็นเครื่องหลักเครื่องเดียวมาหลายเดือนแล้ว นับแต่มันวางตลาดมา เห่อมาก ไปซื้อตั้งแต่มันออก

ผมใช้เครื่องนี้ทุกครั้งที่ขึ้นรถไฟฟ้า แม้รอบตัวผมจะเต็มไปด้วย BlackBerry จริงๆ แล้วผมพกเครื่องนี้ไปงานสัมมนา BlackBerry ด้วยซ้ำไป

มีคำถามมากมาย เมื่อผมใช้เครื่อง W3319 นี้ มันทนไหม? ศูนย์มันเป็นยังไง? เสียงดีไหม? ฯลฯ

มีข้อเสียมากมายที่ถามมาเมื่อใหร่ ผมก็ต้องบอกว่ามันห่วย หน้าจอที่ไม่ทนต่อแสงแดดแม้แต่น้อย ความเสถียรในระดับแย่ ผมเจอจอขาวเฉลี่ยสองวันรอบ

แต่ใครถามว่าผมชอบมันไหม ผมก็ตอบได้อย่าเต็มปากเป็นคำว่าชอบมันมาก ทำไมน่ะหรือ

– QWERTY
– jibjib 48 ชั่วโมงต่อเนื่องต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง
– 2,990 บาท เครื่องศูนย์

สามข้อนี้ไม่มีโทรศัพท์เครื่องอื่นให้ได้ และถ้าทั้งสามข้อนี้สำคัญสำหรับคุณ W3319 จะเป็นทางเลือกที่ดี

ที่ผมไม่ชอบคือผู้ผลิตที่ไม่เชื่อแม้แต่ของที่ตัวเองผลิต เราเห็น Nokig, Nokla, Nakia ก้นมากมาย ขณะที่พวกเขาพยายามพร่ำบอกข้อดีของสิ่งที่เขาขาย แต่เขากลับไม่ได้แสดงความเชื่อในสิ่งที่เขาขายว่ามันมีจุดขายอย่างที่พวกเขาบอก

ขณะที่พวกเขาบอกว่าสิ่งที่เขานำเสนอนั้นมีข้อดี แต่เขาก็ได้แค่แอบอิงข้อดีนั้นไว้ภายใต้ชื่ออื่นๆ

ถ้า W3319 ของผมเป็นยี่ห้ออื่นที่ทำอย่างเดียวกัน ผมคงไม่กล้าใช้แม้ความดีมันจะอยู่ครบ

ปล. บทความนี้ไม่ใช่บทความโทรศัพท์

 

ที่หนึ่ง

ไลนัสเคยพูดไว้ครั้งหนึ่งเมื่อเขาไปพูดที่กูเกิลว่า ผู้คนมักถามเขาว่าอนาคตของลินุกซ์จะเป็นอย่างไร

ความเชื่ออย่างหนึ่งของคนทั่วไปคือการที่บุคคลที่ทำอะไรที่ “remarkable” ได้นั้น “น่าเชื่อได้ว่า” พวกเขาเหล่านั้นมักจะมีความสามารถในการหยั่งรู้อนาคต แม้จะสักหน่อยหนึ่ง

กลับข้างกัน ความเป็นเหตุเป็นผลของความเชื่อนี้ มักจะกลายเป็นว่า “เพราะเขารู้อนาคต เขาจึงสามารถทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่”

แน่นอน ความสามารถในการมองแนวโน้ม การจับกระแสอย่างถูกทางเป็นเรื่องสำคัญ และมีผลเป็นอย่างมาก แต่ความเป็นจริงคือคนที่อยู่ที่หนึ่งได้นั้น มักจะไม่ได้มากจากการทำ “ถูกเสมอ”

ประเด็นสำคัญอยู่ที่ความทนทานต่อความผิดพลาดต่างหากเล่า

File-KL_Intel_Pentium_A80501 (1)

จำบั๊กในชิปเพนเทียมกันได้ไหม ครั้งหนึ่งเมื่อนานมาแล้ว Andrew Grove เคยถูกโทรศัพท์ปลุกขึ้นมาจากการตัดสินใจผิดพลาดว่าจะไม่มีการเปลี่ยนชิปเพนเทียมที่มีปัญหา ความเสียหายมูลค่ามหาศาล ทั้งในแง่ของการจัดการเปลี่ยนชิป “ทีละตัว” ให้กับผู้ใช้ทุกคน ทั้งในแง่ของชื่อเสียงและภาพพจน์ที่ป่นปี้ไปในชั่วเวลาไม่กี่วัน

ไมโครซอฟท์นั้นจัดได้ว่า “วืด” ยุคอินเทอร์เน็ตไปแล้วครั้งหนึ่ง Windows 3.1 นั้นไม่มีกระทั่ง IP-stack ในตัว (จำ trumpet winsock กันได้ไหม?) ไม่ต้องพูดถึงบราวเซอร์ที่ Netscape นั้นครองตลาดไปอย่างเบ็ดเสร็จ

โซนี่ทำแบตเตอรี่เสี่ยงต่อการระเบิดทีเป็นแสนชุด MemoryStick ที่บอกได้ว่า “ไม่รอด” โตชิบานั้นทำใจกับ HD-DVD ไปแล้ว

ความหายนะเกิดขึ้นเสมอ เมื่อคุณทำอะไรบางอย่าง จุดสำคัญที่สุดอาจจะไม่ใช่ว่าทำอย่างไรจึงจะถูกต้องเสมอ แต่เป็นการแก้ไขได้อย่างถูกต้องเมื่อคุณทำผิดต่างหาก

แม้ว่าจะมีลูกตุกติกอยู่บ้าง (ผิดถูกก็ว่ากันไป) แต่ต้องยอมรับว่าไมโครซอฟท์ทำเกมกับอินเทอร์เน็ตได้ตรงประเด็น จากการทิ้ง MSN ที่มัวแต่หลงทางไปแข่งกับ AOL มาพัฒนาบราวเซอร์, ซื้อ Hotmail, พัฒนา MSN Messenger

ผมไม่เชื่อนักว่า IE ครองตลาดเพราะลูกตุกติกเพียงอย่างเดียว ในสมัยหนึ่งแล้ว IE เป็นบราวเซอร์ที่ทันสมัย เด็มไปด้วยฟีเจอร์ “วื๊บว๊าบ” เพราะยุคนั้นมันแข่งกันอย่างนั้น ไม่ต้องถามหามาตรฐานกัน แถม Frontpage ก็ช่วยสอนเด็กๆ สร้างเว็บมานักต่อนัก

ภูเขาลูกนั้นไมโครซอฟท์ข้ามมาได้ และไมโครซอฟท์ก็ได้ “อิทธิพล” ในตลาดอินเทอร์เน็ตมาจนทุกวันนี้ ภูเขาลูกหน้าคือ Mobile Internet นั้นไมโครซอฟท์ก็ทำท่าจะวืดไปแล้วอีกครั้ง W3C ที่กลับมามีอิทธิพลอีกครั้งก็ดูจะอยู่นอกเรดาร์ของไมโครซอฟท์นานเกินไป

กลับมาดูปาล์มที่วืดไปจากตลาด Smartphone รอบแรกทั้งที่อยู่ในตำแหน่งที่ดีมาก จากการครองตลาด PDA แบบเบ็ดเสร็จ ผมเองเขียนข่าวไอทีในบล็อกตัวเองครั้งแรกๆ ก็เพราะอ่านข่าวปาล์มจำนวนมาก เพื่อจะหาข้อมูลซื้อใช้เองด้วยซ้ำไป และสุดท้ายก็ได้ Zire 72 มาใช้งาน จนทุกวันนี้ก็ยังใช้งานอยู่ แต่ปาล์มเองกลับไม่สามารถออกโทรศัพท์ได้ จนกระทั่งมีบริษัทอื่นมาซื้อ OS ไปทำโทรศัพท์

แต่การแก้ปัญหาของ Palm กลับไม่ได้ดึงปาล์มกลับมาได้ดีพอ การเข้าซื้อ Handspring ช่วยซื้อเวลาให้ปาล์มอยู่ไม่นานนัก สัดส่วนตลาดลดลงราวกับเลือดที่ถูกสูบออก การกลับตัวไม่ทันส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่จนกระทั่งการวางตลาด Palm Pre ที่ดูจะ ช้าเกินไป น้อยเกินไป และอิทธิพลของปาล์มนั้นไม่พอที่จะดึงตลาดได้อีกต่อไป

ความผิดพลาดในวันนั้นเป็นแผลที่ปาล์มไม่มีวันลืม

ว่ากันว่าอุปสรรคช่วยให้เราแข็งแกร่ง บริษัทจำนวนมากที่อยู่เป็นอันดับหนึ่งหลายครั้งสร้างแผนกที่ซ้ำซ้อนเพื่อแข่งกันเอง บริษัทรถใหญ่ๆ มักแบ่งทีมออกแบบเป็นหลายชุดเพื่อสร้างการแข่งขัน ฝ่ายไอทีหลายๆ ที่สร้าง “ฝ่ายแฮกเกอร์” ขึ้นมาเป็นศัตรูกัน

การทำถูกเสมอ ไม่ใช่เรื่องน่าดีใจนัก ผู้บริหารที่ดีมักตั้งคำถามว่า “แล้วถ้ามันผิด” จะเกิดอะไรขึ้นกัน ครึ่งหนึ่งที่เราผิดพลา มันจะพาให้เราล่มจไปกับมันเลยไหม?

 

ครั้งเดียวในชีวิต

ช่วงเวลาตลอดชีวิต มีอะไรหลายๆ อย่างที่ผมเห็นคนจำนวนมากร่วมกันทำเพื่อเป็นความทรงจำ “ครั้งหนึ่งในชีวิต”

เราพยายามทำสิ่งเหล่านั้น เพราะโอกาสมันจะไม่หวนมาอีกครั้ง

ความทรงจำเหล่านั้นเหมือนสิ่งที่เชื่อมต่อเราเข้าหากัน แต่ถ้าเรากลับมามองความทรงจำที่เรามีแล้ว สิ่งที่เชื่อมความทรงจำของเราเข้ากับใครสักคนอาจจะไม่ใช่อะไรที่ยิ่งใหญ่ มันอาจจะเป็นแค่กาแฟสักแก้ว เค้กสักก้อน ขนมสักถ้วย

มันไม่ใช่อะไรที่ยิ่งใหญ่ มันไม่ใช่อะไรที่เราจะไม่เจอมันอีกครั้งตลอดชีวิต

แต่มันก็เป็นครั้งเดียวในชีวิตที่เราจะได้สัมผัสกับช่วงเวลานั้น

 

เล่ม เล่ม เล่ม

เป็นประเด็นหลุดออกมาจาก Pantip ไม่วายที่ Blognone จะร่วมแจม (อยู่ใน Blognone เอง)

ผมเขียนเรื่องนี้ไปทีนึงใน twitter แต่ดูเหมือน 140 ตัวอักษรจะไม่พอสร้างความไม่เข้าใจได้เยอะ เอาเขียนใหม่อีกรอบ

สรุปในบรรทัดเดียว __”ผมไม่เห็นด้วยกับการบังคับใช้ Word ในการทำเล่มวิทยานิพนธ์”__

MS Word เป็นเครื่องมือที่แย่มาก จนผมไม่เชื่อว่าจะมากเกินไปที่จะเรียกว่าเข้าขั้น “บัดซบ” เมื่อพบกับฟอร์แมตที่หนาแน่นจนไม่น่าเชื่ออย่างเล่มจบของบัณฑิตวิทยาลัย อย่างน้อยก็ของเกษตรศาสตร์

คุณเทพเขียนเรื่องนี้ไว้ละเอียดกว่ามาก โดยสรุป เครื่องมือ WYSIWYG อย่าง Word นั้นสร้างความสะดวกที่นำปัญหามาอย่างหนักเมื่อรูปแบบเอกสารมีรายละเอียดมากๆ เครื่องมือเช่นที่เป็น markup นั้นตอบสนองได้ดีกว่า แต่แลกมาด้วยการเรียนรู้ในช่วงแรกที่ยากกว่า

อันนี้ไม่พูดถึงว่ากฏเหล่านั้นมัน “เข้าท่า” หรือไม่นะครับ แอบถือซะว่ามันเข้าท่า และเอกสารควรเป็นตามกฏไปก่อนแล้วกัน

แต่ผมไม่ได้สนใจประเด็นเช่นนั้นนัก

มหาวิทยาลัยเลือกเครื่องมือที่ผิด เป็นเรื่องแย่ ไม่ใช่เรื่องผิด ม.เกษตรเอง อย่างน้อยในสมัยที่ผมเรียนอยู่ ก็มีความพยายามจะจัดหา MS Office ให้ใช้กันอย่างทั่วถึง ตอนนี้เข้าใจว่ามีปัญหาอยู่ แต่ก็น่าจะกำลังแก้ไขกัน

ถ้าเป็น ม. เอกชนอื่นๆ การกำหนดให้ MS Office เป็นเครื่องอุปกรณ์การเรียนภาคบังคับก็ไม่ใช่เรื่องผิดแต่อย่างใด

อาจะไม่เหมาะสมกับบางงาน อาจจะใช้ลำบากกับบางกรณี แต่ไม่ผิด

แต่ มก. ที่เป็นเรื่องนั้น เป็นหน่วยงาน “รัฐ”

ผมเชื่อว่าในฐานะความรับผิดชอบของหน่วยงานรัฐนั้นเอง มก. และหน่วยงานรัฐอื่นๆ ที่หน้าที่สำคัญที่จะระวังไม่ให้การติดต่อใดๆ มีการบีบบังคับให้ใช้สินค้าของเอกชนรายใดรายหนึ่ง เพราะมันจะเอื้อให้เกิดการผูกขาดในท้ายที่สุด

ผมไม่สนใจว่ากติกาจะเปิดโอกาสให้โอเพนซอร์สหรือไม่ ในความคิดผมแล้ว โอเพนซอร์สก็เป็นสินค้าจากเอกชนเช่นกัน ประเด็นของกติกาคือมันต้องไม่บังคับให้คนทั้งหมด ไปอิงแอบกับสินค้าใดๆ เพียงเท่านั้น

ดังนั้นแล้วต่อให้เปิดให้ใช้ PDF, OO.o หรือ LaTeX แต่ถ้ายังบังคับใช้ Angsana อยู่ ผมก็ไม่ได้คิดว่าอะไรมันดีขึ้นตรงไหน

การเอื้อให้มีการแข่งขันได้อย่างสมบูรณ์ต้องไม่มีจุดที่บีบให้ไปหาผู้ขายรายเดียว เช่น

– ไฟล์ .doc หรือ PDF
– ฟอนต์ Angsana หรือ DBthai

ฟอนต์อาจจะต้องใช้ไมโครซอฟท์ หรือซื้อฟอนต์ต่างหาก อาจจะไม่ใช่ของฟรี ไฟล์ PDF อาจจะสร้างจาก Word 2007 ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ

สำคัญที่เรามือทางเลือก ไม่มีใครควบคุมเราได้ทั้งหมด เราเลือกอีกทางได้หากเราอยากจะเลือก