Bangkok 2008

จาก [Google Trends](http://www.google.com/trends?q=%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B8%A8%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%94%E0%B8%B4%E0%B9%8C%2C+%E0%B8%AD%E0%B8%A0%E0%B8%B4%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B9%8C%2C%E0%B8%8A%E0%B8%B9%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B9%8C%2C+%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A0%E0%B8%B1%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B9%8C&ctab=0&geo=TH&geor=tha.10&date=2008&sort=0)

ถ้าเกิดออกมาตรงๆ เท่านี้ (ชูวิทย์ได้สองเท่าของ อภิลักษ์ กับ ดร. แดน) ผมว่า Google Trends ดังแน่

ผลงานเก่านั้นแม่นใช้ได้เลย

__UPDATE:__

หลายๆ คนบอกว่าสาเหตุที่ชูวิทย์นำโด่งใน Google นั้นเป็นเพราะคลิปนี้ครับ

 

หัวหมาและหางเสือ

ผมอ่านเรื่องพวกนี้จาก mk มาหลายตอนว่าแล้วก็คงได้เวลาเขียนเรื่องพวกนี้กันซักที

[mk ตั้งคำถามว่าทำไมคน “ชั้นกลาง” โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ รวมถึงชั้นกลาง-สูง เช่นอาจารย์มหาวิทยาลัยในต่างจังหวัด พากันกลับข้างไปมากันอย่างสนุกสนานในช่วงเวลาไม่ถึงสิบปีมานี้](http://www.isriya.com/node/2143/the-main-problem-of-thailand)

ผมเองเชื่อว่านี่คือปรากฎการณ์หัวหมาและหางเสือ…

ก่อนหน้ารัฐธรรมนูญ 2540 นั้นเราคงนึกกันออกว่าไม่ว่าคุณจะจบปริญญาไหนๆ หากคุณไม่ได้รวยระดับ 1% แรกของประเทศหรือมีตำแหน่งทางทหารอยู่ในระดับนายพลแล้ว อิทธิพลในเชิงการปกครองนั้นเข้าใกล้ศูนย์เป็นอย่างยิ่ง เพราะการซื้อเสียงที่มากมายจริงๆ ในสมัยนั้น รวมกับการปฎิวัติที่ทำกันเหมือนการล้างบ้านประจำสัปดาห์ ทำให้ไม่ว่าเราจะเป็นคนชั้นกลางที่ผ่อนโซลูน่าอยู่ หรือชาวบ้านที่เลี้ยงควายอยู่ชายทุ่ง ล้วนไม่มีสิทธิไม่มีเสียงใดๆ ในทางการเมืองมากมายนัก

สุรยุทธเคยพูดในรายการเรื่องเล่าเช้านี้ว่าเขารู้สึกว่าบ้านเมืองนี้ไม่ใช่ของเรา ผมคิดว่าความรู้สึกเช่นนี้เป็นความรู้สึกที่สะท้อนชนชั้นกลางได้ค่อนข้างดี แต่ความรู้สึกนี้จริงๆ แล้วมันไม่ได้ต่างไปจากสมัยก่อนหน้าปี 2540 นัก แต่ก่อนหน้า 2540 นั้นคนทั่วไปรู้สึกว่า

“บ้านเมืองนี้__ไม่เคย__เป็นของเรา”

ชนชั้นกลางในสมัยนั้นคือ __หัวหมา__ ที่ไม่ว่าจะสูงส่งเพียงใดแต่ก็ยังเป็นหมาอยู่นั่นเอง

รัฐธรรมนูญ 2540 ให้ความเสมอภาคที่รุนแรงอย่างมากในสังคม รากหญ้ามีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการตัดสินใจในระดับประเทศ ความไม่ลงรอยในรัฐธรรมนูญ 2540 นั้นเกิดจากความพยายามสร้างแนวทาง 1 คน 1 เสียงในสังคมไทย

สนธิเก่งกาจมากในการที่พยายามประกาศว่าชนชั้นกลาง (ที่เคยเป็นหัวหมา) นั้นจริงๆ แล้วเป็น__หางเสือ__ แม้จะเป็นเสือชั้นล่างๆ หน่อยแต่ก็ยังเป็นเสือ

แนวทางนี้อาจจะสะท้อนออกมาทางความเห็นของเด็กจบจุฬาฯ อย่างซูโม่ตู้ ที่กล่าวอย่างชัดแจ้งว่าในหนังสือของเขาว่า “ระบอบบ้านี่ ให้เสียงส่วนใหญ่ปกครอง กุลีเสียงเท่าเรา แล้วแบบนี้เราจะเรียนปริญญาตรีกันไปทำไมครับ”

จากคนที่ไม่เคยมีเสียงเท่าๆ กัน ในวันนี้สิ่งที่สนธิพยายามหยิบยื่นให้คนชั้นกลางคือ “ศักดินา” สนธิบอกแก่คนกรุงจำนวนนับล้านว่าจริงๆ แล้วเขาควรเป็นหางเสือที่มีสิทธิกดคนอีกหลายสิบล้านไว้ใต้การปกครองได้ และความวุ่นวายในวันนี้ประกันได้ว่าคนจำนวนไม่น้อยเลยที่อยากได้ศักดินานี้ไว้ในมือ

ถึงคนที่เหนื่อยหน่ายบ้านเมืองในวันนี้ คงต้องท่องไว้หนทางแห่งประชาธิปไตย และความเสมอภาคในสังคมนั้นใช้เวลานานมากในการสร้างขึ้นมา ฝรั่งเศสเองนั้นใช้เวลานับร้อยปีกว่าจะเรียนรู้มัน ระหว่างนั้นมีรัฐประหารอยู่หลายต่อหลายครั้ง เยอรมันเองนั้นก่อสงครามโลกไปแล้วสองครั้งกว่าจะเรียนรู้

ทั้งหมดต้องใช้เวลา นานบ้างสั้นบ้างตามปัจจัยจำนวนมาก

75 ปีของไทยนั้นยังเด็กนัก

 

หน้าที่ใคร?

ผมไม่มีคำตอบให้กับคำถามจากโฆษณานี้

แต่ที่แน่ๆ มันไม่ใช่หน้าที่ของคนจ่ายเงินสร้างโฆษณานี้

อย่าลองของเอารถถังออกมาอีกแล้วกัน

การเมืองต้องแก้ด้วยการเมือง ไม่ต้องมาตั้งเงื่อนไขบ้าบออะไรมากมาย ไม่ต้องมาบอกว่าไม่จำเป็นแล้วจะไม่ทำ

ไม่ต้องทำก็คือไม่ต้องทำ ไม่ใช่หน้าที่ก็คือไม่ใช่หน้าที่ ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดี ถ้าอยากเป็นนักการเมืองก็ลาออกมาลงเลือกตั้ง

 

Blocking

หลายคนอ่านบทความของผมที่ Blognone กับที่นี่แล้วอาจจะคิดว่าผมเป็นพวกต่อต้านการบล็อคทุกรูปแบบ แต่ให้ผมบอกคือผมต่อต้านการบล็อคที่ไม่มีคำอธิบายทุกรูปแบบไม่ว่ามันจะดูเข้าท่าแค่ไหนก็ตาม

ประเด็นที่นายมั่น พัธโนทัยออกมาระบุว่าการบล็อคเว็บในไทยสามารถทำได้ตามกฏหมายโดยผ่านทางคำสั่งของคนสามคนในประเทศนั้นเป็นเรื่องน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เพราะผมไม่เคยได้ยินกฏหมายข้อไหนให้อำนาจคนสามคนนี้เหนือกว่าประชาชนไทยคนอื่นๆ ในแง่ของการมีอำนาจเด็ดขาดในการบล็อคเว็บ

สุดท้ายแล้วสังคมบ้านเราจะสามารถเป็นนิติรัฐได้อย่างไร หากเราอาศัยความรู้สึกของคนสามคนมาระบุว่าเรื่องอะไรผิดเรื่องอะไรถูก

เราอาจจะต้องตั้งคำถามกระบวนการที่กำหนดไว้อย่างสวยงามใน พรบ. คอมฯ นั้น มีเอาไว้ตั้งโชว์ให้ต่างชาติดูเล่นแล้วในบ้านเราใช้ระบบมาเฟียกันแบบเดิมหรืออย่างไร

น่าสนใจคือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผมไม่เห็นมีหน่วยงานไหนที่มีความพยายามทำงานในเชิงบวกเพื่อแก้ปัญหาเนื้อหาล่อแหลมและไม่พึงประสงค์ (สำหรับพวกเขา) แม้แต่น้อย ไม่ว่าจะเป็นช่องทางสื่อสารระหว่างหน่วยงานกำกับดูแลกับเหล่าเว็บมาสเตอร์ หรือ Guidline อื่นๆ สิ่งที่พวกเขาทำคือการข่มขู่ในเชิงรุก และชี้หน้าใครต่อใครว่าทำผิด พร้อมกับโหมกระแสมวลชนให้เชื่อว่าการกระทำนั้นผิดตามที่พวกเขาเชื่อ

น่าสนใจว่ากระบวนตามกฏหมายใน พรบ. คอม ซึ่งเพิ่งตราออกมานั้นมีความบกพร่องอย่างไร จึงมีการประกาศใช้กระบวนการนอกกฏหมายเช่นนี้ออกมา

หลายความเห็นใน Blognone เคยอ้างว่ากระบวนการนั้นช้าเกินไป แต่สุดท้ายแล้ว ผมก็ยังเห็นหลายเว็บที่น่าจะผิดแน่ๆ เปิดทำงานโดยไม่มีปัญหาอะไร

มันจะดีกว่าไหมหากภาครัฐหยุดหาอำนาจนอกกรอบของกฏหมาย แล้วทำตามกระบวนการให้เต็มประสิทธิภาพ เมื่อตรวจพบแล้วรีบแจ้งเรื่องให้รัฐมนตรีเซ็น แล้วส่งเรื่องเข้าศาลข้อความคุ้มครองเร่งด่วนถ้ามันมีปัญหาแล้วค่อยมาคุยกันว่ามันเกิดปัญหาอะไรขึ้นกับกระบวนการนี้

หรือเรามีเหตุผลอื่นที่จะไม่ทำตามกระบวนการ?