conflict

อาจารย์ในภาคของผมมีอยู่คนหนึ่งทำงานวิจัยเรื่องของ Conflict of Services โดยหลักๆ แล้วมันคือการพยายามตรวจสอบและแก้ไขในกรณีที่บริการต่างๆ มีความขัดแย้งกันเอง เช่นว่า บริษัทมือถืออาจจะออกโปรโมชั่นนาทีละบาททุกเครือข่าย พร้อมๆ กับมีบริการเสริมโทรฟรีเฉพาะเบอร์ แต่บริการโทรฟรีเฉพาะเบอร์มีเงื่อนไขว่าโทรเบอร์อื่นๆ จะกลายเป็นนาทีละสองบาท

คำถามคือจะเกิดอะไรขึ้นถ้าผู้ใช้สมัครทั้งสองแพกเกจนี้พร้อมๆ กัน?

ชีวิตของเราคงไม่ต่างกันมากนัก มันเป็นเรื่องปรกติที่เราจะตั้งเงื่อนไขกับคนรอบข้างเรา เราอาจจะเรียกร้องอะไรบางอย่างจากคนๆ หนึ่ง เราอาจจะตั้งกำแพงไม่ให้คนๆ หนึ่งเข้าใกล้เรามากไปกว่านั้น

แต่หลายๆ ครั้งแล้ว เงื่อนไขเหล่านั้นก็กลับขัดแย้งกันเอง

หลายครั้งเราตั้งคำถามว่าทำไมเขาหรือเธอจึงไม่ทำตามเงื่อนไขข้อนั้นข้อนี้ แต่เมื่อเงื่อนไขนั้นบรรลุผล แล้วเราลืมมันไป หลังจากนั้นเรามักจะพบว่ามีเงื่อนไขข้ออื่นกำลังถูกละเมิด

ไม่ใ่ช่เรื่องแปลกที่ความขัดแย้งเหล่านี้จะเกิดขึ้น ขนาดบริษัทมือถือที่มีคนดูแลบริการเหล่านี้เต็มเวลาจำนวนมากยังทำความผิดพลาดในเรื่องเหล่านี้เป็นประจำ ปัญหาที่ต้องแก้จึงไม่ใช่การระวังไม่ให้เงื่อนไขเหล่านั้นขัดแย้งกันเอง หากแต่เป็นการแก้ไขหลังพบความขัดแย้ง

ถึงเวลาหนึ่งแล้วเราคงต้องถามตัวเอง ว่าจริงๆ แล้วเราต้องการอะไรกัน และเงื่อนไขข้อใดต้องเป็นฝ่ายถอยเพื่อให้ความสัมพันธ์เดินหน้าต่อไปได้

แต่การถามตัวเองว่าต้องการอะไรจริงๆ…. คงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก

 

เพราะเรา….

เคยเจอเหตุการณ์อะไรแย่ๆ ที่เกิดขึ้นต่อหน้าเรากันบ้างไหม เราอาจจะเห็นรถชนกันข้างๆ รถของเรา เราอาจจะเห็นคนถูกรถชน เราอาจจะต้องเจอกับคนที่ร้องไห้เพราะกระเป๋าเงินหาย

ในเวลาเหล่านั้น หลายๆ ครั้งแล้วเรากลับไม่สามารถบอกได้ว่าเราควรทำอย่างไร เราควรทำอะไรเพื่อจะบรรเทาปัญหาให้เขาเหล่านั้นได้อย่างถูกต้อง  แต่ในเวลาถัดมา เรากลับบอกได้อย่างชัดเจนว่ามีหลายสิ่งที่เราทำได้ และเราควรทำ

เราอดสงสัยไม่ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าเราเลือกที่แก้ไขปัญหานั้นอย่างเต็มความสามารถที่เราควรจะทำได้จริงๆ

…..

เราอาจจะช่วยเขาผู้เดือนร้อนเหล่านั้นได้มากกว่าที่เราคิดรึเปล่า

…..

เขาอาจจะไม่เดือดร้อนอีกต่อไปหลังจากที่เราได้ช่วยเขาอย่างถูกต้องรึเปล่า

……

บางทีแล้วปัญหาทั้งหมดอาจจะเกิดขึ้นเพราะเรา

……

เพราะเราเอง…… รึเปล่า

 

value

เวลาที่เรารักใครสักคน สิ่งหนึ่งที่เราอยากได้กันเสมอๆ คืออยากทำให้ชีวิตของเขาคนนั้นมีความสุขขึ้นมาบ้าง หรืออีกทางคือเมื่อเขามีความทุกข์ก็อยากมีส่วนให้เขาทุกข์น้อยลงสักหน่อย

แต่น่าเศร้า ที่ในโลกความเป็นจริงแล้ว หลายๆ ครั้งสิ่งที่ดีที่สุดที่เราทำได้ คือการนั่งนิ่งๆ และรับฟังเท่าที่คนๆ นั้นจะยินดีเล่าความทุกข์ใจให้เราฟัง แม้เราจะพยายามคิดไปมากเพียงไรว่ามีอะไรบ้างที่เราทำได้ แต่เราก็รู้อยู่แก่ใจว่าจริงๆ แล้วเราทำอะไรกับมันไม่ได้มากนัก

เมื่อถึงเวลาเช่นนั้น เราอาจจะรู้สึกด้อยค่าลง และเริ่มไม่เคารพตัวเอง

เราอึดอัดที่เราทำอะไรไม่ได้…..  แล้วเราก็เริ่มคิดว่าตัวเองด้อยค่าลงไปอีก

มันเป็นเรื่องดีมากๆ ที่เราสามารถส่งความปรารถนาดีบางอย่างไปให้กับคนที่มีปัญหาได้เสมอ ไม่ว่าเขาจะอยู่ในปัญหาใด และเราจะอยู่ในสถานะใดๆ

มีช่องทางไหนไหม ที่ในเวลาที่คุณอยากเขาถึงใครสักคนเพื่อแสดงความปรารถนาดี ความห่วงใย และความรักนั้นแล้ว คุณสามารถส่งผ่านไปให้เขาได้เสมอๆ โดยไม่ต้องคำนึงถึงโอกาส เวลา และสถานที่

ถ้าคุณมี ผมว่ามันเป็นเรื่องที่ดีมากๆ เลยนะ

 

ผู้รับ

ข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งที่น่าสนใจในโลกของเราคือ ทัศนคติทางเพศที่มองผู้ชายเป็น “ผู้ให้” แม้ในหลายปีให้หลังมานี้มุมมองแบบดีจะดีขึ้นมากแล้วจากการปรับกระบวนคิดในเรื่องของความเท่าเทียมทางเพศและเรื่องอื่นๆ แต่ทัศนคติแบบนี้ก็ยังไม่ได้หายไปไหนจากโลกของเรา

เราคงเคยชินที่เห็นภาพยนตร์สักเรื่องที่นางเอกตกอยู่ในมือเหล่าร้ายโดยที่ไม่สามารถปกป้องตัวเองได้ และมีพระเอกที่อาจจะเก่งกาจ หรืออาจจะไม่ได้เรื่องเลยก็ตามที ฝ่าฟันปัญหานานับประการเพื่อปกป้องช่วยเหลือนางเอกให้รอดพ้นจากภยันอันตรายทั้งปวง แล้วเรื่องราวก็จบลงด้วยการแสดงความขอบคุณจากนางเอกที่บอกว่าเธอขาดพระเอกไปไม่ได้ตลอดกาล

ภาพเหล่านี้แม้จะสร้างความคิดที่จะปกป้องดูแลคนที่เรารักให้กับผู้ชายจำนวนมากในโลกก็ตาม แต่ในมุมกลับแล้ว มันกลับเป็นเรื่องยากที่เราจะยอมรับว่่าในขณะที่เราพยายาม “ให้” นั้น ชีวิตคู่ของคนเราก็ต้องยอมที่จะ “รับ” ไปพร้อมๆ กันด้วย เหมือนกับตอนที่พระเอกรู้ว่านางเอกไปดูกีฬากับพระเอกเพื่อจะใช้เวลากับพระเอกมากกว่าที่จะเป็นความชอบส่วนตัวในเรื่อง The Break Up

บางทีแล้วการเรียนรู้ที่จะรับ และการแสดงความตระหนักในคุณค่าของสิ่งที่เราได้รับในทางบวก อาจจะเป็นเรื่องที่เราต้องเรียนรู้ และปรับปรุงในคนรุ่นต่อๆ ไปเช่นเดียวกับที่คนรุ่นก่อนหน้าเราได้ปรับในเรื่องความเท่าเทียมมาก่อนหน้านี้แล้วก็เป็นได้