ผู้ให้

จริงๆ ว่าจะเขียนเรื่องนี้ตั้งแต่เมื่อวาน แต่ค้นๆ ที่มาแล้วเจออะไรแปลกๆ เลยขอกลับไปแปลงเรื่องอีกหน่อย

มีเพลงที่น่าสนใจเพลงหนึ่งของบอย โกสิยพงษ์ ที่ชื่อว่า “เหตุผล” พูดถึงการให้และการรับที่เรามักคิดว่าเมื่อมีการให้ สิ่งที่เกิดขึ้นอีกข้างหนึ่งคือการรับเสมอๆ

แท้จริงแล้วขณะที่เราให้นั้นคงแทบไม่มีครั้งไหนเลยที่เราจะไม่ได้รับ เราอาจจะได้รับสิ่งตอบแทนเล็กๆ น้อยๆ เช่น รอยยิ้ม คำขอบคุณเบาๆ หรือจะเป็นการแสดงท่าที่ที่ขอบคุณ แม้กระทั่งความภูมิใจในตัวเอง ก็ยังคงเป็นสิ่งที่เราได้รับเสมอๆ เมื่อเราเป็นผู้ให้

สิ่งที่เราต้องการอาจจะไม่ใช่การตอบแทนจากคนรอบข้างที่เท่าเทียมกันในแง่ทางวัตถุ แต่เราอาจจะต้องการให้ตัวเราเองตระหนักถึงสิ่งที่เราได้รับเมื่อเราได้ให้นั่นเอง

หากเราตระหนักได้ การให้โดยไม่เรียกร้องก็คงไม่ใช่เรื่องยากอะไร

 

เสียสละ

นานมาแล้วที่ผมคิดว่าการเสียสละนั้นเป็นเรื่องของวัตถุและเวลา

แน่นอนว่าการเสียสละด้านวัตถุนั้นเป็นเรื่องทั่วไป ที่ใครๆ ที่จะบอกกับตัวเองได้ว่าเป็นคนเสียสละนั้นก็ต้องเสีย ตัวผมเองเลยเพิ่มเรื่องเวลาลงไปอีกเรื่องให้บอกตัวเองได้เต็มที่อีกหน่อยว่าตัวเองพร้อมที่จะเสียสละมากกว่าคนอื่นๆ เขา

แต่ขณะที่ผมกำลังอ้างว่าตัวเองเป็นคนเสียสละ ที่พร้อมจะทุ่มเทได้แม้แต่เวลาที่ดูมีค่าเสียเหลือเกิน สุดท้ายแล้วผมก็ยังเรียกร้องความรู้สึกดีๆ เป็นการตอบแทนจากการกระทำที่ผมอ้างไปเองว่าเป็นการเสียสละนั้น

หลายๆ เรื่องสอนให้ผมรู้ว่าแท้จริงแล้ว สิ่งที่ผมอ้างนั้นมันไม่มีค่าอะไร เพราะสุดท้ายแล้วผมก็เป็นคนเห็นแก่ตัวอยู่ดี แม้สิ่งที่ผมเรียกร้องนั้นดูจะไม่มีตัวตน และวัดไม่ได้ในแง่มุมใดๆ ก็ตามที

ผมจะเอาเวลากี่ชั่วโมง กี่วัน กี่เดือน กี่ปี ไปวัดกับความรู้สึกที่ผมได้พรากไปจากคนอื่นๆ  ไม่ว่ามันจะเล็กน้อยเพียงไรได้อย่างไรกัน ผมจะพูดได้หรือว่าสิ่งที่ผมเสียสละหากคนที่ได้รับอะไรจากผมไปยังคงติดค้างบางอย่างแม้จะเป็นสิ่งที่วัดไม่ได้นั้น

ผมเสียใจกับการเรียกร้องนั้น และหวังว่ามันคงไม่สายเกินไปที่จะแก้ไข

มันไม่สายเกินไปใช่ไหม….

 

ส่งผ่าน

ดูรูปนี้ก่อน

หลายๆ เรื่อง คนรอบตัวก็ช่วยเราในเรื่องที่เป็น “เรื่องส่วนตัว” ของเราได้อย่างไม่น่าเชื่อ

ปล. หาที่มารูปไม่ได้ เจอมาจาก del.icio.us

 

เงื่อนไข

ถ้าใครอ่านโคนัน (ซึ่งผมเลิกอ่านไปแล้ว) จะพบคดีสุดคลาสสิคคือคดีห้องปิดตาย  ที่เป็นการสร้างพื้นที่ที่ไม่มีใครเข้าออกได้ในช่วงเวลาหนึ่งๆ

คดีห้องปิดตายเป็นรูปแบบหนึ่งของเทคนิคการเขียนนิยายที่สร้างเงื่อนไขที่จำกัด เพื่อชวนให้ผู้อ่านสามารถคิดตามไปด้วยได้เสมอ เพราะเราสามารถตัดตัวแปรอื่นๆ ที่ผู้เขียนบอกไว้อย่างชัดแจ้งว่าไม่ต้องคิด เช่น กุญแจรุ่นพิเศษไม่มีกุญแจผีแถมปั๊มไม่ได้ (รุ่นไหนว่ะ จะซื้อไปขายธนาคาร) หรือจะเป็นกำแพงหนามาก ฯลฯ

กลับมาในโลกความเป็นจริง การที่เราจำกัดความคิดของเราไว้เพียงแค่นั้นโดยมากแล้วเพื่อผลประโยชน์หลายๆ ด้าน โดยเฉพาะความคิดสร้างสรรที่คนสร้างสรรจะไม่ถูกกำหนดด้วยตัวแปรจำนวนมากเกินไป เช่น ในแง่ของงานวิจัยนั้น แทบทั้งหมดต้องอาศัยการกำหนดเงื่อนไขยาวเป็นหางว่าวเพื่อระบุว่าเทคนิคอะไรบางอย่างนั้นดี แล้วปล่อยให้งานวิจัยชิ้นต่อๆ มาสามารถเรางานเดิมไปทดลองได้ว่างานนั้นดีกับกรณีอื่นๆ ด้วยหรือไม่

ที่ร้ายคือหลายๆ ครั้งแล้วเราคิดไปเองว่าเงื่อนไขในโลกความเป็นจริงนั้นจะตรงกับเงื่อนไขของโลกจำลอง ความคิดแบบนี้ทำให้กระบวนการตัดสินใจบิดเบี้ยวไปจากที่มันควรจะเป็น

เรื่องพวกนี้ในโลกความเป็นจริงมีอยู่เป็นจำนวนมาก เรื่องที่ผมเห็นจากการทำงานคือ การที่นายจ้างคิดว่าลูกจ้างจะไม่บอกเงินเดือนกันเอง  ซึ่งไม่เป็นจริงอย่างรุนแรงในสังคมกันเองๆ แบบไทยๆ

ที่น่าสนใจคือหลายๆ ครั้งการไม่สนใจตัวแปรบางตัวก็ได้ผลดีมากในหลายๆ กรณี  แม้ว่าความคิดเริ่มต้นจะไม่จริง แต่การไม่สนใจตัวแปรเหล่านั้นกลับช่วยให้เรามีความคิดสร้างสรรได้มากขึ้น และผลลัพธ์ยังคงถูกต้องดี

นักบริหารที่เก่งคงเป็นคนอีกกลุ่มที่เลือกไม่สนใจบางเรื่องได้เป็นอย่างดี