เสียตังค์

เดือนนี้ใช้ตังค์เกินงบไปอีกหน่อย ด้วยการอ่านบล็อก *PRADT ที่เพิ่งถูกเพิ่มเข้ามาใน feed ประจำวัน

เรื่องของเรื่องคือชอบอ่านรีวิวเพลง เลยอ่านย้อนไปเรื่อยๆ ไปเจอเอาเอนทรีนี้ เป็นเรื่องเลย

เอนทรีที่ว่าเป็นเรื่องของอัลบัมใหม่ของ Mika Nakashima นักร้องดังที่ผมไม่เคยรู้จักมาก่อน ก็ไม่ได้สนใจอะไรเป็นพิเศษ ถ้าไม่มีเพลงตัวอย่างมาให้อีกสองเพลง

ฟังอยู่สองวันก็เป็นเรื่องให้ไปเดิน b2s จนได้ เสียไปสามร้อยกว่าบาท

หลังจากรู้จักเธอจากอัลบัมนี้ ก็เพิ่งรู้ว่าเธอเล่นเรื่อง Nana และเป็นคนร้องเพลงประกอบ Gundum Seed เพลง Find the Way ที่ฟังมานานแล้ว

ส่วน DVD Nana จะเข้าอาทิตย์หน้า T_T (เสีัยตังค์อีกแล้ว…)

 

สุนทรีย์

เพิ่งกลับมาจากคอนเสิร์ตของ Thailand Philharmonic Orchrestra (TPO) งานนี้ไปด้วยบัตรฟรี แต่ไปดูคราวนี้มีโอกาสจะเสียตังค์อีกหลายกระบวน กลับมาบ้านเปิดเว็บเพิ่งรู้ว่านี่เป็นครั้งแรกที่วงนี้เล่นนอกบ้าน (ศาลายา)

TPO
ภาพจาก Thaiticketmaster

ค่อนข้างดีใจที่เมืองไทยมีดนตรีดีๆ ให้ฟังกันเพิ่มขึ้น ตอนนี้ทำงานหนัก ถ้าไม่ใช่ว่ามาจัดที่ศูนย์วัฒนธรรมก็คงไม่มีโอกาสดู

เอาว่าถ้าไปเรียนต่อจะสมัครสมาชิกไปฟังมันทุกอาทิตย์เลย

 

หูฟัง

เพิ่งได้ iPod shuffle กับ BeyerDynamic DT-660 มาใช้ ก่อนซื้ออ่านมามากพอดูเอาว่ามาเล่าให้ฟังกันหน่อยถึงการเลือกหูฟัง หัวข้อง่้ายจัด…

เลือกอย่างไรให้ดัง

ถ้าเคยซื้อหูฟังดีๆ ที่ขนาดใหญ่ๆ หน่อย บางครั้งอาจจะพบว่าหูฟังที่เพิ่งซื้อมาหลายพัน ปรับเสียงดังจนสุดแล้ว ก็ยังแทบจะไม่ได้ยินอะไร พาลโทษเครื่องเล่น mp3 ตัวโปรดว่าไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้ หรือไม่ก็โทษว่าหูฟังไม่ดีเอาง่ายๆ

ในความเป็นจริงแล้วหูฟังจะเสียงดังได้พอที่เราจะฟังเพลงได้อย่างสุนทรีย์ มีตัวแปลหลักๆ อยู่สามตัว คือ พลังงานที่รับได้ ความต้านทานภายใน และความไวของไดอะเฟรม

พลังงานที่รับได้ เคยอ่านเจอเครื่องเสียงที่บอกว่าเท่านั้นเท่านี้วัตต์กันใช่ไหม เวลาอ่านสเปคหูฟัง ข้างกล่องก็มักจะมีบอกเลขวัตต์นี้ไว้เหมือนกัน ส่วนมากจะน้อยนิด อาจจะแค่ 0.1 วัตต์ หรือน้อยกว่านั้น ยิ่งตัวเลขตรงนี้เยอะ แสดงว่ามันรับพลังงานจากเครื่องได้มาก ทำให้มีโอกาสที่จะเปิดดังๆ ได้

ความต้านทานภายใน เป็นอีกตัวแปรหลักที่จะทำให้หูฟังราคาแพงที่เราซื้อมามันไม่เวิร์คกับเครื่องของเรา ใช้หลักการไฟฟ้าที่เรียนกันตอนปีหนึ่งปีสอง เรื่อง Maximum Power Transfer จะพบว่าถ้าเครื่องเล่นของคุณมีความต้านทานภายในไม่เท่ากับหูฟัง พลังงานที่เข้ามาในหูฟังจะลดลงแล้วเสียไปกลายเป็นความร้อนไปซะอย่างนั้น

เครื่องเล่นเพลงขนาดเล็กๆ ส่วนมากจะอยู่ที่ 32 โอล์ม ขณะที่เครื่องระดับใหญ่ๆ จะอยู่ที่ประมาณ 280 โอล์ม ที่บ้านเคยซื้อหูฟังมาคู่นึงมัน 600 โอล์มได้ ฟังเครื่องไหนก็แทบไม่ได้ยิน อย่างหนึ่งคือขนาดของหูฟังไม่ได้สัมพันธ์กับความต้านทานนี้ หูฟังขนาดเล็กๆ ที่ความต้านทานสูงๆ แม้จะหายาก แต่ก็พอมีอยู่ ส่วนหูฟังใหญ่ๆ ที่ความต้านทานต่ำนี่ ผมใช้อยู่ตัวนึง

ความไวของไดอะเฟรม เรื่องภาษาอังกฤษว่าค่า Sensitivity เป็นตัวบอกว่าเมื่อใส่พลังงานเข้าไปค่าหนึ่ง แล้วมันจะออกเสียงมาดังแค่ไหน โดยมากแล้วหูฟังขนาดเล็กๆ ที่ใช้ๆ กันมันจะอยู่ที่ 95-105dB ได้ แต่ถ้าหูฟังดีๆ หลายรุ่นมันจะไปอยู่ที่ 85dB ซึ่งหมายความว่าที่พลังงานเท่ากัน หูฟังพวกนี้มันแปลงพลังงานเป็นเสียงออกมาได้น้อย ต้องอัดพลังงานเข้าไปให้มันเยอะๆ ถึงจะดัง

ปล. ถ้าใครเห็นผมใช้หูฟังตัวใหม่กับเจ้า shuffle แล้วอย่าแปลกใจ เพราะมันเข้ากันได้ในทางเทคนิคเป็นอย่างดี